วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

Mark Zuckerberg รับค่าจ้าง 1 ดอลลาร์ต่อปี และไม่รับโบนัสใดๆ

Mark Zuckerberg กลายเป็นซีอีโอของบริษัทไอทีคนล่าสุด ที่เลือกรับค่าจ้างเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปี และปฏิเสธไม่รับโบนัสใดๆ

ธรรมเนียมการรับค่าจ้างเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปีเริ่มโดยสตีฟ จ็อบส์ ช่วงกลับเข้ามาแอปเปิลในปี 1998 ส่วนซีอีโอคนอื่นๆ ที่ใช้แนวทางนี้ก็มีทั้งผู้บริหารทั้ง 3 คนของกูเกิล, Larry Ellison แห่งออราเคิล, Meg Whitman แห่ง HP รวมถึงซีอีโอนอกสายไอทีอีกจำนวนหนึ่ง

ผู้บริหารส่วนใหญ่ที่รับค่าจ้าง 1 ดอลลาร์ (ต้องรับค่าจ้างเพราะเหตุผลทางบัญชี) มักมีรายได้จากหุ้นของบริษัทอยู่แล้ว และหลายคนเลือกลดค่าจ้างตัวเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสถานะทางการเงินของ บริษัท (ที่อาจย่ำแย่ในช่วงนั้น) หรือแสดงเป็นสัญลักษณ์ของความทุ่มเทต่อบริษัท

ปีที่แล้ว Zuckerberg ได้ค่าจ้างปีละ 500,000 ดอลลาร์ พร้อมโบนัส 266,101 ดอลลาร์ และสิทธิการใช้เครื่องบินเจ็ตของบริษัทในการเดินทางส่วนตัวด้วย

ที่มา: Blognone

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ปลั๊กอินใหม่ใน Chrome ดูไฟล์ Office

เมื่อวันพฤหัสบดี (25 เมษายน 2556) ที่ผ่านมา Google ได้เปิดตัวปลั๊กอินสำหรับ Chrome ในเวอร์ชั่น Beta เพื่อสนับสนุนการเปิดดูไฟล์ Microsoft Office บนหน้าเว็บเบราว์เซอร์ของ Windows และ OS X

ปลั๊กอินสำหรับ Chrome ในเวอร์ชั่น Beta ดังกล่าวมีชื่อว่า Chrome Office Viewer ช่วยในการเปิดดูไฟล์ของ Microsoft Office ได้โดยตรงบนหน้าเว็บเบราว์เซอร์ของ Windows และ OS X ซึ่งการจะใช้ปลั๊กอินนี้ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณจำเป็นต้องมี Chrome เวอร์ชั่น 27 Beta ที่ Google ได้ปล่อยอัพเดตไปก่อนหน้านี้ นอกเหนือจากการเปิดไฟล์ Office บนเบราว์เซอร์ได้แล้ว Chrome Office Viewer ยังมีความสามารถในการช่วยป้องกันมัลแวร์ที่แทรกตัวมากับไฟล์ Office ด้วย พร้อมกับฟีเจอร์ Sandbox ที่จะคอยหยุดการแทรกซึมของมัลแวร์ก่อนจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว

จากการปล่อยปลั๊กอินตัวดังกล่าว น่าจะมีผลมาจากการที่ Google ซื้อ Quickoffice มาเมื่อปีที่แล้ว เป็นการนำฟีเจอร์บางอย่างมาใช้ใน Chrome Office Viewer ด้วย ทั้งนี้ Google ได้เตรียมแผนต่อกรกับ Microsoft Office ด้วย Quickoffice รุ่น NativeClient ที่สามารถพรีวิวและแก้ไขไฟล์เอกสารได้ ซึ่งจะปล่อยตัวเต็มออกมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยน่าจะได้เห็นการพอร์ตโปรแกรมนี้ลงใน Chromebook Pixel


