วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564

Figma แอปออกแบบ UI/UX เปิดตัว FigJam กระดานไวท์บอร์ดให้นักออกแบบระดมสมองช่วยกัน

Figma แอปออกแบบ UI/UX เปิดตัว FigJam เป็นไวท์บอร์ดให้นักออกแบบระดมความคิดร่วมกัน ก่อนจะนำไอเดียไปออกแบบชิ้นงาน ผู้ใช้สามารถแปะโพสต์อิท รวมถึงเขียนและวาดเพิ่มเติมได้ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังประชุมระดมสมองกันอยู่โดยเขียนบนกระดานไวท์บอร์ดจริงๆ

นอกจากนี้ Figma ยังเพิ่มฟังก์ชั่น voice chat ลงไปในทั้ง Figma และ FigJam นักออกแบบไม่จำเป็นต้องเปิดห้องประชุมใน Zoom หรือ Google Meet เพื่อคุยงานกันกัน แต่สามารถกดอัดเสียงส่งไปได้เลย


ที่มา: Blognone

Node.js ออกเวอร์ชัน 16.0 รุ่นเลขคู่ของปี 2021

Node.js ออกเวอร์ชันเลขคู่ประจำปี 2021 คือ Node.js 16.0.0 โค้ดเนม Gallium ที่จะกลายเป็นเวอร์ชันซัพพอร์ตระยะยาว (LTS) ในอนาคต

ปกติแล้ว Node.js ออกเวอร์ชันใหม่ปีละ 2 รอบคือ รุ่นเลขคู่ในเดือนเมษายน และรุ่นเลขคี่ในเดือนตุลาคม โดยรุ่นเลขคู่จะเข้าสถานะ LTS เมื่อรุ่นเลขคี่ออกตามมา (เช่น 16.x จะเป็น LTS เมื่อ 17.0 ออก)

ของใหม่ใน Node.js 16.0 คือรองรับ Apple Silicon, ปรับมาใช้เอนจินจาวาสคริปต์ V8 เวอร์ชัน 9.0, เพิ่ม Timers Promises API, เลิกซัพพอร์ต Python 2 เป็นต้น

Node.js จะมีรุ่นที่ซัพพอร์ตพร้อมกันครั้งละ 3 รุ่น ปัจจุบันคือ 10.x, 12.x, 14.x เมื่อออกรุ่นใหม่คือ 16.0 จะทำให้รุ่น 10.x สิ้นสถานะซัพพอร์ตตอนสิ้นเดือนเมษายนนี้


ที่มา: Blognone

FBI ใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า ค้นหาและจับกุมผู้ชุมนุมที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ จากรูปบน IG ของแฟนสาว

Huffington Post เปิดเผยบันทึกการจับกุม จากเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI กรณีจับกุม Stephen Chase Randolph ผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาสหรัฐฯ (USCP) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 โดยใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า เทียบภาพจากเหตุการณ์กับภาพบนอินเทอร์เน็ต จนพบรูปเขาบน IG ของแฟนสาว ก่อนจะสืบสวนและเข้าจับกุมได้ในที่สุด

ในรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่รวบรวมภาพเหตุการณ์จากวิดีโอบน Instagram แสดงเหตุการณ์ชายหนุ่มสวมหมวกสีเทาคนหนึ่ง เข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยการผลักรั้วกั้นไปกระแทกจนเจ้าหน้าที่ล้มหัวฟาดบันได และหมดสติ ในการชุมนุมวันที่ 6 มกราคม 2021 ก่อนนำภาพใบหน้าชายสวมหมวกสีเทาจากแอคเคาท์ @SeditionHunters แอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่เผยแพร่ใบหน้าผู้ชุมนุมรัฐสภาสหรัฐฯ มาเทียบ และพบว่าเป็นชายหนุ่มคนเดียวกับในวิดีโอ

