วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563

Qt Company พิจารณาปิดซอร์สเวอร์ชั่นใหม่นาน 12 เดือน, อาจทำให้โครงการถูก fork

Olaf Schmidt-Wischhöfer จาก KDE เล่าถึงสถานะการณ์ของ Qt ไลบรารี GUI ที่เป็นแกนกลางของระบบเดสก์ทอป KDE ว่าบริษัทกำลังพยายามเร่งรายได้ระยะสั้น โดยความเป็นไปได้หนึ่งคือการปิดเวอร์ชั่นล่าสุดทั้งหมดไม่ให้โลกโอเพนซอร์สใช้งานเป็นระยะเวลา 12 เดือน

Qt เป็นไลบรารีที่พัฒนาโดยบริษัท Trolltech และเคยขึ้นถึงสุดสูงสุดคือโนเกียซื้อบริษัทไป เพื่อพัฒนาโทรศัพท์ในระบบปฎิบัติการ MeeGo แต่ก็ล้มเหลวและขายบริษัทแยกออกมา โดยบริษัทพยายามหารายได้จากการขายซัพพอร์ตตัวไลบรารีและเครื่องมือออกแบบ GUI

ก่อนหน้านี้ Qt Company เคยปิดเวอร์ชั่นซัพพอร์ตระยะยาว (LTS) ให้สำหรับลูกค้าที่ซื้อไลเซนส์เท่านั้น การปิดซอร์สเวอร์ชั่นล่าสุดจะทำให้ชุมชนฝั่ง KDE ได้ใช้โค้ดที่แก้ปัญหาช้ากว่าปกติ และอาจจะกลายเป็นการบีบให้ KDE ต้อง fork โครงการออกมาทำเอง

Olaf ระบุว่าสาเหตุที่บริษัทมีแนวโน้มจะตัดสินใจเช่นนี้เพราะเศรษฐกิจที่แย่ลงอย่างรวดเร็วจากโรค COVID-19 ทำให้ต้องเร่งทำรายได้ในระยะสั้น


ที่มา: Blognone

Bootstrap ประกาศแผนยกเลิกการรองรับ IE ในเวอร์ชันใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว

Bootstrap ซึ่งเป็น UI Framework ยอดนิยม ประกาศแผนยกเลิกการรองรับ Internet Explorer ใน Bootstrap 5 ที่จะเปิดตัวออกมาในปีนี้

 
หนึ่งในผู้พัฒนา Bootstrap ได้ออกมากล่าวใน Github ว่ามีแผนจะยกเลิกการรองรับ Internet Explorer ทั้งเวอร์ชัน 10 และ 11 ใน Bootstrap 5 ที่กำลังจะมีการเปิดตัวเร็วๆ นี้ ซึ่งการประกาศในครั้งนี้เป็นหนึ่งใน Milestone ของทาง Bootstrap อยู่แล้ว และการยุติการรองรับ IE นั้นจะทำให้สามารถพัฒนาฟีเจอร์อื่นๆได้เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม Bootstrap 4 จะยังคงรองรับการใช้งาน IE ต่อไป ปัจจุบัน IE นั้นมีส่วนแบ่งในตลาด Web Browser อยู่ที่ประมาณ 1-2% เท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อาจจะกระทบลูกค้าองค์กรเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก Microsoft จะยังคงสนับสนุนการใช้งาน IE11 ไปจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2025

จากการสำรวจของ W3Techs นั้น Bootstrap มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 20.4% เมื่อเทียบกับจำนวนเว็บไซท์ทั้งหมด หรือมากกว่า 20 ล้านเว็บไซท์จากการสำรวจของ BuiltWith

ที่มา: TechTalk

ไม่หวั่นแม้ร้านตัดผมปิด Xiaomi Youpin วางจำหน่ายปัตตาเลียนชาร์จแบตได้!


ช่วงนี้ผู้เขียนก็หัวรุงรัง และคิดว่าใครหลายๆ คนก็คงเป็นไม่แพ้กัน เพราะร้านตัดผมต่างปิดกันหมดตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่ต่อไปนี้คงไม่ต้องกลัวปัญหาร้านตัดผมปิดอีกเพราะ Xiaomi Youpin ก็วางจำหน่ายปัตตาเลียนให้สั่งซื้อแล้วจ้า

ร้านค้า Xiaomi Youpin บน Lazada ได้วางจำหน่ายปัตตาเลียนในชื่อ Xiaomi Enchen Electric Hair Trimmer Clipper


