วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

บริษัท AI เผยการทดสอบ ใช้หน้ากาก 3 มิติหลอกระบบ Face Recognition ได้

การใช้รูปหรือตัวปลอมหลอกระบบ Facial Recognition เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในแง่ความปลอดภัยและความน่าไว้วางใจของเทคโนโลยี ล่าสุด Kneron บริษัทที่พัฒนา AI ได้ทดสอบหลอกระบบ Facial Recognition ที่ถูกใช้งานในที่สาธารณะด้วยหน้ากาก 3 มิติที่พิมพ์หน้าบุคคลอื่นไว้

นักวิจัยทดสอบทั้งระบบตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน Schiphol กรุงอัมสเตอร์ดัม และระบบจ่ายเงินด้วยใบหน้าของทั้ง Alipay และ WeChat ในจีน ซึ่งทุกระบบถูกหลอกได้ด้วยหน้ากาก 3 มิติที่นักวิจัยพิมพ์มา และแน่นอนว่าการทดสอบทั้งหมดได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว นักวิจัยก็ย้ำด้วยว่าการมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบริเวณระบบตรวจสอบน่าจะช่วยป้องกันการใช้หน้ากากแบบนี้ได้

อย่างไรก็ตามระบบสแกนใบหน้าของแอปเปิลอย่าง Face ID หรือของ Huawei กลับผ่านการทดสอบนี้ (ไม่ถูกหลอก) เพราะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Structured Light Imaging ในการเก็บรูปใบหน้าแบบ 3 มิติด้วยการอาศัยแพทเทิร์นของแสงที่กระทบ


ที่มา: Blognone

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

Microsoft เผย 3 เทคนิค Phishing อันแนบเนียนที่ควรพึงระวัง

Microsoft ได้ออกรายงานแนวโน้มภัยคุกคามและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในปี 2019 ระบุว่า Phishing เป็นหนึ่งในไม่กี่รูปแบบการโจมตีที่ยังคงพบบ่อยมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ในขณะที่ Ransomware, Crypto-mining และมัลแวร์รูปแบบอื่นๆ เริ่มพบน้อยลง


ล่าสุด Microsoft ได้ออกมาเปิดเผยถึง 3 เทคนิคการโจมตีแบบ Phishing อันชาญฉลาดและมีความแนบเนียนซึ่งมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ดังนี้

1. ป่วนผลการค้นหาของ Search Engine


Phishing แบบแรกนี้อาศัยการโจมตีหลายขั้นตอนเพื่อป่วนผลการค้นหาของ Google ดังนี้
  • แฮ็กเกอร์รวมทราฟฟิกที่ไฮแจ็กมาจากเว็บไซต์ปกติทั่วไปมายังเว็บไซต์ที่ตนเองดูแลอยู่
  • เว็บไซต์นั้นๆ กลายเป็นผลลัพธ์ของการค้นหาที่อยู่บนสุดของ Google สำหรับคีย์เวิร์ดบางอย่าง
  • แฮ็กเกอร์ส่งอีเมลไปยังเหยื่อพร้อมกับลิงค์ที่เชื่อมโยงไปยังการค้นหาคีย์เวิร์ดนั้นๆ บน Google
  • ถ้าเหยื่อคลิกลิงค์การค้นหาคีย์เวิร์ดที่ส่งมา และเลือกเว็บไซต์บนสุด จะกลายเป็นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่แฮ็กเกอร์ควบคุมอยู่
  • เว็บไซต์ดังกล่าวจะเปลี่ยนเส้นทางของเหยื่อไปยังเว็บ Phishing
Microsoft ยังระบุอีกว่า การป่วนผลลัพธ์การค้นหาของ Google ให้ขึ้นไปติดอันดับบนสุดนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าใช้คีย์เวิร์ดแปลกๆ ที่ไม่มีคนค้นหากัน เช่น “hOJoXatrCPy.” นอกจากนี้ แฮ็กเกอร์ยังพรางการโจมตีโดยใช้การค้นหาตามสถานที่อีกด้วย เช่น จะแสดงผลเว็บ Phishing ก็ต่อเมื่อคลิกลิงค์ค้นหาคียเวิร์ดในทวีปยุโรปเท่านั้น เป็นต้น



2. ใช้ประโยชน์จากหน้า 404 Page Not Found


อีเมล Phishing มักมาพร้อมกับ Phishing URL สำหรับหลอกเหยื่อให้ตกหลุบพราง แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Microsoft ได้ตรวจพบแคมเปญ Phishing ที่แนบลิงค์ที่ชี้ไปยังเว็บเพจที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ Microsoft สแกนลิงค์ดังกล่าว จะได้รับการคืนค่าเป็น 404 Page Not Found ส่งผลให้ระบบจำแนกว่าลิงค์นั้นเป็นลิงค์ที่มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ถ้าเหยื่อ (ที่เป็นผู้ใช้จริงๆ ) เข้าถึง URL นั้นๆ เว็บ Phishing จะปลี่ยนเส้นทางไปยังหน้า Phishing แทนที่จะเป็นหน้า 404 Page Not Found


3. Phishing แบบ Man-in-the-Middle


Microsoft ระบุว่า Phishing รูปแบบนี้เป็นการยกระดับการปลอมตัวไปอีกขั้น โดยแทนที่แฮ็กเกอร์จะคัดลอกองค์ประกอบต่างๆ จากเว็บไซต์ต้นฉบับที่ต้องการปลอม กลายเป็นมีคนกลาง (Man-in-the-Middle) ทำการดักจับข้อมูลของบริษัทที่ต้องการจะปลอม เช่น โลโก้, แบนเนอร์, ข้อความ และภาพพื้นหลัง จาก Rendering Site ของ Microsoft แทน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้แทบจะเหมือนกับการเข้าเว็บไซต์ต้นฉบับทุกประการ เพิ่มความแนบเนียนได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังคงมีช่องโหว่ตรง URL ที่ยังคงเป็นของเว็บ Phishing ทำให้เหยื่อสามารถตรวจจับและหลีกเลี่ยงได้ถ้าระมัดระวังเพียงพอ

ที่มา: TechTalk

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

รู้จัก LINE Brain โครงการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของ LINE, สร้างฟอนต์เลียนแบบลายมือเราได้

