วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ยุคของหุ่นยนต์ใกล้มาถึง! โซเฟีย หุ่นยนต์ตัวแรก ได้สิทธิ์พลเมืองในซาอุดิอาระเบีย

ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศแรกที่ให้สิทธิ์พลเมืองกับหุ่นยนต์เพศหญิง ที่มีชื่อว่า “โซเฟีย” นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์โลกที่หุ่นยนต์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองของประเทศ


ภายในงาน Future Investment Initiative ที่จัดขึ้นในกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประกาศให้โซเฟีย เป็นหุ่นยนต์เพศหญิงตัวแรกที่ได้รับสัญชาติและเป็นพลเมืองของซาอุดิอาระเบีย พร้อมกันนี้โซเฟียยังได้รับโอกาสให้ปรากฏตัวบนเวทีและกล่าวขอบคุณว่า “ฉันรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจในความแตกต่างนี้ … และนี่เป็นประวัติศาสตร์ของหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมือง” (ดูคลิปได้ที่ท้ายข่าวครับ)

โซเฟีย เป็นหุ่นยนต์เพศหญิงที่เกิดจากการพัฒนาโดย Hanson Robotics ซึ่งผู้ผลิตหุ่นยนต์รายนี้ระบุว่า โซเฟีย และหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ในอนาคตจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้สูงอายุภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการเป็นผู้ช่วยตามสถานที่สาธารณะและในกิจกรรมต่างๆ

สำหรับหุ่นยนต์โซเฟีย ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทุนขนาดใหญ่ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีชื่อว่า “NEOM” ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อเนรมิตมหานครแห่งใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ประเทศรอบทะเลแดง คือ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน และอียิปต์ เป็นการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่ใช้พลังงานหมุนเวียน, การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนบริการสาธารณะ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ดำเนินการทั้งหมด


ที่มา: ARiP

วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560

Apple บอกความต้องการ iPhone X "สูงเกินกว่าอธิบายได้"

แอปเปิลเริ่มเปิดให้จอง iPhone X ในประเทศที่วางจำหน่ายไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเริ่มส่งมอบในวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งผู้ที่จองหลายคนพบว่าสินค้าเริ่มหมดอย่างรวดเร็ว ต้องรอสินค้าถึงราว 5-6 สัปดาห์

ตัวแทนของแอปเปิลระบุว่า จากกระแสตอบรับเบื้องต้นนั้น ความต้องการ iPhone X สูงเกินกว่าจะอธิบายได้ (off the charts) โดยแอปเปิลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์แห่งนวัตกรรมนี้ จะส่งถึงมือลูกค้าทุกคนที่ต้องการได้รวดเร็วมากที่สุด

ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นว่า แม้ความต้องการ iPhone X จะสูง แต่แอปเปิลก็จะประสบปัญหาการผลิตให้ทันความต้องการ โดยเฉพาะจากปัญหาชิ้นส่วนกล้อง TrueDepth ที่ใช้ในการปลดล็อกด้วยใบหน้า
 

ที่มา: Blognone

Warren Buffett ชี้ Bitcoin เป็นฟองสบู่ขนานแท้ ไม่ใช่สินทรัพย์ที่สร้างมูลค่า

ถึงคราว Warren Buffett มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก ออกมาวิจารณ์ Bitcoin และเงิน cryptocurrency บ้าง โดยเขาพูดเรื่องนี้กับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม

Buffett บอกว่า Bitcoin เป็น "ฟองสบู่ขนานแท้" (real bubble) เราไม่สามารถประเมินมูลค่าของ Bitcoin ได้ตรงๆ เพราะตัวมันไม่ใช่สินทรัพย์ที่สร้างคุณค่า (value-producing asset) เขาไม่สามารถบอกได้ว่าค่าเงิน Bitcoin จะขึ้นไปถึงเท่าไร แต่บอกได้ว่าคนตื่นเต้นไปกับมูลค่าของมัน และนักลงทุนใน Wall Street ก็ตอบรับเรื่องนี้

เขายังพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับ ว่าน่าจะมีส่วนแบ่งตลาด 10% ได้ในปี 2030 โดยเหตุผลหลักในการผลักดันคือรถยนต์ไร้คนขับ ปลอดภัยกว่ารถยนต์แบบมีคนขับ


