วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ย้อนประวัติความสำเร็จ VS Code เกิดจากโครงการ Editor บนเว็บที่ล้มเหลวมาก่อน

Erich Gamma หนึ่งในผู้นำทีมพัฒนา Visual Studio Code เล่าความหลัง 10 ปีว่าความสำเร็จของ VS Code ที่เราเห็นในปัจจุบัน เกิดจากความล้มเหลวของโครงการก่อนหน้านี้คือ Visual Studio Online ที่เป็น code editor บนเบราว์เซอร์

ตัวของ Gamma เองเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Design Patterns เคยเป็นพนักงานของ IBM ที่ดูแลโครงการ Eclipse ก่อนย้ายมาอยู่ไมโครซอฟท์ในปี 2011 เขาเล่าว่าเป้าหมายตอนแรกคือสร้าง code editor บนเว็บเบราว์เซอร์ในชื่อโค้ดเนม "Monaco" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือชื่อ Visual Studio Online ที่เปิดตัวในปี 2013 (ปัจจุบันถูกรีแบรนด์เป็น Azure DevOps)

ภาพการเปิดตัว VS Code ต่อสาธารณะครั้งแรกในปี 2015

ไอเดียที่น่าสนใจและกลายมาเป็นจุดเด่นของ VS Code ในภายหลังคือ Monaco เลือกไม่ใช้ UI Framework ใดๆ เลย เขียนเองทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าเน้นประสิทธิภาพมาตั้งแต่ต้น จึงต้องการกำหนดชีวิตเอง ไม่พึ่งพา UI Framework เพราะควบคุมประสิทธิภาพโดยตรงไม่ได้

Visual Studio Online ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีผู้ใช้ต่อเดือนจำนวนหลายพันคน แต่ตัวเลขแค่นี้ถือว่าน้อยมากสำหรับบริษัทขนาดไมโครซอฟท์ ที่ต้องการยอดผู้ใช้เยอะกว่านี้ระดับ 10 เท่าตัว

ในปี 2014 ทางทีมของ Gamma จึงปรับทิศทางโครงการใหม่ (pivot) มาเป็น Project Ticino (โค้ดเนมในตอนนั้น) เป็นเครื่องมือพัฒนาแบบข้ามแพลตฟอร์ม ทำงานบน OSX และ Linux ได้ เน้นการแก้โค้ด Node.js และ .NET เป็นสำคัญ

VS Code ถูกวางตัวอยู่ตรงกลางระหว่าง editor แบบดั้งเดิม และ IDE เต็มรูปแบบ ช่วงนั้นมีกระแส Electron เกิดขึ้นพอดี การที่ Monaco เขียนขึ้นเป็นเว็บอยู่แล้ว นำมารันบน Electron ได้ไม่ยาก

ทีมของ Gamma ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี พัฒนา Monaco มาเป็น Ticino และเปิดตัวในงาน Build 2015 โดยโชว์เดโมการเขียน .NET บนลินุกซ์ เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากในตอนนั้น

ก้าวถัดมาของ VS Code เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2015 มีตั้งแต่การโอเพนซอร์สบน GitHub และการรองรับส่วนขยาย (extension)

Gamma เล่าว่าเขามีประสบการณ์จาก Eclipse ที่มีส่วนขยายจำนวนมาก แต่แนวคิดของ VS Code คือ "ต้องเซฟงานได้เสมอ" ถ้าส่วนขยายมีผลต่อโปรแกรมหลักจนแครช เสียงานที่ยังไม่ได้เซฟไป ก็ถือว่าไม่ดี ดังนั้น VS Code จึงออกแบบส่วนขยายให้รันคนละโพรเซสกับโปรแกรมหลัก และคุยกันผ่าน RPC แทน

อีกปัจจัยที่ทำให้ VS Code ประสบความสำเร็จคือโครงการ TypeScript ที่ไมโครซอฟท์เริ่มพัฒนาในช่วงไล่เลี่ยกัน (เริ่มปี 2010) ทำให้การพัฒนา VS Code ง่ายขึ้นมาก ช่วงแรก VS Code ยังสร้างด้วย JavaScript เป็นหลัก แต่พอถึงปี 2013 โค้ดทั้งหมดกลายเป็น TypeScript เรียบร้อยแล้ว