ที่มา: ARiP

คนไทยติดสมาร์ทโฟนและขาดไม่ได้

คนไทยติดสมาร์ทโฟน 98% และขาดไม่ได้ ... สมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เราอ่านมันแทนหนังสือพิมพ์รายวัน สามารถเช็คอีเมล์ หรือติดตามความเคลื่อนไหวทั้งของเพื่อน บุคคลสำคัญ และดารานักแสดงได้ผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค พฤติกรรมเหล่านี้แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันที่แม้แต่คนไทยก็ขาดมันไม่ได้เสียแล้ว


พฤติกรรมของการใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบันถูกสำรวจโดย InsightExpress บริษัทผู้วิจัยตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัท Cisco เพื่อเก็บข้อมูล แบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่ 1. การสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาและคนทำงานตั้งแต่อายุ 18-30 ปี 2. การสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรฝ่ายไอทีในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งสิ้น 3,600 คนใน 18 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

ผลการสำรวจในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าวัยรุ่นยุคใหม่หรือที่เรียกกันว่า คนรุ่น Gen Y มีการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อดูอัพเดตข่าวคราวในอีเมล์ ข้อความ และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค "ก่อนจะลุกจากเตียง" สูงถึง 90% ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราสูงถึง 98% โดยความเห็นของวัยรุ่นส่วนหนึ่งระบุว่า หากไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนก็เหมือนกับว่า "รู้สึกกระวนกระวาย เหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต"

นอกจากผลสำรวจเรื่องการใช้สมาร์ทโฟนก่อนลุกจากเตียงแล้ว ยังมีผลสำรวจในประเทศไทยที่น่าสนใจแบ่งย่อยออกไปอีกดังนี้

- ในวัยรุ่นไทย 9 ใน 10 คนระบุว่า ใน 1 วัน พวกเขาเช็คสมาร์ทโฟนนับครั้งไม่ถ้วน
- 91% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะ "รู้สึกกระวนกระวาย เหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต" หากไม่เช็คสมาร์ทโฟน
- 100% ของผู้ตอบแบบสอบถามเช็คสมาร์ทโฟนบนเตียงนอน
- 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้สมาร์ทโฟนในห้องน้ำ
- 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้สมาร์ทโฟนเพื่อส่งข้อความ เช็คอีเมล์ หรือโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คก่อนและหลังระหว่างรับประทานอาหาร
- 100% ในวัยรุ่นชี้ว่าแอพพลิเคชั่นบนมือถือมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต
- 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ตนเองใช้เวลาในการติดต่อกับเพื่อนผ่านโลกออนไลน์ มากกว่าการพูดคุยเป็นการส่วนตัว
- 9 ใน 10 ของวัยรุ่นมีการตอบแบบสอบถามและสั่งซื้อสินค้าออนไลน์
- 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ออนไลน์เฟสบุคตลอดเวลา
- 97% ของผู้ตอบแบบสอบถาม อัพเดตสถานะเฟสบุคอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

เห็นผลสำรวจนี้แล้วก็ไม่น่าเชื่อว่า อัตราการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยจะสูงได้ขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเช็คข่าวสาร การเปิดหน้าเฟสบุค การเล่น Instagram เป็นต้น ซึ่งภาพที่เราเห็นทุกวันนี้ไม่ว่าจะทานข้าว ก่อน-หลังทำกิจกรรมต่างๆ หรือก่อนจะเข้านอน สมาร์ทโฟนล้วนแต่ติดอยู่ในมือแทบจะทั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็นภาพที่ชินตาไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้สมาร์ทโฟนนั้นหากใช้ในทางที่ถูกต้องและพอควร ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเราได้มาก แต่หากใช้มันมากเกินไป หรือใช้จนแทบจะละสายตาจากมันไม่ได้ล่ะก็ สมาร์ทโฟนก็สามารถให้โทษที่มีราคาแพงได้มากกว่าราคาของตัวมันเองเสียอีก

ที่มา: ARiP