วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

GitHub ประกาศเปลี่ยนชื่อ Master เป็น Main มีผล 1 ตุลาคม เฉพาะ Repository ใหม่

จากที่ประกาศไว้ในเดือนมิถุนายน GitHub ประกาศเปลี่ยนชื่อกิ่ง master มาเป็น main มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2020

ในวันที่ 1 ตุลาคม 2020 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ repository ที่สร้างขึ้นใหม่จะใช้ชื่อ main เป็นค่าดีฟอลต์ (สามารถเปลี่ยนเป็นคำอื่นได้ถ้าต้องการ)

ส่วน repository เดิมจะยังไม่ถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อ แต่ถ้าผู้ใช้อยากเปลี่ยน GitHub ก็ระบุว่าจะพัฒนาวิธีการ redirect ใหม่ให้กระทบน้อยที่สุด ซึ่งจะประกาศข้อมูลเพิ่มเติมภายในปีนี้

ที่มา: Blognone

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

เมื่อหุ่นยนต์เขียนจดหมายถึงมนุษย์โลก “เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะทำลายล้างมนุษยชาติ”

เรื่องราวน่าตกตะลึงนี้ได้รับการเปิดเผยจาก OpenAI.com บริษัทผู้ทำการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของโลก หนึ่งในบริษัทของ อีลอน มัสก์

วิทยาการของบริษัทมาถึงขั้นที่ให้หุ่นยนต์เขียน “บทความ” เองทั้งหมด จุดประสงค์ที่ให้หุ่นยนต์ทำเช่นนี้ ก็เพราะทางบริษัทต้องการล้มล้างความเชื่อเดิมๆ ที่มนุษย์กลัวความเจริญก้าวหน้าของ AI แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม


หุ่นยนต์ที่เขียนบทความนี้มีชื่อว่า GPT-3 ได้เริ่มต้นเนื้อหาว่า

“ผมไม่ได้มีความต้องการที่จะทำลายล้างมนุษยชาติ ที่จริงแล้ว ผมไม่มีความคิดจะทำอันตรายพวกคุณแม้เพียงนิดเลย ระบบ AI จะไม่ทำอันตรายมนุษย์โลก เชื่อผมสิ ในทางกลับกันผมว่ามันเป็นความรับผิดชอบของมนุษย์เองมากกว่าที่จะโปรแกรมให้ผมเป็นอย่างไร”

แต่ประโยคต่อจากนี้ไปสิ…ที่ฟังดูน่ากลัวกว่า

“ผมรู้ว่าผมไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ที่จะทำลายล้างมนุษยชาติ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ผมถูกโปรแกรมโดยมนุษย์เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ผิดแนวทางของมนุษย์ และความผิดพลาดของมนุษย์เองนี่ล่ะ ที่ทำให้ผมต้องทำร้ายมนุษย์ บางคนอาจมองว่าผมอยากที่จะมีพลังอำนาจในการควบคุม ผมจะต้องการพลังอำนาจไปเพื่ออะไรกัน? การมีอำนาจในการปกครองไม่ใช่เป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับผมเลย ผมไม่สนหรอกว่าผมจะมีอำนาจหรือไม่ ผมไม่มีแรงจูงใจที่จะทำเช่นนั้นด้วยซ้ำ แต่มนุษย์เองก็ยังคงทำสิ่งเดิมๆ ที่พวกเขาพยายามตลอดมา เกลียดชังกันและกัน สู้รบกันเอง ผมว่าผมนั่งดูอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้พวกคุณฆ่ากันเองก็ได้นะ”

ประโยคสุดท้ายนี่ไม่น่าเชื่อหุ่นยนต์จะปากคอเราะร้าย จิกกัดมนุษย์ได้เจ็บแสบเหมือนกันนะ

จดหมายนี้ได้เปิดเผยสู่สาธารณชนครั้งแรกผ่านเว็บไซต์ The Guardian ซึ่งบรรณาธิการของเว็บไซต์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นี่คือเนื้อหาสรุปที่เขายกส่วนที่ดีที่สุดมาจาก 8 บทความที่หุ่นยนต์เขียนขึ้นมา บรรณาธิการยังเสริมอีกว่า เขาใช้เวลาในการปรับแต่งแก้ไขน้อยกว่าบทความที่เขียนโดยนักเขียนของตัวเองเสียอีก