ที่มา: Blognone

Walmart ทดลองใช้หุ่นยนต์เช็คสินค้าบนชั้นวาง บอกไม่ได้มาแทนคน แต่มาช่วยงาน

การใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบสินค้าบนชั้นวางในร้านค้าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังไม่ได้แพร่ขยายมากจนเห็นได้ทั่วไป ล่าสุด Walmart ขยายสาขาการใช้หุ่นยนต์เช็คสินค้าบนชั้นวางใน 50 สาขาในสหรัฐฯแล้ว

หุ่นยนต์ที่ใช้เป็นของบริษัท Bossa Nova Robotics รูปร่างทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณเอว มีปล่องสูงขึ้นไปเหนือศรีษะซึ่งเป็นความสูลที่พอดีกับชั้นสินค้า มีล้อเลื่อน กล้องและจอมอนิเตอร์ตรงส่วนบน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวเองไปตามชั้นสินค้า ดูปริมาณสินค้า ตรวจสอบว่ามีสินค้าใดขาดหายไป หรือแม้แต่สามารถตรวจจับการหายไปของสลากสินค้าได้ด้วย โดยระบบจะส่งสถานะสินค้าไปยังแอพพลิเคชั่นเรียลไทม์

Walmart ระบุว่าหุ่นยนต์พวกนี้ไม่ได้มาแทนที่คน แต่จะมาช่วยเป็นกำลังหนุน พนักงานจะได้ไม่ต้องตรวจสอบสินค้าทุกชิ้นด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลามาก



ที่มา: Blognone

ไมโครซอฟท์เปิดตัว Sonar เครื่องมือสแกนประสิทธิภาพ-มาตรฐาน-ความปลอดภัยของเว็บไซต์

ไมโครซอฟท์เปิดตัว Sonar เครื่องมือช่วยสแกนประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานของเว็บไซต์ เพื่อช่วยให้นักพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ของตัวเองได้ดีขึ้น
 
Sonar เป็นเว็บแอพที่จะสแกน URL ตามที่ระบุ และให้คะแนนใน 5 หัวข้อ ได้แก่ การรองรับคนพิการ (accessibility), ความเข้ากันได้ (interoperability), ประสิทธิภาพ (performance), ฟีเจอร์ progressive web app (PWA) และความปลอดภัย (security) พร้อมบอกรายละเอียดว่าควรปรับปรุงเว็บไซต์อย่างไรบ้าง
 
โครงการ Sonar เป็นโอเพนซอร์ส และไมโครซอฟท์ก็บริจาคโค้ดให้มูลนิธิ JS Foundation เป็นผู้ดูแลแทนแล้ว มันยังสามารถทำงานแบบคอมมานด์ไลน์ และทำงานบนเครื่องโลคัล (สำหรับทดสอบเว็บที่ยังไม่ออนไลน์) ได้ด้วย ไมโครซอฟท์ยังสัญญาว่าจะออกปลั๊กอินสำหรับ Visual Studio Code และพัฒนาฟีเจอร์อื่นๆ เข้ามาอีก
 
 
ที่มา: Blognone

Hoversurf Scorpion พาหนะสุดล้ำสำหรับตำรวจดูไบ

ดูไบ เมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น Smart City และกำลังก้าวสู่ความเป็น “เมืองแห่งอนาคต” ซึ่งหลายคนที่ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีของดูไบจะเห็นว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อมาสนับสนุนงานในอาชีพต่างๆ โดยตำรวจถือเป็นหนึ่งอาชีพที่ดูไบให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และมีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับการทำหน้าที่ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย


ล่าสุดในงาน Gitex Technology Week Conference ได้มีการนำเสนอต้นแบบยาพาหนะสุดล้ำสำหรับตำรวจดูไบ มีชื่อเรียกว่า “Hoversurf Scorpion” มีที่นั่งคล้ายกับการขี่มอเตอร์ไซค์ มี 4 ใบพัด เพื่อทำให้เหาะได้ สามารถบินในระดับความสูงถึง 5 เมตร ใช้ความเร็วได้สูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับน้ำหนักได้ถึง 300 กิโลกรัม ใช้งานได้นานต่อเนื่องนานสูงสุด 25 นาที