ในยุคที่บริษัทไอทีทุกแห่งหันมาทำเรื่อง AI กันอย่างจริงจัง โฟกัสคงไปอยู่ที่บริษัทฝั่งอเมริกัน-จีนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว LINE ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีฝั่งเอเชีย (ลูกผสมเกาหลี-ญี่ปุ่น) ก็มีโครงการด้าน AI อย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อว่า LINE Brain

ตัวอย่างผลงานของ LINE Brain ที่เปิดให้ใช้กันแล้วคือ ฟีเจอร์ OCR แปลงรูปเป็นข้อความ พร้อมแปลภาษาให้ในตัว แต่ LINE ยังมีงานวิจัยด้านอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านเสียง วิดีโอ รูปภาพ ภาษา วิเคราะห์ใบหน้า

ในงาน LINE Developer Day 2019 มีเดโมของเทคโนโลยีบางตัวมาโชว์ให้ดูกัน


ตัวอย่างงานด้าน AI ของ LINE คือฟีเจอร์ Smart Channel ที่เป็นการ "แนะนำข้อมูล" ด้านบนสุดของหน้ารวมแชท (บ้านเรายังเป็นข่าวจาก LINE Today แต่ในญี่ปุ่นมีมากกว่านั้น เช่น สภาพอากาศ) ตรงนี้ใช้ระบบ recommendation engine ที่เกิดจากการทำ machine learning ทั้งฝั่งความสนใจของผู้ใช้ และรูปแบบของตัวคอนเทนต์ในระบบ แล้วค่อยมา match กัน


งานด้าน OCR เป็นสิ่งที่ทีม LINE Brain ให้ความสำคัญมาก โดยนำเดโมการใช้กล้องมือถืออ่านป้ายข้อความในโลกความเป็นจริง (ส่วนใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่น จากกลางเมืองโอซาก้า) และได้ความแม่นยำสูง เทคโนโลยีของ LINE คุยว่าแม่นยำกว่า Google Vision API ด้วยซ้ำ


เดโมอีกอันที่ LINE นำมาโชว์บนเวทีคือ การอ่านลายมือของมนุษย์ เรียนรู้แล้วสามารถเขียนลายมือแทนเราได้เลย (เหมาะกับการคัดข้อความส่งการบ้านมากๆ) ในเดโมบนเวทีนำเครื่องจักรมาจับปากกา แล้วเขียนลายมือให้ดูกันสดๆ ด้วย


เดโมอีกอันเป็นเรื่องเสียงพูด โดยมี LINE Duet บ็อตสำหรับคุยโทรศัพท์จองร้านอาหาร (เป็นภาษาญี่ปุ่น) ลักษณะคล้ายกับ Google Duplex เดี๋ยวเขียนเป็นข่าวแยกอีกอันครับ

สุดท้าย LINE ระบุว่าจะเปิดเทคโนโลยี AI ของทีม LINE Brain ให้บริษัทอื่นๆ ใช้งานด้วย (ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้) ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ LINE หันมาทำธุรกิจแบบ B2B นอกจากการให้บริการกับคอนซูเมอร์โดยตรง ด้วยเหตุผลว่างานด้าน AI ยังใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฝั่งคอนซูเมอร์ต้องใช้เวลานาน เพราะลูกค้าคอนซูเมอร์ก็ยังไม่เข้าใจตัวเองมากนักว่าอยากได้ผลิตภัณฑ์แบบไหน ต่างกับฝั่งลูกค้าองค์กรที่มี requirement ชัดเจน ทำให้ LINE เองก็เรียนรู้ไปด้วยว่าเทคโนโลยี AI มีจุดอ่อนยังไง เพื่อให้ปรับปรุงได้เร็วขึ้น


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

IBM รายงานการใช้แมคในบริษัทเทียบกับ Windows พนักงานลาออกน้อยกว่า 17%, ผลประเมินพนักงานดีกว่า 22%

ไอบีเอ็มรายงานผลการใช้เครื่องแมคในบริษัทที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2015 และหลังจากนั้นก็รายงานว่าค่าใช้จ่ายถูกลง ตอนนี้รายงานระยะยาวก็แสดงให้เห็นแนวโน้มการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน

ประเด็นที่น่าประหลาดใจคือ ไอบีเอ็มติดตามประสิทธิภาพการทำงานพนักงานโดยรวม พบว่าพนักงานที่ได้รับผลประเมินเกินคาดหวัง (exceed expectations) ฝั่งที่ใช้แมคนั้นสูงกว่าวินโดวส์ถึง 22%, ยอดขายเฉลี่ยของพนักงานใช้แมคดีกว่า 16%, และอัตราการลาออกของพนักงานใช้แมคต่ำกว่าวินโดวส์ 17%

ในแง่ของการซัพพอร์ต ไอบีเอ็มใช้วิศวกรซัพพอร์ต 7 คนต่ออุปกรณ์แมค 200,000 ชิ้น ขณะที่วินโดวส์ใช้ 20 คน กระบวนการอัพเดตมีอัตราพึงพอใจสูงกว่า, และอัตราการขอซัพพอร์ตหน้าเครื่องของแมคน้อยกว่าวินโดวส์ถึง 5 เท่าตัว


ที่มา: Blognone

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562

โดรนของบริษัท Wing ได้ให้บริการส่งมอบสินค้าเชิงพาณิชย์ครั้งแรกที่เวอร์จิเนียในสหรัฐ


ขณะนี้ Wing บริษัทลูกของ Alphabet ได้ให้บริการส่งมอบสินค้าในเวอร์จิเนียแล้ว โดยเริ่มจากส่งขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพให้กับผู้ที่พักอาศัยในเมืองคริสเตียนเบิร์กรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นการใช้โดรนส่งมอบสินค้าเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่บริษัทได้รับอนุมัติจากรัฐบาลและร่วมมือกับ Walgreens บริษัทดำเนินกิจการร้านขายยา ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและยา และ FedEx บริษัทขนส่งสินค้าสัญชาติอเมริกัน

เมื่อเมษายนที่ผ่านมา Wing เป็นเจ้าของสายการบินโดรนเชิงพาณิชย์รายแรกที่ได้การรับรองโดย สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (Federal Aviation Administration : FAA) ที่มีแนวคิดส่งมอบยาและอาหารจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านไปส่งให้ลูกค้าถึงบ้านได้อย่างปลอดภัยมากกว่าการใช้บริการรถขนส่ง

