วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รายงานเผยอายุงานเฉลี่ยของ CISO อยู่ที่ 26 เดือน เหตุจากเครียดและภาวะ Burnout

Nominet ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยของ Internet และ DNS ได้จัดทำรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับภาวะความเครียดของ CISO จากหลายภาคธุรกิจในอเมริกาและสหราชอาณาจักรฯ กว่า 800 คน พบว่าค่าเฉลี่ยอายุงานก่อนหางานใหม่อยู่ที่ 26 เดือนเท่านั้น


รายงานเผยผลลัพธ์ของ CISO ที่น่าสนใจดังนี้
  • 88% มีความเครียดระดับปานกลางถึงสูงมาก
  • 48% พบว่าความเครียดได้ส่งผลต่อสุขภาพ
  • 40% พบว่าความเครียดได้ส่งผลต่อสถานะความสัมพันธ์ต่อคู่ครองหรือลูก
  • 32% พบว่าความเครียดได้ส่งผลด้านลบกับสถานะสมรส หรือความสัมพันธ์ต่อคู่รัก รวมถึงความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง
  • 23% หันไปพึ่งพาการรักษาทางการแพทย์หรือใช้แอลกอฮอล์
โดย Nominet ชี้ในรายงานว่า แม้ปัญหาอาจไม่ได้ดูหนักถึงขีดสุดแต่ CISO หลายคนก็ต้องทำงานหนัก พลาดการไปเที่ยววันหยุด หรือเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ แม้กระทั่งการลาพักร้อน หรือการไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ความเครียดของ CISO หลายท่านเกิดจากโดนบอร์ดบริหารกดดัน ที่ไม่เข้าใจว่า Breach นั้นอาจเกิดขึ้นได้ และพวกเขาถูกจ้างมาเพื่อการนี้ นอกจากนี้กว่า 29% เผยว่าพวกเขาคงโดนไล่ออกหากเกิด Breach ดังนั้นไม่น่าแปลกใจหากรายงานพบว่าผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยการรับตำแหน่งที่ 26 เดือน และกว่า 90% ยินดีถูกตัดเงินเดือนหากจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้าง Work-life-balance ได้บ้าง

ที่มา: TechTalk

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นักพัฒนาสาย Java ย้ายไปใช้ OpenJDK มากขึ้น, Kotlin เริ่มนิยม, IntelliJ คือ IDE ยอดฮิต

Snyk บริษัทด้านค้นหาช่องโหว่ของซอร์สโค้ด ออกรายงานสำรวจข้อมูลของนักพัฒนาซอฟต์แวร์สาย Java จำนวนประมาณ 2,000 คน ประจำปี 2020 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ภาษา Kotlin ได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก ถึงแม้นักพัฒนา 86.9% ยังเขียนภาษา Java เป็นหลัก แต่ Kotlin ก็เติบโตจาก 2.4% เมื่อปีก่อนมาเป็น 5.5% และกลายเป็นภาษายอดนิยมอันดับสอง เหนือกว่า Clojure หรือ Scala แล้ว - อ้างอิง 
นักพัฒนาจำนวนมากเริ่มย้ายหนีจาก Oracle JDK ที่เก็บเงิน ไปใช้ OpenJDK แทน โดยปีก่อนมีคนใช้ Oracle JDK 70% แต่ปีนี้ลดเหลือเพียง 34% - อ้างอิง
Java เวอร์ชันที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังเป็น Java 8 ที่ส่วนแบ่ง 64% ตามด้วย Java 11 ที่ 25% ส่วนเหตุผลหลักที่ยังไม่ย้ายคือยังโอเคกับ Java 8 อยู่ (51%) ตามด้วยต้นทุนในการย้ายเวอร์ชันเยอะเกินไป (32%)