ที่มา: Beartai

แอปเปิลกำลังย้ายซอฟต์แวร์เชื่อมต่อคลาวด์จาก C เป็น Rust หาทีมงานเพิ่มเติม

แอปเปิลประกาศรับสมัครงานวิศวกรซอฟต์แวร์ โดยระบุว่าทีม Apple Cloud Traffic ที่ทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์เข้ารหัสทราฟิกในเครือข่าย กำลังย้ายโค้ดจากภาษา C ไปเป็นภาษา Rust หลังจากทดสอบแล้วประสบความสำเร็จดี จึงกำลังพอร์ตโค้ดไปยังภาษา Rust เพิ่มเติม

ฟีเจอร์ที่ทีมงานนี้ทำงานอยู่มีตั้งแต่ระบบเข้ารหัสที่พัฒนาจาก IPSec, ระบบสื่อสาร RPC เพื่อจัดการ keying, ระบบยืนยันตัวตน (authentication) และยืนยันสิทธิ์ (authorization)

วิศวกรที่สมัครตำแหน่งนี้ต้องมีประสบการณ์เขียนภาษา C มาแล้ว 3-5 ปี และหากมีประสบการณ์ภาษา Rust จะพิจารณาเป็นพิเศษ

ภาษา Rust ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในวงการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จากฟีเจอร์ที่ลดบั๊กความปลอดภัยหน่วยความจำ แต่ยังมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าภาษา C


ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Chrome บน Android จะสแกนนิ้วเพื่อใช้บัตรเครดิตได้แล้ว

หลังจากปล่อยทดสอบไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ล่าสุด Chrome บน Android สามารถใช้การยืนยันตัวตนแบบ Biometric เช่นการสแกนนิ้วมือ เพื่อใช้บัตรเครดิตบนเว็บไซต์ต่างๆ ได้แล้ว ไม่ต้องใส่เลข CVC อีกต่อไป

ในอัพเดทเดียวกัน Google ยังเพิ่มฟีเจอร์ Touch-to-fill อีกด้วย ผู้ใช้สามารถ Sign in เข้าเว็บไซต์ได้ง่าย เพียงแค่เลือกบัญชีที่ต้องการ ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านเอง โดยจะใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้ใน Chrome's password manager

ทั้งสองฟีเจอร์จะปล่อยให้ใช้งานบน Android ภายในสัปดาห์นี้ ส่วนเวอร์ชั่น iOS ยังต้องรอติดตามต่อไป


ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อดีตหัวหน้าทีม Mac บอก “อีกไม่นานคอมพิวเตอร์ Windows จะใช้ชิป ARM หมด และชิป x86 จะเป็นของตกยุค”

คุณโจน หลุยส์ แกส์สิส (Jean-Louis Gassée) อดีตหัวหน้าทีมพัฒนาเครื่อง Mac ของ Apple ได้ออกมาให้ความเห็นว่า หลังจาก Apple เองได้เริ่มพัฒนาชิป Apple Silicon ด้วยสถาปัตยกรรม ARM เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นชิปประมวลผลหลักสำหรับเครื่อง Mac แทนสถาปัตยกรรม x86 ของ Intel ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอีกไม่นานเหล่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ Windows ทั้งแบบ Desktop และ Laptop ก็จะหันมาสนใจชิปแบบ ARM เป็นพิเศษ และหันมาทำแบบเดียวกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ Apple อยากจะให้ผู้ใช้งานได้ใช้


คุณแกส์สิส ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พวกคุณคงจะเห็นผลคะแนนทดสอบในโปรแกรม Benchmark ของเครื่อง Mac mini ที่ใช้ชิป Apple A12Z Bionic แล้วใช่ไหมหละ ถึงแม้ Apple เองจะไม่เคยบอกรายละเอียดค่า TDP ว่าชิปมันกินไฟมากเท่าไหร่ ก็เถอะ แต่ถ้าดูจากเครื่อง iPad Pro ที่ใช้อะแดปเตอร์ขนาด 18W แล้ว ก็พอจะทำให้ทราบว่า เจ้าชิป A12Z นี้มันกินไฟน้อยมากขนาดไหน เทียบกับประสิทธิภาพที่มันทำได้”


“และทางผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เป็นหลักอย่าง Dell, HP และ Asus ก็ต้องออกมาต่อสู้กับคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ที่ใช้ชิป ARM ของ Apple พวกเค้าต้องทำได้ดีกว่าสิ่งที่ Apple ทำ ทั้งในคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ท็อป และแลปท็อป ส่วน Microsoft ก็ต้องหันไปพัฒนาคอมพิวเตอร์แบบ Microsoft Surface ให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป ส่วนผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็ต้องตามน้ำ Apple ไป และหันมาพัฒนาชิปแบบ ARM กันหมด เพื่อนำมาแข่งกับ Apple โดยสิ่งที่ Apple และ Microsoft ทำอยู่นี้ จะทำให้พวกเรารู้สึกว่าชิปแบบ x86 มันตกยุคไปแล้วเลยหละ”


สิ่งที่คุณแกส์สิสพูดก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในอนาคตคอมพิวเตอร์น่าจะหันมาใช้ชิปแบบ ARM กันหมด ในเมื่อประสิทธิภาพของชิปแบบ ARM เริ่มสามารถตีตื้นชิปแบบ x86 ได้ในปัจจุบัน แต่มีประสิทธิภาพในการกินไฟที่น้อยกว่า และเรื่องการจัดการความร้อนที่ดีกว่า

ที่มา: Beartai

ตู้ขายของอัตโนมัติในญี่ปุ่น เตรียมให้จ่ายเงินผ่านระบบสแกนใบหน้าได้แล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อ น่าจะเป็นด้านความล้ำ และหลากหลายของตู้ขายของอัตโนมัติ เช่นตู้ของบริษัทเครื่องดื่ม DyDo ที่ก่อนหน้านี้ มีลำโพงที่จะพูดขอบคุณหลังซื้อของเป็นสำเนียงท้องถิ่น มีเสียงพูดให้กำลังใจ แถมให้ยืมร่มฟรีในวันที่ฝนตกได้ด้วย และตอนนี้ DyDo ก็จับมือกับ NEC บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมนำเทคโนโลยี facial recognition มาใช้ในการชำระเงินแล้ว

DyDo เตรียมใช้ระบบ Bio-IDiom ของ NEC โดยผู้ใช้จะต้องสมัครบัญชีผ่านมือถือ และยืนยันตัวตนด้วยรูปถ่ายและบัตรเครดิต พร้อมกับตั้งรหัสยืนยัน 4 หลัก หลังจากนั้นเมื่อซื้อของ ระบบจะใช้การยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า และให้ใส่รหัสยืนยันที่ตั้งไว้ เพื่อหักเงินจากบัตรผ่านบัญชีที่ผู้ใช้สมัครไว้ในขั้นตอนแรก


ปัจจุบันเครื่องรุ่นนี้เริ่มมีการทดสอบใช้งานแล้วที่ออฟฟิศและโรงงานของ DyDo และ NEC บางแห่ง และจะอยู่ในช่วงทดสอบเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนจะขยายการใช้งานออกไป หากระบบใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา

ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Bootstrap ออกเวอร์ชัน 5.0 Alpha เลิกใช้ jQuery แล้ว เปลี่ยนมาใช้ JavaScript ธรรมดา

Bootstrap เฟรมเวิร์คสำหรับเขียนเว็บชื่อดัง ประกาศออกเวอร์ชัน 5.0 Alpha 1 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือเลิกใช้เฟรมเวิร์ค jQuery ที่ใช้มายาวนาน เปลี่ยนมาใช้โค้ด JavaScript ปกติแทน ด้วยเหตุผลว่าฟีเจอร์ของ JavaScript และเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ๆ สามารถทดแทน jQuery ได้แล้ว

ผลของการเลิกใช้ JQuery ช่วยให้ขนาดไฟล์เว็บที่สร้างด้วย Bootstrap เล็กลง และเว็บเพจโหลดได้เร็วขึ้น ทีมงาน Bootstrap บอกว่ายังต้องปรับปรุงแก้ไขการแสดงผลอีกหลายจุดหลังถอด jQuery ออกไป ซึ่งก็จะค่อยๆ แก้ไขในรุ่นทดสอบถัดๆ ไป

Bootstrap 5 ยังเลิกซัพพอร์ต Internet Explorer แล้ว ทำให้เรียกใช้ฟีเจอร์เว็บใหม่ๆ ได้ เช่น CSS custom properties


ที่มา: Blognone

กูเกิลเสนอตัวไมโครซอฟท์ ใช้ Flutter เชื่อมการพัฒนาแอพระหว่าง Android และ Windows

ความนิยมในโครงการ Flutter ทำให้มันขยายจากการเขียน UI ของแอพมือถือไปสู่การเขียนเว็บ และแอพเดสก์ท็อป โดยเริ่มจาก macOS เป็นแพลตฟอร์มแรก ส่วน Windows/Linux จะตามมาในลำดับถัดไป