เจ้าหน้าที่ FBI จึงใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้าแบบ open source เพื่อเทียบใบหน้าของเขากับรูปภาพบนอินเทอร์เน็ต ก่อนจะพบภาพ Stephen สวมหมวกสีเทาแบบเดียวกับในวันชุมนุม บนโพสต์ Instagram ที่เปิดเป็นสาธารณะของแฟนสาวเขา และต่อยอดการสืบไปจนพบชื่อจริงของเขาจากบัญชี Facebook คนในครอบครัว และตรวจสอบยืนยันอีกครั้งจากใบขับขี่ของรัฐ

จากนั้น FBI จึงส่งเจ้าหน้านอกเครื่องแบบไปเฝ้าดูหน้าที่ทำงานของเขา และทำทีเข้าไปชวนพูดคุยเพื่อถามถึงเหตุการณ์การชุมนุม จน Stephen หลุดปากพูดว่าเข้าร่วมการชุมนุมจริง บอกว่ามันสนุกมาก และยอมรับว่าเห็นเจ้าหน้าที่ถูกผลักจนหัวฟาดนอนกองอยู่กับพื้น และหลังจากนั้นเขาจึงถูกตำรวจรัฐเคนทัคกี้เข้าจับกุมในที่สุด

ในบันทึกการจับกุมไม่มีการเปิดเผยชื่อซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า open source ที่ FBI ใช้ แต่หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา เริ่มมีความนิยมใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้าทั้ง open source และแบบต้องจ่ายเงินใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมคือ Clearview AI ซึ่ง Buzzfeed เคยรายงานว่า มีหน่วยงานที่รับงบประมาณจากรัฐกว่า 1,803 หน่วยงาน รวมถึงตำรวจท้องถิ่นและตำรวจรัฐ ได้ทดลองใช้งานซอฟต์แวร์นี้ไปแล้วเมื่อช่วงปี 2018 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 และมีความเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้านี้ อาจถูกนำมาใช้เพื่อสืบสวนและจับกุมผู้ต้องสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ที่มา: Blognone

Microsoft Outlook เพิ่มการตั้งค่า ให้แต่ละการประชุม มีเวลาระยะเวลาพักเบรก ก่อนประชุมถัดไป

ไมโครซอฟต์อัพเดต Outlook ในส่วนการตั้งค่า ให้สามารถกำหนดระยะเวลาพัก ระหว่างการนัดหมายแต่ละการประชุม โดยไมโครซอฟต์บอกว่าได้ทำการศึกษาวิจัย พบว่าการให้แต่ละคนได้พักระหว่างแต่ละนัดหมายการประชุม จะช่วยให้ประสิทธิภาพสมองดีขึ้น

การกำหนดระยะเวลาพักระหว่างแต่ละกำหนดนัดหมาย สามารถตั้งค่าพื้นฐานได้ทั้งในระบบองค์กรหน่วยงาน หรือในระบบผู้ใช้งานแต่ละคน เช่น เมื่อกำหนดให้มีการพัก 5 นาที ก่อนเริ่มการประชุม สำหรับการประชุมระยะเวลา 30 นาที เมื่อมีการนัดหมายที่ปกติความยาว 30 นาที Outlook จะลดเวลาลง 5 นาที เป็นต้น


ที่มา: Blognone

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

Firefox 88 Beta รองรับ HTTP/3 เป็นค่าดีฟอลต์


Firefox 88 Beta เริ่มเปิดใช้ HTTP/3 เป็นค่าดีฟอลต์ โดยจะเปิดให้ทุกคนใช้งานในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2021

HTTP/3 เป็นโพรโทคอลใหม่ล่าสุดที่ออกเป็นมาตรฐานในปี 2018 (HTTP/3 เกิดที่กรุงเทพ) โดยพัฒนามาจากข้อเสนอ QUIC ของ Chrome ทำให้เบราว์เซอร์ตระกูล Chrome/Chromium ทั้งหมดรองรับ HTTP/3 มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2020