ปี 2016 เป็นจุดเริ่มต้นของฟีเจอร์สำคัญอีกอย่างคือ Language Server Protocol (LSP) ที่ช่วยให้ VS Code รองรับภาษาโปรแกรมได้เป็นจำนวนมาก ผ่านการสร้าง Language Server โดยชุมชน ไมโครซอฟท์ไม่ต้องทำเองทั้งหมด แค่ดีไซน์ตัวโพรโทคอล LSP ขึ้นมาให้เป็นมาตรฐานเท่านั้น

ทีมของ Gamma ที่เริ่มพัฒนา VS Code อยู่ที่เมืองซูริกในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เมื่อกระแส VS Code เริ่มจุดติดในปี 2016 ไมโครซอฟท์ก็เพิ่มอีกทีมที่สำนักงานใหญ่ใน Redmond โดยผลงานแรกของทีมนี้คือการสร้าง terminal ขึ้นมาภายในตัว VS Code เอง (xterm.js)

ช่วงปี 2017-2019 เป็นความพยายามผลักดัน VS Code ให้ทำงานได้ทุกที่ เริ่มมีแนวคิดของการทำงานรีโมทเข้ามา (เขียนบนเครื่อง รันบนอีกเครื่อง) แนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมเมื่อเกิดกระแส container และไมโครซอฟท์เองมีลินุกซ์ WSL รันอยู่ในวินโดวส์

ปี 2020 เป็นการนำ VS Code กลับมาสู่รากเหง้าคือเว็บอีกครั้ง เป้าหมายคือการใช้งานกับ GitHub Codespaces ที่สามารถกดแก้โค้ดได้จากหน้าเว็บ GitHub แล้วสั่งคอมไพล์ได้เลย

Gamma เล่าว่าการที่ VS Code รันบน Electron อยู่ก่อน ต่างจากเบราว์เซอร์อยู่บ้าง จึงต้องปรับโค้ดข้างใต้ใหม่ให้เป็นเวอร์ชันเดียวที่รันได้ทั้งบน Electron และเบราว์เซอร์

ปัจจุบัน VS Code มีผู้ใช้ 14 ล้านคนต่อเดือน ส่วนขยาย 28,000 ตัว, รองรับ LSP 138 ตัว และมี Debug Adaptor Protocol (DAP) สำหรับเชื่อมต่อ debugger ลักษณะเดียวกับการเปิด LSP ให้เชื่อมต่อภาษาด้วย

แนวทางการพัฒนา VS Code คือออกรุ่นใหม่ทุกเดือน ประกาศแผนต่อสาธารณะบน GitHub การออกรุ่นใหม่ทุกเดือนทำให้ทีมงานต้องขยันปรับแก้โค้ดให้ดี ช่วยลดหนี้ทางเทคนิค (technical debt) ลงได้ตลอดเวลา ฟังเสียงของผู้ใช้ และยังคงแนวคิดดั้งเดิม "โฟกัสที่ประสิทธิภาพ"

แผนการในอนาคตของ VS Code จะทำ 3 เรื่องคือ

  • testing หลังจากรองรับ debugging แล้ว ขั้นต่อไปคือรองรับการรันเทสต์ในตัว (หน้าจอตามภาพ)
  • รองรับ Jupyter Notebooks ในตัว editor ของ VS Code
  • ปรับปรุงการทำงานบน Codespaces ต่อไป

แผนการทั้งหมดสามารถดูได้จาก Roadmap บน GitHub

Gamme สรุปบทเรียนความสำเร็จของ VS Code ว่าต้องอดทน สม่ำเสมอ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน

ใครเป็นผู้ใช้ VS Code แนะนำให้ชมคลิปเต็ม ความยาวประมาณ 30 นาที (แต่ Gamma พูดเร็ว เข้าประเด็น ไม่ยืดเยื้อ)

ที่มา: Blognone

Glassdoor จัดอันดับงานประจำปี 2020 Java เป็นที่ต้องการและรายได้สูงสุดในสหรัฐ

Glassdoor เว็บไซต์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างพนักงานบริษัท จัดอันดับสายงานยอดนิยมโดยใช้เรตติ้งจากกลุ่มผู้ใช้โดยชั่งน้ำหนักปัจจัย 3 อย่าง คือ ศักยภาพในการสร้างรายได้, คะแนนความพึงพอใจในงานโดยรวม และจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับ พบว่า คนทำ Java ได้อันดับดีที่สุด ด้วยรายได้ 90,830 ดอลลาร์ คะแนนความพึงพอใจในงานที่ 4.2 จาก 5 และจำนวนตำแหน่งที่เปิดรับมากที่สุดคือ 10,103 ตำแหน่ง