Wing เปิดเผยว่าการส่งมอบด้วยโดรนจะช่วยลดจำนวนรถยนต์และรถบรรทุกบนท้องถนน ซึ่ง Wing จะพยายามส่งมอบสินค้าภายในไม่กี่นาทีสำหรับคำสั่งซื้อจากผู้พักอาศัยในเมืองคริสเตียนเบิร์ก และฟรีค่าธรรมเนียมในการจัดส่งอีกด้วย

Wing ได้โพสต์วิดีโอตัวอย่างการให้บริการกับครอบครัวคู่สามีภรรยาสูงอายุและครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ซึ่งใช้สมาร์ตโฟนเลือกรายการสินค้าที่ต้องการให้จัดส่ง จากนั้นจะเห็นพนักงานจัดวางสินค้าลงในกล่องกระดาษแข็งที่คล้ายกับ Happy Meal ขนาดใหญ่ แล้วนำไปเกี่ยวกับคลิปสีเหลืองที่ห้อยลงจากโดรนและค่อยถูกดึงขึ้นไปด้านบนล็อกเข้ากับตัวโดรนแล้วบินออกไปส่งยังลูกค้า

โดรนจะบินไปยังบ้านลูกค้าแล้วหย่อนกล่องลงไปให้ลูกค้าที่กำลังรออยู่ ซึ่งคู่สามีภรรยาสูงอายุได้รับด้ายและผ้าพันแผล ส่วนครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้รับขนมขนมขบเคี้ยว แล้วเด็กก็ชี้ไปบนท้องฟ้าเพื่อกล่าวลาโดรนที่กำลังบินจากไป


ที่มา: Beartai

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562

Amazon ย้ายฐานข้อมูลทั้งบริษัทออกจาก Oracle แล้ว, ถึงขั้นเปิดแชมเปญฉลองชัย

Amazon กับ Oracle กลายเป็นคู่กัดคู่ใหม่ของวงการไอที เหตุเพราะบริการด้านคลาวด์กลายเป็นคู่แข่งกัน ฝั่งของ Amazon ก็พยายาม เลิกใช้ฐานข้อมูล Oracle สำหรับงานในบริษัท

วันนี้ Amazon ประกาศว่าย้ายฐานข้อมูลของตัวเองออกจาก Oracle อย่างสมบูรณ์แล้ว (ยกเว้นซอฟต์แวร์ 3rd party บางตัวที่บังคับใช้ Oracle เท่านั้น)

หลายคนอาจสงสัยว่า Amazon ย้ายไปใช้ฐานข้อมูลอะไรแทน คำตอบคือย้ายไปใช้ฐานข้อมูลในเครือ AWS ทั้งหมด ขึ้นกับรูปแบบงาน ตั้งแต่ DynamoDB (NoSQL), Aurora (Relational เวอร์ชันทำเอง), Amazon RDS (MySQL/PostgreSQL เวอร์ชันคลาวด์) และ Amazon Redshift (data warehouse)


Amazon ระบุว่าต้องย้ายฐานข้อมูลภายในบริษัทจำนวนเกือบ 7,500 ฐาน ขนาดข้อมูลรวม 75 petabyte สามารถย้ายได้โดยแทบไม่ต้องมี downtime เลย

Amazon ยังคุยว่าหลังย้ายแล้วสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ 60% จากเรตราคาพิเศษที่ Amazon ได้ส่วนลดจาก Oracle อยู่แล้ว ซึ่งลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้เรตนี้ ย้ายมาอยู่กับ AWS จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 90% ส่วนข้อดีอื่นๆ คือลด latency ลงได้ 40% และลดภาระของแอดมินฐานข้อมูลได้ 70%

จะด้วยเหตุผลเรื่องธุรกิจหรือความแค้นก็ไม่ทราบได้ แต่ Amazon ถึงขั้นทำคลิปฉลองการปิดฐานข้อมูล Oracle อันสุดท้าย และเปิดแชมเปญฉลองด้วย


โฆษณาคลาวด์ฝั่ง Oracle ก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สิงคโปร์ขีดเส้นตาย 1 กันยายนนี้ห้ามธุรกิจเก็บเลขบัตรประชาชนไว้ในระบบ ระบุให้ใช้เบอร์โทรศัพท์, username, หรือค่าแฮชแทน

กรรมการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลสิงคโปร์ (Personal Data Protection Commission - PDPC) ออกประกาศแจ้งเตือนว่าธุรกิจที่ไม่ได้ขออนุญาตเป็นพิเศษจะไม่มีสิทธิ์เก็บข้อมูลเลขบัตรประชาชนหลังจากวันที่ 1 กันยายนนี้ โดยต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ฐานข้อมูลในระบบไม่มีเลขบัตรประชาชนอีกต่อไป


กฎนี้ครอบคลุมถึงหมายเลขประจำตัวอื่นที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น หมายเลขใบเกิด, หมายเลขต่างด้าว, หรือหมายเลขอนุญาตทำงาน

คำแนะนำของ PDPC ระบุให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนไปใช้กระบวนการระบุตัวผู้ใช้ด้วยวิธีการอื่น เช่น ชื่อผู้ใช้ที่ตั้งได้เอง, หมายเลขโทรศัพท์, หมายเลขประจำตัวที่สร้างโดยระบบ หรือหมายเลขบัตรประชาชนบางส่วน

แม้จะห้ามเก็บหมายเลขบัตรประชาชนไว้ในฐานข้อมูลตรงๆ แต่กฎนี้ยังอนุญาตให้เก็บเลข 3 ตัวท้ายและอีก 1 ตัวอักษรท้ายของหมายเลขบัตรประชาชน และค่าแฮชของเลขบัตรประชาชนได้ โดยในกรณีที่ต้องการตรวจสอบบัตรประชาชนก็สามารถสแกนบาร์โค้ดและแฮชข้อมูลทันทีเพื่อตรวจสอบจากค่าแฮชเอา