การรองรับ HTTP/3 ของ Firefox ทำให้ตอนนี้เหลือแต่ Safari เป็นเบราว์เซอร์รายใหญ่รายเดียวที่ยังไม่รองรับแบบดีฟอลต์ (รองรับแล้วในเวอร์ชัน Safari Technology Preview)

บทความอ่านประกอบ: อธิบายโพรโทคอล HTTP/3 แตกต่างจาก HTTP/1, HTTP/2, SPDY, QUIC อย่างไร 

ที่มา: Blognone

อีลอน มัสก์ เผย Starlink จะให้บริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่เต็มรูปแบบภายในสิ้นปีนี้

เดือนมีนาคม SpaceX ได้ยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐอเมริกา (FCC) เพื่อขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม Starlink ไปสู่ยานพาหนะที่เคลื่อนที่ นั่นก็คือ รถบรรทุก เรือ และเครื่องบิน ให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในทุกที่

ในขณะนั้นซีอีโอ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เปิดเผยว่ารถยนต์ของ Tesla ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต Starlink แบบเคลื่อนที่ได้ เพราะเสาอากาศใหญ่เกินไป ซึ่งเหมาะกับเครื่องบิน เรือ รถบรรทุก และรถบ้าน ดังนั้นใครที่คิดว่ารถยนต์ของ Tesla จะได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต Starlink แบบเคลื่อนที่ เช่น การสตรีมวิดีโอ และการอัปเดตซอฟต์แวร์ผ่านดาวเทียมได้โดยตรง ก็ขอให้รอการปรับปรุงชุดรับสัญญาณ

ล่าสุดมีผู้ติดตามบรอดแบนด์ของ Starlink สงสัยว่าการใช้งานจะถูกล็อกอยู่ในตำแหน่งเดียว หรือในอนาคตผู้ที่มีจานรับสัญญาณมาตรฐานแบบเดิมที่เรียกว่า Dishy McFlatface จะสามารถติดตั้งไว้บนรถบ้าน หรือเคลื่อนย้ายไปใช้ในบ้านข้ามเขตพื้นที่ ซึ่ง Musk เผยว่า Starlink จะใช้งานแบบเคลื่อนที่อย่างเต็มรูปแบบได้ปลายปีนี้ ซึ่งจะติดตั้งบนรถบ้านหรือรถบรรทุกก็ได้ตามสะดวก แต่ขณะนี้กำลังรอการปล่อยดาวเทียมให้ครอบคลุมพื้นที่และอัปเกรดซอฟต์แวร์ที่สำคัญเพิ่มเติมด้วย

สรุปง่ายๆ ว่า Starlink ยังคงให้บริการเฉพาะในพื้นที่ที่ผู้ใช้กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการสมัคร และภายในสิ้นปี ก็จะสามารถให้บริการแบบเคลื่อนที่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ Gwynne Shotwell ประธานของ SpaceX เปิดเผยว่าในอีกไม่กี่เดือนหลังจากภารกิจ v1.0 L28 ก็จะมีดาวเทียม Starlink ในวงโคจรมากกว่า 1,600 ดวง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปิดให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ครอบคลุมได้ทั่วโลก และคาดว่าต่อจากนั้นก็จะมีการทดสอบระบบและอัปเกรดซอฟต์แวร์ตามที่ Musk เผยเอาไว้

ที่มา: Beartai

Parallels Desktop 16.5 ออกแล้ว รองรับ Windows 10 และ Linux เวอร์ชัน ARM บนแมค M1

Parallels Desktop ซอฟต์แวร์ Virtualization ยอดนิยมบนแมค ออกเวอร์ชัน 16.5 นับเป็นรุ่นแรกที่รองรับทั้งแมคที่ใช้ชิป Apple M1 และ Intel ช่วยให้ผู้ใช้เครื่องแมคที่ใช้ชิป Apple M1 สามารถใช้งาน Windows 10 on ARM และ Linux เวอร์ชัน ARM64 รวมถึงโปรแกรมและเกมแบบ 32 บิตบน Windows ได้อย่างสมบูรณ์

