วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Firefox 63 ออกแล้ว เพิ่มประสิทธิภาพบนแมค, ปรับธีมสี Dark/Light ตามธีมวินโดวส์


Firefox ออกเวอร์ชัน 63 มีของใหม่ดังนี้
  • ปรับธีมสี Dark/Light ตามสีธีมของ Windows 10 ให้อัตโนมัติ
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพบน macOS ให้เร็วขึ้นหลายจุด ทั้งการสลับแท็บ การตอบสนองการคลิก และ WebGL
  • เวอร์ชันลินุกซ์ รันส่วนขยาย WebExtensions แบบแยกโพรเซสของตัวเองแล้ว
  • เพิ่มหน้าจอถามยืนยันก่อน หากจะปิดโปรแกรมเมื่อเปิดหลายหน้าต่างค้างไว้
  • เพิ่มฟีเจอร์ป้องกันการตามรอย สามารถสั่งบล็อคคุกกี้จากผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์นั้น (third-party cookies) ได้
  • Search Shortcuts ปักหมุดเว็บค้นหาที่คนใช้บ่อยๆ ไว้ในหน้า New Tab ตอนนี้ยังมีเฉพาะ Google, Amazon และใช้ได้เฉพาะในสหรัฐ (คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเรื่องรายได้ของ Mozilla) ผู้ใช้สามารถเอาออกเองได้ถ้าไม่ต้องการ
  • Firefox for iOS รองรับ Siri Shortcuts แล้ว

ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Atlassian ยกเครื่อง Jira ครั้งใหญ่ ปรับตัวให้เข้ายุคสมัย เปลี่ยนหน้าตาใหม่ ใช้ง่ายขึ้น

Atlassian ประกาศอัพเกรดซอฟต์แวร์ติดตามบั๊ก Jira ครั้งใหญ่ โดยระบุว่าเป็นการยกเครื่องฟีเจอร์ให้เข้ากับยุคสมัย นับจากการเปิดตัว Jira ครั้งแรกเมื่อปี 2002 มาถึงปัจจุบัน รูปแบบการทำงานเป็นทีมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก Jira จึงต้องปรับตัวเองให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าด้วย

ฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญของ Jira มี 5 อย่างดังนี้
  • ผู้ใช้แต่ละคนสามารถปรับแต่งบอร์ดของตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอแอดมินทำให้
  • ปรับหน้าจอ issue ใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น
  • เลือกเปิดปิดฟีเจอร์ของทีมได้ตามความต้องการของแต่ละทีม เช่น Backlog, Sprint, Estimations พร้อมผนวกฟีเจอร์ Roadmaps เข้ามาเป็นส่วนหลักของ Jira แล้ว
  • เพิ่มฟีเจอร์ฟิลเตอร์สำหรับกรองข้อมูล โดยไม่ต้องเขียนภาษา JQL เองอีกแล้ว
  • Jira Cloud รองรับการใช้งานผ่านมือถือ เปิดดูข้อมูลบั๊กและตอบคอมเมนต์ได้ตลอดเวลา

Atlassian ยังบอกว่าเปลี่ยน tech stack ของ Jira ใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างของซอฟต์แวร์เป็นไมโครเซอร์วิส ปรับระบบสิทธิ (permission) ใหม่ และคิดเรื่อง UX ใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังเพิ่มการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ อีกชุดใหญ่ด้วย
ที่มา: Blognone

รู้จัก Container มันคืออะไร แตกต่างจาก Virtualization อย่างไร?

ช่วงหลังเราได้ยินชื่ออย่าง Docker, Container, Kubernetes, Orchestration กันบ่อยขึ้นมาก โดย Blognone เองก็เคยนำเสนอข่าวในหัวข้อเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องนี้อยู่มาก เพราะเป็นแนวคิดที่ยังค่อนข้างใหม่และมีความแตกต่างจากระบบเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ สูง

บทความชุดนี้จึงมีเป้าหมายเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจกับแนวคิดเหล่านี้ ใครที่รู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้วสามารถข้ามไปได้เลยครับ


Virtualization มีข้อจำกัด


คำว่า "คอนเทนเนอร์" (container) เป็นเทคนิคการจัดการแพ็กเกจซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์กับเทคนิค virtualization ที่อยู่ในโลกองค์กรมานาน ดังนั้นการอธิบายว่าคอนเทนเนอร์คืออะไร จึงมักถูกเปรียบเทียบว่าแตกต่างกับ virtualization อย่างไร

