วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Tesla ไตรมาส 3/2018 สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ - Model 3 ทำเงินมากที่สุดในอเมริกา และพลิกมามีกำไรอีกครั้ง


Tesla รายงานผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 3 ปี 2018 ซึ่ง Tesla บอกว่าถือเป็นไตรมาสประวัติศาสตร์ของบริษัท เพราะรถยนต์ Model 3 ได้กลายเป็นรถยนต์ที่ทำรายได้สูงสุดในอเมริกา และเป็นอันดับ 5 ในแง่จำนวนคันที่ขายได้ จากกำลังการผลิตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,300 คัน

ในด้านตัวเลขทางการเงินก็ออกมาดีเช่นกัน มีรายได้รวม 5,878 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 312 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายไตรมาส ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่สามในประวัติศาสตร์บริษัทที่มีกำไร นอกจากนี้ยังมีกระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้นอีก 881 ล้านดอลลาร์

Tesla บอกว่าสายการผลิต Model 3 ตอนนี้ได้พ้นช่วงยากของ S-Curve แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้มากขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงท้ายของไตรมาสที่ผ่านมาก็สามารถผลิตได้ 5,300 คันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้จำนวนรถยนต์รอส่งมอบ (คิดจากจำนวนวันก่อนส่งมอบ - Days to sales) ก็ต่ำที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดในอเมริกา


อีลอน มัสก์ ซีอีโอ และ ดีปัค อฮูจา ซีเอฟโอของ Tesla ได้กล่าวว่า ไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2018 เป็นไตรมาสระดับประวัติศาสตร์ของ Tesla อย่างแท้จริง โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และเป็นผลิตภัณฑ์กระแสหลักของบริษัทอีกด้วย


ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา Tesla ได้จำหน่าย รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 ในอเมริกาเหนือได้ 56,065 คัน และจะเริ่มจำหน่ายในยุโรปและประเทศจีนก่อนสิ้นปี 2018 นี้


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

SCB Easy ประกาศฟีเจอร์สร้างสลิปโอนเงินใหม่หากเผลอลบ, เปิดบัญชีผ่านแอพได้เลย

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศแผนการออกฟีเจอร์ใหม่ให้แอพ SCB Easy ในอีก 6 เดือนข้างหน้าหลายอย่าง ที่เด่นๆ มีดังนี้
  • ถอนเงินสดจากตู้ ATM แม้ไม่มีเงินในบัญชี โดยใช้วงเงินจากบัตรเครดิตแทน
  • สมุดบัญชีดิจิทัล (Digital Passbook) ใช้แทนสมุดบัญชีจริงๆ ได้เวลาไปทำธุรกรรมที่สาขา
  • ขอเอกสารทางการเงินจากแอพ (Document Request) โดยเป็นไฟล์ PDF ส่งเข้าอีเมล
  • ขอสลิปการโอนเงินใหม่ (Slip Generator) สำหรับกรณีทำไฟล์สลิปหายหรือลบทิ้ง แล้วต้องการไฟล์สลิปอีกรอบ ก็สามารถเข้าไปดูประวัติการโอนเงิน และสั่งสร้างสลิปใหม่อีกรอบได้
  • ประวัติการชำระสินเชื่อ/เงินกู้ (Loan History) รวมถึงยอดเงินที่ต้องชำระในอนาคต

ฟีเจอร์อื่นๆ ที่เปิดเผย
  • เก็บเงินแบบออโต้ เช่น เงินเดือนเข้าบัญชีแล้วตั้งให้โอนไปเก็บอีกบัญชีทุกเดือน
  • เปิดบัญชีเงินฝากเพิ่มอีกบัญชี (กรณีมีบัญชีกับ SCB อยู่แล้ว) ทำผ่านแอพได้เลย
  • แลกเงินต่างประเทศจากมือถือในช่วงเวลาที่เรตดี แล้วไปรับเมื่อสะดวก
  • โอนเงินต่างประเทศผ่านแอพ
  • จ่ายบิลผ่านบัตรเครดิต โดยได้คะแนนสะสมในบัตรด้วย
  • ซื้อกองทุนจาก บลจ. ต่างๆ ในแอพ
ฟีเจอร์ทั้งหมดจะทยอยเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่สองของปี 2019/2562

ที่มา: Blognone

Firefox 63 ออกแล้ว เพิ่มประสิทธิภาพบนแมค, ปรับธีมสี Dark/Light ตามธีมวินโดวส์


Firefox ออกเวอร์ชัน 63 มีของใหม่ดังนี้
  • ปรับธีมสี Dark/Light ตามสีธีมของ Windows 10 ให้อัตโนมัติ
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพบน macOS ให้เร็วขึ้นหลายจุด ทั้งการสลับแท็บ การตอบสนองการคลิก และ WebGL
  • เวอร์ชันลินุกซ์ รันส่วนขยาย WebExtensions แบบแยกโพรเซสของตัวเองแล้ว
  • เพิ่มหน้าจอถามยืนยันก่อน หากจะปิดโปรแกรมเมื่อเปิดหลายหน้าต่างค้างไว้
  • เพิ่มฟีเจอร์ป้องกันการตามรอย สามารถสั่งบล็อคคุกกี้จากผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์นั้น (third-party cookies) ได้
  • Search Shortcuts ปักหมุดเว็บค้นหาที่คนใช้บ่อยๆ ไว้ในหน้า New Tab ตอนนี้ยังมีเฉพาะ Google, Amazon และใช้ได้เฉพาะในสหรัฐ (คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเรื่องรายได้ของ Mozilla) ผู้ใช้สามารถเอาออกเองได้ถ้าไม่ต้องการ
  • Firefox for iOS รองรับ Siri Shortcuts แล้ว

ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Atlassian ยกเครื่อง Jira ครั้งใหญ่ ปรับตัวให้เข้ายุคสมัย เปลี่ยนหน้าตาใหม่ ใช้ง่ายขึ้น