ผลการทดสอบบนเครื่องที่ใช้ชิป Apple M1 พบว่าการใช้พลังงานลดลงสูงสุด 250% เมื่อเทียบกับ MacBook Air 2020 ประสิทธิภาพกราฟิค (DirectX 11) ดีขึ้น 60% เมื่อเทียบกับ MacBook Pro ที่ใช้ Radeon Pro 555X และประสิทธิภาพการรัน VM Windows ดีขึ้น 30% เมื่อเทียบกับ MacBook Pro ที่ใช้ซีพียู Intel Core i9

นอกจากนี้ Parallels Desktop 16.5 for Mac ยังรองรับการรัน Linux หลากหลายตัวอาทิ Ubuntu 20.04, Kali Linux 2021.1, Debian 10.7 และ Fedora Workstation 33-1.2

ผู้ใช้ที่มีไลเซนส์ของ Parallels Desktop 16 สามารถอัพเดทได้ฟรีตั้งแต่วันนี้ สำหรับผู้ถือไลเซนส์รุ่นเก่าอัพเกรดได้ในราคา 49.99 ดอลลาร์ จากราคาเต็มเริ่มต้นที่ 79.99 ดอลลาร์


ที่มา: Blognone

Domino เริ่มใช้รถยนต์ส่งพิซซาอัตโนมัติ


Domino แฟรนไชส์ร้านพิซซาชื่อดังในสหรัฐฯ ได้นำเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับสำหรับส่งพิซซาในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ได้ประกาศพัฒนาโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ปี 2019

รถยนต์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า R2 ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท Nuro ซึ่งถือได้ว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบสำหรับขนส่งสินค้าเต็มรูปแบบที่วิ่งบนท้องถนน และได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งแล้วด้วย


ทั้งนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขต วูดแลนด์ ไฮต์ (Woodland Heights) ของเมืองฮิวสตัน ที่สั่งพิซซาจากทาง Domino สามารถเลือกที่จะใช้รถยนต์ R2 ในการส่งพิซซาได้ และเมื่อ R2 วิ่งมาถึงที่หมาย ผู้ที่สั่งพิซซาจะต้องกด PIN ที่ Domino ส่งมาให้ เพื่อเป็นการยืนยันคำสั่งซื้อ แล้วจึงรับพิซซาไปได้

เดนิส มาโลนีย์ (Denis Maloney) รองประธานอาวุโสของ Domino ได้กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้บริษัทเข้าใจวิธีการตอบสนองต่อการจัดส่งพิซซาให้แก่ลูกค้าได้ดีขึ้น และยังได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีนี้จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างไรด้วย

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

สรุปคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติด้าน Password ล่าสุดจาก NIST

บทความนี้ได้สรุปคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติด้าน Password จากเอกสาร NIST Special Publication 800-63B Rev3 ของสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NIST ได้แก่ การสร้างรหัสผ่านใหม่ การพิสูจน์ตัวตนด้วยรหัสผ่าน และการจัดเก็บรหัสผ่าน รวมไปถึงสาเหตุว่าทำไม เพื่อให้องค์กรเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้กับการออกนโยบายด้านรหัสผ่านของตนเองได้ ดังนี้


คำแนะนำในการสร้างรหัสผ่านใหม่

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับรหัสผ่านเริ่มต้นด้วยการสร้างรหัสผ่านให้แข็งแกร่ง นี่ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของผู้ใช้ฝ่ายเดียว แต่องค์กรจำเป็นต้องกำหนดนโยบายรหัสผ่านที่แข็งแกร่งเพียงพอ แล้วนำไปบังคับใช้กับผู้ใช้ด้วย โดยคำแนะนำในการสร้างรหัสผ่านใหม่มี 2 ข้อ คือ