เทคนิค virtualization คือการสร้างคอมพิวเตอร์เสมือน (virtual machine หรือ VM) ที่มีทั้งซีพียู แรม สตอเรจ ระบบปฏิบัติการ ฯลฯ ขึ้นมารันบนคอมพิวเตอร์จริงๆ อีกทีหนึ่ง โดยตัวระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์เสมือน (Guest OS) จะไม่รู้ว่าตัวเองรันอยู่บน VM แต่เข้าใจว่ารันอยู่บนฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์จริงๆ

วิธีการนี้ทำให้เกิดการแยกส่วน (isolation) ระหว่าง VM แต่ละตัวอย่างสมบูรณ์ สามารถรันระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันระหว่าง Guest OS กับ Host OS ได้ แต่ข้อเสียคือใช้ทรัพยากรซ้ำซ้อน ทำงานช้า เปลืองพื้นที่เก็บ OS และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่มักจะใช้เหมือนกันใน VM ทุกตัว


Container สร้างมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของ Virtualization


คอนเทนเนอร์จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น โดยมีฮาร์ดแวร์และ OS เพียงชุดเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของการใช้ทรัพยากรลง ส่วนตัวแอพพลิเคชันและซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างกันไปก็จะมี "container" (เทียบได้กับ VM) มาครอบเพื่อแบ่งส่วนทรัพยากรไว้ไม่ให้ยุ่งกัน

จุดเด่นของคอนเทนเนอร์จึงเป็นเรื่องการใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่า virtualization มาก อิมเมจของคอนเทนเนอร์อาจมีขนาดเพียงกี่ไม่กี่สิบ MB ในขณะที่อิมเมจของ VM ต้องใช้พื้นที่ระดับหลาย GB นอกจากนี้ ระยะเวลาที่ใช้บูต, พลังซีพียูและปริมาณแรมที่ต้องใช้ ก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เซิร์ฟเวอร์หนึ่งเครื่องสามารถยัดคอนเทนเนอร์จำนวนมากกว่าการรัน VM ที่ให้ผลแบบเดียวกันถึง 2-3 เท่าตัว

บางครั้ง คอนเทนเนอร์ถูกเรียกชื่อในทางเทคนิคว่า Operating-system-level virtualization หรือการสร้าง VM ที่ระดับ OS โดยเราไม่ต้องสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือนขึ้นมาทั้งตัว

ข้อเสียของคอนเทนเนอร์ก็ย่อมเป็นความยืดหยุ่นที่น้อยกว่า virtualization แบบดั้งเดิม โดยเฉพาะไม่สามารถใช้ OS ที่แตกต่างกันระหว่าง Guest และ Host ได้ (เพราะจุดเด่นของคอนเทนเนอร์คือการแชร์ OS ก็อปปี้เดียวกัน)


ประวัติย่อของ Container


แนวคิดของคอนเทนเนอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกของยูนิกซ์เกิดแนวคิดนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2000 จากแนวคิด jails ของ FreeBSD จากนั้นในปี 2004 ระบบปฏิบัติการ Solaris ของบริษัท Sun Microsystems ก็มีฟีเจอร์แบบเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า Zones (หรือ Solaris Containers) ฝั่งลินุกซ์เองก็นำไอเดียนี้มาสืบสานต่อในโครงการอย่าง OpenVZ หรือ LXC (Linux Containers)

แต่คอนเทนเนอร์กลายมาเป็นเรื่องแพร่หลายในวงกว้างจาก Docker ที่เริ่มต้นในปี 2013 ซึ่งช่วงแรกยังอิงอยู่บนโครงการยุคก่อนหน้าอย่าง LXC หรือ libvirt แต่ภายหลัง Docker ก็พัฒนาส่วนต่างๆ ขึ้นมาเอง (libcontainer) จนสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ทำให้แนวคิดคอนเทนเนอร์ "จุดติด" และได้รับการยอมรับในวงการอย่างรวดเร็ว มีตัวอย่างการใช้งานจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างกูเกิลที่พัฒนาฟีเจอร์ของ Google Compute Engine ให้รองรับอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ Docker จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลินุกซ์ แต่ความนิยมของมันทำให้ระบบปฏิบัติการฝั่งวินโดวส์ ทำให้ไมโครซอฟท์เข้ามาร่วมวงตั้งแต่ปี 2014 และสำเร็จลุล่วงใน Windows Server 2016