Atlassian ประกาศอัพเกรดซอฟต์แวร์ติดตามบั๊ก Jira ครั้งใหญ่ โดยระบุว่าเป็นการยกเครื่องฟีเจอร์ให้เข้ากับยุคสมัย นับจากการเปิดตัว Jira ครั้งแรกเมื่อปี 2002 มาถึงปัจจุบัน รูปแบบการทำงานเป็นทีมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก Jira จึงต้องปรับตัวเองให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าด้วย

ฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญของ Jira มี 5 อย่างดังนี้
  • ผู้ใช้แต่ละคนสามารถปรับแต่งบอร์ดของตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอแอดมินทำให้
  • ปรับหน้าจอ issue ใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น
  • เลือกเปิดปิดฟีเจอร์ของทีมได้ตามความต้องการของแต่ละทีม เช่น Backlog, Sprint, Estimations พร้อมผนวกฟีเจอร์ Roadmaps เข้ามาเป็นส่วนหลักของ Jira แล้ว
  • เพิ่มฟีเจอร์ฟิลเตอร์สำหรับกรองข้อมูล โดยไม่ต้องเขียนภาษา JQL เองอีกแล้ว
  • Jira Cloud รองรับการใช้งานผ่านมือถือ เปิดดูข้อมูลบั๊กและตอบคอมเมนต์ได้ตลอดเวลา

Atlassian ยังบอกว่าเปลี่ยน tech stack ของ Jira ใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างของซอฟต์แวร์เป็นไมโครเซอร์วิส ปรับระบบสิทธิ (permission) ใหม่ และคิดเรื่อง UX ใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังเพิ่มการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ อีกชุดใหญ่ด้วย
ที่มา: Blognone

รู้จัก Container มันคืออะไร แตกต่างจาก Virtualization อย่างไร?

ช่วงหลังเราได้ยินชื่ออย่าง Docker, Container, Kubernetes, Orchestration กันบ่อยขึ้นมาก โดย Blognone เองก็เคยนำเสนอข่าวในหัวข้อเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องนี้อยู่มาก เพราะเป็นแนวคิดที่ยังค่อนข้างใหม่และมีความแตกต่างจากระบบเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ สูง

บทความชุดนี้จึงมีเป้าหมายเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจกับแนวคิดเหล่านี้ ใครที่รู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้วสามารถข้ามไปได้เลยครับ


Virtualization มีข้อจำกัด


คำว่า "คอนเทนเนอร์" (container) เป็นเทคนิคการจัดการแพ็กเกจซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์กับเทคนิค virtualization ที่อยู่ในโลกองค์กรมานาน ดังนั้นการอธิบายว่าคอนเทนเนอร์คืออะไร จึงมักถูกเปรียบเทียบว่าแตกต่างกับ virtualization อย่างไร

เทคนิค virtualization คือการสร้างคอมพิวเตอร์เสมือน (virtual machine หรือ VM) ที่มีทั้งซีพียู แรม สตอเรจ ระบบปฏิบัติการ ฯลฯ ขึ้นมารันบนคอมพิวเตอร์จริงๆ อีกทีหนึ่ง โดยตัวระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์เสมือน (Guest OS) จะไม่รู้ว่าตัวเองรันอยู่บน VM แต่เข้าใจว่ารันอยู่บนฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์จริงๆ

วิธีการนี้ทำให้เกิดการแยกส่วน (isolation) ระหว่าง VM แต่ละตัวอย่างสมบูรณ์ สามารถรันระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันระหว่าง Guest OS กับ Host OS ได้ แต่ข้อเสียคือใช้ทรัพยากรซ้ำซ้อน ทำงานช้า เปลืองพื้นที่เก็บ OS และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่มักจะใช้เหมือนกันใน VM ทุกตัว


Container สร้างมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของ Virtualization


คอนเทนเนอร์จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น โดยมีฮาร์ดแวร์และ OS เพียงชุดเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของการใช้ทรัพยากรลง ส่วนตัวแอพพลิเคชันและซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างกันไปก็จะมี "container" (เทียบได้กับ VM) มาครอบเพื่อแบ่งส่วนทรัพยากรไว้ไม่ให้ยุ่งกัน

จุดเด่นของคอนเทนเนอร์จึงเป็นเรื่องการใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่า virtualization มาก อิมเมจของคอนเทนเนอร์อาจมีขนาดเพียงกี่ไม่กี่สิบ MB ในขณะที่อิมเมจของ VM ต้องใช้พื้นที่ระดับหลาย GB นอกจากนี้ ระยะเวลาที่ใช้บูต, พลังซีพียูและปริมาณแรมที่ต้องใช้ ก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เซิร์ฟเวอร์หนึ่งเครื่องสามารถยัดคอนเทนเนอร์จำนวนมากกว่าการรัน VM ที่ให้ผลแบบเดียวกันถึง 2-3 เท่าตัว

บางครั้ง คอนเทนเนอร์ถูกเรียกชื่อในทางเทคนิคว่า Operating-system-level virtualization หรือการสร้าง VM ที่ระดับ OS โดยเราไม่ต้องสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือนขึ้นมาทั้งตัว

ข้อเสียของคอนเทนเนอร์ก็ย่อมเป็นความยืดหยุ่นที่น้อยกว่า virtualization แบบดั้งเดิม โดยเฉพาะไม่สามารถใช้ OS ที่แตกต่างกันระหว่าง Guest และ Host ได้ (เพราะจุดเด่นของคอนเทนเนอร์คือการแชร์ OS ก็อปปี้เดียวกัน)


ประวัติย่อของ Container


แนวคิดของคอนเทนเนอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกของยูนิกซ์เกิดแนวคิดนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2000 จากแนวคิด jails ของ FreeBSD จากนั้นในปี 2004 ระบบปฏิบัติการ Solaris ของบริษัท Sun Microsystems ก็มีฟีเจอร์แบบเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า Zones (หรือ Solaris Containers) ฝั่งลินุกซ์เองก็นำไอเดียนี้มาสืบสานต่อในโครงการอย่าง OpenVZ หรือ LXC (Linux Containers)