1. ความยาวสำคัญกว่าความยาก

แนวคิดสมัยก่อนเชื่อว่ายิ่งรหัสผ่านซับซ้อนเท่าไหร่ ยิ่งแข็งแกร่งมากเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว ปัจจัยสำคัญของความแข็งแกร่งของรหัสผ่านขึ้นกับความยาวมากกว่า เนื่องจากยิ่งรหัสผ่านยาว ยิ่งเดารหัสผ่านได้ยาก นอกจากนี้ จากการวิจัยเพิ่มเติมพบว่า การบังคับให้รหัสผ่านใหม่มีความยากกลับยิ่งทำให้ความมั่นคงปลอดภัยลดลง เนื่องจากผู้ใช้หลายคนมักเพิ่มความยากให้รหัสผ่านตัวเองแบบง่ายๆ เช่น เพิ่ม “1” ไว้ด้านหน้าหรือ “!” ไว้ตอนท้าย แม้ในทางทฤษฎีจะทำให้รหัสผ่านแข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่เมื่อเหล่าแฮ็กเกอร์ทราบรูปแบบตรงนี้แล้ว กลับเป็นการช่วยลดเวลาในการเดารหัสผ่านให้แฮ็กเกอร์แทน ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือ ยิ่งรหัสผ่านซับซ้อนเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผู้ใช้ใช้รหัสผ่านเดิมซ้ำๆ กับหลายๆ บัญชี ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการถูกโจมตีแบบ Credential Stuffing Attacks มากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ NIST จึงไม่บังคับเรื่องความยากของรหัสผ่าน แต่กลับบังคับเรื่องความยาวที่ต้องมีขั้นต่ำ 8 ตัวอักษรแทน

2. ตัดการรีเซ็ตรหัสผ่านใหม่ทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือนทิ้งไป

หลายองค์กรยังคงยึดติดกับการบังคับให้ผู้ใช้รีเซ็ตรหัสผ่านบ่อยๆ เช่น ทุก 3 เดือนหรือทุก 6 เดือน โดยเข้าใจว่าเป็นการป้องกันเผื่อกรณีที่รหัสผ่านหลุดออกไป จะได้ไม่สามารถล็อกอินเข้ามาได้อีก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อยๆ กลับเป็นการทำให้ความมั่นคงปลอดภัยแย่ลง เนื่องจาก ในชีวิตจริง การจดจำรหัสผ่านดีๆ สักอันไปทั้งปีถือเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เมื่อต้องมีหลายๆ รหัสผ่านที่จำเป็นต้องจำ ผู้ใช้จึงมักเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นรูปแบบที่คาดเดาได้ไม่ยาก เช่น เพิ่มตัวอักษรอีก 1 ตัวต่อท้ายรหัสผ่านล่าสุดที่ใช้ หรือแทนที่ตัวอักษรบางตัวด้วยสระ เช่น “$” แทน “S” เป็นต้น เมื่อแฮ็กเกอร์รู้รหัสผ่านก่อนหน้านี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะเดารหัสผ่านใหม่ NIST จึงแนะนำให้ตัดการรีเซ็ตรหัสผ่านใหม่เมื่อเวลาผ่านไปออกจากนโยบายขององค์กร


คำแนะนำในการพิสูจน์ตัวตนด้วยรหัสผ่าน

วิธีที่องค์กรใช้พิสูจน์ตัวตนด้วยรหัสผ่านเมื่อผู้ใช้ทำการล็อกอินส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับความมั่นคงปลอดภัยของรหัสผ่าน ซึ่ง NIST ได้ให้คำแนะนำในส่วนนี้ดังนี้

1. เปิดใช้งาน “แสดงรหัสผ่านขณะพิมพ์”

