วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ทนไม่ทน? Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองของ Model 3 หลังผ่านการทดสอบวิ่งครบ 1 ล้านไมล์

โดยธรรมชาติของรถยนต์ไฟฟ้านั้น มีชื่อเสียงว่าทนทานกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปภายใน เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่ขยับไปมาน้อยกว่า รวมถึงระบบเกียร์ก็ซับซ้อนน้อยกว่า เพราะมีเพียงเกียร์เดียวจึงลดความสึกหรอไปได้มากเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่มีหลายเกียร์

ล่าสุด Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองในระบบส่งกำลังของ Tesla Model 3 ออกมาสองภาพ โดยระบุว่าเป็นชิ้นส่วนที่ผ่านการทดสอบวิ่งมาแล้ว 1 ล้านไมล์ หรือ 1.6 ล้านกิโลเมตร และ Elon Musk ก็ออกมาเสริมว่าชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ทนทานมากเป็นพิเศษ

เมื่อปี 2015 Elon Musk เคยบอกสื่อว่า Tesla ต้องการสร้างระบบขับเคลื่อนที่จะไม่สึกหรอเลย และเคยตั้งเป้าว่าจะทำให้ระบบขับเคลื่อนใช้งานได้ 200,000 ไมล์ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป้านั้นเป็น 1 ล้านไมล์ นอกจากนี้ Tesla Semi รถบรรทุกพลังไฟฟ้าที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 ก็เคลมว่าสามารถวิ่งได้ 1 ล้านไมล์โดยไม่เสียเลย

สำหรับสภาพของเฟืองที่ผ่านการใช้งานมา 1 ล้านไมล์เป็นอย่างไร ดูได้จากภาพด้านล่างครับ


ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Boston Dynamics โชว์คลิปหุ่นยนต์ Atlas วิ่งกระโดดขึ้นที่สูงแบบเดียวกับมนุษย์

บริษัทหุ่นยนต์ Boston Dynamics (ปัจจุบันอยู่ในเครือ SoftBank) เผยวิดีโอล่าสุดของหุ่นยนต์มนุษย์ Atlas ที่สามารถวิ่งพร้อมกระโดดด้วยขาทีละข้างแบบเดียวกับมนุษย์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Boston Dynamics เรียกเสียงฮือฮาจากความสามารถของหุ่นยนต์ Atlas เพราะปีที่แล้วก็เคยโชว์คลิป Atlas กระโดดตีลังกากลับหลัง มาก่อนแล้ว

Boston Dynamics ยังไม่เคยเปิดเผยว่าจะผลิตหุ่นยนต์มนุษย์ Atlas มาวางขายจริงเมื่อไร แต่มีแผนจะขายหุ่นยนต์สุนัข SpotMini ในปีหน้า 2019


ที่มา: Blognone

รู้จัก SCB 10X ยูนิตใหม่ของ SCB ฉีกกรอบการทำงานแบงค์แบบเดิม แถมขึ้นตรงกับซีอีโอ

เมื่อนึกถึงงานธนาคาร หลายๆ คนอาจจะนึกถึงงานรูทีน ซ้ำซาก น่าเบื่อ บนวัฒนธรรมองค์กรแบบลำดับขั้น (hierarchy) การตัดสินใจต่างๆ ก็ช้า ไม่เว้นแม้แต่ภาพของงานสำหรับนักพัฒนาในสายธนาคารก็ไม่น่าจะต่างกันมาก

SCB 10X (อ่านว่า เท็นเอกซ์) เป็นฝ่ายใหม่ในธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถูกตั้งขึ้นมาโดยซีอีโอและขึ้นตรงกับซีอีโอ เพื่อทำลายข้อจำกัดแบบเดิมๆ ของธนาคาร โดยมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นของตัวเอง มีภารกิจใหม่ที่ท้าทายคือสร้างอนาคตใหม่ให้กับ SCB

ตอนนี้ SCB 10X กำลังมองหานักพัฒนาหลายตำแหน่ง เพื่อมาร่วมงานและสร้างองค์กรไปพร้อมกันด้วย


รู้จัก SCB 10X ดีพาร์ทเมนท์ใหม่กับภารกิจที่ใหญ่ยิ่ง

 