ความสำเร็จของ Docker ทำให้เกิดคู่แข่งขึ้นบ้าง เช่น Rocket หรือ rkt ของบริษัท CoreOS (ปัจจุบันถูก Red Hat ซื้อไปแล้ว) ทำให้โลกคอนเทนเนอร์แยกออกเป็นสองส่วน แต่ภายหลังก็หาทางออกได้ ด้วยการออกมาตรฐานกลางภายใต้การดูแลของ Open Container Initiative (OCI) (ภายหลังยังพัฒนาต่อมาเป็นโครงการ containerd และ runc ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้)


ตัวอย่างการใช้งาน Container


รูปแบบการนำคอนเทนเนอร์ไปใช้งานมีหลากหลาย แต่ที่พบบ่อยคือการนำแอพพลิเคชันองค์กรในแบบเดิมๆ (ซึ่งมักเป็นแอพที่เขียนด้วยเทคโนโลยียุคก่อนอย่าง Java, .NET หรือ PHP) มาใส่ไว้ในคอนเทนเนอร์ เพื่อมารันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ที่เป็นคลาวด์ แทนที่การใช้เซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิมที่เริ่มล้าสมัย ช่วยให้การย้ายขึ้นคลาวด์ราบรื่นกว่าเดิม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่อง system dependency ระหว่างแอพแต่ละเวอร์ชัน แต่ละสถานะ (เช่น dev/test/production) เพราะทุกอย่างที่จำเป็นถูกรวมมาในอิมเมจให้หมดแล้ว มันจึงมีประโยชน์ในแง่กระบวนการเปลี่ยนโค้ดที่เขียน ไปสู่การดีพลอยใช้งานจริงบนเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง หรือที่เราเรียกกันว่า CI/CD อีกด้วย

การใช้งานคอนเทนเนอร์อีกแบบหนึ่งที่พบบ่อยในช่วงหลัง คือการแยกแอพพลิเคชันยุคเดิมที่เขียนมาเป็นก้อนใหญ่ๆ (monolithic) ให้กลายเป็นไมโครเซอร์วิส (microservice) ที่มีขนาดเล็กลง จัดการได้สะดวกขึ้น สามารถสเกลเซอร์วิสบางตัวหากต้องการรับโหลดมากขึ้น

การนำคอนเทนเนอร์ของแอพพลิเคชันที่แยกเป็นไมโครเซอร์วิส ไปรันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคคลาวด์ที่สเกลตัวเองได้ง่ายขึ้น จึงมีความซับซ้อนสูงตามไปด้วย และกลายเป็นหน้าที่ของซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า orchestration (เหมือนวาทยากรนำวงออเคสตร้า) อย่าง Kubernetes หรือ Apache Mesos ที่จะกล่าวถึงในบทความตอนต่อไป

ที่มา: Blognone

ทนไม่ทน? Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองของ Model 3 หลังผ่านการทดสอบวิ่งครบ 1 ล้านไมล์

โดยธรรมชาติของรถยนต์ไฟฟ้านั้น มีชื่อเสียงว่าทนทานกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปภายใน เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่ขยับไปมาน้อยกว่า รวมถึงระบบเกียร์ก็ซับซ้อนน้อยกว่า เพราะมีเพียงเกียร์เดียวจึงลดความสึกหรอไปได้มากเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่มีหลายเกียร์

ล่าสุด Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองในระบบส่งกำลังของ Tesla Model 3 ออกมาสองภาพ โดยระบุว่าเป็นชิ้นส่วนที่ผ่านการทดสอบวิ่งมาแล้ว 1 ล้านไมล์ หรือ 1.6 ล้านกิโลเมตร และ Elon Musk ก็ออกมาเสริมว่าชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ทนทานมากเป็นพิเศษ

เมื่อปี 2015 Elon Musk เคยบอกสื่อว่า Tesla ต้องการสร้างระบบขับเคลื่อนที่จะไม่สึกหรอเลย และเคยตั้งเป้าว่าจะทำให้ระบบขับเคลื่อนใช้งานได้ 200,000 ไมล์ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป้านั้นเป็น 1 ล้านไมล์ นอกจากนี้ Tesla Semi รถบรรทุกพลังไฟฟ้าที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 ก็เคลมว่าสามารถวิ่งได้ 1 ล้านไมล์โดยไม่เสียเลย