การพิมพ์รหัสผ่านผิดถือเป็นเรื่องปกติที่เราพบเจอ เนื่องจากสิ่งที่เราพิมพ์จะแสดงผลเป็นจุดดำ หรือเครื่องหมายดอกจันทร์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่าพิมพ์ผิดตรงไหน นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้หลายรายเลือกใช้รหัสผ่านสั้นๆ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเว็บไซต์ที่ยอมให้ใส่รหัสผ่านได้ไม่กี่ครั้ง ดังนั้น ควรเปิดให้มีฟีเจอร์ “แสดงรหัสผ่านขณะพิมพ์” เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้พิมพ์รหัสผ่านยาวๆ ได้ถูกต้องในทีเดียว

2. เปิดให้ “วาง” รหัสผ่านในช่องที่ต้องกรอกได้

ยิ่งการใส่รหัสผ่านทำได้ง่ายเท่าไหร่ ผู้ใช้ยิ่งมีแนวโน้มที่จะตั้งรหัสผ่านยาวๆ และมีความยากมากยิ่งขึ้น การเปิดให้ “คัดลอก” และ “วาง” รหัสผ่านในช่องที่ต้องกรอกได้จึงเป็นผลดีมากกว่า โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ผู้ใช้จำเป็นต้องมีรหัสผ่านเป็นจำนวนมาก และเริ่มหันไปใช้เครื่องมือจำพวก Password Manager มากขึ้น

3. ใช้การป้องกันรหัสผ่านรั่วไหล

คำแนะนำด้านรหัสผ่านล่าสุดของ NIST ระบุว่า ต้องมีการตรวจสอบรหัสผ่านใหม่กับรายการแบล็กลิสต์ เช่น คำในพจนานุกรม, คำที่ใช้ตัวอักษรเรียงกัน, คำที่ใช้เป็นชื่อต่างๆ, ข้อความที่มักใช้บ่อย หรือรหัสผ่านที่เคยหลุดออกมาสู่สาธารณะ การใช้เครื่องมือสำหรับตรวจสอบรหัสผ่านที่เคยรั่วไหลก็เป็นทางเลือกที่ช่วยให้การตั้งรหัสผ่านใหม่มีความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

4. ห้ามใช้ “Password Hints”

บางองค์กรพยายามช่วยให้ผู้ใช้จำรหัสผ่านยากๆ ได้ผ่านทางการใช้ “Password Hints” หรือให้ตอบคำถามส่วนบุคคลบางอย่าง อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของโซเชียลมีเดียในปัจจุบันทำให้แฮ็กเกอร์สามารถใช้ Social Engineering เพื่อหาคำตอบของข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นได้ไม่ยาก NIST จึงไม่แนะนำให้มีฟีเจอร์นี้ในการพิสูจน์ตัวตน

5. จำกัดจำนวนครั้งในการใส่รหัสผ่าน

แฮ็กเกอร์หลายรายใช้วิธีลองเดารหัสผ่านไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเดาถูก (Brute-force Attack) วิธีป้องกันแบบง่ายๆ คือ การจำกัดจำนวนครั้งในการพยายามล็อกอิน และล็อกบัญชีไม่ให้ล็อกอินอีกเมื่อใส่รหัสผ่านผิดครบจำนวนครั้งที่กำหนด

6. ใช้การพิสูจน์ตัวตนแบบ 2FA

2-Factor Authentication (2FA) จะใช้การยืนยันตัวตน 2 จาก 3 วิธีดังต่อไปนี้เพื่อทำการพิสูจน์ตัวตน

  • สิ่งที่คุณรู้ เช่น รหัสผ่าน
  • สิ่งที่คุณมี เช่น มือถือ
  • สิ่งที่คุณเป็น เช่น ลายนิ้วมือ

NIST แนะนำให้ใช้การพิสูจน์ตัวตนแบบ 2FA เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถเข้าถึงได้แบบออนไลน์