คุณสมบัติ

  • ทำงานด้วยปุ่มปุ่มเดียว สามารถเลือกระดับความยาวผมที่ต้องการได้ ตั้งแต่ 0.7 ถึง 21 มม.
  • หัวตัดเป็นเซรามิก แข็งแรงกว่าสแตนเลสธรรมดา 1.6 เท่า หากใช้โหมดทำงานตัดผมที่เร็วขึ้น จะทำให้เสียงดังและความร้อนสะสมน้อยกว่าแบบสแตนเลส โดยมีเสียงจากการทำงานน้อยกว่า 55 เดซิเบล
  • ความเร็วการทำงานเริ่มต้นอยู่ที่ 4,800 รอบต่อนาที แต่หากเป็นโหมดเทอร์โบจะเร่งรอบการทำงานสูงสุด 5,800 รอบต่อนาที ทำให้ตัดผมที่หนาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
  • หัวตัดใช้เทคโนโลยี ESM (Energy Smart Manager) ป้องกันผมติดใบมีด
  • ด้วยการออกแบบ R Type Rounded Corner Processing หรือฐานปัตตาเลียนแบบโค้งมน ทำให้ไม่เกิดอันตราย ปลอดภัยทุกมุมขณะการใช้งาน
  • มีให้เลือกสองสี ขาว และ ดำ
ที่สำคัญคือปัตตาเลียน Xiaomi Enchen Electric Hair Trimmer Clipper ใช้พอร์ต USB-C สำหรับการจ่ายไฟเข้า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ชื่นชมมาก เพราะสามารถใช้ที่ชาร์จสมาร์ตโฟนชาร์จได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนไปมาหลายสายครับ

สำหรับราคานั้นวางจำหน่ายบน Lazada – Xiaomi Youpin อยู่ที่ 498 บาท เป็นสินค้าจัดส่งจากต่างประเทศ อาจจะต้องรอสักพัก แต่ทั้งนี้บน Lazada และ Shopee ก็มีอีกหลายร้านที่ขายด้วยเช่นเดียวกัน สามารถเลือกหาราคาที่ถูกที่สุดได้ด้วยตัวเองนะครับ
 
ที่มา: Beartai

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563

เมืองซานฟรานซิสโกออกกฎ ห้ามเดลิเวอรีเก็บคอมมิชชันร้านอาหารเกิน 15%

ประเด็นเรื่องบริการส่งอาหารเดลิเวอรี คิดค่าคอมมิชชันหรือส่วนแบ่งรายได้ (GP) จากร้านอาหาร ไม่ได้มีเฉพาะในไทย บริการแบบเดียวกันในต่างประเทศก็มีโมเดลธุรกิจที่คิดค่าคอมมิชชัน 10-30% เช่นเดียวกัน (ตัวเลขของ Uber Eats คือ 25%)

ล่าสุด นายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก ออกมาประกาศบังคับไม่ให้บริการเดลิเวอรีเก็บค่าคอมมิชชันแพงกว่า 15% เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ของร้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ร้านอาหารต้องปิด และรายได้ส่วนใหญ่ของร้านมาจากการส่งเดลิเวอรีด้วย

ประกาศนี้มีผลในวันนี้ (13 เมษายน ตามเวลาสหรัฐ) และบังคับใช้ไปจนกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะสิ้นสุด ร้านอาหารกลับมาเปิดให้นั่งกินในร้านได้

ตัวอย่างบริการเดลิเวอรีในสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากประกาศนี้คือ Uber Eats, Postmates, Grubhub, DoorDash ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอย่าง DoorDash ก็ออกมาประกาศลดค่าคอมมิชชันลงครึ่งหนึ่งไปก่อนแล้ว


ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563

AIS ตั้ง Robotic Lab พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ให้โรงพยาบาลไทยใช้งาน

AIS ประกาศตั้งศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Lab ดึงนักวิจัยมาพัฒนาหุ่นยนต์ด้านการแพทย์, ระบบ 5G Telemedicine, โซลูชันงานบริการทางการแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย

 
ผลลัพธ์ของ AIS Robotic Lab จะขึ้นกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล ตัวอย่างผลงานที่เสร็จแล้วคือ
  • หุ่นยนต์ Telemedicine ชื่อ Robot for Care ช่วยคัดกรองคนไข้ด้วยการวัดอุณหภูมิ thermoscan ตอนนี้พัฒนาเสร็จแล้ว 21 ตัว จะนำส่งให้โรงพยาบาล 20 แห่งใช้งาน
  • ระบบปรึกษาทางไกลด้วย video call
 ที่มา: Blognone

Nuro เริ่มทดสอบรถขนส่งไร้คนขับในแคลิฟอร์เนียแล้ว


ยานพาหนะขนส่งไร้คนขับของ Nuro ได้รับการอนุญาตจากแผนกยานยนต์ของแคลิฟอร์เนีย หรือที่เรียกโดยย่อว่า DMV ให้สามารถทดสอบรถยนต์ไร้คนขับสำหรับการขนส่งไร้คนขับได้อย่างเต็มที่แล้ว