การที่ Java ได้รับความนิยมสูงสุดนั้นไม่น่าแปลกใจนัก เพราะ Java เป็นภาษาที่ใช้งานได้หลายแพลตฟอร์ม และเป็นภาษาในโครงสร้างพื้นฐานของหลายๆ บริษัท

Glassdoor จัดอันดับไว้ถึง 50 รายการ ซึ่งใน 25 อันดับแรก เป็นงานไอทีโดยตรงถึง 15 งาน โดยอันดับที่ 2 คือ Data Scientist ตามมาด้วย Product Manager, Enterprise Architect, DevOps Engineer, Information Security Engineer, Business Development Manager, Mobile Engineer, Software Engineer และอันดับ 10 คือ หมอฟัน

ที่มา: Blognone

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

Your Phone อัปเกรด สามารถรันแอป Android ได้พร้อมกันหลายตัวบน Windows

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Microsoft ได้ปล่อยอัปเดตแอป Your Phone ใน Microsoft Store บน Windows 10 โดยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ใช้สามารถรันแอป Android ได้หลายแอปพร้อมๆ กัน เมื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่รองรับ หลังจากที่เปิดใช้งานไปเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับการรองรับการใช้งานแอปเพียงทีละ 1 แอป เท่านั้น


ในการใช้งาน ผู้ใช้ต้องใช้งาน Windows 10 เวอร์ชันอัปเดตเดือนพฤษภาคม 2020 และแอป Your Phone เวอร์ชัน 1.20102.132 พร้อมเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานที่ติดตั้งแอป Link to Windows เวอร์ชัน 1.20102.133.0 โดยส่วนใหญ่จะเป็นสมาร์ตโฟน Samsung Galaxy สามารถดูรายชื่ออุปกรณ์รองรับได้ที่นี่

แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้อุปกรณ์รุ่นอื่นๆ ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับ Microsoft ที่ได้เกริ่นมาก่อนหน้านี้ว่ากำลังพัฒนา “Project Latte” ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถติดตั้งแอป Android ลงบน Windows 10 ได้โดยตรง

ที่มา: Beartai

Motorola โชว์ของชาร์จไร้สายทางไกลให้ดูตัวจริงเสียงจริง แท่นชาร์จไม่ต้อง

เมื่อวานนี้ Xiaomi ได้โชว์ถึงคอนเซ็ปต์ Mi Air Charge เทคโนโลยีที่จะมาช่วยผู้ใช้ในด้านการชาร์จอุปกรณ์ให้สามารถชาร์จได้โดยไม่ต้องแตะหรือวางตัวเครื่องไว้กับแท่นชาร์จ เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานสามารถชาร์จผ่านอากาศได้เลยโดยตรง แต่ล่าสุด Motorola ก็ขอโชว์ของเช่นกัน โพสต์คลิปเดโมการใช้งานการชาร์จไร้สายทางไกล Motorola Edge


จากในคลิปวิดีโอจะเป็นการสาธิตการใช้งานของฟีเจอร์การชาร์จไร้สายทางไกลนี้บน Motorola Edge โดยสามารถชาร์จ 2 เครื่องใน 2 ระยะทาง 80 ซม. และ 1 เมตร ได้ แต่จะสังเกตได้ว่าเมื่อนำมือไปบังเซนเซอร์หรือเสาปล่อยสัญญาณด้านหลังนั้นจะหยุดชาร์จทันที


ทั้งนี้ Chen Jin ผู้จัดการทั่วไปของ Lenovo ประเทศจีนได้ให้เหตุผลว่า “เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพของผู้ใช้งาน ระบบจะหยุดชาร์จทันทีเมื่อตรวจสอบได้ว่ามีส่วนของร่างกายมนุษย์มาบังเซนเซอร์” ต่างจากของ Xiaomi Mi Air Charge ที่ระบุว่าถึงจะมีสิ่งกีดขวางมากั้นก็ยังสามารถทำงานได้เช่นเดิม

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงเป็นเพียงคอนเซ็ปต์เท่านั้น ยังไม่มีท่าทีว่าจะปล่อยมาเมื่อไร แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไป เทคโนโลยีชาร์จไร้สายทางไกลนี้ เราจะได้เห็นบนอุปกรณ์อะไรบ้าง และจะเปิดตัวและวางจำหน่ายหรือไม่