แต่คอนเทนเนอร์กลายมาเป็นเรื่องแพร่หลายในวงกว้างจาก Docker ที่เริ่มต้นในปี 2013 ซึ่งช่วงแรกยังอิงอยู่บนโครงการยุคก่อนหน้าอย่าง LXC หรือ libvirt แต่ภายหลัง Docker ก็พัฒนาส่วนต่างๆ ขึ้นมาเอง (libcontainer) จนสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ทำให้แนวคิดคอนเทนเนอร์ "จุดติด" และได้รับการยอมรับในวงการอย่างรวดเร็ว มีตัวอย่างการใช้งานจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างกูเกิลที่พัฒนาฟีเจอร์ของ Google Compute Engine ให้รองรับอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ Docker จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลินุกซ์ แต่ความนิยมของมันทำให้ระบบปฏิบัติการฝั่งวินโดวส์ ทำให้ไมโครซอฟท์เข้ามาร่วมวงตั้งแต่ปี 2014 และสำเร็จลุล่วงใน Windows Server 2016

ความสำเร็จของ Docker ทำให้เกิดคู่แข่งขึ้นบ้าง เช่น Rocket หรือ rkt ของบริษัท CoreOS (ปัจจุบันถูก Red Hat ซื้อไปแล้ว) ทำให้โลกคอนเทนเนอร์แยกออกเป็นสองส่วน แต่ภายหลังก็หาทางออกได้ ด้วยการออกมาตรฐานกลางภายใต้การดูแลของ Open Container Initiative (OCI) (ภายหลังยังพัฒนาต่อมาเป็นโครงการ containerd และ runc ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้)


ตัวอย่างการใช้งาน Container


รูปแบบการนำคอนเทนเนอร์ไปใช้งานมีหลากหลาย แต่ที่พบบ่อยคือการนำแอพพลิเคชันองค์กรในแบบเดิมๆ (ซึ่งมักเป็นแอพที่เขียนด้วยเทคโนโลยียุคก่อนอย่าง Java, .NET หรือ PHP) มาใส่ไว้ในคอนเทนเนอร์ เพื่อมารันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ที่เป็นคลาวด์ แทนที่การใช้เซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิมที่เริ่มล้าสมัย ช่วยให้การย้ายขึ้นคลาวด์ราบรื่นกว่าเดิม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่อง system dependency ระหว่างแอพแต่ละเวอร์ชัน แต่ละสถานะ (เช่น dev/test/production) เพราะทุกอย่างที่จำเป็นถูกรวมมาในอิมเมจให้หมดแล้ว มันจึงมีประโยชน์ในแง่กระบวนการเปลี่ยนโค้ดที่เขียน ไปสู่การดีพลอยใช้งานจริงบนเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง หรือที่เราเรียกกันว่า CI/CD อีกด้วย

การใช้งานคอนเทนเนอร์อีกแบบหนึ่งที่พบบ่อยในช่วงหลัง คือการแยกแอพพลิเคชันยุคเดิมที่เขียนมาเป็นก้อนใหญ่ๆ (monolithic) ให้กลายเป็นไมโครเซอร์วิส (microservice) ที่มีขนาดเล็กลง จัดการได้สะดวกขึ้น สามารถสเกลเซอร์วิสบางตัวหากต้องการรับโหลดมากขึ้น

การนำคอนเทนเนอร์ของแอพพลิเคชันที่แยกเป็นไมโครเซอร์วิส ไปรันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคคลาวด์ที่สเกลตัวเองได้ง่ายขึ้น จึงมีความซับซ้อนสูงตามไปด้วย และกลายเป็นหน้าที่ของซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า orchestration (เหมือนวาทยากรนำวงออเคสตร้า) อย่าง Kubernetes หรือ Apache Mesos ที่จะกล่าวถึงในบทความตอนต่อไป

ที่มา: Blognone

ทนไม่ทน? Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองของ Model 3 หลังผ่านการทดสอบวิ่งครบ 1 ล้านไมล์

โดยธรรมชาติของรถยนต์ไฟฟ้านั้น มีชื่อเสียงว่าทนทานกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปภายใน เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่ขยับไปมาน้อยกว่า รวมถึงระบบเกียร์ก็ซับซ้อนน้อยกว่า เพราะมีเพียงเกียร์เดียวจึงลดความสึกหรอไปได้มากเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่มีหลายเกียร์

ล่าสุด Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองในระบบส่งกำลังของ Tesla Model 3 ออกมาสองภาพ โดยระบุว่าเป็นชิ้นส่วนที่ผ่านการทดสอบวิ่งมาแล้ว 1 ล้านไมล์ หรือ 1.6 ล้านกิโลเมตร และ Elon Musk ก็ออกมาเสริมว่าชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ทนทานมากเป็นพิเศษ

เมื่อปี 2015 Elon Musk เคยบอกสื่อว่า Tesla ต้องการสร้างระบบขับเคลื่อนที่จะไม่สึกหรอเลย และเคยตั้งเป้าว่าจะทำให้ระบบขับเคลื่อนใช้งานได้ 200,000 ไมล์ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป้านั้นเป็น 1 ล้านไมล์ นอกจากนี้ Tesla Semi รถบรรทุกพลังไฟฟ้าที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 ก็เคลมว่าสามารถวิ่งได้ 1 ล้านไมล์โดยไม่เสียเลย

สำหรับสภาพของเฟืองที่ผ่านการใช้งานมา 1 ล้านไมล์เป็นอย่างไร ดูได้จากภาพด้านล่างครับ


ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Boston Dynamics โชว์คลิปหุ่นยนต์ Atlas วิ่งกระโดดขึ้นที่สูงแบบเดียวกับมนุษย์