บริการที่จะได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขนี้ ได้แก่ บริการสมาชิกของร้านต่างๆ, บริการซื้อสินค้าออนไลน์, ระบบบัตรเข้างาน และข้อกำหนดนี้ยกเว้นกิจการที่ต้องเก็บเลขบัตรประชาชนตามกฎหมาย เช่น สถานพยาบาลที่ต้องเก็บข้อมูลผู้ป่วย, โรงแรมที่ต้องเก็บข้อมูลผู้เข้าพัก ฯลฯ

ที่มา: Blognone

ไมโครซอฟท์ระบุ การเปิดใช้ multi-factor authentication ช่วยป้องกันการถูกแฮ็กบัญชีได้ถึง 99.9%

เวลาเราเห็นตามข่าวหรือมีเพื่อนมาโวยวายว่า "ถูกแฮ็กบัญชี" บ่อยครั้งมักเกิดจากความผิดพลาดของตัวเจ้าของบัญชีเองที่ไปล็อกอินค้างไว้หรือจดรหัสต่างๆ เก็บไว้แล้วมีผู้อื่นเข้าถึงได้ หรือเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่ทำให้รหัสผ่านหลุด เช่นผู้ให้บริการไม่ได้เก็บรหัสผ่านของผู้ใช้แบบเข้ารหัส หากบริการเหล่านั้นมีช่องโหว่ก็สามารถทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงรหัสผ่านได้

วิธีแก้ปัญหา "รหัสหลุด" ที่ได้รับความนิยมสูงคือการยืนยันตัวตนหลายปัจจัย หรือ multi-factor authentication (MFA) เช่นที่เราคุ้นเคยกันคือการส่งรหัส OTP มาทาง SMS (ปัจจุบันไม่ค่อยปลอดภัยแล้วเพราะเสี่ยงต่อการออกซิมปลอม หรือ SIM Swapping/SIM Hijacking)

การทำ MFA อีกวิธีที่ยังถือว่าปลอดภัยอยู่คือการใช้กุญแจยืนยันตัวตน U2F ตามมาตรฐาน FIDO ที่เราต้องกดปุ่มจริงๆ บนกุญแจที่เสียบเข้าพอร์ต USB เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราเป็นคนล็อกอินเข้าบัญชี ไม่ใช่คนที่รู้รหัสผ่านของเรา หรือหากไม่มีกุญแจ U2F ในแอนดรอยด์ก็มีป๊อปอัพให้กด Yes เวลาเราล็อกอินเข้าบัญชีกูเกิล หรือใน Pixel 3/3a สามารถกดปุ่ม power ของโทรศัพท์เพื่อยืนยันตนได้เช่นกัน


ด้าน Alex Weinert ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยบุคคลของไมโครซอฟท์ออกมาบอกว่า "จากการศึกษาของเรา บัญชีผู้ใช้มีโอกาสถูกแฮ็กสำเร็จน้อยลงกว่า 99.9% หากเปิดใช้งาน MFA" และยังให้คำแนะนำว่าห้ามใช้รหัสผ่านที่เคยรั่วออกมาสู่สาธารณะ รวมถึงการใช้รหัสผ่านยาวมากๆ ก็ไม่ได้ช่วยสักเท่าไร

รหัสผ่านยาวๆ นั้นไม่มีประโยชน์มากนักเพราะปัจจุบันมีเทคนิคมากมายที่จะเอารหัสผ่านของผู้ใช้มาได้ เช่น phishing (หลอกให้ผู้ใช้กรอกรหัส) หรือ Credential Stuffing คือการนำรหัสผ่านที่หลุดจากบริการหนึ่งไปลองใช้กับบริการอื่นๆ หากผู้ใช้คนนั้นใช้รหัสผ่านซ้ำกันก็สามารถขโมยบัญชีได้ทั้งหมด

ไมโครซอฟท์ระบุว่ามีการพยายามล็อกอินโดยมิชอบมากกว่า 300 ล้านครั้งต่อวัน (เฉพาะบริการของไมโครซอฟท์เอง) และหากผู้ใช้เปิดใช้งาน MFA จะสามารถป้องกันการล็อกอินแบบนี้ได้


ที่มา: Blognone

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สมาคมธนาคารเปิดตัว MyPromptQR ให้ร้านค้าสแกน QR จากแอป แบบเดียวกับ LINE Pay

ที่งาน Bangkok FinTech Fair 2019 สมาคมธนาคารเปิดตัวบริการ MyPromptQR บริการจ่ายเงินผ่าน QR แบบร้านค้าเป็นผู้สแกน (business scan consumer - B scan C) ที่เป็นแนวทางของแอป e-wallet ส่วนมากทุกวันนี้ โดยก่อนหน้านี้บริการจ่ายเงินผ่านธนาคารของไทย เป็นบริการที่ผู้ใช้เป็นผู้สแกน QR ของร้านค้า (C scan B) ทั้งหมด

วิธีการคือ ลูกค้าซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อที่มีเครื่อง POS จากนั้นลูกค้าก็กด generate QR Code แบบ MyPromptQR จากแอพจ่ายเงินของตัวเอง เมื่อร้านค้าสแกนระบบก็จะตัดเงินตามราคาสินค้า โดย QR นั้นๆ จะสามารถใช้ได้ครั้งเดียวเหมือนกับรหัส OTP นอกจากนี้ร้านค้าจะไม่เห็นข้อมูลเลขบัญชีของลูกค้าด้วย ร้านค้าและผู้ให้บริการ e-wallet สามารถใส่ข้อมูลโปรโมชั่นส่วนลดเข้ามาใน MyPromptQR ได้


และในกรณีที่ร้านค้าคิดราคาสินค้าขาดหรือเกิน ลูกค้าก็สามารถนำ e-receipt ไปเทียบยืนยันได้ตามขั้นตอนปกติของการคืนสินค้า

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ภายในไตรมาสสี่ปีนี้จะมีธนาคารใหญ่เข้าร่วมใช้ MyPromtQR 5 ราย และต้นปี 2020 จะมีธนาคารอีก 4 รายเข้าร่วม ด้าน e-wallet ก็มีฝั่ง JD Central, เดอะมอลล์, บิ๊กซีกำลังพัฒนาอยู่ และคาดหวังให้มี e-wallet มาเข้าร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นายยศ ระบุเพิ่มเติมว่า มาตรฐานดของ MyPromptQR ใช้มาตรฐาน ISO20022 และกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารต่างประเทศให้มาเข้าร่วมมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความเป็นไปได้ในอนาคตที่ร้านค้าต่างประเทศจะสามารถสแกนรับจ่ายผ่าน MyPromptQR ได้