ที่มา: Beartai

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

Tesla เปิดตัว Model S และ X ใหม่ มีรุ่นย่อย Plaid ทะยาน 0-100 กม./ชม. ใน 2 วินาที ออกแบบภายในใหม่หมด

วันนี้ Tesla ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model S และ Model X รุ่นใหม่ ที่หน้าตาภายนอกยังคงคล้ายเดิมอยู่มาก แต่ภายในถูกยกเครื่องใหม่ทั้งหมดจนไม่เหลือเค้าเดิม รวมถึงเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Plaid และ Plaid+ ที่โฆษณาว่าเป็นรถที่มีผลิตขายจริงรุ่นแรกที่ทำความเร็ว 0-60 ไมล์ต่อชั่วโมงได้ใน 2 วินาที

เริ่มที่ Model S กันก่อน ขณะนี้ Tesla มี Model S จำหน่ายเพียง 3 รุ่นย่อยเท่านั้น คือ Long Range, Plaid และ Plaid+ เพื่อให้ผลิตง่ายที่สุด โดย Long Range ราคาเริ่มต้น 79,990 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.4 ล้านบาท เร่งจาก 0-96 กม./ชม. ใน 3.1 วินาที วิ่งได้ระยะทาง 663 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม.

ในขณะที่รุ่น Plaid (แปลว่าลายตาราง แต่ Tesla น่าจะหมายถึงธงลายหมากรุกที่ใช้ในสนามแข่ง) มีพละกำลังถึง 1,020 แรงม้า ทำความเร็วจาก 0-96 กม./ชม. ได้ใน 1.99 วินาที หรือหากเป็น 0-100 กม./ชม. ก็คงอยู่ราว 2 วินาที ความเร็วสูงสุด 321 กม./ชม. วิ่งได้ระยะทาง 627 กิโลเมตร โดยสิ่งที่ทำให้ทำความเร็วได้หลุดโลกขนาดนี้คงมาจากการเพิ่มมอเตอร์จาก 2 ตัวในรุ่นธรรมดา เป็น 3 ตัว ราคาเริ่มต้น 119,990 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 ล้านบาท

สุดท้ายคือรุ่น Plaid+ ที่ถือว่าสเปกสุดโต่งมาก มาพร้อมพละกำลังมากกว่า 1,100 แรงม้า เร่งจาก 0-96 กม./ชม. ได้ "น้อยกว่า" 1.99 วินาที แต่กลับทำระยะทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้งได้มากกว่า 836 กิโลเมตร สูงกว่ารุ่น Long Range เสียด้วยซ้ำ จึงน่าสังเกตว่า Tesla ได้ปรับปรุงแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงพิเศษสำหรับรถรุ่นนี้โดยเฉพาะหรือไม่ วางจำหน่ายที่ราคาเริ่มต้น 4.2 ล้านบาท

นอกจากเรื่องประสิทธิภาพ Tesla ยังออกแบบภายในของ Model S ใหม่หมด โดยรวมดูหรูหราและเป็นมิตรมากขึ้น ลดเส้นสายฉูดฉาดลง มินิมอลคล้ายๆ Model 3 หน้าจอขนาด 17 นิ้วถูกปรับจากแนวตั้งเป็นแนวนอน


ส่วนที่เปลี่ยนมากที่สุดคือพวงมาลัย เพราะกลายเป็นพวงมาลัยแบบไม่เต็มวง หรือ Yoke Steering คล้ายรถแข่ง F1 อย่างไรก็ตามมีสื่อต่างประเทศบางสำนักตั้งข้อสังเกตว่า Tesla ไม่น่าจะใช้พวงมาลัยแบบนี้จริงๆ เพราะไม่ค่อยถนัดในการใช้งานจริง

สำหรับผู้โดยสารตอนหลังก็มีจอขนาด 8 นิ้วไว้เพื่อความบันเทิง โดย Tesla ระบุว่าชิปประมวลผลขนาด 10 เทราฟลอปส์สามารถเล่นเกม The Witcher 3 และ Cyberpunk 2077 ได้ด้วย (รถ Tesla สามารถต่อจอยไร้สายเล่นเกมได้อยู่แล้ว)

รถที่ถูกปรับปรุงใหม่อีกรุ่นคือ Model X โดยมีรุ่นย่อย 2 รุ่นคือ Long Range กับ Plaid (ไม่มี Plaid+) ซึ่งรุ่น Plaid ของ Model X นั้นทำความเร็วจาก 0-96 กม./ชม. ได้ภายใน 2.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 262 กม./ชม. และวิ่งได้ระยะทาง 547 กิโลเมตร ราคาเริ่มต้น 119,990 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 ล้านบาท เท่ากับ Model S