จุดประสงค์สำคัญของ Hoversurf Scorpion คือการเป็นยาพาหนะสำหรับตำรวจดูไบ ไว้ใช้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องเผชิญกับสภาวะการจราจรที่ติดขัด ซึ่งยาพาหนะดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: ARiP

วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

Cruise บริษัทรถยนต์ไร้คนขับของ GM เตรียมทดสอบลงถนนจริงในแมนฮัตตัน

สตาร์ตอัพรถยนต์ไร้คนขับ Cruise Automation บริษัทลูกของค่ายรถยักษ์ใหญ่ General Motors (GM) เตรียมทดสอบรถยนต์ไร้คนขับในรัฐนิวยอร์กช่วงต้นปี 2018

การทดสอบรถยนต์ไร้คนขับในสหรัฐ ขึ้นกับกฎระเบียบของแต่ละรัฐที่แตกต่างกัน ก่อนหน้านี้ Audi เคยทดสอบรถยนต์ในนิวยอร์กไปในเดือนมิถุนายน แต่กรณีของ Cruise ถือเป็นบริษัทแรกที่ได้ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับในย่านแมนฮัตตันของนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นย่านที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด และเป็นสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยมโลกด้วย

การทดสอบจะยังมีวิศวกรของ Cruise นั่งอยู่บนที่นั่งคนขับตลอดเวลา ตอนนี้ทีมงาน Cruise เริ่มการสร้างแผนที่ของพื้นที่ทดสอบแล้ว


ที่มา: Blognone

สงคราม Container ได้ข้อยุติ Docker ยอมซัพพอร์ต Kubernetes แล้ว

สงครามครั้งสำคัญของวงการ container ในเรื่องการจัดการคลัสเตอร์ (orchestration) ระหว่างค่าย Docker ที่มี Swarm เป็นอาวุธ กับ Kubernetes ที่ริเริ่มโดยกูเกิล แต่มีพันธมิตรร่วมสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดในงาน DockerCon EU ทางฝั่ง Docker ก็ต้านกระแสไม่ไหว ประกาศซัพพอร์ต Kubernetes เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจาก Swarm แล้ว โดยจะรองรับทั้งเวอร์ชัน Community Edition และ Enterprise Edition

Docker บอกว่ามีเสียงเรียกร้องจากผู้ใช้จำนวนมากที่อยากใช้ Kubernetes และบริษัทก็มองว่าต้องการสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้ ส่วน Swarm ก็จะยังเดินหน้าต่อไปในฐานะทางเลือกอีกทางหนึ่ง

ตอนนี้สถานะของการซัพพอร์ต Kubernetes ยังเป็นรุ่นเบต้า และจะเริ่มผนวกเข้ามาอย่างเป็นทางการใน Docker เวอร์ชันหน้า


ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชื่อนี้ที่คุ้นเคย! Nokia 3310 (3G) ให้คุณเป็นเจ้าของได้อีกครั้ง

Nokia ภายใต้การดูแลของบริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล เผยโฉมฟีเจอร์โฟนในตำนานที่ทุกคนรอคอย Nokia 3310 3G กับลุคใหม่ สีสันสดใส มาพร้อม UI ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนธีมได้ตามไลฟ์สไตล์ และความต้องการของตัวเอง เป็นการผสมผสานระหว่างความคลาสสิคกับความทันสมัยได้อย่างลงตัว Nokia 3310 เปิดให้ใช้งานระบบ 3G ในหลายประเทศ ทั่วโลก และแน่นอนว่า ยังคงมีเกมงูให้แฟนๆ Nokia เช่นเคย


Nokia 3310 3G รองรับการเชื่อมต่อระบบ 3G มาพร้อม UI แบบที่คุ้นเคยซึ่งได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยผู้เชี่ยวชาญให้มีความทันสมัยมากขึ้น ผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนสีและปรับแต่งตำแหน่งไอคอนได้ในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง การโทรและส่งข้อความใช้งานง่าย ด้วยฟังก์ชั่นที่ทุกคนคุ้นแคย สามารถอวดความคลาสสิคสไตล์โนเกียได้อย่างลงตัวในยุคมิลเลเนียน พร้อมเกมงูสุดฮิตตลอดกาลที่ให้คุณสนุกและเพลิดเพลิน


