วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

รู้จัก LINE Brain โครงการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของ LINE, สร้างฟอนต์เลียนแบบลายมือเราได้

ในยุคที่บริษัทไอทีทุกแห่งหันมาทำเรื่อง AI กันอย่างจริงจัง โฟกัสคงไปอยู่ที่บริษัทฝั่งอเมริกัน-จีนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว LINE ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีฝั่งเอเชีย (ลูกผสมเกาหลี-ญี่ปุ่น) ก็มีโครงการด้าน AI อย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อว่า LINE Brain

ตัวอย่างผลงานของ LINE Brain ที่เปิดให้ใช้กันแล้วคือ ฟีเจอร์ OCR แปลงรูปเป็นข้อความ พร้อมแปลภาษาให้ในตัว แต่ LINE ยังมีงานวิจัยด้านอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านเสียง วิดีโอ รูปภาพ ภาษา วิเคราะห์ใบหน้า

ในงาน LINE Developer Day 2019 มีเดโมของเทคโนโลยีบางตัวมาโชว์ให้ดูกัน


ตัวอย่างงานด้าน AI ของ LINE คือฟีเจอร์ Smart Channel ที่เป็นการ "แนะนำข้อมูล" ด้านบนสุดของหน้ารวมแชท (บ้านเรายังเป็นข่าวจาก LINE Today แต่ในญี่ปุ่นมีมากกว่านั้น เช่น สภาพอากาศ) ตรงนี้ใช้ระบบ recommendation engine ที่เกิดจากการทำ machine learning ทั้งฝั่งความสนใจของผู้ใช้ และรูปแบบของตัวคอนเทนต์ในระบบ แล้วค่อยมา match กัน


งานด้าน OCR เป็นสิ่งที่ทีม LINE Brain ให้ความสำคัญมาก โดยนำเดโมการใช้กล้องมือถืออ่านป้ายข้อความในโลกความเป็นจริง (ส่วนใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่น จากกลางเมืองโอซาก้า) และได้ความแม่นยำสูง เทคโนโลยีของ LINE คุยว่าแม่นยำกว่า Google Vision API ด้วยซ้ำ


เดโมอีกอันที่ LINE นำมาโชว์บนเวทีคือ การอ่านลายมือของมนุษย์ เรียนรู้แล้วสามารถเขียนลายมือแทนเราได้เลย (เหมาะกับการคัดข้อความส่งการบ้านมากๆ) ในเดโมบนเวทีนำเครื่องจักรมาจับปากกา แล้วเขียนลายมือให้ดูกันสดๆ ด้วย


เดโมอีกอันเป็นเรื่องเสียงพูด โดยมี LINE Duet บ็อตสำหรับคุยโทรศัพท์จองร้านอาหาร (เป็นภาษาญี่ปุ่น) ลักษณะคล้ายกับ Google Duplex เดี๋ยวเขียนเป็นข่าวแยกอีกอันครับ

สุดท้าย LINE ระบุว่าจะเปิดเทคโนโลยี AI ของทีม LINE Brain ให้บริษัทอื่นๆ ใช้งานด้วย (ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้) ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ LINE หันมาทำธุรกิจแบบ B2B นอกจากการให้บริการกับคอนซูเมอร์โดยตรง ด้วยเหตุผลว่างานด้าน AI ยังใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฝั่งคอนซูเมอร์ต้องใช้เวลานาน เพราะลูกค้าคอนซูเมอร์ก็ยังไม่เข้าใจตัวเองมากนักว่าอยากได้ผลิตภัณฑ์แบบไหน ต่างกับฝั่งลูกค้าองค์กรที่มี requirement ชัดเจน ทำให้ LINE เองก็เรียนรู้ไปด้วยว่าเทคโนโลยี AI มีจุดอ่อนยังไง เพื่อให้ปรับปรุงได้เร็วขึ้น


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

IBM รายงานการใช้แมคในบริษัทเทียบกับ Windows พนักงานลาออกน้อยกว่า 17%, ผลประเมินพนักงานดีกว่า 22%

ไอบีเอ็มรายงานผลการใช้เครื่องแมคในบริษัทที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2015 และหลังจากนั้นก็รายงานว่าค่าใช้จ่ายถูกลง ตอนนี้รายงานระยะยาวก็แสดงให้เห็นแนวโน้มการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน

ประเด็นที่น่าประหลาดใจคือ ไอบีเอ็มติดตามประสิทธิภาพการทำงานพนักงานโดยรวม พบว่าพนักงานที่ได้รับผลประเมินเกินคาดหวัง (exceed expectations) ฝั่งที่ใช้แมคนั้นสูงกว่าวินโดวส์ถึง 22%, ยอดขายเฉลี่ยของพนักงานใช้แมคดีกว่า 16%, และอัตราการลาออกของพนักงานใช้แมคต่ำกว่าวินโดวส์ 17%

ในแง่ของการซัพพอร์ต ไอบีเอ็มใช้วิศวกรซัพพอร์ต 7 คนต่ออุปกรณ์แมค 200,000 ชิ้น ขณะที่วินโดวส์ใช้ 20 คน กระบวนการอัพเดตมีอัตราพึงพอใจสูงกว่า, และอัตราการขอซัพพอร์ตหน้าเครื่องของแมคน้อยกว่าวินโดวส์ถึง 5 เท่าตัว


ที่มา: Blognone