วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

ยิ่งคนใช้มาก ยิ่งมีมาก นักวิจัยพบมัลแวร์บน macOS เพิ่มขึ้นถึง 1,000%


นักวิจัยด้านความปลอดภัยจาก AV-TEST พบมัลแวร์ใหม่มากถึง 674,273 ตัวในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่พบมัลแวร์ 56,556 ตัว ซึ่งมัลแวร์ที่พบในปี 2020 นั้นเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 10 เท่าเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2012 จนถึงปี 2019 นั้น ทางนักวิจัยค้นพบมัลแวร์เพียง 219,257 ทำให้ปี 2020 เป็นปีที่พบมัลแวร์บน macOS มากที่สุดไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ถึงแม้ว่ามัลแวร์บน macOS จะมีจำนวนที่มากขึ้นจนน่าตกใจก็ตาม แต่ถ้าหากเทียบกับมัลแวร์ของฝั่ง Windows แล้ว ตัวเลขของ macOS ก็ยังตาม Windows อยู่มากเลยล่ะครับ

AV-TEST กล่าวว่ามีการค้นพบมัลแวร์ของฝั่ง Windows มากถึง 91 ล้านตัวในปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเยอะกว่า macOS หลายเท่านัก และเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติมัลแวร์ของฝั่ง Windows ด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิงจากข้อมูลระบุว่านักพัฒนาหรือแฮกเกอร์สามารถเขียนโค้ดมัลแวร์ได้มากถึง 250,000 ตัวต่อวัน ในขณะที่ฝั่ง macOS นั้นเขียนเพียง 2,000 ตัวต่อวันเท่านั้น แน่นอนว่าไม่ใช่นักพัฒนาขี้เกียจเขียนโค้ดสำหรับฝั่ง macOS แต่เพราะ Windows ยังคงเป็นปฏิบัติการที่ถูกใช้งานมากที่สุดของโลกใบนี้ด้วยอัตราส่วน Windows ทั้งหมด 9 เครื่องต่อ Mac เพียง 1 เครื่องเท่านั้น ถือว่าห่างไกลกันพอสมควร

ที่มา: Beartai

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

เฟซบุ๊กรองรับการล็อกอินด้วยกุญแจ FIDO บนโทรศัพท์มือถือ

เฟซบุ๊กประกาศรองรับการล็อกอินขั้นตอนที่สองด้วยกุญแจ FIDO บนโทรศัพท์มือถือ จากเดิมที่ใช้งานบนเว็บมาตั้งแต่ปี 2017

เฟซบุ๊กรองรับการล็อกอินขั้นตอนที่สองต่อจากรหัสผ่านทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่ แอปล็อกอิน (เช่น Google Authenticator, Microsoft Authenticator), กุญแจ FIDO หรือ Security Key, ข้อความ SMS, รหัสผ่านกู้คืนบัญชี เป็นรหัสตายตัวจดใส่กระดาษไว้ใช้งานภายหลัง แต่ที่ผ่านมาการล็อกอินบนโทรศัพท์มือถือนั้นไม่รองรับกุญแจ FIDO

การใช้กุญแจ FIDO บนโทรศัพท์มือถือมีหลายรูปแบบทั้งการเสียบ USB เหมือนเดสก์ทอป, แตะ NFC, และเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth โดยแอปเฟซบุ๊กรองรับทั้งหมดทั้งบน iOS และแอนดรอยด์

ที่มา: Blognone

PowerPoint โหมด Presenter Coach ใช้ AI ช่วยซ้อมพรีเซนต์ เพิ่มการจับภาษากาย แก้ไขคำที่ออกเสียงผิด

ไมโครซอฟท์ออกฟีเจอร์ใหม่ใน PowerPoint หรือ Presenter Coach ใช้ AI ช่วยให้คะแนนการซ้อมพรีเซนต์มาได้สักระยะแล้ว โดยเปิดใช้งานในเวอร์ชั่นเว็บ ล่าสุด ขยายการใช้งานไปยังแอปพลิเคชั่นทั้งบนเดสก์ทอป และมือถือแล้ว ทั้ง Mac, Windows, iOS, Android