SCB 10X เป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ SCB ที่ตั้งขึ้นมาโดยคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแผนก Google X ของ Google ที่ให้พนักงานได้ทดลอง ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หากทำสำเร็จ จะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลเชิงบวกให้กับองค์กร โดยไม่อยู่ภายใต้กรอบคิดเดิมของบริษัท ว่าโปรเจ็คนี้ต้องสำเร็จ ต้องสร้างกำไร ต้องทำรายได้เสมอไป

SCB 10X ถูกตั้งขึ้นมาด้วยวิธีคิดดังกล่าว เป้าหมายคือเป็นหน่วยงานที่จะให้ทีมงานได้บุกเบิก ได้ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายคือสร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic product) ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกและพลิกโฉม SCB จนกลายเป็น new bank ในอนาคต


SCB 10X ไม่ใช่เพียงหน่วยงานใหม่หรือวิสัยทัศน์ของคุณอาทิตย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักของ SCB ระบุเอาไว้ในเอกสารรายงานประจำปี ที่บริษัทจะมองหาโมเดลทางธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าในทุกเซกเมนต์ด้วย ดังนั้นอาจเรียกได้ว่า SCB 10X แบกภารกิจสำคัญขาหนึ่งของ SCB เอาไว้บนบ่าก็ว่าได้

หน่วยงานใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ


ความแตกต่างและความโดดเด่นของ SCB 10X คือการเป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาอิสระ (แต่ยังอยู่ภายใต้ SCB ไม่ได้แยกเป็นบริษัทลูกเหมือนกับ Digital Ventures หรือ SCB Abacus) โครงการ SCB10X จะรายงานตรงกับ คุณอาทิตย์ ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน SCB 10X มี คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร และคุณหนึ่ง ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล เป็นผู้บริหารในฐานะ Head of SCB 10X Project ที่กำลังมองหาทีมงานนักพัฒนามาร่วมสร้างสรรค์งานด้วยกัน

โครงสร้างนี้ทำให้ SCB 10X มีวัฒนธรรมที่ฉีกกรอบออกจากธนาคารแบบเดิมๆ มีความคล้ายสตาร์ทอัพ การทำงานมีความคล่องตัวสูง สามารถตัดสินใจและจบได้ในตัวเอง


ด้วยเป้าหมายของ SCB 10X คือสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะพลิกโฉมการให้บริการของธนาคาร ดังนั้นการทำงานที่ SCB 10X จะเต็มไปด้วยความท้าทาย ได้ลองอะไรใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูก โดยมีทรัพยากร ทุนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของ SCB หนุนหลังอยู่ สามารถเริ่มงานได้เลยทันที ไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ และด้วยความที่เป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งตั้ง พนักงานที่เข้ามาก็จะมาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันด้วย

SCB 10X อยากได้คนแบบไหนมาร่วมงานด้วย


SCB 10X อยากได้คนที่มีมายด์เซ็ตที่ยืนอยู่ข้างลูกค้าธนาคาร ที่ต้องการจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา pain point ที่ลูกค้าธนาคารกำลังประสบในขณะนี้ รวมถึงต้องเป็นคนที่อยากทำงานแนวสตาร์ทอัพ อยากทดลองทำของใหม่ๆ ในองค์กรใหญ่ๆ ที่ทรัพยากรพร้อม มีความกล้าจะลองผิดลองถูก ชอบความท้าทาย ที่สำคัญคือมีประสบการณ์ในการทำงานสายนักพัฒนามาก่อนระดับหนึ่ง โดยจะเป็นสายงานไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องธนาคาร


คุณต้อง Head of SCB 10X บอกด้วยว่าการเข้ามาทำงานใน SCB 10X ไม่ใช่การเข้ามาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ให้คิดว่าเป็นเหมือน career jump เพราะค่าตอบแทนค่อนข้างดี โดยสัญญาจะเป็นลักษณะสัญญาจ้างที่ต่อทุกๆ 2 ปี

ที่อยู่ออฟฟิศ

สำนักงานของ SCB 10X จะอยู่ที่เดียวกับสำนักงานใหญ่ของ SCB คืออาคาร SCB Park Plaza รัชโยธิน โดยมีตึกและออฟฟิศแยกเป็นของตัวเอง


ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Waymo ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับเกิน 10 ล้านไมล์ เตรียมปรับปรุงให้รถขับนุ่มขึ้น

Waymo เผยว่าทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนถนนจริงไปแล้ว 10 ล้านไมล์ เพิ่มจาก 8 ล้านไมล์ในเดือนกรกฎาคม ส่วนการทดสอบแบบ simulation จะครบ 7 พันล้านไมล์ภายในเดือนนี้

Waymo ยังทดสอบบริการเรียกรถยนต์ไร้คนขับในเมือง Phoenix รัฐแอริโซนา และระบุว่ามีผู้ร่วมทดสอบแบบ early riders จำนวน 400 คน

Waymo บอกว่าพื้นฐานสำคัญของบริษัทคือ "ความปลอดภัย" (safety) แต่หลังจากผ่านระยะ 10 ล้านไมล์ ก็ได้เวลาไปมองถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ขยายความสามารถของระบบรถยนต์ไร้คนขับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมยากๆ อย่างฝนตกหนักหรือหิมะตก, ปรับการขับขี่ให้นุ่นนวลขึ้น, ปรับอัลกอริทึมเส้นทางให้ส่งคนแล้วเดินใกล้กว่าของเดิม ที่เน้นความปลอดภัยเหนือความสะดวก

อย่างไรก็ตาม Waymo ไม่ได้ระบุว่าจะเปิดบริการเรียกรถยนต์ไร้คนขับเมื่อใด จากที่เคยประกาศไว้กว้างๆ ว่าภายในปีนี้


ที่มา: Blognone

Google Chromecast 3 มาแล้ว ทำงานได้เร็วขึ้น ในราคาที่ไม่เพิ่มขึ้น!


Google เปิดตัวและวางจำหน่าย Chromecast 3 แล้วโดยมีรูปร่างหน้าตาคล้ายของเดิม แต่เปลี่ยนโลโก้จากโลโก้ของ Google Chrome มาเป็นโลโก้ตัว G ของ Google ชูจุดขายทำงานเร็วขึ้นกว่ารุ่นเก่าถึง 15% ในขณะที่ราคาเท่าเดิม


โดยตัวนี้จะรองรับภาพ HD 1080p แบบ 60fps ด้วย แต่สำหรับผู้ที่ต้องการรองรับ 4K นั้นต้องขออภัยด้วย ยังไม่รองรับ ต้องไปซื้อรุ่น Chromecast Ultra เหมือนเดิม

ปัจจุบัน Chromecast 3 ยังไม่ได้วางจำหน่ายในประเทศไทยหรือสามารถสั่งซื้อจากไทยได้ แต่คาดว่าอีกไม่นาน AIS ก็น่าจะนำมาขายครับ

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เตรียมนั่งหลับในรถ Volvo จับมือ NVIDIA พัฒนารถอัตโนมัติระดับ 4 คาดวางตลาดได้จริงปี 2021

NVIDIA, Volvo, และ Zenuity ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาระบบช่วยขับที่จะทำให้รถเป็นรถอัตโนมัติระดับ 4 และพร้อมวางขายจริงในปี 2021
 
รถอัตโนมัติระดับ 4 เป็นระดับที่คนขับไม่จำเป็นต้องสนใจการขับขี่อีกต่อไป (mind off) โดยระบบอัตโนมัติสามารถทำงานได้จำกัด เช่น บนทางหลวง, พื้นที่ที่กำหนด, หรือสภาพจราจรบางอย่าง เช่น รถติด โดยหากสภาพแวดล้อมไม่ตรงเงื่อนไขตัวรถจะสามารถเรียกคนขับให้กลับมาควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย
 
Zenuity เป็นบริษัทพัฒนาระบบช่วบขับขี่ ที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาประกาศความร่วมมือกับบริษัทรถ Geely จากจีน เพื่อพัฒนารถอัตโนมัติระดับ 3 (คนขับเตรียมเข้าควบคุมรถในเวลาอันสั้น) โดยเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Volvo จะ Autoliv เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับรถอัตโนมัติ
 