สำหรับสภาพของเฟืองที่ผ่านการใช้งานมา 1 ล้านไมล์เป็นอย่างไร ดูได้จากภาพด้านล่างครับ


ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Boston Dynamics โชว์คลิปหุ่นยนต์ Atlas วิ่งกระโดดขึ้นที่สูงแบบเดียวกับมนุษย์

บริษัทหุ่นยนต์ Boston Dynamics (ปัจจุบันอยู่ในเครือ SoftBank) เผยวิดีโอล่าสุดของหุ่นยนต์มนุษย์ Atlas ที่สามารถวิ่งพร้อมกระโดดด้วยขาทีละข้างแบบเดียวกับมนุษย์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Boston Dynamics เรียกเสียงฮือฮาจากความสามารถของหุ่นยนต์ Atlas เพราะปีที่แล้วก็เคยโชว์คลิป Atlas กระโดดตีลังกากลับหลัง มาก่อนแล้ว

Boston Dynamics ยังไม่เคยเปิดเผยว่าจะผลิตหุ่นยนต์มนุษย์ Atlas มาวางขายจริงเมื่อไร แต่มีแผนจะขายหุ่นยนต์สุนัข SpotMini ในปีหน้า 2019


ที่มา: Blognone

รู้จัก SCB 10X ยูนิตใหม่ของ SCB ฉีกกรอบการทำงานแบงค์แบบเดิม แถมขึ้นตรงกับซีอีโอ

เมื่อนึกถึงงานธนาคาร หลายๆ คนอาจจะนึกถึงงานรูทีน ซ้ำซาก น่าเบื่อ บนวัฒนธรรมองค์กรแบบลำดับขั้น (hierarchy) การตัดสินใจต่างๆ ก็ช้า ไม่เว้นแม้แต่ภาพของงานสำหรับนักพัฒนาในสายธนาคารก็ไม่น่าจะต่างกันมาก

SCB 10X (อ่านว่า เท็นเอกซ์) เป็นฝ่ายใหม่ในธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถูกตั้งขึ้นมาโดยซีอีโอและขึ้นตรงกับซีอีโอ เพื่อทำลายข้อจำกัดแบบเดิมๆ ของธนาคาร โดยมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นของตัวเอง มีภารกิจใหม่ที่ท้าทายคือสร้างอนาคตใหม่ให้กับ SCB

ตอนนี้ SCB 10X กำลังมองหานักพัฒนาหลายตำแหน่ง เพื่อมาร่วมงานและสร้างองค์กรไปพร้อมกันด้วย


รู้จัก SCB 10X ดีพาร์ทเมนท์ใหม่กับภารกิจที่ใหญ่ยิ่ง

 

SCB 10X เป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ SCB ที่ตั้งขึ้นมาโดยคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแผนก Google X ของ Google ที่ให้พนักงานได้ทดลอง ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หากทำสำเร็จ จะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลเชิงบวกให้กับองค์กร โดยไม่อยู่ภายใต้กรอบคิดเดิมของบริษัท ว่าโปรเจ็คนี้ต้องสำเร็จ ต้องสร้างกำไร ต้องทำรายได้เสมอไป

SCB 10X ถูกตั้งขึ้นมาด้วยวิธีคิดดังกล่าว เป้าหมายคือเป็นหน่วยงานที่จะให้ทีมงานได้บุกเบิก ได้ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายคือสร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic product) ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกและพลิกโฉม SCB จนกลายเป็น new bank ในอนาคต


SCB 10X ไม่ใช่เพียงหน่วยงานใหม่หรือวิสัยทัศน์ของคุณอาทิตย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักของ SCB ระบุเอาไว้ในเอกสารรายงานประจำปี ที่บริษัทจะมองหาโมเดลทางธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าในทุกเซกเมนต์ด้วย ดังนั้นอาจเรียกได้ว่า SCB 10X แบกภารกิจสำคัญขาหนึ่งของ SCB เอาไว้บนบ่าก็ว่าได้

หน่วยงานใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ


ความแตกต่างและความโดดเด่นของ SCB 10X คือการเป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาอิสระ (แต่ยังอยู่ภายใต้ SCB ไม่ได้แยกเป็นบริษัทลูกเหมือนกับ Digital Ventures หรือ SCB Abacus) โครงการ SCB10X จะรายงานตรงกับ คุณอาทิตย์ ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน SCB 10X มี คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร และคุณหนึ่ง ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล เป็นผู้บริหารในฐานะ Head of SCB 10X Project ที่กำลังมองหาทีมงานนักพัฒนามาร่วมสร้างสรรค์งานด้วยกัน