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (55%) บอกว่าจะเลือกใช้ Java ที่เป็นรุ่นซัพพอร์ตระยะยาว (LTS) เท่านั้น มีเพียง 11% ที่บอกว่าจะใช้ Java เวอร์ชันล่าสุดเสมอ - อ้างอิง
IDE ที่นักพัฒนาสาย Java ใช้กันเยอะที่สุด IntelliJ IDEA นำแบบทิ้งห่างที่ 62% (นับทั้งตัวฟรีและเสียเงิน) ตามด้วย Eclipse IDE (20%), NetBeans (10%) ถ้าดูจากกราฟแสดงความนิยม จะเห็นว่า Eclipse ร่วงลงอย่างมาก ในขณะที่ IntelliJ เติบโตพุ่งขึ้นแบบสวนทาง - อ้างอิง
ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

มาสักที DoubleTake แอปฟรีทำ iPhone ถ่ายวิดีโอจากกล้องหน้า-หลังได้พร้อมกัน!


สำหรับใครที่ซื้อ iPhone 11 Pro Max มาเพื่อรอแอปถ่ายคลิป 2 กล้องพร้อมกันที่ได้ถูกโชว์ความสามารถในงาน Apple Event เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา ในที่สุด FiLMiC ก็ได้เปิดตัวแอป DoubleTake ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ในช่องทาง AppStore มาดูกันว่าแอปนี้มีความสามารถอะไรที่น่าสนใจบ้าง

DoubleTake by FiLMic Pro


แอป DoubleTake by FiLMic Pro ตัวนี้เป็นแอปที่จะทำให้คุณสามารถถ่ายวิดีโอ 2 กล้องพร้อมกัน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะเอากล้องเลนส์ปกติ เลนส์มุมกว้าง เลนส์เทเล หรือกล้องหน้า เพื่อถ่ายทำออกมาแบบพร้อมกัน และหลังจากเลือกกล้องแล้ว แอปก็ยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะถ่ายในรูปแบบไหนเช่น ถ่ายแบบเก็บภาพเต็มทั้ง 2 กล้องเอาไว้สำหรับตัดต่อทำ Post Production ได้ง่ายหรือจะถ่ายแบบแบ่งมุมมองจอใหญ่, จอเล็ก (PiP) หรือแบ่งแบบ Split เพื่อลดขั้นตอนการตัดต่อก็ทำได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีโหมดให้เลือกอีกว่าเฟรมเรตเท่าไหร่ตั้งแต่ 24 FPS 25 FPS ไปจนถึง 30 FPS บนความละเอียด 1080p (ปัจจุบันยังไม่สามารถปรับความละเอียดได้)

และแน่นอนว่าแอปนี้ ฟรี!! สำหรับใครที่ใช้ iPhone XR/XS/XS Max หรือ iPhone 11/11 Pro/11 Pro Max ที่ใช้ระบบปฎิบัติการ iOS 13 ก็โหลดได้ง่ายๆ ผ่าน AppStore หรือจิ้มที่ด้านล่างนี้ได้เลย

ที่มา: Beartai

ยังมกราอยู่เลย กูเกิลเสนอ Meena ปัญญาประดิษฐ์คุยเหมือนคน เล่นมุกแป้กได้ด้วย

กูเกิลเผยแพร่รายงานวิจัยการพัฒนาแชตบอทที่เหมือนมนุษย์โดยไม่ระบุหัวข้อ (Towards a Human-like Open-Domain Chatbot) ที่นำเสนอปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า Meena เป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่ 2.6 พันล้านพารามิเตอร์ ฝึกด้วยชุดข้อมูลขนาด 341 กิกะไบต์ เพื่อให้ได้แชตบอตที่คุยเรื่องอะไรก็ได้ (open domain)

Meena คือปัญญาประดิษฐ์ที่อ่านข้อความก่อนหน้า แล้วพยายามคาดเดาประโยคที่ควรตอบกลับถัดไป ภายในของ Meena เป็นบล็อคปัญญาประดิษฐ์สถาปัตยกรรม Evolved Transformer ที่กูเกิลเสนอไว้เมื่อปีที่แล้ว แบ่งเป็นบล็อค encoder หนึ่งบล็อค และบล็อค decoder อีก 13 ชั้น ด้วยความที่พารามิเตอร์มีจำนวนมากทำให้ Meena มีความสามารถสูง