สำหรับการทดสอบของรถยนต์ไร้คนขับ Nuro จะได้รับการอนุญาตให้ทดสอบได้ในพื้นที่บางส่วนของ Santa Clara และ San Mateo รวมถึงพื้นที่ใน Silicon Valley ได้แก่ Mountain View, Palo Alto และ Sunnyvale โดยเบื้องต้นบริษัทได้จัดส่งของให้ฟรีในบริษัทที่ Nuro เลือกไว้ในพื้นที่ Mountain View

บริษัท Nuro ได้ใบอนุญาตสำหรับทดสอบรถยนต์ส่งของไร้คนขับตั้งแต่ปี 2017 แต่เฉพาะสนามสำหรับทดลองรถเท่านั้น การทดสอบขนส่งรถจริงๆ เพิ่งจะเริ่มขึ้นเท่านั้น

Nuro นับเป็นบริษัทที่สองที่ได้รับการอนุญาตทดสอบรถยนต์ไร้คนขับอย่างเต็มตัวถัดจาก Waymo ค่ะ

ที่มา: Beartai

สิ่งที่ไทยควรเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีสู้ Covid – 19 ของจีน


ในวันที่เริ่มมีการระบาดของ Coronavirus หรือ Covid – 19 ที่อู่ฮั่น จีนได้เร่งสร้างโรงพยาบาลภาคสนามขึ้นภายใน 10 วัน พร้อมกับขนเทคโนโลยีพร้อมกับทีมแพทย์เพื่อเตรียมรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมาก

ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างจับมือกันเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 แต่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของจีนกำลังใช้ Robot และ Telemedicine และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาด และเป็นกำลังเสริมให้กับเจ้าหน้าที่ช่วยต่อสู้กับวิกฤตนี้

โดยในช่วงที่รัฐบาลจีนสั่งให้ทุกคนอยู่บ้าน จีนใช้โดรนสำรวจเพื่อดูคนที่แอบฝ่าฝืนกฎ พร้อมติดตั้งลำโพงขนาดใหญ่ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสาร

ในพื้นที่โรงพยาบาลสนามอู่ฮั่นมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อลดภาระต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหุ่นยนต์เพื่อคุยกับแพทย์ และหุ่นยนต์ส่งอาหารและยา หุ่นยนต์เพื่อความบันทเทิง รวมทั้งหุ่นยนต์ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ  โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากบริษัท China Mobile และ CloudMinds

นอกจากนี้ จีนใช้อุปกรณ์ IoT อื่นๆ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิที่เชื่อมต่อเครือข่าย 5G โดยเครื่องจะแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที หากพบคนที่มีอุณภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ

ด้านการรักษา ผู้ป่วยจะสวมสร้อยข้อมือและแหวนอัจฉริยะที่จะซิงค์กับแพลตฟอร์ม AI ของ CloudMinds เพื่อตรวจดูสัญญาณชีพ อุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อเฝ้าระวังและลดภาระให้กับพยาบาลที่ต้องคอยวัดสัญญาณต่างๆ ในแต่ละวัน

โรงพยาบาลภาคสนามเป็นหนึ่งในหลายแห่งในอู่ฮั่น ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ป่วย 20,000 รายหากโรงพยาบาลทั่วไปมีภาระหนัก สถานที่และหุ่นยนต์ก็อยู่ในสถานะเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จีนยังได้ใช้หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสง UV ที่นำเข้าจากบริษัทในเดนมาร์ค เมื่อเปิดเครื่อง หุ่นยนต์จะเดินไปยังสถานที่ที่ถูกตั้งค่าไว้อัติโนมัติ เพื่อฆ่า Covid – 19  สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 99.9 เปอร์เซ็น ใช้งานได้ 2.5 ชั่วโมงหรือประมาณ 9-10 ห้อง มีเซนเซอร์ติดที่ตัวหุ่น หากพบเจอคนหุ่นจะหยุดทำงานทันที และจะทำงานต่อเมื่อคนไม่มีคนอยู่


Telemedicine ถูกหยิบใช้งานจริง ไม่ใช่แค่พูดถึง


Telemedicine นั้นเป็นเรื่องที่เราพูดกันมันหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรพัฒนามากขึ้น อาจเป็นเพราะไม่มีตัวเร่งปฏิกิริยา แต่เมื่อ Covid – 19 ระบาด มันบังคับโรงพยาบาลหลายที่ต้องปรับตัว

JD Health บริษัทย่อยของยักษ์ใหญ่ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ JD.com ได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริการสุขภาพออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่านับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส

ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์ว่ากฎของรัฐบาลกลางจะถูกยกเลิก เพื่อให้แพทย์จำนวนมากสามารถให้การดูแลผู้ป่วยผ่านวิดีโอแชทและวิธีการอื่นๆ ได้

