วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

LINE บนมือถือรองรับฟีเจอร์ OCR แปลงรูปเป็นข้อความแล้ว พร้อมแปลภาษาให้ในตัว

หลังเปิดตัวฟีเจอร์ OCR มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วบนเดสก์ท็อป ก่อนจะรองรับภาษาอังกฤษและไทยเมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุดฟีเจอร์ OCR ของ LINE สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้แล้วทั้ง iOS และ Android

การใช้งานฟีเจอร์นี้ จะมีทั้งเป็นโหมด OCR เมื่อเปิดกล้อง หรือเลือกให้อ่านข้อความจากรูปภาพที่ส่งกันในแชทก็ได้ โดยเลือกตัวเลือก [T] บริเวณขวาบนเมื่อกดดูรูปแบบเต็มจอ

ฟีเจอร์นี้ไม่เพียงแค่แปลงตัวหนังสือในรูปออกมาเป็นข้อความเท่านั้น ยังรองรับการแปลให้ด้วย โดยภาษาที่รองรับ OCR ก็มีญี่ปุ่น, เกาหลี, ไทย, อังกฤษ, จีน (ตัวเต็ม, ตัวย่อ) และอินโดนีเซีย ส่วนภาษาที่สามารถแปลออกมาได้ก็มี 6 ภาษาข้างต้น รวมถึงสเปน, โปรตุเกส, เยอรมัน, รัสเซีย, เมียนมาร์, เวียดนาม, อารบิก, เปอร์เซียและฮินดู


ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

DevOps หลบไป Azure ML เพิ่มฟีเจอร์ "MLOps" สำหรับงานเทรนโมเดล AI อัตโนมัติ

ทุกวันนี้คำว่า DevOps (development + operations) ได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น ในวงการ AI เองก็มีคำว่า MLOps (machine learning + operations) ที่เริ่มเป็นที่รู้จักเช่นกัน

สัปดาห์ที่แล้ว ไมโครซอฟท์ประกาศฟีเจอร์ใหม่ของ Azure Machine Learning โดยเน้นที่กระบวนการเทรนโมเดลให้อัตโนมัติมากขึ้น

ฟีเจอร์สำคัญคือการผนวกเอา Azure DevOps โดยเฉพาะด้าน CI/CD มาใช้กับงาน machine learning ด้วย เพื่อให้ตลอดอายุงาน (machine learning lifecycle) ทำงานต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างโมเดล พิสูจน์การทำงานของโมเดล ดีพลอย และการเทรนซ้ำ

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเพิ่มเครื่องมือแบบ GUI ให้ใช้ออกแบบ flow ทั้งหมดของกระบวนการเทรนโมเดล สามารถลากวัตถุมาเชื่อมต่อกันได้แบบไม่ต้องเขียนโค้ดใดๆ ซึ่งจะช่วยให้งานด้าน AI เข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้น


ที่มา: Blognone

หุ่นยนต์ Delivery ได้รับอนุญาตให้ใช้งานบนทางเท้าภายในรัฐวอชิงตันแล้ว


รัฐวอชิงตันได้กลายเป็นรัฐที่แปดในสหรัฐที่อนุญาตให้ใช้งานหุ่นยนต์ Delivery บนทางเท้าและทางม้าลาย โดย Jay Inslee ผู้ว่าการรัฐวอชิงตันได้ลงนามในเรื่องนี้ หลังจากได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท Starship Technologies ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและการขนส่งภายในท้องถิ่น

หุ่นยนต์ Delivery ถูกนำมาใช้เพื่อหวังจะลดความแออัดและมลพิษภายในเมือง เนื่องจากหุ่นยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งการอนุญาตให้มีการใช้งานหุ่นยนต์ Delivery ในเมืองยังช่วยให้บริษัทขนส่งในท้องถิ่นมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้บริษัทขนาดเล็กที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดส่ง สามารถใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยทดแทนได้


แม้จะมีความกังวลว่าหุ่นยนต์อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ทางเท้า แต่ตัวหุ่นยนต์ก็ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ ทั้งการใช้เทคโนโลยีด้าน computer vision, GPS รวมไปถึง machine learning โดยหุ่นยนต์สามารถสร้างแผนที่จากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว เพื่อนำทางในพื้นที่แออัดและหลีกเลี่ยงสิ่งขีดขวางต่างๆ

รัฐเวอร์จิเนียเป็นรัฐแรกในสหรัฐที่เริ่มอนุญาตให้นำหุ่นยนต์ Delivery มาใช้งานตั้งแต่ปี 2017 ตามมาด้วยรัฐไอดาโฮ วิสคอนซิน ฟลอริดา โอไฮโอ ยูทาห์ และแอริโซนา แต่สำหรับบางรัฐ เช่น รัฐซานฟรานซิสโก ยังคงอยู่ในระหว่างพิจารณาข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: Beartai