จากการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ทำให้กระแสการทำงานจากที่บ้าน (work
from home) ถูกนำมาใช้งานมากขึ้น
หลายองค์กรต้องหาวิธีและเครื่องมือเพื่อมาตอบโจทย์รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป
Zoom ผู้ให้บริการ Video Conference ที่เพิ่ง IPO เมื่อปีที่แล้ว
เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่แนะนำค่อนข้างมาก
ทั้งสำหรับการประชุมออนไลน์สำหรับองค์กรและการเรียนการสอนออนไลน์
แต่ทว่ายังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก
บทความนี้จะพาไปรู้จัก Zoom และ Eric Yuan ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกัน
Eric Yuan จากอดีตโปรแกรมเมอร์ WebEx สู่ผู้ก่อตั้ง Zoom
Eric Yuan เกิดที่มณฑลชานตงในจีน เรียนจบ ป.ตรี และ ป.โท
ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชานตง ก่อนจะย้ายมาอยู่สหรัฐ
(เจ้าตัวเล่าว่ากว่าจะได้วีซ่าคือต้องขอถึง 9 ครั้ง) และทำงานกับ WebEx
ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ประชุมออนไลน์ตั้งแต่ปี 1997 ก่อนถูก Cisco ซื้อในปี
2011 เขาทำงานจนเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานฝ่ายวิศวกรรม (Corporate VP of
Engineering) ดูแลโซลูชัน collaboration ในองค์กร
Yuan เล่าว่า WebEx ตอนนั้นปัญหาเยอะมาก เขาพยายามแก้ปัญหาด้วยการยกเครื่อง
WebEx รวมถึงเอาคลาวด์โซลูชันมาใช้งานเบื้องหลัง แต่ติดปัญหาที่ Cisco
ไม่เห็นด้วย เจ้าตัวพยายามอยู่หลายปีจนยอมแพ้และลาออกในปี 2011
มาตั้งบริษัท Zoom ของตัวเอง เขาใช้เวลา 2
ปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามที่ฝันไว้ จนสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2013
Zoom ตอนนั้นไม่ได้ต่างจากสตาร์ทอัพรายอื่นที่เกิดขึ้นในวงการ
คือทำโซลูชันหรือเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้ใช้งานเจอจากบริการของบริษัทอื่น
ๆ (ในที่นี้ก็คือ WebEx) โดยเฉพาะความรวดเร็วและความง่ายในการใช้งาน
Zoom ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทั้งเรื่องความเสถียร ฟีเจอร์ และความสะดวก และเติบโตมาเรื่อย ๆ ก่อนเข้าขายหุ้น IPO เมื่อปีที่แล้ว ทำให้มูลค่ากิจการขึ้นไปถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์
Zoom vs WebEx
แม้ผู้ให้บริการประชุมออนไลน์ในตลาดมีอยู่หลายเจ้า แต่ WebEx ของ Cisco มักถูกนำมาเทียบกับ Zoom โดยตรงอยู่บ่อยครั้ง
เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะบริการของ Zoom และ WebEx
เป็นบริการประชุมออนไลน์แบบแยกเดี่ยว (standalone)
ไม่พ่วงกับบริการอื่นแล้วขายเป็นชุดเหมือนกับ Google Hangouts หรือ
Microsoft Teams/Skype
แม้จะไม่มีตัวเลขส่วนแบ่งตลาดระบบการประชุมทางไกลที่แน่ชัด
แต่บริษัทวิจัยตลาดอย่าง Gartner ก็จัดให้ 2 เจ้านี้อยู่ในกลุ่มผู้นำ
(Leader) บน Magic Quadrant ของ Meeting Solution (อีกรายในกลุ่มนี้คือ
Microsoft)
ในแง่การใช้งานจริง เสียงตอบรับจากผู้ใช้งาน Zoom มักดูดีกว่าฝั่ง WebEx
แม้ในแง่ฟีเจอร์จะไม่แตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่ Zoom
ได้รับคำชมมากกว่าคือเรื่องของ UX/UI ที่ Zoom เข้าใจได้ง่ายกว่า
เริ่มใช้งานได้รวดเร็วกว่า ใช้งานได้ลื่นกว่า
ความหน่วงเวลาประชุมต่ำและเสถียรกว่า WebEx
ในแง่ราคาทั้งสองเจ้าไม่แตกต่างกันมากและมีแพ็กเกจฟรีทั้งคู่ แต่ WebEx
เหนือกว่าตรงที่ไม่จำกัดระยะเวลาในการประชุมในแผนฟรีแต่ Zoom จำกัดไว้ที่
40 นาทีต่อครั้ง ส่วนแผนสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและกลาง WebEx
จะถูกกว่าเล็กน้อย ส่วนระดับองค์กร (enterprise) Zoom จะถูกกว่าค่อนข้างมาก
เลยเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่องค์กรใหญ่ ๆ มักเลือก Zoom มากกว่า WebEx
จากที่โตอยู่แล้วยิ่งโตแบบก้าวกระโดดจากไวรัส
เมื่อ work from home
กลายเป็นนโยบายที่ถูกนำมาใช้งานเกือบทั่วโลกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ
COVID-19 ทำให้ Zoom ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงระดับหนึ่งอยู่แล้ว
ถูกบอกต่อและแนะนำกันอย่างมาก ทั้งการใช้ทำงานและใช้สอนหนังสือ
ถ้าถามว่า Zoom โตแบบก้าวกระโดดแค่ไหนจากการแพร่ระบาดของไวรัส Bernstein
Research บริษัทวิจัยตลาดเปิดเผยว่าจำนวนผู้ใช้ Zoom แบบ MAUs
เพิ่มขึ้นเฉพาะปีนี้ (2 เดือนกว่า) อยู่ที่ 2.22 ล้านราย ขณะที่ปี 2019
ทั้งปี จำนวน MAUs ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่แค่ 1.99 ล้านรายเท่านั้น
(แต่หากเทียบช่วงเวลาเดียวกันหรือก็คือช่วงต้นปีที่แล้ว MAUs
ที่เพิ่มขึ้นมีแค่ 6.4 แสนคนเท่านั้น) ทำให้ตอนนี้ Zoom มี MAUs
เฉลี่ยอยู่ที่ 12.92 ล้านคนแล้ว
ถึงแม้จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้ฟรี
แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่า Zoom
สามารถเปลี่ยนผู้ใช้ฟรีเหล่านี้ให้มาเป็นผู้ใช้งานแบบเสียเงินได้ไม่น้อย
ด้านราคาหุ้นของ Zoom เมื่อเดือนที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 40% จาก 76.30
ดอลลาร์เมื่อสิ้นเดือนมกราคมไปจบที่ 105 ดอลลาร์ตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
ส่วนตอนนี้อยู่ที่ราว 107 ดอลลาร์
ที่มา: Blognone