โรงพยาบาล เช่น ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยในชิคาโก และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันในวอชิงตันดีซี กำลังใช้ Telemedicine เพื่อช่วยคัดกรองผู้ป่วย Coronavirus

สำหรับไทย อาจจะยังมีเทคโนโลยีนี้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ใช้หุ่นยนต์ปิ่นโตเพื่อช่วยส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยในพื้นที่

ส่วน Telemedicine มีใช้งานอย่างจริงจังแค่โรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น อย่างบำรุงราษฐ์ และ กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ทำให้มีแค่คนบางกลุ่มที่พอมีฐานะพอจะเข้าถึงการรักษาได้

ต้องยอมรับว่าไทยมีการปรับตัวรับ Covid – 19 ได้ดีหากเทียบกับประเทศแถบยุโรป แต่น่าเสียดายที่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือนับว่ามีน้อย ทั้งที่เรามีบุคคลากรด้านวิศวกรที่เก่งมากๆ

ที่มา: TechHub

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2563

Microsoft Edge มีส่วนแบ่งตลาดแซงหน้า Firefox ขึ้นเป็นเบราว์เซอร์อันดับ 2 แล้ว


Net Applications รายงานสถิติเว็บเบราว์เซอร์ประจำเดือนมีนาคม 2020 มีจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจคือ ส่วนแบ่งตลาดของ Microsoft Edge สามารถแซงหน้า Firefox ได้แล้ว ขึ้นมาเป็นเบราว์เซอร์อันดับสองของโลกเดสก์ท็อปแล้ว
  • เดือนกุมภาพันธ์ 2020 แชมป์เป็น Chrome แบบทิ้งห่างที่ 67.27% ตามด้วย Firefox 7.57% และ Edge 7.38%
  • เดือนมีนาคม 2020 Chrome ส่วนแบ่งเพิ่มอีกเล็กน้อยเป็น 68.50%, Edge แซงขึ้นมาที่ 7.59%, Firefox ตกลงไปเหลือ 7.19%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Edge มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นคือ Edge ตัวใหม่พลัง Chromium ออกรุ่นเสถียร และไมโครซอฟท์ก็ทยอยปล่อยอัพเดตให้ผู้ใช้ Windows 10 กัน

ส่วนแบ่งตลาดเบราว์เซอร์บนอุปกรณ์พกพา Chrome ก็ทิ้งห่างที่ 63.67% อันดับสองคือ Safari 26.46%, Samsung Browser 4.23% ส่วน Firefox บนมือถือมีส่วนแบ่งแค่ 0.57% เท่านั้น

ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

[COVID-19] สตาร์ตอัพสหรัฐปลดพนักงานแล้วเกือบ 4,000 ราย, อาจต้องปิดตัวอีกมาก

สำนักข่าว CNBC รวบรวมข้อมูลสตาร์ตอัพในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนต้องปลดพนักงาน พบว่ามีกว่า 40 บริษัทแล้ว ส่งผลกระทบต่อพนักงาน 3,800 คนที่ต้องตกงาน

สถานการณ์คนตกงานในสหรัฐอเมริกาล่าสุด มีคนตกงานมากกว่า 3.3 ล้านคนแล้ว และจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

นอกจากนี้ วงการนักลงทุน Venture Capital ก็เริ่มออกมาเตือนบรรดาสตาร์ตอัพแล้วว่า เงินทุนจะหายากมากขึ้น เราจึงจะได้เห็นการปิดกิจการของสตาร์ตอัพตามมาอีกระลอกใหญ่


ที่มา: Blognone

Ford ประกาศจะผลิตเครื่องช่วยหายใจอีก 50,000 เครื่องภายใน 100 วัน

Ford ประกาศจะผลิตเครื่องช่วยหายใจให้ได้ 50,000 เครื่องภายในระยะเวลา 100 วันนับตั้งแต่ 20 เมษายนเป็นต้นไป หลังเป็นพาร์ทเนอร์กับ GE Healthcare เพื่อนำเครื่องช่วยหายใจรุ่น GE/Airon โมเดล A-E มาผลิต โดย Ford ต้องรอการรับรองด้านกฎหมายในการเป็นผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจรุ่นดังกล่าวให้ GE

Ford ระบุว่าจะใช้โรงงานชิ้นส่วนในรัฐมิชิแกน ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตเครื่องช่วยหายใจได้ราว 30,000 เครื่องต่อเดือน โดย GE/Airon โมเดล A-E เป็นเครื่องช่วยหายใจที่ทำงานโดยอาศัยแรงดันลมทำให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการใช้งาน ทำให้สามารถใช้งานได้ทุกที่และค่อนข้างเหมาะสมสำหรับการใช้ในช่วงวิกฤติลักษณะนี้


ที่มา: Blognone