บทสนทนาระหว่าง Meena และมนุษย์ที่ Meena เล่นมุกตลก

ข้อมูลที่ใช้ฝึก Meena เป็นข้อมูลที่กวาดมาจากเว็บสังคมออนไลน์ทั้งหลายที่มีการโต้ตอบกันในโพสสาธารณะ ปริมาณ 341 กิกะไบต์ หากเทียบกับ GPT-2 ของ OpenAI นั้นมีขนาด 1.5 พันล้านพารามิเตอร์ และฝึกด้วยข้อมูลขนาด 40 กิกะไบต์ก็นับว่า Meena ใหญ่กว่ามาก ทีมงานกูเกิลไม่ได้เ้ทียบกับ GPT-2 ตรงๆ แต่ไปเทียบกับ DialoGPT ที่ไมโครซอฟท์นำ GPT-2 มาพัฒนาต่อเป็นแชตบอต


เกณฑ์การเปรียบเทียบปัญญาประดิษฐ์ที่คุยเรื่องอะไรก็ได้เช่นนี้ยังไม่มีมาตรฐานกลางนัก กูเกิลนำเสนอมาตรวัดใหม่ที่ชื่อว่า Sensibleness and Specificity Average (SSA) วัดความสมเหตุสมผล (sensible) โดยใช้คนจำนวนมากนับพันคนมามองแชตโต้ตอบระหว่างคนและแชตบอตจำนวน 100 บทสนทนา และเลือกว่าบทสนทนานี้สมเหตุสมผลหรือไม่ ผลที่ได้คือ Meena นั้นมีบทสนทนาที่สมเหตุสมผลถึง 79% เริ่มใกล้เคียงกับคนที่แชตกันจริงๆ ที่ได้คะแนน 86% ส่วนแชตบอตอื่นๆ นั้นได้คะแนนสูงสุด 56% เท่านั้น

การใช้ SSA มีปัญหาคือไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์มาวัดโดยอัตโนมัติได้ แต่กูเกิลพบว่าการวัด perplexity (ความงุนงง) ที่วัดความไม่แน่นอนของโมเดลภาษามีค่าสัมพันธ์กับค่า SSA อย่างมาก (R2=0.93) โดยทีมงานวัดค่า SSA ของโมเดล Meena จำนวน 8 รุ่นระหว่างการพัฒนา มาเทียบกับค่า perplexity จึงเห็นความสัมพันธ์นี้ ทำให้เป็นไปได้ว่าเราสามารถตั้งเป้าหมายลด perplexity ของโมเดลปัญญาประดิษฐ์โดยอัตโนมัติ ก่อนจะใช้วัด SSA ซึ่งต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายสูงในภายหลัง

กูเกิลไม่เปิดเผยโมเดลของ Meena ออกสู่สาธารณะเนื่องจากกังวลว่าอาจจะมีความเสี่ยง แต่กำลังพิจารณาว่าจะเปิดเผยออกมาหรือไม่ในอนาคต

ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563

Nutanix เผยผลสำรวจองค์กรกว่า 73% ย้ายแอปจากพับลิกคลาวด์กลับ on-premise

Nutanix เปิดเผยผลสำรวจดัชนีการใช้งานคลาวด์องค์กร (Enterprise Cloud Index) โดยสำรวจผู้มีอำนาจด้านไอที 2,650 รายทั่วโลก ในประเด็นการใช้งานแอปทางธุรกิจบนระบบใดในปัจจุบัน, แผนในอนาคตและลำดับความสำคัญไปจนถึงความท้าทายในการใช้งานคลาวด์ ซึ่งมีทั้งรายงานทั่วโลกและเฉพาะของประเทศไทย