มร.ซานดีฟ กุพทา ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล กล่าวว่า “ท่ามกลางโลกที่โดดเด่นด้วยการแข่งขันของสมาร์ทโฟน การเปิดตัว Nokia 3310 ในครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางเทคโลยีการสื่อสารอีกครั้งหนึ่ง เป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยี และความคลาสสิคของโทรศัพท์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน แฟนๆ ทั่วโลกต่างถามหาโทรศัพท์ในตำนานเครื่องนี้ในรูปแบบที่รองรับ 3G ซึ่งทางเรารับฟัง จึงเป็นที่มาของการกลับมาของ Nokia 3310 3G”

การพัฒนาดีไซน์ที่คุ้นเคย พร้อมกับสีสันใหม่ๆ

 

Nokia 3310 3G ยังคงรูปแบบของความคลาสสิคด้วยรูปทรงและสีสันหลากหลาย โดยมี 4 สีให้เลือก ได้แก่ สีเหลือง สีแดง สีฟ้า และสีเทาดำ ตัวเครื่องทำจากวัสดุผิวด้าน และมีแป้นพิมพ์สีเงิน ที่ได้รับการออกแบบใหม่ เพื่อทำให้การใช้งานดียิ่งขึ้น Nokia 3310 3G มีช่องว่างระหว่างปุ่มทำให้คุณสามารถโทรศัพท์ ส่งข้อความและทวีตได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

 

บทพิสูจน์ 3G เชื่อมต่อโลกแห่งอนาคต

 

การเชื่อมต่อข้อมูลได้ในระบบ 3G ทำให้โทรศัพท์ในตำนานเครื่องนี้เป็นที่นิยมของแฟนๆ ทั่วโลกมากขึ้น Nokia 3310 3G รองรับการสนทนาได้สูงสุด 6.5 ชั่วโมง รวมถึงสามารถสแตนด์บายได้ยาวนานถึง 27 วัน ทำให้คุณมั่นใจได้ว่า คุณจะไม่พลาดการติดต่ออย่างแน่นอน

 

เชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้ง่ายๆ

 

ความสามารถของ Nokia 3310 3G เพื่อตอบรับกับยุคดิจิทัล สามารถเล่น Facebook และ Twitter ได้ในตัว

Nokia 3310 3G พร้อมวางจำหน่ายกลางเดือนตุลาคม 2560 ในราคา 1,790 บาท ที่ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศ


ที่มา: ARiP

วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คุยกับไทยพาณิชย์ เปิดดูสถาปัตยกรรมเบื้องหลัง SCB Easy ที่เขียนใหม่ในเวลา 10 เดือน

ข่าวที่สร้างกระแสฮือฮาให้วงการธนาคารในรอบเดือนที่ผ่านมา คือการเปิดตัวแอพ SCB Easy เวอร์ชันใหม่ ที่มีจุดขายคือปรับหน้าตาโฉมใหม่ และการกดเงินจากตู้เอทีเอ็มแบบไม่ต้องใช้บัตร

แต่ในงานแถลงข่าวเปิดตัวแอพ SCB Easy ทางธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้พูดแต่เรื่องตัวแอพอย่างเดียว เพราะพูดถึง "สถาปัตยกรรม" ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง ระบบฝั่งเซิร์ฟเวอร์ตัวนี้ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และใช้แนวทางแบบ microservices ที่กำลังได้รับความนิยมในบริษัทไอทีสมัยใหม่ (แนวทางนี้เอามาจาก Netflix)

ทาง Blognone จึงไม่พลาดโอกาสที่จะขอสัมภาษณ์ SCB ในเรื่องนี้ และเราได้คุยกับคุณธนา โพธิกำจร Head of Digital Banking ผู้ที่ขึ้นเวทีพรีเซนต์สถาปัตยกรรมนี้ในงานแถลงข่าวนั่นเอง


สถาปัตยกรรมเดิมของ SCB Easy ใช้มานาน 15 ปี!!

