วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Flask ออกรุ่น 2.0 ต้องการ Python 3.6 ขึ้นไปเท่านั้น


Flask เฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนาเว็บยอดนิยมบนภาษา Python ออกรุ่น 2.0 ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดคือการยกเลิกรองรับ Python 2 และ Python 3.5 ลงไป โดยทีมงานวางแผนว่าในอนาคตจะซัพพอร์ตเฉพาะ Python เวอร์ชั่นที่โครงการหลักยังซัพพอร์ตอยู่เท่านั้น

การอัพเกรดครั้งนี้มาพร้อมกับการเปลี่ยนเลขเวอร์ชั่นของโมดูลย่อยๆ ทั้งหมด ได้แก่

  • Flask 2.0: ซัพพอร์ตการทำงานแบบ asynchronous, รองรับ blueprint ซ้อนกันหลายชั้น, shell รองรับ tab completion
  • Werkzeug 2.0: ตัวเซิร์ฟเวอร์สำหรับ Flask ประสิทธิภาพการอ่านข้อมูลฟอร์มเร็วขึ้นมาก, ถอด jQuery ออกจากระบบดีบั๊ก
  • Jinja 3.0: ระบบ template รองรับ async เต็มตัว
  • Click 8.0: ระบบ shell ของ Flask รองรับ tab completion, ใส่สีข้อความ, ตรวจสอบออปชั่น
  • ItsDangerous 2.0: ไลบรารีเข้ารหัสข้อมูล รองรับการเปลี่ยนกุญแจตามช่วงเวลา โดยใช้กุญแจเป็นชุด

การเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน ทางทีมงานระบุว่าน่าจะไม่มีปัญหาความเข้ากันได้กับโค้ดที่เขียนบนเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ แต่หลังจากออกเวอร์ชั่นจริงแล้วก็จะตรวจสอบหาจุดที่มีปัญหาต่อไป

ที่มา: Blognone

กรณีศึกษา การย้ายโค้ด COBOL เดิมมาเป็นภาษายุคใหม่ มีทางออกอย่างไรบ้าง?

ภาษา COBOL กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในช่วง COVID-19 จากกรณีรัฐนิวเจอร์ซีย์ขอโปรแกรมเมอร์ COBOL เข้าไปช่วยแก้ระบบสวัสดิการช่วง COVID-19 ทำให้โลกกลับมาสนใจโค้ดเดิมที่เขียนไว้หลายสิบปีแล้ว และสนใจว่าจะหาทางแก้ปัญหาในระยะยาวได้อย่างไร

เว็บไซต์ InfoWorld รวบรวมข้อมูลประเด็นการย้ายระบบ COBOL ว่ามีหลายแนวทาง ตั้งแต่การเขียนใหม่ทั้งหมด (rewrite) ซึ่งมีข้อเสียว่าโค้ดเก่า 30 ปี เอกสารไม่มี อาจไม่มีใครเข้าใจมันอีกแล้ว ไปจนถึงการยกโค้ดเก่ามารันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ (lift-and-shfit) ซึ่งมีข้อเสียว่าไม่สามารถปรับซอฟต์แวร์เพื่อสนองความต้องการของคนรุ่นนี้ได้อีก

ทางเลือกที่อยู่ตรงกลางคือ code refactoring ที่ยังคง logic ทางธุรกิจเดิมเอาไว้ แต่ปรับโค้ดให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ไม่ผูกติดกับฮาร์ดแวร์มากเหมือนเดิม ซึ่งมีกรณีศึกษา 2 กรณีคือ

  • กระทรวงแรงงานและบำนาญของอังกฤษ (UK Department of Work and Pension) เคยพยายามเขียนโค้ด COBOL จำนวน 25 ล้านบรรทัดใหม่มาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายหันมาใช้ Micro Focus Visual Cobol ซึ่งเป็นภาษา COBOL เวอร์ชันใหม่ มีฟีเจอร์อย่างภาษาสมัยใหม่แทน ผลคือลดภาระการดูแล และประสิทธิภาพของระบบดีขึ้นมาก โค้ดย้ายจากเมนเฟรม VME มาเป็นลินุกซ์ RHEL และภายหลังจะย้ายมารันบน AWS ด้วย
  • หนังสือพิมพ์ The New York Times เดิมรัน COBOL บนเมนเฟรม IBM Z ใช้อีกวิธีคือแปลงโค้ดมาเป็น Java ด้วยเครื่องมือ automated refactoring ของบริษัท Modern Systems ใช้เวลาแปลงทั้งหมด 2 ปี ตอนแรกรันบนเซิร์ฟเวอร์ภายใน ภายหลังย้ายมาบน AWS เช่นกัน ลดต้นทุนค่าดูแลลงได้ 70%