บริษัทหุ่นยนต์ Boston Dynamics (ปัจจุบันอยู่ในเครือ SoftBank) เผยวิดีโอล่าสุดของหุ่นยนต์มนุษย์ Atlas ที่สามารถวิ่งพร้อมกระโดดด้วยขาทีละข้างแบบเดียวกับมนุษย์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Boston Dynamics เรียกเสียงฮือฮาจากความสามารถของหุ่นยนต์ Atlas เพราะปีที่แล้วก็เคยโชว์คลิป Atlas กระโดดตีลังกากลับหลัง มาก่อนแล้ว

Boston Dynamics ยังไม่เคยเปิดเผยว่าจะผลิตหุ่นยนต์มนุษย์ Atlas มาวางขายจริงเมื่อไร แต่มีแผนจะขายหุ่นยนต์สุนัข SpotMini ในปีหน้า 2019


ที่มา: Blognone

รู้จัก SCB 10X ยูนิตใหม่ของ SCB ฉีกกรอบการทำงานแบงค์แบบเดิม แถมขึ้นตรงกับซีอีโอ

เมื่อนึกถึงงานธนาคาร หลายๆ คนอาจจะนึกถึงงานรูทีน ซ้ำซาก น่าเบื่อ บนวัฒนธรรมองค์กรแบบลำดับขั้น (hierarchy) การตัดสินใจต่างๆ ก็ช้า ไม่เว้นแม้แต่ภาพของงานสำหรับนักพัฒนาในสายธนาคารก็ไม่น่าจะต่างกันมาก

SCB 10X (อ่านว่า เท็นเอกซ์) เป็นฝ่ายใหม่ในธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถูกตั้งขึ้นมาโดยซีอีโอและขึ้นตรงกับซีอีโอ เพื่อทำลายข้อจำกัดแบบเดิมๆ ของธนาคาร โดยมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นของตัวเอง มีภารกิจใหม่ที่ท้าทายคือสร้างอนาคตใหม่ให้กับ SCB

ตอนนี้ SCB 10X กำลังมองหานักพัฒนาหลายตำแหน่ง เพื่อมาร่วมงานและสร้างองค์กรไปพร้อมกันด้วย


รู้จัก SCB 10X ดีพาร์ทเมนท์ใหม่กับภารกิจที่ใหญ่ยิ่ง

 

SCB 10X เป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ SCB ที่ตั้งขึ้นมาโดยคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแผนก Google X ของ Google ที่ให้พนักงานได้ทดลอง ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หากทำสำเร็จ จะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลเชิงบวกให้กับองค์กร โดยไม่อยู่ภายใต้กรอบคิดเดิมของบริษัท ว่าโปรเจ็คนี้ต้องสำเร็จ ต้องสร้างกำไร ต้องทำรายได้เสมอไป

SCB 10X ถูกตั้งขึ้นมาด้วยวิธีคิดดังกล่าว เป้าหมายคือเป็นหน่วยงานที่จะให้ทีมงานได้บุกเบิก ได้ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายคือสร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic product) ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกและพลิกโฉม SCB จนกลายเป็น new bank ในอนาคต


SCB 10X ไม่ใช่เพียงหน่วยงานใหม่หรือวิสัยทัศน์ของคุณอาทิตย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักของ SCB ระบุเอาไว้ในเอกสารรายงานประจำปี ที่บริษัทจะมองหาโมเดลทางธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าในทุกเซกเมนต์ด้วย ดังนั้นอาจเรียกได้ว่า SCB 10X แบกภารกิจสำคัญขาหนึ่งของ SCB เอาไว้บนบ่าก็ว่าได้

หน่วยงานใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ


ความแตกต่างและความโดดเด่นของ SCB 10X คือการเป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาอิสระ (แต่ยังอยู่ภายใต้ SCB ไม่ได้แยกเป็นบริษัทลูกเหมือนกับ Digital Ventures หรือ SCB Abacus) โครงการ SCB10X จะรายงานตรงกับ คุณอาทิตย์ ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน SCB 10X มี คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร และคุณหนึ่ง ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล เป็นผู้บริหารในฐานะ Head of SCB 10X Project ที่กำลังมองหาทีมงานนักพัฒนามาร่วมสร้างสรรค์งานด้วยกัน

โครงสร้างนี้ทำให้ SCB 10X มีวัฒนธรรมที่ฉีกกรอบออกจากธนาคารแบบเดิมๆ มีความคล้ายสตาร์ทอัพ การทำงานมีความคล่องตัวสูง สามารถตัดสินใจและจบได้ในตัวเอง


ด้วยเป้าหมายของ SCB 10X คือสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะพลิกโฉมการให้บริการของธนาคาร ดังนั้นการทำงานที่ SCB 10X จะเต็มไปด้วยความท้าทาย ได้ลองอะไรใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูก โดยมีทรัพยากร ทุนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของ SCB หนุนหลังอยู่ สามารถเริ่มงานได้เลยทันที ไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ และด้วยความที่เป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งตั้ง พนักงานที่เข้ามาก็จะมาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันด้วย

SCB 10X อยากได้คนแบบไหนมาร่วมงานด้วย


SCB 10X อยากได้คนที่มีมายด์เซ็ตที่ยืนอยู่ข้างลูกค้าธนาคาร ที่ต้องการจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา pain point ที่ลูกค้าธนาคารกำลังประสบในขณะนี้ รวมถึงต้องเป็นคนที่อยากทำงานแนวสตาร์ทอัพ อยากทดลองทำของใหม่ๆ ในองค์กรใหญ่ๆ ที่ทรัพยากรพร้อม มีความกล้าจะลองผิดลองถูก ชอบความท้าทาย ที่สำคัญคือมีประสบการณ์ในการทำงานสายนักพัฒนามาก่อนระดับหนึ่ง โดยจะเป็นสายงานไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องธนาคาร


คุณต้อง Head of SCB 10X บอกด้วยว่าการเข้ามาทำงานใน SCB 10X ไม่ใช่การเข้ามาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ให้คิดว่าเป็นเหมือน career jump เพราะค่าตอบแทนค่อนข้างดี โดยสัญญาจะเป็นลักษณะสัญญาจ้างที่ต่อทุกๆ 2 ปี