การพัฒนาร่วมกับ Volvo ในครั้งนี้จะใช้แพลตฟอร์ม NVIDIA DRIVE PX และใช้โมเดล deep learning เพื่อการจดจำวัตถุรอบตัวรถ ต่อภาพจากกล้องหลายตัวให้กลายเป็นมุมมอง 360 องศารอบตัว ซอฟต์แวร์ในโครงการนี้เมื่อพัฒนาสำเร็จแล้วจะใช้ในรถ Volvo และขายให้กับบริษัทรถอื่นผ่านทาง Autoliv ต่อไป
 
 
ที่มา: Blognone

อย่าแปลกใจ! เพราะเหล่าผู้บริหาร Google ก็เลิกใช้ Google+ กันมาระยะหนึ่งแล้ว

อย่างที่ทราบกันแล้วว่า Google+ บริการโซเชียลของกูเกิล ที่เคยหมายมั่นปั้นมาเป็น Social Network ตัวใหม่ ได้ประกาศปิดตัวในปีหน้า สิ่งน่าสนใจคือหลายคนก็ยังใช้งาน Google+ อยู่ เพียงแต่เมื่อไปดูผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล ... พวกเขาเลิกใช้มาระยะหนึ่งแล้ว

Business Insider รวบรวม Google+ ของผู้บริหารระดับสูงในกูเกิล พบว่าทุกคนเลิกใช้ Google+ (โพสต์แบบสาธารณะ) มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว
  • Larry Page ผู้ก่อตั้งกูเกิล และซีอีโอ Alphabet โพสต์ครั้งสุดท้าย สิงหาคม 2015 ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะตอนนี้เขาเลือกหายไปจากสื่อทั้งหมด
  • Sundar Pichai ซีอีโอกูเกิล โพสต์ครั้งสุดท้าย มีนาคม 2016
  • Eric Schmidt อดีตซีอีโอกูเกิล และประธานบอร์ด โพสต์ครั้งสุดท้าย กุมภาพันธ์ 2017
  • Sergey Brin ผู้ก่อตั้งกูเกิล โพสต์ครั้งสุดท้าย กันยายน 2017
ก็พอสรุปได้ว่า แม้แต่ผู้บริหารกูเกิลเอง ก็ไม่ได้แตะ Google+ กันมาร่วมหนึ่งปีแล้ว

ที่มา: Blognone

AMD เตรียมเปิดตัว CPU สองรุ่นใหม่ของ Threadripper ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ มาพร้อมกับ 12 และ 24 Core


AMD เตรียมเปิดตัว CPU สองรุ่นใหม่ของ Threadripper อย่างรุ่น 2920X 12-Core และรุ่น 2970WX 24-Core สนนราคาขายอยู่ที่ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 21,000 บาท) และ 1,299 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 42,000 บาท) ตามลำดับ พร้อมยลโฉมแก่ผู้ใช้ทั่วไปในวันที่ 29 ตุลาคมนี้


สำหรับรุ่น 2920X นั้นเป็นรุ่นที่ลดสเปคลงมาจาก 2950X 12-Core เล็กน้อย ซึ่งใช้ความเร็วเท่ากันที่ 3.5GHz, แคช Level 3 ขนาด 32 MB, อัตราการใช้พลังงานสูงสุด 180W แต่ต่างกันตรงที่โหมด Boost นั้นจะมีความเร็วที่ 4.3GHz (ซี่ง 2950X มีความเร็วสูงกว่าที่ 4.4Ghz นั่นเอง) ส่วนรุ่น 2970WX นั้นเป็นรุ่นที่ลดสเปคลงมาจากรุ่นเรือธง 2990WX ขนาด 32-Core ให้ความเร็วที่ 3GHz เร่งสปีดได้สูงสุดถึง 4.2 GHz, แคช Level 3 ขนาด 32 MB, อัตราการใช้พลังงานสูงสุด 250W

นอกจากนี้ AMD เตรียมจะเปิดตัวซอฟต์แวร์อย่าง Dynamic Local Mode เพื่อทำให้การโอนถ่ายข้อมูลจาก Thread หรือ Core ของ CPU ไปยังหน่วยความจำภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใช้ CPU ซีรี่ส์ WX เป็นอย่างยิ่ง พร้อมให้ผู้ใช้อัปเดตได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