โครงสร้างนี้ทำให้ SCB 10X มีวัฒนธรรมที่ฉีกกรอบออกจากธนาคารแบบเดิมๆ มีความคล้ายสตาร์ทอัพ การทำงานมีความคล่องตัวสูง สามารถตัดสินใจและจบได้ในตัวเอง


ด้วยเป้าหมายของ SCB 10X คือสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะพลิกโฉมการให้บริการของธนาคาร ดังนั้นการทำงานที่ SCB 10X จะเต็มไปด้วยความท้าทาย ได้ลองอะไรใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูก โดยมีทรัพยากร ทุนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของ SCB หนุนหลังอยู่ สามารถเริ่มงานได้เลยทันที ไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ และด้วยความที่เป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งตั้ง พนักงานที่เข้ามาก็จะมาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันด้วย

SCB 10X อยากได้คนแบบไหนมาร่วมงานด้วย


SCB 10X อยากได้คนที่มีมายด์เซ็ตที่ยืนอยู่ข้างลูกค้าธนาคาร ที่ต้องการจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา pain point ที่ลูกค้าธนาคารกำลังประสบในขณะนี้ รวมถึงต้องเป็นคนที่อยากทำงานแนวสตาร์ทอัพ อยากทดลองทำของใหม่ๆ ในองค์กรใหญ่ๆ ที่ทรัพยากรพร้อม มีความกล้าจะลองผิดลองถูก ชอบความท้าทาย ที่สำคัญคือมีประสบการณ์ในการทำงานสายนักพัฒนามาก่อนระดับหนึ่ง โดยจะเป็นสายงานไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องธนาคาร


คุณต้อง Head of SCB 10X บอกด้วยว่าการเข้ามาทำงานใน SCB 10X ไม่ใช่การเข้ามาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ให้คิดว่าเป็นเหมือน career jump เพราะค่าตอบแทนค่อนข้างดี โดยสัญญาจะเป็นลักษณะสัญญาจ้างที่ต่อทุกๆ 2 ปี

ที่อยู่ออฟฟิศ

สำนักงานของ SCB 10X จะอยู่ที่เดียวกับสำนักงานใหญ่ของ SCB คืออาคาร SCB Park Plaza รัชโยธิน โดยมีตึกและออฟฟิศแยกเป็นของตัวเอง


ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Waymo ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับเกิน 10 ล้านไมล์ เตรียมปรับปรุงให้รถขับนุ่มขึ้น

Waymo เผยว่าทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนถนนจริงไปแล้ว 10 ล้านไมล์ เพิ่มจาก 8 ล้านไมล์ในเดือนกรกฎาคม ส่วนการทดสอบแบบ simulation จะครบ 7 พันล้านไมล์ภายในเดือนนี้

Waymo ยังทดสอบบริการเรียกรถยนต์ไร้คนขับในเมือง Phoenix รัฐแอริโซนา และระบุว่ามีผู้ร่วมทดสอบแบบ early riders จำนวน 400 คน

Waymo บอกว่าพื้นฐานสำคัญของบริษัทคือ "ความปลอดภัย" (safety) แต่หลังจากผ่านระยะ 10 ล้านไมล์ ก็ได้เวลาไปมองถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ขยายความสามารถของระบบรถยนต์ไร้คนขับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมยากๆ อย่างฝนตกหนักหรือหิมะตก, ปรับการขับขี่ให้นุ่นนวลขึ้น, ปรับอัลกอริทึมเส้นทางให้ส่งคนแล้วเดินใกล้กว่าของเดิม ที่เน้นความปลอดภัยเหนือความสะดวก

อย่างไรก็ตาม Waymo ไม่ได้ระบุว่าจะเปิดบริการเรียกรถยนต์ไร้คนขับเมื่อใด จากที่เคยประกาศไว้กว้างๆ ว่าภายในปีนี้


ที่มา: Blognone

Google Chromecast 3 มาแล้ว ทำงานได้เร็วขึ้น ในราคาที่ไม่เพิ่มขึ้น!