ที่อยู่ออฟฟิศ

สำนักงานของ SCB 10X จะอยู่ที่เดียวกับสำนักงานใหญ่ของ SCB คืออาคาร SCB Park Plaza รัชโยธิน โดยมีตึกและออฟฟิศแยกเป็นของตัวเอง


ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Waymo ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับเกิน 10 ล้านไมล์ เตรียมปรับปรุงให้รถขับนุ่มขึ้น

Waymo เผยว่าทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนถนนจริงไปแล้ว 10 ล้านไมล์ เพิ่มจาก 8 ล้านไมล์ในเดือนกรกฎาคม ส่วนการทดสอบแบบ simulation จะครบ 7 พันล้านไมล์ภายในเดือนนี้

Waymo ยังทดสอบบริการเรียกรถยนต์ไร้คนขับในเมือง Phoenix รัฐแอริโซนา และระบุว่ามีผู้ร่วมทดสอบแบบ early riders จำนวน 400 คน

Waymo บอกว่าพื้นฐานสำคัญของบริษัทคือ "ความปลอดภัย" (safety) แต่หลังจากผ่านระยะ 10 ล้านไมล์ ก็ได้เวลาไปมองถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ขยายความสามารถของระบบรถยนต์ไร้คนขับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมยากๆ อย่างฝนตกหนักหรือหิมะตก, ปรับการขับขี่ให้นุ่นนวลขึ้น, ปรับอัลกอริทึมเส้นทางให้ส่งคนแล้วเดินใกล้กว่าของเดิม ที่เน้นความปลอดภัยเหนือความสะดวก

อย่างไรก็ตาม Waymo ไม่ได้ระบุว่าจะเปิดบริการเรียกรถยนต์ไร้คนขับเมื่อใด จากที่เคยประกาศไว้กว้างๆ ว่าภายในปีนี้


ที่มา: Blognone

Google Chromecast 3 มาแล้ว ทำงานได้เร็วขึ้น ในราคาที่ไม่เพิ่มขึ้น!


Google เปิดตัวและวางจำหน่าย Chromecast 3 แล้วโดยมีรูปร่างหน้าตาคล้ายของเดิม แต่เปลี่ยนโลโก้จากโลโก้ของ Google Chrome มาเป็นโลโก้ตัว G ของ Google ชูจุดขายทำงานเร็วขึ้นกว่ารุ่นเก่าถึง 15% ในขณะที่ราคาเท่าเดิม


โดยตัวนี้จะรองรับภาพ HD 1080p แบบ 60fps ด้วย แต่สำหรับผู้ที่ต้องการรองรับ 4K นั้นต้องขออภัยด้วย ยังไม่รองรับ ต้องไปซื้อรุ่น Chromecast Ultra เหมือนเดิม

ปัจจุบัน Chromecast 3 ยังไม่ได้วางจำหน่ายในประเทศไทยหรือสามารถสั่งซื้อจากไทยได้ แต่คาดว่าอีกไม่นาน AIS ก็น่าจะนำมาขายครับ

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เตรียมนั่งหลับในรถ Volvo จับมือ NVIDIA พัฒนารถอัตโนมัติระดับ 4 คาดวางตลาดได้จริงปี 2021

NVIDIA, Volvo, และ Zenuity ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาระบบช่วยขับที่จะทำให้รถเป็นรถอัตโนมัติระดับ 4 และพร้อมวางขายจริงในปี 2021
 
รถอัตโนมัติระดับ 4 เป็นระดับที่คนขับไม่จำเป็นต้องสนใจการขับขี่อีกต่อไป (mind off) โดยระบบอัตโนมัติสามารถทำงานได้จำกัด เช่น บนทางหลวง, พื้นที่ที่กำหนด, หรือสภาพจราจรบางอย่าง เช่น รถติด โดยหากสภาพแวดล้อมไม่ตรงเงื่อนไขตัวรถจะสามารถเรียกคนขับให้กลับมาควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย
 
Zenuity เป็นบริษัทพัฒนาระบบช่วบขับขี่ ที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาประกาศความร่วมมือกับบริษัทรถ Geely จากจีน เพื่อพัฒนารถอัตโนมัติระดับ 3 (คนขับเตรียมเข้าควบคุมรถในเวลาอันสั้น) โดยเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Volvo จะ Autoliv เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับรถอัตโนมัติ
 
การพัฒนาร่วมกับ Volvo ในครั้งนี้จะใช้แพลตฟอร์ม NVIDIA DRIVE PX และใช้โมเดล deep learning เพื่อการจดจำวัตถุรอบตัวรถ ต่อภาพจากกล้องหลายตัวให้กลายเป็นมุมมอง 360 องศารอบตัว ซอฟต์แวร์ในโครงการนี้เมื่อพัฒนาสำเร็จแล้วจะใช้ในรถ Volvo และขายให้กับบริษัทรถอื่นผ่านทาง Autoliv ต่อไป
 
 
ที่มา: Blognone

อย่าแปลกใจ! เพราะเหล่าผู้บริหาร Google ก็เลิกใช้ Google+ กันมาระยะหนึ่งแล้ว

อย่างที่ทราบกันแล้วว่า Google+ บริการโซเชียลของกูเกิล ที่เคยหมายมั่นปั้นมาเป็น Social Network ตัวใหม่ ได้ประกาศปิดตัวในปีหน้า สิ่งน่าสนใจคือหลายคนก็ยังใช้งาน Google+ อยู่ เพียงแต่เมื่อไปดูผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล ... พวกเขาเลิกใช้มาระยะหนึ่งแล้ว