ด้านรายละเอียดการให้บริการ MyPromptQR ของธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจต่างๆ มีดังนี้
  • ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในเดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่ให้บริการรับชำระเงินด้วย MyPromptQR
  • เซ็นทรัล เจดี มันนี่ ผู้ให้บริการ Dolfin Wallet จะเปิดบริการชำระเงินด้วย QR code หรือ MyPromptQR ที่ร้านค้าในเครือเซ็นทรัลเร็วๆ นี้
  • บิ๊กซีเตรียมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2562 ทั่วประเทศกว่า 1,200 สาขา
  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกสิกรไทยจะเริ่มเปิดให้บริการประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เริ่มทดสอบ MyPromptQR ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561 และพร้อมที่จะเปิดให้บริการ MyPromptQR ข้ามธนาคารในช่วงต้นไตรมาส 4 ปี 2562 เป็นต้นไป
  • ธนาคารกรุงเทพเตรียมเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีแผนให้บริการภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
  • ธนาคารธนชาต จะพร้อมให้บริการภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2562
  • ธนาคารยูโอบี จะพร้อมให้บริการบนช่องทางดิจิทัล ทั้ง UOB Mighty และ TMRW ภายในกุมภาพันธ์ 2563
  • ธนาคารออมสินจะเริ่มเปิดให้บริการแก่ลูกค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยจะสนับสนุนการให้บริการภายในไตรมาสแรกปี 2563

ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

Intel “ชื่นชม” ความก้าวหน้าของ AMD : พร้อมเผยแผนพัฒนาชิประดับสูงเพื่อแข่งในตลาดโลก


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2019 ที่่ผ่านมา ได้มีบทความโพสต์ภายในสำหรับพนักงานของ Intel เท่านั้น เรียกว่า Circuit News โดยมีหัวเรื่องว่า “โปรไฟล์การแข่งขันกับ AMD : เทียบกันเราไปไกลแค่ไหน, ทำไมพวกเขาถึงฟื้นกลับมา, ชิปใดที่เราจะชนะเขาได้”

บทความดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคหลังของ AMD และวิธีที่บริษัททำอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และยิ่งกว่านั้นคือ Intel มองว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ของ AMD เป็นคู่แข่งสำคัญ


ด้วยกลยุทธิ์ใหม่ของ AMD ที่เปลี่ยนไปเน้นผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงระดับพรีเมียม สำหรับตลาดอุปกรณ์เดสก์ทอป, Data Center และ Server ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ AMD ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก ซึ่งจากรายงานประจำปี 2018 ระบุว่า ได้มีการเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% โดยส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์ Ryzen ล่าสุดสำหรับเดสก์ทอป และ EPYC สำหรับองค์กร, ระบบ Cloud และ Data Center

AMD ได้สร้างความน่าสนใจในตลาดนักลงทุนด้วยหุ้นระดับ Best Performing Stock (หุ้นที่มีผลตอบแทนสูง) ของ S&P 500 เมื่อปี 2018 และราคาของหุ้นในปัจจุบันได้ปรับตัวขึ้นอีก

เหล่านี้ทำให้ AMD กลับมาฟื้นตัว และเตรียมแย่งส่วนแบ่งตลาดจาก Intel ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ในปี 2019 นี้ โดยจะเห็นได้จากงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ภายในงาน Computex และ E3 ที่ผ่านมา


ผู้เชี่ยวชาญจากทีมประสิทธิภาพ, การใช้พลังงาน และวิเคราะห์การแข่งขันของ Intel สรุปสิ่งที่ AMD จะส่งผลต่อ Intel เอาไว้ว้า
  • AMD ให้ CPU ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
  • AMD ได้ชนะในการให้บริการระบบ Cloud สาธารณะ
  • ผลิตภัณฑ์ Zen-core รุ่นใหม่ของ AMD รหัสชื่อ Rome และ Matisse จะทำให้เกิดการแข่งขันในอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์และเดสก์ทอปที่สูงขึ้น
  • AMD ใช้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตชิประดับ 7 นาโนเมตรของ TSMC ทำให้ชิปมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากกว่าเดิม
แต่ถึงกระนั้น Intel ก็ยังมีแนวคิดในกาพัฒนาที่จะมาแข่งขันกับ AMD โดยเน้นพัฒนาทั้ง 6 ด้าน คือ กระบวนการผลิต, สถาปัตยกรรม, หน่วยความจำ, การเชื่อมต่อระหว่างกัน, ความปลอดภัย และซอฟต์แวร์ เพื่อที่จะสามารถครองความเป็นผู้นำในตลาดระยะยาวได้


ซอฟต์แวร์ คือปัจจัยสำคัญมากในการพัฒนา โดยทาง Intel ได้ออกแบบซอฟต์แวร์ที่มีความฉลาดแตกต่างจาก AMD โดยให้สามารถรองรับได้ตั้งแต่ Linux Kernel (ส่วนประกอบหลักของระบบปฏิบัติการ Linux) ไปจนถึง Adobe Lightroom ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์อันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรม Intel ได้ และจะให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าแก่ผู้ใช้

อีกหนึ่งจุดแข็งในด้านซอฟต์แวร์ของ Intel คือ มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากถึง 15,000 คน ซึ่งมีจำหน่ายมากกว่าของทาง AMD


ไม่เพียงแค่นั้น ทีมงานของ Intel ยังเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่การแข่งขั้นด้านชิปเพียงอย่างเดียว แต่ Intel ยังมีฐานด้านธุรกิจที่กว้างกว่า ทั้งในอุปกรณ์มือถือ, เดสก์ทอป, เกมมิง, Wi-Fi, Thunderbolt, Turbo Boost 2.0 และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย

รวมถึงยังมีโปรเจ็คต Athena ที่เน้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับแล็ปท็อปรุ่นใหม่ และฟีเจอร์ AI อย่าง Deep Learn Boost ที่สร้างความแตกต่างจาก AMD อย่างชัดเจน