ที่มา: Beartai 

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561

GitHub ออกเครื่องมือเชื่อมต่อกับ Jira ใหม่ ทำงานข้ามระบบได้สะดวกขึ้น


GitHub ประกาศพัฒนาเครื่องมือเพื่อการเชื่อมต่อกับเครื่องมือติดตามบั๊กและจัดการโครงการ Jira ใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้ที่เก็บโค้ดไว้บนระบบ GitHub สามารถเชื่อมต่อโปรเจคเข้ากับ Jira Software Cloud ได้โดยตรง ทำงานข้ามระบบกันได้สะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อเชื่อมต่อ GitHub เข้ากับ Jira แล้ว ก็จะเห็น branch, commit message, pull request และอื่นๆ บน Jira โดยไม่ต้องสลับการใช้งานไปมา ซึ่งระบบเชื่อมต่อกับ Jira แต่เดิมนั้นเป็นระบบที่ค่อนข้างช้า GitHub จึงพัฒนาใหม่ให้เร็วขึ้นและอินทิเกรตกับระบบของ Jira ได้ดีขึ้น ส่วนระบบเชื่อมต่อ GitHub กับ Jira เดิมจะเข้าสู่สถานะ deprecated เพื่อให้ผู้ใช้มาใช้ระบบใหม่นี้

สำหรับระบบเชื่อมต่อ GitHub กับ Jira สามารถเข้าไปดูได้ที่ GitHub Marketplace

ที่มา: Blognone

ไม่ต้องงงแล้ว ชื่อ Wi-Fi เตรียมปรับให้ง่ายขึ้นด้วยตัวเลข ซึ่งมาตรฐานต่อไปคือ Wi-Fi 6 (802.11ax)

หนึ่งในความงงงวยของผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ต้องอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีคือเจ้าชื่อมาตรฐาน Wi-Fi นี่แหละครับ 802.11n กับ 802.11ac อะไรมันดีกว่ากัน หรือ Wi-Fi G กับ Wi-Fi N ควรจะใช้อะไรดี ซึ่งในที่สุด Wi-Fi Alliance องค์กรที่กำหนดมาตรฐานไวไฟก็รู้ปัญหานี้ และเตรียมปรับรูปแบบเรียกชื่อไวไฟให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยตัวเลข (สักทีเถอะ)

โดยมาตรฐานไวไฟที่ผ่านจะเทียบเวอร์ชั่นตัวเลขดังต่อไปนี้
  • 802.11b (1999) → Wi-Fi 1
  • 802.11a (1999) → Wi-Fi 2
  • 802.11g (2003) → Wi-Fi 3
  • 802.11n (2009) → Wi-Fi 4
  • 802.11ac (2014) → Wi-Fi 5 (มาตรฐานล่าสุดที่ใช้ตอนนี้)
และมาตรฐานไวไฟในยุคต่อไปคือ 802.11ax จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Wi-Fi 6 เช่นกัน ซึ่ง 802.11ax จะสามารถส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นขึ้นแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดเช่นสนามกีฬา รองรับผู้ใช้งานมาก และที่สำคัญประหยัดไฟยิ่งขึ้น สำหรับการใช้งานในเชิง IoT

ซึ่งการเปลี่ยนชื่อให้กลายเป็นตัวเลขก็ทำให้ผู้ใช้เข้าใจง่ายขึ้น ทั้งการซื้ออุปกรณ์ใหม่ ที่อุปกรณ์ในเลขสูงกว่าย่อมดีกว่าอุปกรณ์ในเลขต่ำกว่าแน่ๆ หรือในการเชื่อมต่อเครือข่าย หากระบบแสดงโลโก้เป็นตัวเลขด้วยเลย ผู้ใช้ก็จะเลือกง่ายขึ้นว่าควรเชื่อมต่อไวไฟวงไหนถึงจะมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน

แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่าการแสดงมาตรฐานเป็นตัวเลขนั้นจะเริ่มใช้เมื่อไหร่ และโลโก้จริงๆ จะหน้าตาเป็นอย่างไร ตอนนี้เรารู้แค่ว่า Netgear เอาด้วยกับการกำหนดชื่อนี้แล้ว ซึ่งรายอื่นๆ ก็น่าจะตามมาในภายหลังครับ

ที่มา: Beartai