Business Insider รวบรวม Google+ ของผู้บริหารระดับสูงในกูเกิล พบว่าทุกคนเลิกใช้ Google+ (โพสต์แบบสาธารณะ) มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว
  • Larry Page ผู้ก่อตั้งกูเกิล และซีอีโอ Alphabet โพสต์ครั้งสุดท้าย สิงหาคม 2015 ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะตอนนี้เขาเลือกหายไปจากสื่อทั้งหมด
  • Sundar Pichai ซีอีโอกูเกิล โพสต์ครั้งสุดท้าย มีนาคม 2016
  • Eric Schmidt อดีตซีอีโอกูเกิล และประธานบอร์ด โพสต์ครั้งสุดท้าย กุมภาพันธ์ 2017
  • Sergey Brin ผู้ก่อตั้งกูเกิล โพสต์ครั้งสุดท้าย กันยายน 2017
ก็พอสรุปได้ว่า แม้แต่ผู้บริหารกูเกิลเอง ก็ไม่ได้แตะ Google+ กันมาร่วมหนึ่งปีแล้ว

ที่มา: Blognone

AMD เตรียมเปิดตัว CPU สองรุ่นใหม่ของ Threadripper ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ มาพร้อมกับ 12 และ 24 Core


AMD เตรียมเปิดตัว CPU สองรุ่นใหม่ของ Threadripper อย่างรุ่น 2920X 12-Core และรุ่น 2970WX 24-Core สนนราคาขายอยู่ที่ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 21,000 บาท) และ 1,299 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 42,000 บาท) ตามลำดับ พร้อมยลโฉมแก่ผู้ใช้ทั่วไปในวันที่ 29 ตุลาคมนี้


สำหรับรุ่น 2920X นั้นเป็นรุ่นที่ลดสเปคลงมาจาก 2950X 12-Core เล็กน้อย ซึ่งใช้ความเร็วเท่ากันที่ 3.5GHz, แคช Level 3 ขนาด 32 MB, อัตราการใช้พลังงานสูงสุด 180W แต่ต่างกันตรงที่โหมด Boost นั้นจะมีความเร็วที่ 4.3GHz (ซี่ง 2950X มีความเร็วสูงกว่าที่ 4.4Ghz นั่นเอง) ส่วนรุ่น 2970WX นั้นเป็นรุ่นที่ลดสเปคลงมาจากรุ่นเรือธง 2990WX ขนาด 32-Core ให้ความเร็วที่ 3GHz เร่งสปีดได้สูงสุดถึง 4.2 GHz, แคช Level 3 ขนาด 32 MB, อัตราการใช้พลังงานสูงสุด 250W

นอกจากนี้ AMD เตรียมจะเปิดตัวซอฟต์แวร์อย่าง Dynamic Local Mode เพื่อทำให้การโอนถ่ายข้อมูลจาก Thread หรือ Core ของ CPU ไปยังหน่วยความจำภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใช้ CPU ซีรี่ส์ WX เป็นอย่างยิ่ง พร้อมให้ผู้ใช้อัปเดตได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

ที่มา: Beartai 

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

GitHub ออกเครื่องมือเชื่อมต่อกับ Jira ใหม่ ทำงานข้ามระบบได้สะดวกขึ้น


GitHub ประกาศพัฒนาเครื่องมือเพื่อการเชื่อมต่อกับเครื่องมือติดตามบั๊กและจัดการโครงการ Jira ใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้ที่เก็บโค้ดไว้บนระบบ GitHub สามารถเชื่อมต่อโปรเจคเข้ากับ Jira Software Cloud ได้โดยตรง ทำงานข้ามระบบกันได้สะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อเชื่อมต่อ GitHub เข้ากับ Jira แล้ว ก็จะเห็น branch, commit message, pull request และอื่นๆ บน Jira โดยไม่ต้องสลับการใช้งานไปมา ซึ่งระบบเชื่อมต่อกับ Jira แต่เดิมนั้นเป็นระบบที่ค่อนข้างช้า GitHub จึงพัฒนาใหม่ให้เร็วขึ้นและอินทิเกรตกับระบบของ Jira ได้ดีขึ้น ส่วนระบบเชื่อมต่อ GitHub กับ Jira เดิมจะเข้าสู่สถานะ deprecated เพื่อให้ผู้ใช้มาใช้ระบบใหม่นี้

สำหรับระบบเชื่อมต่อ GitHub กับ Jira สามารถเข้าไปดูได้ที่ GitHub Marketplace

ที่มา: Blognone

ไม่ต้องงงแล้ว ชื่อ Wi-Fi เตรียมปรับให้ง่ายขึ้นด้วยตัวเลข ซึ่งมาตรฐานต่อไปคือ Wi-Fi 6 (802.11ax)

หนึ่งในความงงงวยของผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ต้องอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีคือเจ้าชื่อมาตรฐาน Wi-Fi นี่แหละครับ 802.11n กับ 802.11ac อะไรมันดีกว่ากัน หรือ Wi-Fi G กับ Wi-Fi N ควรจะใช้อะไรดี ซึ่งในที่สุด Wi-Fi Alliance องค์กรที่กำหนดมาตรฐานไวไฟก็รู้ปัญหานี้ และเตรียมปรับรูปแบบเรียกชื่อไวไฟให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยตัวเลข (สักทีเถอะ)

โดยมาตรฐานไวไฟที่ผ่านจะเทียบเวอร์ชั่นตัวเลขดังต่อไปนี้
  • 802.11b (1999) → Wi-Fi 1
  • 802.11a (1999) → Wi-Fi 2
  • 802.11g (2003) → Wi-Fi 3
  • 802.11n (2009) → Wi-Fi 4
  • 802.11ac (2014) → Wi-Fi 5 (มาตรฐานล่าสุดที่ใช้ตอนนี้)
และมาตรฐานไวไฟในยุคต่อไปคือ 802.11ax จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Wi-Fi 6 เช่นกัน ซึ่ง 802.11ax จะสามารถส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นขึ้นแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดเช่นสนามกีฬา รองรับผู้ใช้งานมาก และที่สำคัญประหยัดไฟยิ่งขึ้น สำหรับการใช้งานในเชิง IoT