ข้อมูลของ The New York Times มีเป็นกรณีศึกษาบนเว็บไซต์ของ AWS 

หน้าตาของ Micro Focus Visual Cobol ที่รันอยู่ใน Visual Studio (รองรับ Eclipse ด้วย)


Tech Stack ของ The New York Times ระหว่างเก่ากับใหม่


ที่มา: Blognone

Google โชว์งานวิจัยใหม่ ปรับแสงตกกระทบคนในภาพเอง เปลี่ยนฉากหลัง คนก็ไม่ดูลอย!

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยตัดต่อรูปภาพจากบนพื้นหลังหนึ่ง ไปยังอีกพื้นหลังหนึ่งแบบง่ายๆ ด้วยโปรแกรมตัดต่อรูปภาพอย่าง Adobe Photoshop หรือ GIMP ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ว่าภาพที่ได้ออกมานั้น อาจจะดูลอยๆ ผิดกับการไปถ่ายในสถานที่จริงๆ ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบที่มีส่วนสำคัญนั่นก็คือแสงของภาพนั่นเอง ที่จะมีการเปลี่ยนไปตามแสงแวดล้อม ทำให้การตัดต่อแบบปกตินั้น จะให้ความเสมือนจริงได้ยาก

Google ได้ผุดงานวิจัยใหม่ขึ้นมาที่ชื่อว่า Total Relighting งานวิจัยสำหรับการปรับแสงในรูปภาพในการตัดต่อจากพื้นหลังหนึ่งไปยังอีกพื้นหลังหนึ่งให้มีความเสมือนจริงมากขึ้น โดยจะแบ่งเป็นหลักๆ ใน 2 ขั้นตอน การตัดภาพจากพื้นหลังเดิม และปรับแสงเพื่อนำไปวางบนภาพใหม่


การตัดภาพคนออกจากพื้นหลังจะมีการใช้โมดูลที่ชื่อว่า Human Matting ในการหารูปตัวคนด้วยอัลกอริทึมต่างๆ เพื่อตัดภาพออกมาก่อน


ต่อมาจะมีการนำไปปรับแสงให้เข้ากับพื้นหลังที่ต้องการเปลี่ยน โดยจะใช้โมดูลที่ชื่อว่า Relighting ที่มีโมเดลต่างๆ อยู่ภายใต้โมดูลนี้อยู่หลายตัว ที่จะมีส่วนสำคัญในการปรับแสงด้วยเช่นกัน ได้แก่ Geometry Net, Albedo Net, และ Shading Net


โดย Geometry Net จะทำหน้าที่วัดค่าต่างๆ เช่นความลึกเพื่อสร้างเป็นโมเดลรูปคนขึ้นมา จากนั้น Albedo Net จะทำการวัดค่าแสงที่กระทำต่อพื้นผิวต่างๆ และสุดท้ายใน Shading Net จะมีการคำนวณค่าแสงของพื้นหลังใหม่ ที่จะกระทำต่อพื้นผิวของตัวคน ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อรวมผลลัพธ์ที่ได้เป็นภาพคนบนพื้นหลังใหม่ที่ถูกปรับแสงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว


งานวิจัยนี้ระบุว่ายังมีขีดจำกัดในการใช้งานอยู่ เช่น ลายเสื้อผ้า แสงสะท้อนจากตา รวมถึงการปรับแสงในวิดีโอที่ยังไม่เสถียร เนื่องจากเป็นการปรับแสงแบบทีละเฟรม

ในการใช้งานนั้นต้องการเพียงแค่รูปภาพคนต้นฉบับ และภาพพื้นหลังใหม่เท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องตัดพื้นหลังออกก่อนด้วย โดยอัลกอริทึมนี้ก็จะทำทุกอย่างทั้งตัดพื้นหลังและปรับแสงเพื่อนำไปวางบนพื้นหลังใหม่ให้อย่างเรียบร้อย


ทั้งนี้งานวิจัยนี้ยังไม่มีการเปิดใช้งานอย่างสาธารณะ และเตรียมตัวที่จะนำเสนอในงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับด้านกราฟิก SIGGRAPH 2021 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-13 สิงหาคมนี้

สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ augmentedperception.github.io/total_relighting 

ที่มา: Beartai

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564

Figma แอปออกแบบ UI/UX เปิดตัว FigJam กระดานไวท์บอร์ดให้นักออกแบบระดมสมองช่วยกัน

Figma แอปออกแบบ UI/UX เปิดตัว FigJam เป็นไวท์บอร์ดให้นักออกแบบระดมความคิดร่วมกัน ก่อนจะนำไอเดียไปออกแบบชิ้นงาน ผู้ใช้สามารถแปะโพสต์อิท รวมถึงเขียนและวาดเพิ่มเติมได้ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังประชุมระดมสมองกันอยู่โดยเขียนบนกระดานไวท์บอร์ดจริงๆ

นอกจากนี้ Figma ยังเพิ่มฟังก์ชั่น voice chat ลงไปในทั้ง Figma และ FigJam นักออกแบบไม่จำเป็นต้องเปิดห้องประชุมใน Zoom หรือ Google Meet เพื่อคุยงานกันกัน แต่สามารถกดอัดเสียงส่งไปได้เลย


ที่มา: Blognone

Node.js ออกเวอร์ชัน 16.0 รุ่นเลขคู่ของปี 2021

Node.js ออกเวอร์ชันเลขคู่ประจำปี 2021 คือ Node.js 16.0.0 โค้ดเนม Gallium ที่จะกลายเป็นเวอร์ชันซัพพอร์ตระยะยาว (LTS) ในอนาคต

ปกติแล้ว Node.js ออกเวอร์ชันใหม่ปีละ 2 รอบคือ รุ่นเลขคู่ในเดือนเมษายน และรุ่นเลขคี่ในเดือนตุลาคม โดยรุ่นเลขคู่จะเข้าสถานะ LTS เมื่อรุ่นเลขคี่ออกตามมา (เช่น 16.x จะเป็น LTS เมื่อ 17.0 ออก)

ของใหม่ใน Node.js 16.0 คือรองรับ Apple Silicon, ปรับมาใช้เอนจินจาวาสคริปต์ V8 เวอร์ชัน 9.0, เพิ่ม Timers Promises API, เลิกซัพพอร์ต Python 2 เป็นต้น

Node.js จะมีรุ่นที่ซัพพอร์ตพร้อมกันครั้งละ 3 รุ่น ปัจจุบันคือ 10.x, 12.x, 14.x เมื่อออกรุ่นใหม่คือ 16.0 จะทำให้รุ่น 10.x สิ้นสถานะซัพพอร์ตตอนสิ้นเดือนเมษายนนี้


ที่มา: Blognone

FBI ใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า ค้นหาและจับกุมผู้ชุมนุมที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ จากรูปบน IG ของแฟนสาว

Huffington Post เปิดเผยบันทึกการจับกุม จากเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI กรณีจับกุม Stephen Chase Randolph ผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาสหรัฐฯ (USCP) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 โดยใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า เทียบภาพจากเหตุการณ์กับภาพบนอินเทอร์เน็ต จนพบรูปเขาบน IG ของแฟนสาว ก่อนจะสืบสวนและเข้าจับกุมได้ในที่สุด

ในรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่รวบรวมภาพเหตุการณ์จากวิดีโอบน Instagram แสดงเหตุการณ์ชายหนุ่มสวมหมวกสีเทาคนหนึ่ง เข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยการผลักรั้วกั้นไปกระแทกจนเจ้าหน้าที่ล้มหัวฟาดบันได และหมดสติ ในการชุมนุมวันที่ 6 มกราคม 2021 ก่อนนำภาพใบหน้าชายสวมหมวกสีเทาจากแอคเคาท์ @SeditionHunters แอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่เผยแพร่ใบหน้าผู้ชุมนุมรัฐสภาสหรัฐฯ มาเทียบ และพบว่าเป็นชายหนุ่มคนเดียวกับในวิดีโอ

เจ้าหน้าที่ FBI จึงใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้าแบบ open source เพื่อเทียบใบหน้าของเขากับรูปภาพบนอินเทอร์เน็ต ก่อนจะพบภาพ Stephen สวมหมวกสีเทาแบบเดียวกับในวันชุมนุม บนโพสต์ Instagram ที่เปิดเป็นสาธารณะของแฟนสาวเขา และต่อยอดการสืบไปจนพบชื่อจริงของเขาจากบัญชี Facebook คนในครอบครัว และตรวจสอบยืนยันอีกครั้งจากใบขับขี่ของรัฐ