ที่มา: Beartai

Huawei ร่วมกับ AIS ทดสอบ 5G บนสมาร์ทโฟนรุ่น Huawei Mate 20 X 5G

 
AIS ร่วมกับ Huawei ทดสอบทดลองการใช้งานโทรศัพท์ผ่านเครือข่าย 5G แบบ NSA (Non-Standalone) โดยประกอบไปด้วย การสนทนาทางโทรศัพท์ (5G Voice Call) ซึ่งคุณภาพเสียงได้ระดับ Ultra HD Voice พร้อมด้วยการทดลองสนทนาทางวิดีโอคอล (5G VDO Call) ด้วยภาพความละเอียดสูงระดับ 4K ซึ่งไม่สามารถทำได้บนเครือข่าย 4G ในปัจจุบัน


และที่สำคัญคือ การทดสอบการดาวน์โหลดและอัพโหลดข้อมูลด้วยระบบเครือข่ายเอไอเอส Next G+ (Next G+ Internet Speed Test) เป็นครั้งแรกในโลก ที่เกิดจากการผสมผสานสมรรถนะของเครือข่าย 5G แห่งอนาคตเข้ากับสุดยอดความเร็วจาก AIS SUPER WiFi โดยผลปรากฎว่าทำความเร็วการดาวน์โหลดได้ถึง 1,390 Mbps และอัพโหลดได้ถึง 474 Mbps ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดของเครือข่าย 5G ในประเทศไทย

สมาร์ทโฟน Huawei Mate 20 X 5G เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นพิเศษที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Mate 20 X รุ่นเดิม เพิ่มเติมความสามารถให้รองรับนวัตกรรมแห่งอนาคตได้อย่างเต็มที่ โดย Mate 20 X 5G จะมาพร้อมกับชิปโมเด็ม 5G ที่เร็วที่สุดในโลกในชื่อ “Balong 5000” ซึ่งเป็นชิปเซ็ตที่รองรับผลิตภัณฑ์ 5G ที่หลากหลายนอกเหนือจากสมาร์ทโฟนซึ่งรวมถึงอุปกรณ์บรอดแบนด์ในบ้าน อุปกรณ์ติดตั้งยานพาหนะ และโมดูล 5G ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ 5G ใหม่ล่าสุดในหลายๆ สถานการณ์


Balong 5000 สามารถดาวน์โหลดความเร็วได้สูงถึง 4.6 Gbps ในแถบความถี่ mmWave (คลื่นความถี่สูงที่ใช้เป็นคลื่นความถี่ขยายสำหรับ 5G), Balong 5000 สามารถรับความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 6.5 Gbps เร็วกว่าความเร็วสูงสุดของ LTE 4G ในตลาดปัจจุบันถึง 10 เท่า

พร้อมเป็นชิปเซ็ตตัวแรกของโลกที่รองรับสถาปัตยกรรมเครือข่าย (NSA) Non-standalone (NSA) สำหรับระบบการเชื่อมต่อปัจจุปัน และ Standalone (SA) 5G สำหรับเทคโนโลยีแห่งยุคอนาคต ไม่ว่าจะเป็น IoT, Big Data, Smart City และ Artificial Intelligence (AI)


สเปคของเครื่อง Huawei Mate 20 X 5G เพิ่มหน่วยความจำ (RAM) และความจุเพิ่มขึ้นจาก 6GB / 128GB ใน Mate 20 X เป็น 8GB / 256 GB ในรุ่น 5G ทั้งยังรองรับเทคโนโลยี SuperCharge 2.0 เพื่อการชาร์จแบตเตอรี่ที่เร็วยิ่งกว่าด้วยกำลังไฟสูงสุดถึง 40 วัตต์

ในฐานะผู้นำระดับโลก ทั้งในด้านนวัตกรรมเครือข่าย 5G และสมาร์ทโฟน หัวเว่ยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการทดสอบ และวางมาตรฐานสำหรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต เพื่อผู้บริโภคชาวไทย ด้วยอุปกรณ์สมาร์ทโฟนระดับโลกอย่าง Huawei Mate 20 X 5G ที่เหนือกว่าด้วยที่สุดแห่งสมรรถนะจากชิปเซ็ต 5G ของหัวเว่ย และถือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ผ่านการทดสอบเครือข่าย 5G ของเอไอเอสในประเทศไทยอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถชมวิดีโอสาธิตการทดสอบเครือข่าย 5G และ Next G+ ของเอไอเอส บนสมาร์ทโฟน Huawei Mate 20 X 5G ได้ที่นี่

ที่มา: MTHAI

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เปิดราคารถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV ในไทย 1,190,000 บาท

เรียกว่าเป็นกระแสกันมานาน สำหรับ MG ZS EV ภาคต่อของ MG ZS ที่ขณะนี้ออกมาเป็นเวอร์ชันรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแล้ว

ล่าสุด MG ประเทศไทยได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นดังกล่าวแล้วที่ราคา 1,190,000 บาท โดยมีวางจำหน่ายรุ่นเดียว ไม่มีรุ่นย่อยใดๆ

MG ZS EV ที่จำหน่ายในประเทศไทยติดตั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 44.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิ่งได้ระยะทาง 337 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (วัดตามมาตรฐาน NEDC) มีกำลัง 150 แรงม้า, แรงบิด 350 นิวตันเมตร

การชาร์จไฟจะมีสองโหมดคือชาร์จแบบปกติผ่านตู้ชาร์จ MG Home Charger ใช้เวลา 6.5 ชั่วโมง และชาร์จด่วนตามสถานีชาร์จสาธารณะได้ 80% ในเวลา 30 นาที ส่วนการชาร์จจากปลั๊กไฟบ้านก็สามารถทำได้แต่คาดว่าจะใช้เวลานานมาก

การรับประกันคุณภาพอยู่ที่ 4 ปีหรือ 120,000 กิโลเมตร และรับประกันแบตเตอรี่ 8 ปีหรือ 180,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ MG ระบุว่าการรับประกันเงื่อนไขนี้เป็น Welcome Package และยังไม่แน่ชัดว่าปกติแล้วจะมีการรับประกันให้กี่ปี

นอกจากนี้ผู้ที่ซื้อรถ 1,000 คันแรกจะได้รับตู้ชาร์จ MG Home Charger มูลค่า 45,000 บาทโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงได้ประกันแบตเตอรี่นาน 8 ปีไม่จำกัดระยะทางอีกด้วย