ซึ่งการเปลี่ยนชื่อให้กลายเป็นตัวเลขก็ทำให้ผู้ใช้เข้าใจง่ายขึ้น ทั้งการซื้ออุปกรณ์ใหม่ ที่อุปกรณ์ในเลขสูงกว่าย่อมดีกว่าอุปกรณ์ในเลขต่ำกว่าแน่ๆ หรือในการเชื่อมต่อเครือข่าย หากระบบแสดงโลโก้เป็นตัวเลขด้วยเลย ผู้ใช้ก็จะเลือกง่ายขึ้นว่าควรเชื่อมต่อไวไฟวงไหนถึงจะมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน

แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่าการแสดงมาตรฐานเป็นตัวเลขนั้นจะเริ่มใช้เมื่อไหร่ และโลโก้จริงๆ จะหน้าตาเป็นอย่างไร ตอนนี้เรารู้แค่ว่า Netgear เอาด้วยกับการกำหนดชื่อนี้แล้ว ซึ่งรายอื่นๆ ก็น่าจะตามมาในภายหลังครับ

ที่มา: Beartai

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

RoV เริ่มทดสอบใช้ระบบสแกนใบหน้าเพื่อเช็คอายุผู้เล่นเกมแล้ว


Tencent เจ้าของ Honour of Kings หรือ RoV เวอร์ชั่นประเทศจีน เกมออนไลน์สุดฮิตแห่งยุค กำลังเริ่มทดสอบระบบจดจำใบหน้าเพื่อมายืนยันตัวตนและตรวจสอบอายุของผู้เล่นแล้ว โดยจะเริ่มทดสอบกับผู้เล่นหน้าใหม่กลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยในปักกิ่งและเสินเจิ้น ตามรายงานจาก BBC

ทั้งนี้ Tencent ถูกกดดันจากสื่อท้องถิ่นในประเทศจีน รวมทั้งตกเป็นเป้าโจมตีของสังคมในกรณีที่ถูกมองว่าทำให้เด็กๆ เสพติดการเล่นเกมดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ทาง Tencent เองเคยออกนโยบายให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สามารถเล่นได้ 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่วัยรุ่นอายุ 13-18 ปี เล่น RoV ได้สูงสุด 2 ชั่วโมง

ล่าสุด Tencent ต่อยอดนโยบายเข้มงวดดังกล่าวด้วยการเพิ่มระบบการสมัครด้วยการใช้ชื่อจริง รวมทั้งระบบจดจำใบหน้าเพื่อเข้ามาควบคุมเวลาการเล่นของผู้เล่นแต่ละวัยได้แม่นยำมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลจีนที่รณรงค์ให้ควบคุมการเล่นเกมของเด็กและเยาวชน

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Tesla ผลิตรถยนต์ในไตรมาส 3 ได้มากเป็นประวัติการณ์ที่ 80,142 คัน ส่งมอบรวม 83,500 คัน

วันนี้ Tesla รายงานสถิติการผลิตและส่งมอบรถยนต์ของไตรมาส 3/2018 โดยทำลายสถิติของตัวเองที่ทำไว้ตอนไตรมาส 2/2018 ด้วยการผลิตรถยนต์ทุกรุ่นรวมกันได้ถึง 80,142 คัน แบ่งเป็น Tesla Model 3 ถึง 53,239 คัน และ Model S กับ X รวมกันที่ 26,903 คัน

Tesla ได้ให้รายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการผลิตรถรุ่นสำคัญอย่าง Model 3 ว่าระหว่างไตรมาสที่ 3 นี้ บริษัทได้เปลี่ยนจากการผลิตรถขับเคลื่อนล้อหลังมอเตอร์เดี่ยวอย่างเดียว มาเป็นการผลิตรถรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อมอเตอร์คู่ ทำให้โดยรวมของไตรมาส 3 บริษัทผลิตรถรุ่นมอเตอร์คู่มากกว่ารุ่นมอเตอร์เดี่ยวเสียอีก และในสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาส 3 ได้ผลิตรถรุ่นมอเตอร์คู่อย่างเดียว

ในส่วนของการส่งมอบรถยนต์ Tesla ระบุว่าส่งมอบรถในไตรมาส 3 ไปทั้งสิ้น 83,500 คัน แบ่งเป็น Model 3 55,840 คัน, Model S 14,470 คัน และ Model X 13,190 คัน อย่างไรก็ตามเรายังคงเห็นข่าวกันอยู่เรื่อยๆ ว่า Tesla มีปัญหาด้านการส่งมอบที่ค่อนข้างช้า และ Elon Musk ก็เคยบอกว่ากำลังแก้ปัญหานี้อยู่


ที่มา: Blognone

Apple อาจจัดงานพิเศษเดือนตุลาคมนี้ ต้อนรับ iPad และ Mac รุ่นใหม่


วันที่ 12 เดือนกันยายนที่ผ่านมา Apple เปิดตัวผลิตถัณฑ์ใหม่ทั้งหมดสองไลน์สินค้าได้แก่ Apple Watch Series 4 และ iPhone XS (Max) ซึ่งหลายๆ คนอาจจะผิดหวังเพราะบางคนก็รอทั้ง iPad Pro และ Mac รุ่นใหม่เป็นต้น

ล่าสุดมีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า Apple อาจจัดงานพิเศษขึ้นในเดือนตุลาคม (เดือนนี้) อีกครั้งเพื่ออัปเดทสินค้าตระกูล iPad และ Mac ครับ แล้วจะมีอะไรใหม่บ้าง มาชมกันครับ

iPad Pro ใหม่


สำหรับ iPad Pro นั้นคาดว่าจะมาพร้อมกับดีไซน์ใหม่หมดจด เน้นหน้าจอไร้ขอบลักษณะเดียวกับ iPhone X ซึ่งคาดว่าจะมีรอยบากและถอดปุ่มโฮมตามรูปแบบการดีไซน์และคุณลักษณการใช้งานของ iOS 12