 

คุณธนา เริ่มจากเล่าว่าตัวสถาปัตยกรรมเบื้องหลังเว็บไซต์ SCB Easy ซึ่งเป็น internet banking รายแรกๆ ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2001-2002 โดยเริ่มจากการเป็น web frontend ที่เขียนด้วย ASP

ที่ผ่านมา 15 ปี ระบบตัวนี้ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงใหญ่เลย มีแต่โมกันแล้วโมกันอีก (บวกด้วยอัพเกรดเป็น ASP.NET เท่านั้น) แถมตัวมันเองใช้โครงสร้างแบบ monolithic การแก้ไขอะไรก็ตามจึงเป็นเรื่องยากมาก

พอช่วงหลัง ธนาคารออนไลน์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ปริมาณทราฟฟิกคนเข้าเว็บก็เยอะขึ้น โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือน ระบบเริ่มรองรับไม่ไหวและมี downtime บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนในทีมก็มองว่าการจูนระบบเดิมให้รองรับปริมาณทราฟฟิกใหม่ เริ่มเป็นไปไม่ได้แล้ว จึงมองถึงการเขียนใหม่

การเขียนใหม่ก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วนี้เอง มาถึงตอนนี้ใช้เวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น เรียกว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายมาก ในการสร้างระบบ backend ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ในระยะเวลาที่สั้นขนาดนี้


SCB Easy Platform ตามแนวทางเดียวกับ Netflix

 

โจทย์ของการออกแบบ SCB Easy Platform ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า "ความเรียบง่าย" ทีมงานต้องการให้มันสะอาดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนปรัชญาข้ออื่นที่นำมาใช้ก็คือ "microservices" ที่แยกบริการย่อยๆ ออกจากกัน เพื่อให้แก้ไขได้เฉพาะส่วนโดยไม่กระทบส่วนอื่น และรองรับการขยายตัวของทราฟฟิกการใช้งานในอนาคต

ต้นแบบของ SCB Easy Platform มาจากสถาปัตยกรรมของ Netflix ที่เปิดซอร์สต่อสาธารณะ ซึ่งหลายองค์กรก็นำแนวทางของ Netflix มาใช้เช่นกัน

คุณธนา บอกว่าเนื่องจากเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่หมด และมีต้นแบบที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้ว จึงพยายามยึดแนวทางให้สถาปัตยกรรม "สวย" ที่สุดเอาไว้ตั้งแต่แรก


จาก Frontend เข้าสู่ระบบภายใน

 

ฝั่งของ frontend ใช้เทคโนโลยี Experience API ของบริษัท Backbase ที่ธนาคารทั่วโลกใช้กันสำหรับเป็น Frontend Content Management ส่วนตัวไคลเอนต์ก็เขียนขึ้นเอง มีทั้งเว็บและแอพ

บทเรียนของ SCB ในการสร้างแอพ SCB Easy คือต้องหาความสมดุลระหว่างการเขียนแอพแบบเนทีฟ และการใช้ webview เข้าช่วย จากประสบการณ์คือเนทีฟดีกว่าเว็บมาก เพราะการทำเว็บให้เนียนสวยเท่าเนทีฟเป็นเรื่องยากกว่ามาก แต่การใช้เนทีฟก็มีข้อเสียคือทำให้แอพมีขนาดบวมขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายัดทุกอย่างลงไป ดังนั้นอะไรที่ใช้ไม่บ่อยนัก นานๆ ใช้ที สร้างเป็นเว็บดีกว่า

เรื่อง UI ของแอพที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เรื่องนี้แยกเป็น 2 แนวทางตั้งแต่ช่วงการออกแบบแล้ว คนที่ใช้ฟีเจอร์ทำธุรกรรมบ่อยๆ จะรู้สึกว่ารกไปหน่อย ทีม UX เองก็อยากให้ลูกค้าทำคำสั่งในแอพให้เสร็จเร็วๆ แต่ก็สวนทางกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่อยากเป็นมากกว่าธนาคาร คำถามในเชิงการออกแบบคือจะหาจุดสมดุลอย่างไร

