วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Facebook อธิบายสถาปัตยกรรมเบื้องหลัง Open Graph รันด้วย Apache Giraph

Facebook เป็นเครือข่ายสังคมที่เชื่อมโยง "ความสัมพันธ์" ของผู้คนและวัตถุต่างๆ ซึ่งบริษัทได้ออกแบบแพลตฟอร์ม Open Graph มารองรับฟีเจอร์นี้ (ข่าวเปิดตัวเมื่อปี 2010) ระยะหลัง Facebook จึงมองข้อมูลต่างๆ ในระบบของตัวเองเป็น "กราฟ" (ในความหมายทางคณิตศาสตร์ ไม่ใช้กราฟเส้นแบบราคาหุ้นนะครับ) ไปซะเยอะ

ล่าสุด Facebook ออกมาอธิบายสถาปัตยกรรมเบื้องหลัง Open Graph ที่สามารถประมวลผลข้อมูลกราฟขนาดมหาศาล (Facebook มองไกลถึงระดับ "ล้านล้าน" ความสัมพันธ์)

เริ่มจากซอฟต์แวร์ประมวลผลกราฟ Facebook ทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์ 3 ตัวคือ Apache Hive, GraphLab, Apache Giraph ด้วยข้อมูลระดับ 25 ล้านความสัมพันธ์ (edge ในภาษาของทฤษฎีกราฟ) และสุดท้ายเลือก Giraph ด้วยเหตุผลว่าทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์อื่นๆ ของ Facebook (เช่น Hadoop/HDFS/Hive/Corona) ได้ดี


อย่างไรก็ตาม Giraph ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของ Facebook ทำให้บริษัทต้องแก้ไขปรับปรุงโค้ดเพิ่ม รวมถึงเขียนซอฟต์แวร์อื่นๆ มาใช้งานร่วมด้วย
  • ปรับ Giraph ให้รับข้อมูลกราฟ (vertex/edge) ได้หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ Giraph จะเน้นข้อมูล vertex เป็นหลัก
  • ข้อมูลของ Facebook เก็บอยู่ใน Hive แต่ดึงข้อมูลจากตารางออกมาโดยตรงไม่ได้ (Hive ต้องใช้ HQL เท่านั้น) ทำให้ Facebook ต้องสร้างซอฟต์แวร์ HiveIO ขึ้นมาอ่านข้อมูลเพื่อส่งต่อให้ Giraph อีกต่อหนึ่ง
  • พัฒนาให้ Giraph ทำงานแบบ multithreading ได้ เพื่อกระจายงานออกไปรันอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปรับปรุงวิธีการใช้หน่วยความจำของ Giraph ใหม่ จากเดิมที่เก็บทุกอย่างเป็นวัตถุในระบบของ Java ที่กินหน่วยความจำมาก มาเป็น byte array แทน
  • ปรับปรุงด้านเสถียรภาพและประสิทธิภาพเมื่อต้องประมวลผลข้อมูลจำนวนมากๆ
โค้ดทั้งหมด Facebook ส่งเข้าโครงการ Giraph แล้ว และล่าสุด Giraph ก็ออกรุ่น 1.0.0 ที่มีฟีเจอร์พวกนี้ทั้งหมด เพื่อให้องค์กรหรือบริษัทอื่นๆ ที่อยากมีสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันนำไปใช้งานได้ด้วย

บทความต้นฉบับอธิบายเรื่องการใช้งานกราฟกับข้อมูลจริงไว้อย่างละเอียด (ที่เขียนมานี้ย่อมากแล้ว) ใครสนใจเรื่องทฤษฎีกราฟ และ big data ตามไปอ่านกันได้ครับ

ที่มา: Blognone

BlackBerry ส่อแววขายกิจการ

มีขาขึ้นก็ต้องมีขาลง!! สัจธรรมที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับ BlackBerry จากยุคที่กิจการเฟื่องฟู มาตอนนี้พวกเขากลับต้องเผชิญกับปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนส่อแววว่าอาจต้องขายกิจการ

จากค่านิยมของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่หันไปใช้ iOS กับ Android กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ระบบปฏิบัติการอื่นๆ รวมถึง BlackBerry ค่อนข้างถูกมองข้าม นอกจากนี้ดีไซน์ของ iPhone และสมาร์ทโฟน Android ต่างสามารถดึงดูดให้ผู้ใช้ตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ต้องการได้ แถมโอเอสที่พวกเขาเลือกยังสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่าย แม้ตลอดปีที่ผ่านมา BlackBerry พยายามอย่างยิ่งกับการผลักดันสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นใหม่อย่าง BlackBerry Z10 และโอเอสรุ่นใหม่อย่าง BES 10 แต่นั่นกลับไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่ของบริษัทกระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากไม่สามารถต่อสู้ในตลาดสมาร์ทโฟนที่มี Apple, Samsung หรือ Android ได้ ฉะนั้นเพื่อเป็นการหาทางออกในเรื่องนี้ BlackBerry จึงตัดสินใจตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อร่วมหารือและกำหนดกลยุทธ์ ตลอดจนพิจารณาทางเลือกใหม่ๆ สำหรับทางออกของปัญหาที่ดีสุด และรวมไปถึงการพิจารณาขายกิจการด้วย


ทางด้านซีอีโอของ BlackBerry ยังได้ออกมากล่าวต่อเรื่องที่เกิดขึ้นว่า หลังจากที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจขึ้นมา BlackBerry จะยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะมุ่งเน้นที่ความเหมาะสมตามกลยุทธ์ที่คณะกรรมการเฉพาะกิจกำหนดขึ้น

ในการสำรวจส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกของ IDC ปรากฎว่า BlackBerry เหลือส่วนแบ่งอยู่ไม่ถึง 3% ในไตรมาสล่าสุดของปี 2013 ทั้งๆ ที่เมื่อ 4 ปีก่อนยังครองส่วนแบ่งได้มากถึง 50%

ที่มา: ARiP