คำแนะนำในการจัดเก็บรหัสผ่าน

สำหรับการจัดเก็บรหัสผ่านให้มั่นคงปลอดภัย NIST มีคำแนะนำดังนี้

1. ปกป้องฐานข้อมูลให้มั่นคงปลอดภัย

รหัสผ่านของผู้ใช้มักถูกเก็บในฐานข้อมูล วิธีการที่ง่ายที่สุดในการปกป้องฐานข้อมูลนี้คือ การจำกัดสิทธิ์ให้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ รวมไปถึงทำให้มั่นใจว่าฐานข้อมูลสามารถป้องกันการโจมตีที่พบทั่วไปอย่าง SQL Injection หรือ Buffer Overflow ได้

2. แฮชรหัสผ่านของผู้ใช้

การแฮชรหัสผ่านก่อนจัดเก็บลงในฐานข้อมูล เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสามารถป้องกันรหัสผ่านรั่วไหลสู่สาธารณะได้ แม้แฮ็กเกอร์จะสามารถเจาะเข้ามาขโมยรหัสผ่านที่แฮชในฐานข้อมูลได้ แต่ก็ไม่สามารถถอดรหัสกลับไปเป็นรหัสผ่านปกติที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

NIST แนะนำให้ Salt รหัสผ่านเป็น 32 bits และแฮชโดยใช้ 1-way Key Derivation Function เช่น PBKDF2 หรือ Balloon รวมไปถึงมีจำนวน Iteration มากที่สุดที่เป็นไปได้ (อย่างต่ำ 10,000 ครั้ง) โดยต้องไม่ส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของเซิร์ฟเวอร์

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษา Password Guideline จาก NIST ได้ที่เอกสาร NIST Special Publication 800-63B Rev3

ที่มา: TechTalk

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564

เอาจริง Apple ประกาศจับมือโรงงานกว่า 110 แห่ง หวังใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ 100%

วันนี้ Apple ประกาศจับมือโรงงานผลิตกว่า 110 แห่งสู่การใช้งานพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100% โดยในปี 2018 นั้น Apple ระบุว่า การจัดการภายในบริษัทเองไม่มีการปล่อยคาร์บอนแล้ว เป้าหมายต่อไปคือการขยายโครงการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างสมบูรณ์กับโรงงานทั้ง 110 แห่งในปี 2030

การประกาศอย่างเป็นทางการในวันนี้ทำให้เแผนดังกล่าวดูใกล้กับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทพันธมิตรทั้ง 110 แห่งที่ร่วมมือกับ Apple จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับการเอารถออกจากถนนเป็นจำนวนมากถึง 3.4 ล้านคันในแต่ละปี หรือลดค่า CO2e ถึง 15 ล้านตันต่อปี

แม้ว่าตอนนี้จะยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่แผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นในปี 2030 ครับ

นอกจากบริษัทที่กล่าวมาทั้ง 110 แห่งแล้ว Apple ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการสร้างพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ โดยมีการเปิดตัวโครงการสร้าง/จัดเก็บพลังงานใหม่ที่มีชื่อว่า California Flats ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับเก็บพลังงานแบตเตอรีขนาดใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย โดยมีกำลังในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 240 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง อยู่ในระดับที่สามารถจ่ายไฟได้มากกว่า 7,000 หลังคาเรือนต่อวัน

พลังงานส่วนเกินที่มาจากโครงการโซลาเซลล์ของ Apple ในแคลิฟอร์เนียจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรีที่ California Flats

อันที่จริง Apple ก็ขึ้นชื่อเรื่องการจัดการพลังงานและผลจากการใช้พลังงานอยู่แล้ว ในปีที่ผ่านมาช่วงเปิดตัว iPhone 12 บริษัทก็ได้พูดถึงแนวทางการรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการไม่แถมที่ชาร์จใน iPhone เพื่อลดกระบวนการผลิตที่จะทำให้เกิดคาร์บอนมากขึ้นด้วย… แต่เหมือนจะไม่ดีสำหรับผู้ซื้ออย่างเราๆ เท่าไหร่นัก

ที่มา: Beartai