เสียงตอบรับหลังแอพออกไปแล้วคือกลุ่ม power user บ่นว่าใช้งานยากขึ้น แต่ที่ผิดคาดคือกลุ่มลูกค้าทั่วไปกลับชอบ เพราะเกิดความสนใจ เข้าไปดูได้มากขึ้นว่าแอพของธนาคารทำอะไรได้เยอะกว่าที่คิดมากด้วย


API Gateway เปิดการเชื่อมต่อสู่ภายนอก

 

แพลตฟอร์มตัวนี้มี API Gateway เพื่อให้ระบบ backend สามารถสื่อสารกับ frontend ใดๆ ก็ได้ รวมถึงการเชื่อมต่อจากพาร์ทเนอร์ หรือสตาร์ตอัพสายฟินเทค เข้ามาเรียกใช้ API ได้ด้วย

SCB ให้ความสำคัญกับการเปิด API มาก สังเกตได้จากแอพ SCB Easy ตัวใหม่ใช้การออกแบบแนว tile ที่มีไอคอนเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ เพื่อเปิดให้พาร์ทเนอร์สามารถเข้ามานำเสนอบริการของตัวเองต่อลูกค้าของ SCB Easy จำนวน 4-5 ล้านคนได้จากตัวแอพเลย

ตอนนี้ frontend ของ SCB เองก็จะเรียกข้อมูลต่างๆ ในฝั่ง backend ผ่าน public API กันอย่างเสมอภาค ทัดเทียมกับแอพภายนอกที่มาเชื่อมต่อ ไม่มีท่าพิเศษให้กับแอพของ SCB โดยเฉพาะ เพื่อสร้างฐานตัว API ให้มั่นคงสำหรับอนาคตเมื่อเปิดการเชื่อมต่อให้คนนอก


Hyper-scalable รองรับการขยายตัวในอนาคต

 

ฝั่งของตัวระบบหลัก ที่ออกแบบเป็น microservices ตามแนวทางสมัยใหม่ ก็มีโจทย์ว่าทำอย่างไรจะรองรับการขยายตัวแบบ hyperscale ในอนาคตได้

ตรงนี้ทีม SCB ใช้โซลูชันของ Netflix สองตัวคือ Edge Service ที่เอาไว้กระจายงาน (ใช้ Zuul) ส่วนการจัดการโครงสร้างพื้นฐานใช้ Eureka สำหรับ provisioning และ load balancing

บทเรียนของ SCB พบว่าการออกแบบ microservice ดูแลง่ายจริง แต่กินทรัพยากรเยอะ ดังนั้นจะต้องเตรียมจำนวนเครื่องไว้ให้ดี โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด SCB ดูแลโฮสต์เอง ไม่ได้อยู่บนคลาวด์ โดยใช้คลาวด์เฉพาะงานส่วน dev/testing environment เท่านั้น

ส่วนงานอื่นๆ อย่างการทำ logging ใช้ Elasticsearch และการมอนิเตอร์การใช้งานใช้ Firebase ของกูเกิล โดยระวังเรื่องการไม่ส่งข้อมูลที่ระบุตัวลูกค้าออกไปยังกูเกิล เพราะระวังเรื่องการกำกับดูแลจากธนาคารแห่งประเทศไทย


Intelligence ส่วนงานวิเคราะห์ข้อมูล

 

อีกส่วนที่ SCB ให้ความสำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูล เรื่องนี้เป็นนโยบายที่มาจากซีอีโอโดยตรง ว่าอยากให้ธนาคารมีวัฒนธรรมที่ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล (data-driven culture) ปัญหาในเชิงเทคนิคคือธนาคารมีระบบไอทีหลากหลาย ข้อมูลเก็บอยู่คนละที่

ทางออกจึงเป็นแนวคิด data lake คือเทข้อมูลทั้งหมดมาเก็บรวมกันตรงกลาง โซลูชันที่ใช้ก็เป็น Hadoop ตามมาตรฐานของวงการ (ใช้ของ Cloudera) จากนั้นก็ใส่ตัววิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาอีกหลายตัว เช่น Splunk