ส่วนข้อมูลทั่วโลกที่น่าสนใจคือ ผู้ตอบสำรวจกว่า 73% ระบุว่าได้ย้ายแอปพลิเคชันของตัวเองกลับจากพับลิกคลาวด์มายัง on-premise สาเหตุสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ที่ควบคุมไม่ได้และ/หรือมากเกินกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ 85% ของผู้ตอบระบุว่าไฮบริดคลาวด์คือสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุด (ideal) และ 60% ระบุว่าความปลอดภัยคือปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการใช้งานคลาวด์


ขณะที่ผลสำรวจของประเทศไทยก็เห็นแนวโน้มแบบเดียวกัน ที่ผู้ตอบกว่า 52% ระบุว่าจะเปลี่ยนไปใช้งานไฮบริดคลาวด์ภายใน 3-5 ปี แม้ตอนนี้จะมีเพียง 15% ของผู้ตอบแบบสำรวจเท่านั้นที่ใช้ไฮบริด โดยดาต้าเซ็นเตอร์ยังมีสัดส่วนการใช้งานเยอะที่สุดที่ 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจ

ที่น่าสนใจคือ คุณสมบัติของคลาวด์ที่บ้านเราให้ความสำคัญสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและเอเชียแปซิฟิกคือเรื่อง ความสามารถในการสเกลเพื่อรองรับทราฟฟิคที่สูงในบางช่วงเวลา อย่างไรก็ตามประเด็นที่บ้านเราไม่ให้ความสำคัญคือเรื่อง vendor lock-in ขณะที่ระบบความปลอดภัย การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านไอที และเรื่องกฎระเบียบเป็นความกังวลระดับต้นๆ ของบริษัทในไทย ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแนวโน้มทั่วโลก

หากสนใจสามารถดู Enterprise Cloud Index


ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

เผยกลเม็ด Phishing ใหม่ของคนร้ายกับบริการ Citibank

MalwareHunter ได้เปิดเผยมุขใหม่ของคนร้ายที่ทำ Phishing หวังเล่นงานเหยื่อที่ใช้บริการของ Citibank ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องติดตามพฤติกรรมเช่นนี้ให้ไม่ตกเป็นเหยื่อครับ

credit : BleepingComputer

แม้ว่าจะไม่ทราบวิธีการนำเสนอหน้า Phishing สู่เหยื่อว่าอาจเป็นทางอีเมล, SMS หรือช่องทางอื่นๆ แต่จากการวิเคราะห์หน้าเพจ Phishing ที่ชื่อ update-citi.com (รูปประกอบด้านบน) พบขั้นตอนดังนี้
  • คนร้ายได้ใช้ TLS Certificate ทำให้ขึ้นรูปกูญแจเสมือนว่าเป็นเว็บจริง ซึ่งอันที่จริงแล้วมีค่าแค่ว่าเว็บนี้เข้ารหัสเท่านั้น แต่ถ้าผู้ใช้งานสังเกตก็สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดของ Certificate ได้
  • คนร้ายมีหน้าร้องขอข้อมูลหลายแบบโดยขอข้อมูล เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเกิด ที่อยู่ เลข 4 หลักของเลขประกันสังคม และข้อมูลบัตรทางการเงิน
  • ข้อมูลที่ได้มาจะถูกส่งไปหาเซิร์ฟเวอร์ของคนร้ายและทำทีเหมือนกำลัง Submit
  • คนร้ายใช้ข้อมูลจริงที่ได้ไปล็อกอินเว็บจริงของธนาคาร ซึ่งหากมีการป้องกันแบบ 2-factors ผู้ใช้งานจะได้รับ OTP จริงจากธนาคาร
  • เพจปลอมร้องขอ OTP เพื่อไปใช้เข้ายึดบัญชีหรือทำกิจกรรมอันตรายได้อย่างสมบูรณ์
  • Redirect เหยื่อไปยังหน้าจริงของธนาคารและทิ้งไว้กลางทางอย่างงงๆ
credit : BleepingComputer