จากนั้น FBI จึงส่งเจ้าหน้านอกเครื่องแบบไปเฝ้าดูหน้าที่ทำงานของเขา และทำทีเข้าไปชวนพูดคุยเพื่อถามถึงเหตุการณ์การชุมนุม จน Stephen หลุดปากพูดว่าเข้าร่วมการชุมนุมจริง บอกว่ามันสนุกมาก และยอมรับว่าเห็นเจ้าหน้าที่ถูกผลักจนหัวฟาดนอนกองอยู่กับพื้น และหลังจากนั้นเขาจึงถูกตำรวจรัฐเคนทัคกี้เข้าจับกุมในที่สุด

ในบันทึกการจับกุมไม่มีการเปิดเผยชื่อซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า open source ที่ FBI ใช้ แต่หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา เริ่มมีความนิยมใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้าทั้ง open source และแบบต้องจ่ายเงินใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมคือ Clearview AI ซึ่ง Buzzfeed เคยรายงานว่า มีหน่วยงานที่รับงบประมาณจากรัฐกว่า 1,803 หน่วยงาน รวมถึงตำรวจท้องถิ่นและตำรวจรัฐ ได้ทดลองใช้งานซอฟต์แวร์นี้ไปแล้วเมื่อช่วงปี 2018 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 และมีความเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้านี้ อาจถูกนำมาใช้เพื่อสืบสวนและจับกุมผู้ต้องสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ที่มา: Blognone

Microsoft Outlook เพิ่มการตั้งค่า ให้แต่ละการประชุม มีเวลาระยะเวลาพักเบรก ก่อนประชุมถัดไป

ไมโครซอฟต์อัพเดต Outlook ในส่วนการตั้งค่า ให้สามารถกำหนดระยะเวลาพัก ระหว่างการนัดหมายแต่ละการประชุม โดยไมโครซอฟต์บอกว่าได้ทำการศึกษาวิจัย พบว่าการให้แต่ละคนได้พักระหว่างแต่ละนัดหมายการประชุม จะช่วยให้ประสิทธิภาพสมองดีขึ้น

การกำหนดระยะเวลาพักระหว่างแต่ละกำหนดนัดหมาย สามารถตั้งค่าพื้นฐานได้ทั้งในระบบองค์กรหน่วยงาน หรือในระบบผู้ใช้งานแต่ละคน เช่น เมื่อกำหนดให้มีการพัก 5 นาที ก่อนเริ่มการประชุม สำหรับการประชุมระยะเวลา 30 นาที เมื่อมีการนัดหมายที่ปกติความยาว 30 นาที Outlook จะลดเวลาลง 5 นาที เป็นต้น


ที่มา: Blognone

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

Firefox 88 Beta รองรับ HTTP/3 เป็นค่าดีฟอลต์


Firefox 88 Beta เริ่มเปิดใช้ HTTP/3 เป็นค่าดีฟอลต์ โดยจะเปิดให้ทุกคนใช้งานในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2021

HTTP/3 เป็นโพรโทคอลใหม่ล่าสุดที่ออกเป็นมาตรฐานในปี 2018 (HTTP/3 เกิดที่กรุงเทพ) โดยพัฒนามาจากข้อเสนอ QUIC ของ Chrome ทำให้เบราว์เซอร์ตระกูล Chrome/Chromium ทั้งหมดรองรับ HTTP/3 มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2020

การรองรับ HTTP/3 ของ Firefox ทำให้ตอนนี้เหลือแต่ Safari เป็นเบราว์เซอร์รายใหญ่รายเดียวที่ยังไม่รองรับแบบดีฟอลต์ (รองรับแล้วในเวอร์ชัน Safari Technology Preview)

บทความอ่านประกอบ: อธิบายโพรโทคอล HTTP/3 แตกต่างจาก HTTP/1, HTTP/2, SPDY, QUIC อย่างไร 

ที่มา: Blognone

อีลอน มัสก์ เผย Starlink จะให้บริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่เต็มรูปแบบภายในสิ้นปีนี้

เดือนมีนาคม SpaceX ได้ยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐอเมริกา (FCC) เพื่อขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม Starlink ไปสู่ยานพาหนะที่เคลื่อนที่ นั่นก็คือ รถบรรทุก เรือ และเครื่องบิน ให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในทุกที่