ส่วนภายในของ Model X ก็เหมือน Model S แทบทุกจุด เพียงแต่สามารถเลือกที่นั่งแบบ 5, 6 หรือ 7 ที่นั่งก็ได้

Tesla Model S รุ่น Long Range และ Plaid จะเริ่มส่งมอบในเดือนมีนาคม และ Plaid+ จะมาช่วงปลายปีนี้ ส่วน Model X ทั้งสองรุ่นย่อยจะเริ่มส่งมอบในเดือนเมษายน

ที่มา: Blognone

ประสบความสำเร็จ ยอดขาย Mac เพิ่มขึ้นกว่า 31% หลัง Apple เปิดตัว M1

Gartner รายงานว่ายอดขาย Mac ทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 นั้นเพิ่มขึ้นมหาศาล หลังจาก Apple เปิดตัวชิปใหม่อย่าง Apple M1 โดย Apple ขาย Mac ไปได้ทั้งสิ้นรวม 6.9 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจาก 5.25 ล้านเครื่องในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นถึง 31.3% เลยทีเดียว

แม้ว่ายอดขายของ Mac จะเพิ่มขึ้นจริง แต่ Lenovo ยังคงครองยอดขาย PC อันดับหนึ่งของโลก ด้วยยอดขายรวมทั้งหมด 21.49 ล้านเครื่อง ตามด้วย HP และ Dell ด้วยยอดขาย 15.68 และ 13.19 ล้านเครื่องตามลำดับ Apple ยังอยู่อันดับ 4 อยู่ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 7.3% เป็น 8.7%

ในสหรัฐอเมริกานั้น Apple เป็นผู้จำหน่าย PC อันดับ 4 เช่นเดียวกับตัวเลขในระดับโลก มีการจัดส่ง PC จำนวน 2.7 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านเครื่องในปี 2019 ถือว่าเติบโตขึ้น 32% ส่วน HP, Dell, Lenovo และ Microsoft มีการเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็น่าจะมีผลมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ด้วย

IDC ยังเผยตัวเลขที่สอดคล้องกันว่า Apple ขาย Mac ได้ประมาณ 7.4 ล้านเครื่องเพิ่มขึ้นจาก 4.9 ล้านเครื่องในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เติบโตขึ้น 49.2% ในปี 2020 อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าตัวเลขจาก Gartner และ IDC นั้นเป็นการเก็บข้อมูลมาอีกที ไม่ใช่ตัวเลขที่แน่นอน ตัวเลขที่แน่นอนนั้นมีเพียง Apple เท่านั้นที่ทราบครับ

ที่มา: Beartai

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

ชาว Apple Watch ในไทยเฮ!! เตรียมใช้ฟีเจอร์ ECG ได้แล้วใน watchOS 7.3

วันนี้ Apple ได้ประกาศได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทยแล้ว โดยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ประเภท Class I พร้อมปล่อยอัปเดต watchOS 7.3 รุ่น Release Candidate แล้ว แต่ครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งอื่นๆ กลายเป็นที่ฮือฮาสำหรับชาว Apple Watch ในประเทศไทย ที่จะสามารถใช้ฟีเจอร์ ECG หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีมานานตั้งแต่ Apple Watch Series 4 ได้แล้ว


ใน watchOS 7.3 ที่เตรียมปล่อยอัปเดตนี้ ผู้ใช้ชาวไทยจะสามารถใช้ฟีเจอร์ ECG ที่ทุกคนต่างรอคอยบน Apple Watch Series 4 ขึ้นไป (ยกเว้น Apple Watch SE) และการแจ้งเตือนหากหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AFib) โดยครั้งนี้ประเทศไทยก็อยู่ในลิสต์สำหรับ 2 ฟีเจอร์นี้ด้วย ฟีเจอร์ต่างๆ เหล่านี้ ต่างให้ข้อมูลสำคัญให้กับแพทย์ได้

โดยในเวอร์ชันนี้เป็นเพียงเวอร์ชัน Release Candidate สำหรับนักพัฒนาก่อนการอัปเดตเท่านั้น นั่นหมายความว่าเราจะได้อัปเดตกันในไม่ช้านี้แล้ว