จะเห็นได้ว่าคนร้ายได้ใช้ทั้ง Certificate และร้องขอ OTP จากเซิร์ฟเวอร์จริงด้วยซ้ำ หากใครไม่ระวังก็จะถูกแฮ็กบัญชีได้ อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานยังสามารถป้องกันตัวเองได้จากการเข้าลิงก์ที่มาจากธนาคารโดยตรงครับ

ที่มา: TechTalk

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

บริษัท AI เผยการทดสอบ ใช้หน้ากาก 3 มิติหลอกระบบ Face Recognition ได้

การใช้รูปหรือตัวปลอมหลอกระบบ Facial Recognition เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในแง่ความปลอดภัยและความน่าไว้วางใจของเทคโนโลยี ล่าสุด Kneron บริษัทที่พัฒนา AI ได้ทดสอบหลอกระบบ Facial Recognition ที่ถูกใช้งานในที่สาธารณะด้วยหน้ากาก 3 มิติที่พิมพ์หน้าบุคคลอื่นไว้

นักวิจัยทดสอบทั้งระบบตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน Schiphol กรุงอัมสเตอร์ดัม และระบบจ่ายเงินด้วยใบหน้าของทั้ง Alipay และ WeChat ในจีน ซึ่งทุกระบบถูกหลอกได้ด้วยหน้ากาก 3 มิติที่นักวิจัยพิมพ์มา และแน่นอนว่าการทดสอบทั้งหมดได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว นักวิจัยก็ย้ำด้วยว่าการมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบริเวณระบบตรวจสอบน่าจะช่วยป้องกันการใช้หน้ากากแบบนี้ได้

อย่างไรก็ตามระบบสแกนใบหน้าของแอปเปิลอย่าง Face ID หรือของ Huawei กลับผ่านการทดสอบนี้ (ไม่ถูกหลอก) เพราะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Structured Light Imaging ในการเก็บรูปใบหน้าแบบ 3 มิติด้วยการอาศัยแพทเทิร์นของแสงที่กระทบ


ที่มา: Blognone

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

Microsoft เผย 3 เทคนิค Phishing อันแนบเนียนที่ควรพึงระวัง

Microsoft ได้ออกรายงานแนวโน้มภัยคุกคามและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในปี 2019 ระบุว่า Phishing เป็นหนึ่งในไม่กี่รูปแบบการโจมตีที่ยังคงพบบ่อยมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ในขณะที่ Ransomware, Crypto-mining และมัลแวร์รูปแบบอื่นๆ เริ่มพบน้อยลง


ล่าสุด Microsoft ได้ออกมาเปิดเผยถึง 3 เทคนิคการโจมตีแบบ Phishing อันชาญฉลาดและมีความแนบเนียนซึ่งมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ดังนี้

1. ป่วนผลการค้นหาของ Search Engine


Phishing แบบแรกนี้อาศัยการโจมตีหลายขั้นตอนเพื่อป่วนผลการค้นหาของ Google ดังนี้
  • แฮ็กเกอร์รวมทราฟฟิกที่ไฮแจ็กมาจากเว็บไซต์ปกติทั่วไปมายังเว็บไซต์ที่ตนเองดูแลอยู่
  • เว็บไซต์นั้นๆ กลายเป็นผลลัพธ์ของการค้นหาที่อยู่บนสุดของ Google สำหรับคีย์เวิร์ดบางอย่าง
  • แฮ็กเกอร์ส่งอีเมลไปยังเหยื่อพร้อมกับลิงค์ที่เชื่อมโยงไปยังการค้นหาคีย์เวิร์ดนั้นๆ บน Google
  • ถ้าเหยื่อคลิกลิงค์การค้นหาคีย์เวิร์ดที่ส่งมา และเลือกเว็บไซต์บนสุด จะกลายเป็นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่แฮ็กเกอร์ควบคุมอยู่
  • เว็บไซต์ดังกล่าวจะเปลี่ยนเส้นทางของเหยื่อไปยังเว็บ Phishing
Microsoft ยังระบุอีกว่า การป่วนผลลัพธ์การค้นหาของ Google ให้ขึ้นไปติดอันดับบนสุดนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าใช้คีย์เวิร์ดแปลกๆ ที่ไม่มีคนค้นหากัน เช่น “hOJoXatrCPy.” นอกจากนี้ แฮ็กเกอร์ยังพรางการโจมตีโดยใช้การค้นหาตามสถานที่อีกด้วย เช่น จะแสดงผลเว็บ Phishing ก็ต่อเมื่อคลิกลิงค์ค้นหาคียเวิร์ดในทวีปยุโรปเท่านั้น เป็นต้น