Presenter Coach จะสามารถบอกเราได้ว่า เราพูดช้า หรือเร็ว หรือใช้คำซ้ำมากแค่ไหนในการนำเสนองาน พร้อมบอกคะแนนเสนองานให้เราตอนพูดจบด้วย โหมด Presenter Coach มีการอัพเดตใหม่ๆ เพิ่มเติมคือ ช่วยดูภาษากายของเราว่าเราสบตาผู้พูดมากขนาดไหน (ต้องเปิดกล้องตอนซ้อมเสนองาน)

เพิ่มฟังก์ชั่นเตือนให้เราแก้ไขให้ถูกหากออกเสียงผิด พร้อมกดฟังเพื่อฟังเสียงที่ถูกต้องได้ และมีแดชบอร์ดแสดงคำอื่นให้ หากเราใช้คำซ้ำเยอะเกินไป

ที่มา: Blognone

7-Zip ออกเวอร์ชันลินุกซ์เป็นครั้งแรก เพราะ 22 ปีที่ผ่านมามีแต่บนวินโดวส์

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า 7-Zip โปรแกรม Zip ยอดนิยมบนวินโดวส์ที่ออกครั้งแรกในปี 1999 ไม่เคยออกบนแพลตฟอร์มอื่นมาก่อน (เคยมี p7zip เป็นโครงการพอร์ตลงลินุกซ์ แต่เลิกทำไปแล้ว)

ล่าสุด Igor Pavlov ผู้สร้าง 7-Zip ได้ออกเวอร์ชันลินุกซ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 22 ปีของโปรแกรมนี้ ตอนนี้ยังมีเฉพาะเวอร์ชันคอนโซล (ไม่มี GUI) โดยมีไบนารีใช้งานได้หลากหลายสถาปัตยกรรม ทั้ง x86, x86-64, ARM64

บนลินุกซ์มีโปรแกรมบีบอัดข้อมูลอยู่หลายตัว แต่การมาถึงของ 7-Zip ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่ายินดีเช่นกัน

ที่มา: Blognone

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไม่มีนาย ไม่มีทาส GitLab เตรียมเปลี่ยนชื่อ branch เริ่มต้นเป็น main

GitLab ประกาศเปลี่ยนชื่อ branch เริ่มต้นจาก master เป็น main หลังจาก GitHub เปลี่ยนชื่อเริ่มต้นไปเมื่อปีที่แล้ว

ชื่อ branch ของ Git นั้นเลียนแบบมาจาก BitKeeper ต้นกำเนิด Git ที่เคยใช้ดูแลซอร์สโค้ดลินุกซ์ (และทำให้ชุมชนทะเลาะกันเนื่องจาก BitKeeper ไม่ใช่โอเพนซอร์ส จนไลนัสรำคาญและเขียน Git มาใช้แทน) โดย BitKeeper เรียก branch หลักว่า master branch และเรียก branch อื่นๆ ว่า slave ตามแนวทางตั้งชื่อ master/slave ที่ใช้กันมานานในวงการคอมพิวเตอร์

GitLab เตรียมเปลี่ยนชื่อเป็นสองขั้น เริ่มจาก GitLab 13.11 ที่จะออกเดือนเมษายนนี้ จะมี flag สำหรับเปลี่ยนชื่อ branch เริ่มต้นเป็น main หลังจากนั้นมีเวอร์ชั่น 14.0 ที่ออกเดือนพฤษภาคมนี้จะไม่มี flag อีกต่อไป แต่เปลี่ยนชื่อเริ่มต้นในโครงการใหม่เป็น main ทั้งหมด

นอกจากการเปลี่ยนชื่อสำหรับโครงการสร้างใหม่แล้ว ตัวโครงการ GitLab เองก็จะเปลี่ยนชื่อ branch หลักไปด้วย ทำให้นักพัฒนาภายนอกที่ดึงโค้ด GitLab ไปใช้งานต้อง rebase ไปยัง main

ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

Microsoft Teams เพิ่ม Presenter mode มองเห็นตัวคนพรีเซนต์งานบนสไลด์ PowerPoint

Microsoft Teams เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานชุดใหญ่สำหรับคนจัดประชุม เริ่มจาก Presenter mode ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะมองเห็นตัวคนพรีเซนต์ได้ระหว่างที่ดูสไลด์ไปด้วย (ให้ความรู้สึกเหมือนดูแคสต์เกม) ส่วนในมุมมองของผู้พรีเซนต์ก็สามารถมองเห็นตัวเองและคำบรรยายที่จะพูดไปด้วยพร้อมๆ กัน ฟังก์ชั่นนี้จะเริ่มเปิดตัวให้แก่กลุ่มลูกค้าในระยะถัดไป

Presenter mode มี 3 แบบ คือ Standout แสดงฟีดวิดีโอของตัวผู้พูดเป็นภาพเงาด้านหน้าเนื้อหาที่แชร์ตามภาพด้านล่าง กับโหมด Reporter ที่สไลด์จะอยู่เหนือไหล่ผู้พูด เหมือนเวลาดูรายการข่าว และโหมด Side-by-side แสดงเนื้อหาคู่กับตัวคนพูด

นอกจากนี้ยังมี PowerPoint Live ที่ให้ผู้จัดประชุม สามารถหยิบไฟล์ PowerPoint ได้จากเมนู Share content เลย โดยจะมองเห็นไฟล์ PowerPoint ต่างๆ ปรากฏอยู่ในเซกชั่น PowerPoint Live นี้ ผู้จัดประชุมกดเลือกไฟล์มาพรีเซนต์ได้ทันที

PowerPoint Live ยังให้ผู้จัดประชุมสามารถมองเห็นทุกอย่างได้ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมกำลังจดจ่ออยู่กับสไลด์พรีเซนเทชั่น ผู้จัดประชุมสามารถกดดูได้ว่าสไลด์ถัดไปเกี่ยวกับเรื่องอะไร มองเห็นคำบรรยายที่จะพูดเกี่ยวกับสไลด์นั้นๆ และกดดูแชทระหว่างพรีเซนต์งานได้ เพื่อให้การพรีเซนต์ลื่นไหล

ในกรณีที่มีคนพรีเซนต์งานหลายคน ผู้จัดประชุมสามารถกดปุ่ม Take control ให้กลายเป็น Stop presenting ได้ เพื่อส่งต่อให้คนถัดไปเข้ามาเสนองานในสไลด์ที่คนๆ นั้นเตรียมมา ลดความกระอักกระอ่วนเวลาเปลี่ยนผู้นำเสนองาน

เพิ่มโหมด high-contrast ปรับสไลด์ให้ตัวอักษรเด่นชัด สำหรับผู้มีปัญหาในการมองเห็นได้ ฟังก์ชั่นนี้จะตามมาในเร็วๆ นี้


ที่มา: Blognone

ภาษา Go มาแรงในหมู่อาชญากรไซเบอร์ เหตุผลเพราะใช้เขียนมัลแวร์ง่าย ตรวจจับยาก

บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ Intezer ออกรายงานว่า Go กลายเป็นภาษายอดนิยมของอาชญากรไซเบอร์ โดยมัลแวร์ที่เขียนด้วย Go เติบโตขึ้นถึง 2,000% ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี

มัลแวร์ Go ตัวแรกถูกค้นพบในปี 2012 แต่ก็ใช้เวลาอีกนานกว่าความนิยมจะเพิ่มขึ้น จนมาพุ่งแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า Go เป็นภาษาที่เขียนง่าย เขียนทีเดียวทำงานได้ข้ามแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้สร้างมัลแวร์เริ่มย้ายภาษาจาก C/C++ มาเป็น Go แทน

อีกปัจจัยที่มีผลไม่น้อยคือ นักวิจัยความปลอดภัยและแอนตี้ไวรัสในท้องตลาด ยังไม่คุ้นเคยกับแพทเทิร์นของไบนารี Go มากนัก ทำให้มัลแวร์ Go ตรวจจับได้ยากกว่า ตัวอย่างมัลแวร์ที่เขียนด้วย Go มีทั้งกลุ่มที่เขียนโดยกลุ่มอาชญากรที่ได้รับการหนุนจากรัฐ (เช่น รัสเซีย จีน), กลุ่มอาชญากรอิสระ และ ransomware

ที่มา: Blognone