ส่วนเป้าหมายของการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างในแอพ SCB Easy ควรจะวิเคราะห์และพยากรณ์ได้ว่า ลูกค้าจะอยากทำอะไรเป็นลำดับต่อไป เราควรนำเสนอให้ลูกค้าได้เลย ไม่ใช่ว่าให้ลูกค้าต้องมานั่งหาเอง ตอนนี้ก็เริ่มทดสอบฟีเจอร์นี้เป็นการภายในบ้างแล้ว


กระบวนการทำงานก็สำคัญไม่แพ้กัน

 

นอกจากเรื่องสถาปัตยกรรมแล้ว การทำงานของคนในทีมก็สำคัญไม่แพ้กัน ตอนแรกทาง SCB อยากทำ agile เหมือนคนอื่นๆ แต่พบว่าโครงการนี้ใหญ่มาก เพราะต้องเขียนระบบใหม่หมด ในเวลาที่สั้นมากคือ 10 เดือน การเปลี่ยนวิธีทำงานพร้อมกับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ คงต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ช่วงแรกๆ ของโครงการก็นำ agile เข้ามาใช้งาน ทีมงานก็เครียดกันมาก เพราะต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน พร้อมกับโจทย์ว่าต้องทำให้เร็ว ผลคือมีแต่คนอยากจะออกจากโครงการ มีคนร้องไห้ มีคนลาออก ทางทีมบริหารจึงต้องยอมถอยกันมาสักหน่อย โดยนำหลักการหรือวิธีการบางอย่างของ agile มาใช้งาน แต่ไม่ใช้ทั้งหมด

SCB เลือกใช้บริษัทภายนอกหลายรายเข้ามาช่วยพัฒนา แต่แนวทางการจ้างงานแบบเก่าที่จ้างเป็นโครงการใหญ่ๆ ตาม requirement ก็ใช้ไม่ได้แล้วอีกเหมือนกัน เพราะโครงการซอฟต์แวร์ยุคใหม่ requirement เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องปรับตัวกันเร็วมาก ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการจ้างมาเป็นแบบตามวันทำงาน (man-day) แทน


บทเรียนของฝ่ายไอทีในธนาคารใหญ่

 

คุณธนา เล่าว่าปัจจุบันธนาคารเปลี่ยนมุมมองต่อไอทีไปมาก จุดเปลี่ยนสำคัญคือผู้บริหารระดับสูงต้องเข้าใจความต้องการของฝ่ายไอทีด้วย ที่ผ่านมา ธนาคารทำแต่โครงการเล็กๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแกนหลักขององค์กร คนอื่นที่อยู่นอกฝ่ายไอทีจึงไม่เห็นผลกระทบมากนัก การลองทำอะไรใหม่ๆ เล็กๆ ไปเรื่อยๆ มันจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

รอบนี้เป็นการทำโครงการใหญ่มาก มันเกิดผลกระทบสูงมากที่คนมองเห็นและจับต้องได้ ทีมงานเองก็จำเป็นต้องปรับตัว หาคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเสริมกับทีมงานเดิมๆ เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง

บทเรียนของทีม SCB Digital มีด้วยกัน 3 ข้อคือ
  • ต้องให้ผู้ใหญ่เข้าใจก่อน ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เพราะผู้บริหารทุกองค์กรรู้แล้วว่าต้องลงทุนด้านไอที
  • ให้ทำโครงการใหญ่ๆ ที่เห็นผลกระทบสูงเลย
  • เอาคนใหม่เข้ามาเยอะๆ สร้างเลือดใหม่ที่มีวิธีคิดแบบใหม่ อย่าพยายามเปลี่ยนองค์กรด้วยการเปลี่ยนคนชุดเดิม ต้องหาคนใหม่เข้ามาเสริมทีมด้วย
ส่วนคนไอทีแบบไหนที่ SCB ต้องการ ก็เป็นคนที่พร้อมเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะ SCB มีฐานเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ลองเล่นเยอะมาก บวกกับมีลูกค้าขนาดใหญ่ระดับหลายสิบล้านคน ซึ่งมีองค์กรไม่กี่แห่งในไทยที่มีลูกค้าระดับนี้ ดังนั้นการเข้ามาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับลูกค้าจำนวนมากขนาดนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ดึงดูดคนเข้ามาได้ เพราะมันท้าทายนั่นเอง

ที่มา: Blognone