2. ใช้ประโยชน์จากหน้า 404 Page Not Found


อีเมล Phishing มักมาพร้อมกับ Phishing URL สำหรับหลอกเหยื่อให้ตกหลุบพราง แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Microsoft ได้ตรวจพบแคมเปญ Phishing ที่แนบลิงค์ที่ชี้ไปยังเว็บเพจที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ Microsoft สแกนลิงค์ดังกล่าว จะได้รับการคืนค่าเป็น 404 Page Not Found ส่งผลให้ระบบจำแนกว่าลิงค์นั้นเป็นลิงค์ที่มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ถ้าเหยื่อ (ที่เป็นผู้ใช้จริงๆ ) เข้าถึง URL นั้นๆ เว็บ Phishing จะปลี่ยนเส้นทางไปยังหน้า Phishing แทนที่จะเป็นหน้า 404 Page Not Found


3. Phishing แบบ Man-in-the-Middle


Microsoft ระบุว่า Phishing รูปแบบนี้เป็นการยกระดับการปลอมตัวไปอีกขั้น โดยแทนที่แฮ็กเกอร์จะคัดลอกองค์ประกอบต่างๆ จากเว็บไซต์ต้นฉบับที่ต้องการปลอม กลายเป็นมีคนกลาง (Man-in-the-Middle) ทำการดักจับข้อมูลของบริษัทที่ต้องการจะปลอม เช่น โลโก้, แบนเนอร์, ข้อความ และภาพพื้นหลัง จาก Rendering Site ของ Microsoft แทน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้แทบจะเหมือนกับการเข้าเว็บไซต์ต้นฉบับทุกประการ เพิ่มความแนบเนียนได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังคงมีช่องโหว่ตรง URL ที่ยังคงเป็นของเว็บ Phishing ทำให้เหยื่อสามารถตรวจจับและหลีกเลี่ยงได้ถ้าระมัดระวังเพียงพอ

ที่มา: TechTalk

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

รู้จัก LINE Brain โครงการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของ LINE, สร้างฟอนต์เลียนแบบลายมือเราได้

ในยุคที่บริษัทไอทีทุกแห่งหันมาทำเรื่อง AI กันอย่างจริงจัง โฟกัสคงไปอยู่ที่บริษัทฝั่งอเมริกัน-จีนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว LINE ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีฝั่งเอเชีย (ลูกผสมเกาหลี-ญี่ปุ่น) ก็มีโครงการด้าน AI อย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อว่า LINE Brain

ตัวอย่างผลงานของ LINE Brain ที่เปิดให้ใช้กันแล้วคือ ฟีเจอร์ OCR แปลงรูปเป็นข้อความ พร้อมแปลภาษาให้ในตัว แต่ LINE ยังมีงานวิจัยด้านอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านเสียง วิดีโอ รูปภาพ ภาษา วิเคราะห์ใบหน้า

ในงาน LINE Developer Day 2019 มีเดโมของเทคโนโลยีบางตัวมาโชว์ให้ดูกัน


ตัวอย่างงานด้าน AI ของ LINE คือฟีเจอร์ Smart Channel ที่เป็นการ "แนะนำข้อมูล" ด้านบนสุดของหน้ารวมแชท (บ้านเรายังเป็นข่าวจาก LINE Today แต่ในญี่ปุ่นมีมากกว่านั้น เช่น สภาพอากาศ) ตรงนี้ใช้ระบบ recommendation engine ที่เกิดจากการทำ machine learning ทั้งฝั่งความสนใจของผู้ใช้ และรูปแบบของตัวคอนเทนต์ในระบบ แล้วค่อยมา match กัน