ที่มา: Beartai

ญี่ปุ่นเจ๋ง! พัฒนาระบบ AI จดจำใบหน้าแม้จะสวมใส่หน้ากากอนามัย

ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 นี้เป็นที่แน่นอนว่าทุกคนจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่กำลังระบาด แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือในขณะที่สวมใส่หน้ากากอนามัยนั้น เราจะไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นใคร ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมได้ หรือหากต้องถอดหน้ากากอนามัยเพื่อยืนยันตัวตนก็อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น

ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้เกิดนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท NEC จากประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า NeoFace Live Facial Recognition ซึ่งเป็นอัลกอริทึมที่ทำให้สามารถยืนยันตัวตนได้แม้ว่าจะใส่หน้ากากอนามัยก็ตาม โดยระบบการทำงานของเจ้าตัวอัลกอริทึมนี้จะสแกนในส่วนของใบหน้าที่ไม่ได้ถูกปกปิด และจากการคิดค้นพัฒนาจนได้ระบบที่มีประสิทธิภาพนั้นจึงทำให้การยืนยันตัวตนของ NeoFace Live Facial Recognition ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งวินาที โดยมีอัตราความแม่นยำมากกว่า 99.99% เลยทีเดียว


โดยตำรวจนครบาลของญี่ปุ่นได้เป็นกลุ่มผู้ทดลองใช้ระบบของ NEC เพื่อการเปรียบเทียบใบหน้าในฝูงชน นอกจากนี้สายการบินลุฟต์ฮันซา (lufthansa) และสวิสอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์ (Swiss International Air Lines) ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าของ NEC ด้วย และ NEC ยังได้ทดลองใช้ระบบสำหรับการชำระเงินอัตโนมัติที่ร้านค้าในสำนักงานใหญ่ในโตเกียวอีกด้วย


Shinya Takashima ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกแพลตฟอร์มดิจิทัลของ NEC ได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ระบบดังกล่าวจะทำให้ผู้คนสามารถเลี่ยงการสัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ ได้ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้คนได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้คนเกิดข้อกังวลว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่ โดยมีข้อพิพาทในกรณีที่กองกำลังตำรวจชาวเวลล์นำไปใช้ในทางมิชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งคดีดังกล่าวถูกนำทีมโดยนักรณรงค์เพื่อสิทธิพลเมือง นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon และ IBM ได้ถูกระงับการใช้ระบบจดจำใบหน้าโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาทางด้านกฏหมายอีกทีหนึ่ง

ที่มา: Beartai

เปิดตัว Raspberry Pi Pico บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาดจิ๋ว ราคา 150 บาท

Raspberry Pi เปิดตัว Pico บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาดจิ๋ว รันด้วยชิป RP2040 ซีพียูดูอัลคอร์ Cortex M0+ คล็อกสูงสุด 133MHz แรมแบบ static ขนาด 264KB ชิปแฟลชแบบ QSPI 2MB มีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ 12-bit ติดตั้งมาให้ในตัว พอร์ท micro USB-B, GPIO 26 ขา, UART 2 ขา, SPI 2 ขา I²C 2 ขา และ PWM pin อีก 16 ขา (ต่อพินแยกเอง)

Raspberry Pi Pico รองรับไฟสูงสุด 1.8-5.5v ราคา 4 เหรียญ ส่วน Cytron นำเข้ามาขายที่ 150 บาท

ที่มา: Blognone

Microsoft Teams เตรียมเพิ่ม Meeting Recap สรุปการประชุมให้พร้อมไฟล์เสียง, ทรานสคริปต์

ในงาน Microsoft Ignite ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวฟีเจอร์สรุปการประชุมบน Microsoft Teams ล่าสุด ทาง Microsoft เผยว่าจะเพิ่มฟีเจอร์ Meeting Recap ภายในปลายเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

Meeting Recap คือการจัดเก็บไฟล์ประชุม, แชท, พรีเซนเทชั่นและไฟล์ที่แชร์กันระหว่างประชุมมาให้หลังจบการประชุม สามารถเข้าถึงได้ผ่านแท็บ Chat เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่หน้าจอประชุมตลอดเวลา หรือสมาธิหลุดไประหว่างเรียนออนไลน์


นอกจากนี้ยังเตรียมเพิ่ม History Menu เข้ามาด้วย เพื่อย้อนดูกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้ใช้งานทำบน Microsoft Teams เพื่อที่ผู้ใช้จะได้ไม่ต้องกด back บ่อยๆ ซึ่งจะเปิดใช้งานภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เช่นกัน

ที่มา: Blognone