ในขณะนั้นซีอีโอ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เปิดเผยว่ารถยนต์ของ Tesla ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต Starlink แบบเคลื่อนที่ได้ เพราะเสาอากาศใหญ่เกินไป ซึ่งเหมาะกับเครื่องบิน เรือ รถบรรทุก และรถบ้าน ดังนั้นใครที่คิดว่ารถยนต์ของ Tesla จะได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต Starlink แบบเคลื่อนที่ เช่น การสตรีมวิดีโอ และการอัปเดตซอฟต์แวร์ผ่านดาวเทียมได้โดยตรง ก็ขอให้รอการปรับปรุงชุดรับสัญญาณ

ล่าสุดมีผู้ติดตามบรอดแบนด์ของ Starlink สงสัยว่าการใช้งานจะถูกล็อกอยู่ในตำแหน่งเดียว หรือในอนาคตผู้ที่มีจานรับสัญญาณมาตรฐานแบบเดิมที่เรียกว่า Dishy McFlatface จะสามารถติดตั้งไว้บนรถบ้าน หรือเคลื่อนย้ายไปใช้ในบ้านข้ามเขตพื้นที่ ซึ่ง Musk เผยว่า Starlink จะใช้งานแบบเคลื่อนที่อย่างเต็มรูปแบบได้ปลายปีนี้ ซึ่งจะติดตั้งบนรถบ้านหรือรถบรรทุกก็ได้ตามสะดวก แต่ขณะนี้กำลังรอการปล่อยดาวเทียมให้ครอบคลุมพื้นที่และอัปเกรดซอฟต์แวร์ที่สำคัญเพิ่มเติมด้วย

สรุปง่ายๆ ว่า Starlink ยังคงให้บริการเฉพาะในพื้นที่ที่ผู้ใช้กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการสมัคร และภายในสิ้นปี ก็จะสามารถให้บริการแบบเคลื่อนที่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ Gwynne Shotwell ประธานของ SpaceX เปิดเผยว่าในอีกไม่กี่เดือนหลังจากภารกิจ v1.0 L28 ก็จะมีดาวเทียม Starlink ในวงโคจรมากกว่า 1,600 ดวง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปิดให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ครอบคลุมได้ทั่วโลก และคาดว่าต่อจากนั้นก็จะมีการทดสอบระบบและอัปเกรดซอฟต์แวร์ตามที่ Musk เผยเอาไว้

ที่มา: Beartai

Parallels Desktop 16.5 ออกแล้ว รองรับ Windows 10 และ Linux เวอร์ชัน ARM บนแมค M1

Parallels Desktop ซอฟต์แวร์ Virtualization ยอดนิยมบนแมค ออกเวอร์ชัน 16.5 นับเป็นรุ่นแรกที่รองรับทั้งแมคที่ใช้ชิป Apple M1 และ Intel ช่วยให้ผู้ใช้เครื่องแมคที่ใช้ชิป Apple M1 สามารถใช้งาน Windows 10 on ARM และ Linux เวอร์ชัน ARM64 รวมถึงโปรแกรมและเกมแบบ 32 บิตบน Windows ได้อย่างสมบูรณ์

ผลการทดสอบบนเครื่องที่ใช้ชิป Apple M1 พบว่าการใช้พลังงานลดลงสูงสุด 250% เมื่อเทียบกับ MacBook Air 2020 ประสิทธิภาพกราฟิค (DirectX 11) ดีขึ้น 60% เมื่อเทียบกับ MacBook Pro ที่ใช้ Radeon Pro 555X และประสิทธิภาพการรัน VM Windows ดีขึ้น 30% เมื่อเทียบกับ MacBook Pro ที่ใช้ซีพียู Intel Core i9

นอกจากนี้ Parallels Desktop 16.5 for Mac ยังรองรับการรัน Linux หลากหลายตัวอาทิ Ubuntu 20.04, Kali Linux 2021.1, Debian 10.7 และ Fedora Workstation 33-1.2

ผู้ใช้ที่มีไลเซนส์ของ Parallels Desktop 16 สามารถอัพเดทได้ฟรีตั้งแต่วันนี้ สำหรับผู้ถือไลเซนส์รุ่นเก่าอัพเกรดได้ในราคา 49.99 ดอลลาร์ จากราคาเต็มเริ่มต้นที่ 79.99 ดอลลาร์


ที่มา: Blognone