โดยมีรุ่นใหม่สองรุ่น ได้แก่รุ่นหน้าจอ 11 นิ้ว ซึ่งจะมีขนาดเครื่องเท่ากับ iPad Pro 10.5 ด้วยการขยายขนาดหน้าจอเพิ่มขึ้น แต่คงขนาดของเครื่องไว้เท่าเดิมครับ ส่วน iPad Pro 12.9 นิ้วจะยังคงมีอยู่ แต่ลดขนาดของขอบให้เล็กลงครับ


Mac ใหม่


  • MacBook: มีข่าวว่า Apple เตรียมเปิดตัว MacBook รุ่นใหม่ หน้าจอ 12 นิ้ว และหน้าจอ 13 นิ้ว ซึ่งหน้าจอ 13 นิ้วรุ่นใหม่นั้นมีราคาระหว่าง $1,000 – 1,500 มาแทนที่ MacBook Air แต่มี Touch ID ด้วย เป็นไปได้ยากที่จะถูกวางตำแหน่งไว้ราคาถูก
  • Mac mini: คาดว่า Apple จะเปิดตัว Mac mini รุ่นใหม่ ที่ไม่ได้อัปเกรดฮาร์ดแวร์อะไรเลยมาตั้งแต่ปี 2014 ครับ
  • iMac: iMac เองก็ถึงเวลาได้อัปเกรดกันแล้ว มีรายงานว่า iMac รุ่นใหม่จะเน้นไปที่การพัฒนาหน้าจอเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมี True Tine Display เหมือนที่ MacBook Pro 2018 ได้รับไป

อื่นๆ


งานนี้ยังคงหวังว่า Apple จะไม่ลืมอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่เคยเปิดตัวเอาไว้อย่าง AirPower ที่สามารถชาร์จอุปกรณ์ไร้สายหลายๆ อันได้พร้อมกันหรือ AirPods รุ่นที่ 2 เป็นต้น

ที่มา: Beartai

แอพ K PLUS เตรียมยกเครื่องครั้งใหญ่ 10 ต.ค. นี้ รีแบรนด์ทั้งตัว เปลี่ยนโลโก้ใหม่

ธนาคารกสิกรไทย เตรียมเปิดตัวแอพ K PLUS โฉมใหม่ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยเป็นการรีแบรนด์ทุกส่วน ตั้งแต่โลโก้ไปจนถึงดีไซน์และ UI/UX ของแอพ

ล่าสุดทางธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวโลโก้ใหม่ของ K PLUS และ UI บางส่วนแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือตัว K เดิมที่เป็นลายพู่กัน เปลี่ยนมาเป็นตัว K แบบใหม่ที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยมมากขึ้น ส่วน UI กลายเป็นแถบเมนูด้านล่าง มีด้วยกัน 5 ปุ่มคือ หน้าแรก, K+ Market, ธุรกรรม, สแกน และอื่นๆ

หน้าเว็บของธนาคารระบุว่าจำเป็นต้องใช้กับระบบปฏิบัติการ iOS 9.0 หรือ Android 5.0 ขึ้นไป

ปัจจุบัน K PLUS ถือเป็นแอพธนาคารไทยที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุด ตัวเลขบน Play Store อย่างเดียวระบุว่ามีการดาวน์โหลดไปติดตั้งมากกว่า 10 ล้านเครื่อง ในขณะที่ตัวเลขของธนาคารอื่นๆ ทั้ง SCB Easy, Bualuang mBanking, KTB netbank ยังอยู่ที่ระดับมากกว่า 5 ล้านเครื่อง


ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Visa เปิดตัว Scan to Pay ในไทย จ่ายบัตรเครดิตผ่าน QR ไม่มีขั้นต่ำ สะสมแต้มได้

Visa ประกาศเปิดการใช้งานชำระเงินด้วย QR Code หรือ Scan to Pay ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีธนาคารพันธมิตรที่สามารถใช้งานได้แล้วในตอนนี้คือ 4 รายคือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรี, ธนาคารซิตี้แบงก์ และ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยช่วงเริ่มต้นนี้ใช้งานได้แล้วในห้างเครือเดอะมอลล์กรุ๊ปบางแห่ง เช่น เอมควอเทียร์, สยามพารากอน ร้านก๋วยเตี๋ยวชายสี่หมี่เกี๊ยว, ร้าน Subway, รถแท็กซี่ที่แขวนป้าย Scan to Pay ของ Visa


เมื่อธนาคารเปิดใช้บริการนี้ในแอพจะมีเมนู Scan to Pay เมื่อผู้ใช้ต้องการจ่ายเงินให้สแกน แล้วยืนยันด้วยการกด PIN หรือสแกนลายนิ้วมืออีกครั้ง

การจ่ายผ่าน Visa QR ต่างจาก QR แอพธนาคารก่อนหน้านี้ เพราะจะได้สิทธิ์ประโยชน์จากบัตรเครดิตที่ใช้ ทางด้านผู้ขายสามารถสร้าง QR Code ของตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่นฝั่งผู้ขายที่ธนาคารผู้รับบัตรเปิดให้ใช้งาน แนวทางนี้ช่วยสร้างทางเลือกแก่ลูกค้าในการจ่ายเงิน พร้อมกับช่วยให้ต้นทุนการรับบัตรเครดิตต่ำลงกว่าเดิมมาก ทำให้ร้านค้าสามารถรับบัตรเครดิตโดยไม่มีขั้นต่ำอีกต่อไป เช่นกินก๋วยเตี๋ยวชายสี่หมี่เกี๊ยวก็จ่ายค่ากินด้วยบัตรเครดิตได้ (ทางชายสี่หมี่เกี๊ยวยังไม่ได้ระบุว่าสาขาไหนจ่ายได้บ้างในตอนนี้)


นอกจากธนาคารที่เปิดตัวแล้วในงานนี้ ยังมี ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารธนชาต ที่ระบุว่าจะสามารถใช้งานได้ในอนาคต


ที่มา: Blognone