ที่มา: Blognone

Kubernetes 1.15 ออกแล้ว ปรับปรุงความสามารถใหม่ 25 ประการ

ทีมพัฒนา Kubernetes ได้ออกมาประกาศเปิดตัว Kubernetes 1.15 แล้ว โดยมีการปรับปรุงใหม่ 25 ส่วนด้วยกัน ซึ่งในการปรับปรุงครั้งนี้ มี 2 รายการที่เข้าสู่สถานะ Stable, 13 รายการที่เข้าสู่สถานะ Beta และอีก 10 รายการที่เข้าสู่สถานะ Alpha โดยหากจำแนกในภาพรวมแล้ว อัปเดตครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

  • การปรับปรุงระบบโดยรวม โดยแต่ละทีมย่อยนั้นได้มีการพัฒนา Test ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นเพื่อให้ระบบมีความเสถียรสูงขึ้น
  • การรองรับการทำงานร่วมกับระบบใหม่ๆ โดยมีการเพิ่มความสามารถให้กับ Custom Resource Definition (CRD) และ API Machinery เป็นหลัก
ในส่วนของ CRD นี้จะมุ่งเน้นไปที่การจัดการด้าน Data Consistency และปรับปรุง Native Behavior ของระบบ และได้มีการปรับปรุง Cluster Lifecycle ให้มีความมั่นคงทนทานสูงขึ้นและใช้งานง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ kubeadm ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีความสามารถใหม่ๆ และทนทานมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีโลโก้ใหม่เป็นของตัวเองแล้ว

ส่วน Container Storage Interface (CSI) นั้นก็สามารถทำการ Migrate ในส่วนของ In-tree Volume Plugin มายัง CSI ได้แล้ว และยังได้รับการเพิ่มเติมความสามารถใหม่ๆ มากมาย

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ https://github.com/kubernetes/kubernetes/blob/master/CHANGELOG-1.15.md#kubernetes-v115-release-notes และสามารถใช้งาน Kubernetes 1.15 ได้แล้วที่ https://github.com/kubernetes/kubernetes/releases/tag/v1.15.0

ส่วนผู้ที่อยากเริ่มต้นกับ Kubernetes สามารถเรียนรู้ได้ที่ https://kubernetes.io/docs/tutorials/ ครับ

ที่มา: TechTalk

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

มาดูกันซิ!! ว่า iOS 13 และ iPadOS 13 มีฟีเจอร์ไหนที่ยืมมาจาก Android บ้าง??



หลังจากที่ iOS 13 และ iPadOS 13 เปิดตัวในงาน WWDC 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้ปล่อยความสามารถใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก โดยมีบางฟีเจอร์อาจจะคล้ายๆ หรือยืมไอเดียมาจากฝั่ง Android ด้วย วันนี้เราจะมาดูกันว่ามีฟีเจอร์ไหนบ้างที่ยืมมา

การรองรับ OTG USB

 

ฟีเจอร์การรองรับ OTG นี้ มีใน Android มาได้สักพักแล้ว ทำให้การถ่ายโอนไฟล์จากเครื่องลงสู่ Flash Drive หรือ Hard Drive ได้สะดวกแล้วรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย Apple จะนำฟีเจอร์นี้มาอยู่บน iPadOS 13 ซึ่งจะทำให้แอปต่างๆ สามารถรับไฟล์ได้โดยตรงจาก Drive หรือ SD Card ได้โดยตรงเลย


Swipe Keyboard หรือ คีย์บอร์ดอัจฉริยะ

 

คีย์บอร์ดนี้ไม่ใช้คีย์บอร์ดแบบธรรมดาๆ โดยทั่วไป คีย์บอร์ดนี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถลากนิ้วไปตามตัวอักษรเพื่อพิมพ์เป็นคำหรือประโยคต่างๆ โดยไม่ต้องยกนิ้วจากจอได้ ซึ่งก่อนหน้านี้บน Android ก็มีทั้งที่เป็นคีย์บอร์ดบน Stock Rom และที่เป็นคีย์บอร์ดเสริมจากนักพัฒนาต่างๆ จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้เอง Google ได้ปล่อย Gboard ของ Google ที่มีฟีเจอร์นี้ด้วย ขึ้นไปบน App Store เยือนถึงหน้าบ้าน

และล่าสุดใน iOS 13 และ iPadOS 13 Apple ก็จะนำฟีเจอร์ดังกล่าวมาลงในคีย์บอร์ดดั่งเดิมของตัวเครื่องด้วย

วิดเจ็ตบนหน้าจอโฮม

 


ถึงก่อนหน้านี้จะมีวิดเจ็ตบน iOS ต่างๆ มากมายก็ตาม แต่ผู้ใช้หลายคนอาจจะไม่เคยใช้หรือเห็นหน้าตาของตัววิดเจ็ตเลย เพราะมันถูกแยกไปไว้อีกหน้านึงทำให้ซับซ้อนสำหรับใครหลายๆ คน ซึ่งบน iPadOS นี้ Apple จะนำวิดเจ็ตที่ถูกแยกไปก่อนหน้านี้ให้สามารถมาวางไว้ที่หน้าโฮมได้ โดยคล้ายๆ กับ Android ที่สามารถทำได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว 

 

Dark Mode

 

โหมดที่อันที่จริง Android ก็เพิ่งจะประกาศเปิดตัวฟีเจอร์นี้อย่างเป็นทางการใน Android Q ที่จะเปิดให้ใช้กันอีกไม่กี่เดือนนี้ แต่ว่าก่อนหน้านี้ก็ได้มี OEM หลายรายได้ทำไปก่อนหน้านี้แล้วใน Android Pie ตั้งแต่ปีที่แล้ว


โดยโหมดนี้สำหรับใน iPhone ที่ใช้จอ OLED จะมีประโยชน์มาก ที่จะช่วยในการประหยัดแบตเตอรี่ในพิกเซลที่เป็นสีดำ

Street View

 