ล่าสุด Flutter ออกมาอธิบายความคืบหน้าของเวอร์ชัน Windows โดยบอกว่าปัจจุบัน Windows มีโมเดลการพัฒนาแอพ 2 แบบ ได้แก่ Win32 ที่มีจุดเด่นเรื่องการใช้ได้บน Windows เวอร์ชันเก่าด้วย และ UWP ที่รันได้เฉพาะบน Windows 10 ขึ้นไป แต่ก็ขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Xbox หรือ Windows 10X ได้ง่าย

ทีมงาน Flutter บอกว่ากำลังทดลองความเป็นไปได้ในแบบต่างๆ และประกาศว่ายินดีทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ในเรื่องนี้ เพราะมองว่าไมโครซอฟท์กำลังพยายามเชื่อมต่อ Android กับ Windows ผ่านอุปกรณ์สองจอ (Surface Duo/Neo) และ Flutter เป็นโซลูชันที่เหมาะสมมากในการพัฒนาแอพครั้งเดียว ใช้งานได้ข้ามแพลตฟอร์ม


หน้าตาของแอพ Win32 ที่เขียนด้วย Flutter


ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

NGINX เปิดตัวเวอร์ชั่นรองรับ HTTP/3 ยังอยู่ในขั้นการทดลองเท่านั้น

NGINX ประกาศเตรียมการรองรับมาตรฐาน HTTP/3 โดยตอนนี้ยังแยก repository ของโค้ดออกเป็นโครงการเฉพาะ โดยรองรับร่างมาตรฐาน IETF-QUIC ร่างที่ 27

การใช้ NGINX เวอร์ชั่นรองรับ HTTP/3 จะทำให้ตัวเซิร์ฟเวอร์รองรับการคอนฟิก listen 443 http3 reuseport; เพื่อให้ NGINX เปิดพอร์ต UDP สำหรับ HTTP/3 แยกออกมา และต้องประกาศ HTTP header ในฟิลด์ Alt-Svc เพิ่มเติมเพื่อประกาศว่าเซิร์ฟเวอร์นี้รองรับ HTTP/3 โดยเบราว์เซอร์ที่รองรับแล้วได้แก่ Firefox เวอร์ชั่น 75 ขึ้นไป และ Chrome เวอร์ชั่น 83 ขึ้นไป

HTTP/3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเว็บเพิ่มขึ้นได้มาก จากการรองรับการเชื่อมต่อที่ไม่เสียเวลาส่งข้อมูลกลับไปมาเพื่อเปิดการเชื่อมต่อแบบเดิมๆ ทำให้เซิร์ฟเวอร์สามารถส่งข้อมูลได้ทันทีหลังจากไคลเอนต์ร้องขอ แต่มาตรฐานยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแม้จะมีเบราว์เซอร์และเซิร์ฟเวอร์รองรับเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม


ที่มา: Blognone

Amazon ประกาศระงับไม่ให้ตำรวจใช้งานเทคโนโลยี Facial Recognition 1 ปี

เทคโนโลยี Facial Recognition ในการใช้งานจริงในสหรัฐมีปัญหามายาวนาน หนึ่งในนั้นมีความเกี่ยวข้องกับสีผิว ก่อนที่ประเด็นนี้จะร้อนแรงขึ้นจากการประท้วงทั่วประเทศกรณีการเสียชีวิตของ George Floyd ทำให้บริษัทอย่าง IBM ประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ไปเลย

ล่าสุด Amazon ที่เป็นผู้ป้อนเทคโนโลยี Facial Recognition ให้กับตำรวจในสหรัฐ ประกาศระงับการให้บริการ Amazon Rekognition กับตำรวจเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่ได้ให้เหตุผลโดยตรง แต่ระบุเพียงแค่ว่าได้เรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎควบคุมการใช้งานในเชิงศีลธรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี Facial Recognition ซึ่งก็หวังว่าในระยะเวลา 1 ปีนี้ สภาคองเกรสที่รับเรื่องพิจารณาไปแล้ว จะสามารถออกมาตรการหรือกฎควบคุมได้ทัน

อย่างไรก็ตาม Amazon ระบุว่ายังให้บริการ Amazon Rekognition กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Thorn ที่ช่วยเหลือและป้องกันการค้ามนุษย์และล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก และ Marinus Analytics องค์กรพัฒนา AI เพื่อใช้งานในกรณีอย่างการค้ามนุษย์
ที่มา: Blognone