Google เปิดตัวและวางจำหน่าย Chromecast 3 แล้วโดยมีรูปร่างหน้าตาคล้ายของเดิม แต่เปลี่ยนโลโก้จากโลโก้ของ Google Chrome มาเป็นโลโก้ตัว G ของ Google ชูจุดขายทำงานเร็วขึ้นกว่ารุ่นเก่าถึง 15% ในขณะที่ราคาเท่าเดิม


โดยตัวนี้จะรองรับภาพ HD 1080p แบบ 60fps ด้วย แต่สำหรับผู้ที่ต้องการรองรับ 4K นั้นต้องขออภัยด้วย ยังไม่รองรับ ต้องไปซื้อรุ่น Chromecast Ultra เหมือนเดิม

ปัจจุบัน Chromecast 3 ยังไม่ได้วางจำหน่ายในประเทศไทยหรือสามารถสั่งซื้อจากไทยได้ แต่คาดว่าอีกไม่นาน AIS ก็น่าจะนำมาขายครับ

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เตรียมนั่งหลับในรถ Volvo จับมือ NVIDIA พัฒนารถอัตโนมัติระดับ 4 คาดวางตลาดได้จริงปี 2021

NVIDIA, Volvo, และ Zenuity ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาระบบช่วยขับที่จะทำให้รถเป็นรถอัตโนมัติระดับ 4 และพร้อมวางขายจริงในปี 2021
 
รถอัตโนมัติระดับ 4 เป็นระดับที่คนขับไม่จำเป็นต้องสนใจการขับขี่อีกต่อไป (mind off) โดยระบบอัตโนมัติสามารถทำงานได้จำกัด เช่น บนทางหลวง, พื้นที่ที่กำหนด, หรือสภาพจราจรบางอย่าง เช่น รถติด โดยหากสภาพแวดล้อมไม่ตรงเงื่อนไขตัวรถจะสามารถเรียกคนขับให้กลับมาควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย
 
Zenuity เป็นบริษัทพัฒนาระบบช่วบขับขี่ ที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาประกาศความร่วมมือกับบริษัทรถ Geely จากจีน เพื่อพัฒนารถอัตโนมัติระดับ 3 (คนขับเตรียมเข้าควบคุมรถในเวลาอันสั้น) โดยเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Volvo จะ Autoliv เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับรถอัตโนมัติ
 
การพัฒนาร่วมกับ Volvo ในครั้งนี้จะใช้แพลตฟอร์ม NVIDIA DRIVE PX และใช้โมเดล deep learning เพื่อการจดจำวัตถุรอบตัวรถ ต่อภาพจากกล้องหลายตัวให้กลายเป็นมุมมอง 360 องศารอบตัว ซอฟต์แวร์ในโครงการนี้เมื่อพัฒนาสำเร็จแล้วจะใช้ในรถ Volvo และขายให้กับบริษัทรถอื่นผ่านทาง Autoliv ต่อไป
 
 
ที่มา: Blognone

อย่าแปลกใจ! เพราะเหล่าผู้บริหาร Google ก็เลิกใช้ Google+ กันมาระยะหนึ่งแล้ว

อย่างที่ทราบกันแล้วว่า Google+ บริการโซเชียลของกูเกิล ที่เคยหมายมั่นปั้นมาเป็น Social Network ตัวใหม่ ได้ประกาศปิดตัวในปีหน้า สิ่งน่าสนใจคือหลายคนก็ยังใช้งาน Google+ อยู่ เพียงแต่เมื่อไปดูผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล ... พวกเขาเลิกใช้มาระยะหนึ่งแล้ว

Business Insider รวบรวม Google+ ของผู้บริหารระดับสูงในกูเกิล พบว่าทุกคนเลิกใช้ Google+ (โพสต์แบบสาธารณะ) มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว
  • Larry Page ผู้ก่อตั้งกูเกิล และซีอีโอ Alphabet โพสต์ครั้งสุดท้าย สิงหาคม 2015 ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะตอนนี้เขาเลือกหายไปจากสื่อทั้งหมด
  • Sundar Pichai ซีอีโอกูเกิล โพสต์ครั้งสุดท้าย มีนาคม 2016
  • Eric Schmidt อดีตซีอีโอกูเกิล และประธานบอร์ด โพสต์ครั้งสุดท้าย กุมภาพันธ์ 2017
  • Sergey Brin ผู้ก่อตั้งกูเกิล โพสต์ครั้งสุดท้าย กันยายน 2017
ก็พอสรุปได้ว่า แม้แต่ผู้บริหารกูเกิลเอง ก็ไม่ได้แตะ Google+ กันมาร่วมหนึ่งปีแล้ว

ที่มา: Blognone