งานด้าน OCR เป็นสิ่งที่ทีม LINE Brain ให้ความสำคัญมาก โดยนำเดโมการใช้กล้องมือถืออ่านป้ายข้อความในโลกความเป็นจริง (ส่วนใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่น จากกลางเมืองโอซาก้า) และได้ความแม่นยำสูง เทคโนโลยีของ LINE คุยว่าแม่นยำกว่า Google Vision API ด้วยซ้ำ


เดโมอีกอันที่ LINE นำมาโชว์บนเวทีคือ การอ่านลายมือของมนุษย์ เรียนรู้แล้วสามารถเขียนลายมือแทนเราได้เลย (เหมาะกับการคัดข้อความส่งการบ้านมากๆ) ในเดโมบนเวทีนำเครื่องจักรมาจับปากกา แล้วเขียนลายมือให้ดูกันสดๆ ด้วย


เดโมอีกอันเป็นเรื่องเสียงพูด โดยมี LINE Duet บ็อตสำหรับคุยโทรศัพท์จองร้านอาหาร (เป็นภาษาญี่ปุ่น) ลักษณะคล้ายกับ Google Duplex เดี๋ยวเขียนเป็นข่าวแยกอีกอันครับ

สุดท้าย LINE ระบุว่าจะเปิดเทคโนโลยี AI ของทีม LINE Brain ให้บริษัทอื่นๆ ใช้งานด้วย (ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้) ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ LINE หันมาทำธุรกิจแบบ B2B นอกจากการให้บริการกับคอนซูเมอร์โดยตรง ด้วยเหตุผลว่างานด้าน AI ยังใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฝั่งคอนซูเมอร์ต้องใช้เวลานาน เพราะลูกค้าคอนซูเมอร์ก็ยังไม่เข้าใจตัวเองมากนักว่าอยากได้ผลิตภัณฑ์แบบไหน ต่างกับฝั่งลูกค้าองค์กรที่มี requirement ชัดเจน ทำให้ LINE เองก็เรียนรู้ไปด้วยว่าเทคโนโลยี AI มีจุดอ่อนยังไง เพื่อให้ปรับปรุงได้เร็วขึ้น


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

IBM รายงานการใช้แมคในบริษัทเทียบกับ Windows พนักงานลาออกน้อยกว่า 17%, ผลประเมินพนักงานดีกว่า 22%

ไอบีเอ็มรายงานผลการใช้เครื่องแมคในบริษัทที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2015 และหลังจากนั้นก็รายงานว่าค่าใช้จ่ายถูกลง ตอนนี้รายงานระยะยาวก็แสดงให้เห็นแนวโน้มการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน

ประเด็นที่น่าประหลาดใจคือ ไอบีเอ็มติดตามประสิทธิภาพการทำงานพนักงานโดยรวม พบว่าพนักงานที่ได้รับผลประเมินเกินคาดหวัง (exceed expectations) ฝั่งที่ใช้แมคนั้นสูงกว่าวินโดวส์ถึง 22%, ยอดขายเฉลี่ยของพนักงานใช้แมคดีกว่า 16%, และอัตราการลาออกของพนักงานใช้แมคต่ำกว่าวินโดวส์ 17%

ในแง่ของการซัพพอร์ต ไอบีเอ็มใช้วิศวกรซัพพอร์ต 7 คนต่ออุปกรณ์แมค 200,000 ชิ้น ขณะที่วินโดวส์ใช้ 20 คน กระบวนการอัพเดตมีอัตราพึงพอใจสูงกว่า, และอัตราการขอซัพพอร์ตหน้าเครื่องของแมคน้อยกว่าวินโดวส์ถึง 5 เท่าตัว


ที่มา: Blognone