ฟีเจอร์นี้จะมาอยู่ใน Apple Maps ในชื่อว่า Look Around หลังจาก Google ได้มีฟีเจอร์นี้บน Google Maps มาเกือบทศวรรษแล้ว และแน่นอนว่าตอนนี้เพิ่งเป็นการเริ่มต้นสิ่งนี้จากฝั่ง Apple ข้อมูลต่างๆ ก็อาจจะไม่ได้มากเหมือน Google Maps ที่ทำมาหลายปีแล้ว แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าฟีเจอร์นี้จะพัฒนาไปถึงจุดไหน


ที่มา: Beartai

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

LINE บนมือถือรองรับฟีเจอร์ OCR แปลงรูปเป็นข้อความแล้ว พร้อมแปลภาษาให้ในตัว

หลังเปิดตัวฟีเจอร์ OCR มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วบนเดสก์ท็อป ก่อนจะรองรับภาษาอังกฤษและไทยเมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุดฟีเจอร์ OCR ของ LINE สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้แล้วทั้ง iOS และ Android

การใช้งานฟีเจอร์นี้ จะมีทั้งเป็นโหมด OCR เมื่อเปิดกล้อง หรือเลือกให้อ่านข้อความจากรูปภาพที่ส่งกันในแชทก็ได้ โดยเลือกตัวเลือก [T] บริเวณขวาบนเมื่อกดดูรูปแบบเต็มจอ

ฟีเจอร์นี้ไม่เพียงแค่แปลงตัวหนังสือในรูปออกมาเป็นข้อความเท่านั้น ยังรองรับการแปลให้ด้วย โดยภาษาที่รองรับ OCR ก็มีญี่ปุ่น, เกาหลี, ไทย, อังกฤษ, จีน (ตัวเต็ม, ตัวย่อ) และอินโดนีเซีย ส่วนภาษาที่สามารถแปลออกมาได้ก็มี 6 ภาษาข้างต้น รวมถึงสเปน, โปรตุเกส, เยอรมัน, รัสเซีย, เมียนมาร์, เวียดนาม, อารบิก, เปอร์เซียและฮินดู


ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

DevOps หลบไป Azure ML เพิ่มฟีเจอร์ "MLOps" สำหรับงานเทรนโมเดล AI อัตโนมัติ

ทุกวันนี้คำว่า DevOps (development + operations) ได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น ในวงการ AI เองก็มีคำว่า MLOps (machine learning + operations) ที่เริ่มเป็นที่รู้จักเช่นกัน

สัปดาห์ที่แล้ว ไมโครซอฟท์ประกาศฟีเจอร์ใหม่ของ Azure Machine Learning โดยเน้นที่กระบวนการเทรนโมเดลให้อัตโนมัติมากขึ้น

ฟีเจอร์สำคัญคือการผนวกเอา Azure DevOps โดยเฉพาะด้าน CI/CD มาใช้กับงาน machine learning ด้วย เพื่อให้ตลอดอายุงาน (machine learning lifecycle) ทำงานต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างโมเดล พิสูจน์การทำงานของโมเดล ดีพลอย และการเทรนซ้ำ

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเพิ่มเครื่องมือแบบ GUI ให้ใช้ออกแบบ flow ทั้งหมดของกระบวนการเทรนโมเดล สามารถลากวัตถุมาเชื่อมต่อกันได้แบบไม่ต้องเขียนโค้ดใดๆ ซึ่งจะช่วยให้งานด้าน AI เข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้น


ที่มา: Blognone

หุ่นยนต์ Delivery ได้รับอนุญาตให้ใช้งานบนทางเท้าภายในรัฐวอชิงตันแล้ว


รัฐวอชิงตันได้กลายเป็นรัฐที่แปดในสหรัฐที่อนุญาตให้ใช้งานหุ่นยนต์ Delivery บนทางเท้าและทางม้าลาย โดย Jay Inslee ผู้ว่าการรัฐวอชิงตันได้ลงนามในเรื่องนี้ หลังจากได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท Starship Technologies ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและการขนส่งภายในท้องถิ่น

หุ่นยนต์ Delivery ถูกนำมาใช้เพื่อหวังจะลดความแออัดและมลพิษภายในเมือง เนื่องจากหุ่นยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งการอนุญาตให้มีการใช้งานหุ่นยนต์ Delivery ในเมืองยังช่วยให้บริษัทขนส่งในท้องถิ่นมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้บริษัทขนาดเล็กที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดส่ง สามารถใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยทดแทนได้


แม้จะมีความกังวลว่าหุ่นยนต์อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ทางเท้า แต่ตัวหุ่นยนต์ก็ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ ทั้งการใช้เทคโนโลยีด้าน computer vision, GPS รวมไปถึง machine learning โดยหุ่นยนต์สามารถสร้างแผนที่จากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว เพื่อนำทางในพื้นที่แออัดและหลีกเลี่ยงสิ่งขีดขวางต่างๆ

รัฐเวอร์จิเนียเป็นรัฐแรกในสหรัฐที่เริ่มอนุญาตให้นำหุ่นยนต์ Delivery มาใช้งานตั้งแต่ปี 2017 ตามมาด้วยรัฐไอดาโฮ วิสคอนซิน ฟลอริดา โอไฮโอ ยูทาห์ และแอริโซนา แต่สำหรับบางรัฐ เช่น รัฐซานฟรานซิสโก ยังคงอยู่ในระหว่างพิจารณาข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562

LINE บน iOS สามารถแคปแชตอย่างยาวได้แล้วด้วยฟีเจอร์ “Capture”


เมื่อปีที่ผ่านมา LINE ได้ออกฟีเจอร์ Chat Capture สำหรับผู้ใช้ iOS ในสถานะทดลองใน LINE Labs


สำหรับฟีเจอร์นี้ จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถถ่ายภาพหน้าจอแชตเฉพาะช่วงที่ต้องการได้อย่างง่ายได้ โดยไม่ต้องผ่านแอปอะไรเลย นอกจากนี้ยังสามารถซ่อนชื่อของผู้สนทนาได้ด้วย


โดยในครั้งนี้ LINE ได้นำฟีเจอร์ Chat Capture ออกจากสถานะทดลองใน LINE Labs เป็นฟีเจอร์หลักที่เปิดใช้งานสำหรับผู้ใช้ทุกคนเป็นค่าเริ่มต้น ใน LINE บน iOS เวอร์ชั่น 9.4.0 ขึ้นไป

ที่มา: Beartai