วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Amazon ล้มดีล เลิกย้ายซอฟต์แวร์ HR จาก PeopleSoft มาเป็น Workday

รอบเดือนที่ผ่านมา วงการซอฟต์แวร์สาย HR มีประเด็นข่าวที่น่าสนใจคือยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ตัดสินใจเลิกใช้ซอฟต์แวร์ Workday Human Capital Management ของบริษัท Workday ส่งผลให้หุ้นของ Workday ตกลงทันที

เดิมที Amazon ใช้ซอฟต์แวร์ Oracle PeopleSoft จัดการพนักงาน แต่ช่วงหลังเมื่อสายสัมพันธ์ของ Amazon กับ Oracle แย่ลง จนเลิกใช้ซอฟต์แวร์ Oracle หลายตัว ทำให้เมื่อปี 2017 Amazon เซ็นสัญญาย้ายไปใช้ Workday แทน ซึ่งถือเป็นชัยชนะของ Workday ที่ได้ลูกค้าใหญ่ระดับ Amazon

แต่เวลาผ่านมาหลายปี Amazon กลับไม่สามารถย้ายระบบมาเป็น Workday ได้ (ด้วยเหตุผลที่ไม่ระบุชัดเจนต่อสาธารณะ แต่ก็มีลือกันว่าเป็นเรื่องประสิทธิภาพของระบบ) กลับยังต้องใช้ PeopleSoft ต่อไป และสุดท้าย Amazon ต้องล้มเลิกแผนการย้ายมาใช้ Workday ไปเมื่อ 18 เดือนก่อน (Workday ระบุว่าบริษัทลูกของ Amazon บางแห่งใช้ Workday แล้ว เช่น Twitch, Audible, Whole Foods)

ในแถลงการณ์ของ Workday เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ระบุว่าเป็นการตัดสินใจร่วมกันของทั้งสองบริษัท และ Workday ยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีของ Amazon Web Services ต่อไป

แต่หลังจากนั้นไม่นาน สัปดาห์ที่แล้ว Workday ก็แถลงข่าวร่วมกับ Google Cloud ในฐานะพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่การใช้ซอฟต์แวร์ Workday HCM บน Google Cloud รวมถึงการทำตลาด และการพัฒนาโซลูชันร่วมกันในอนาคต

ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เมนูคลิกขวา Windows 11 ออกแบบใหม่ สั้นลง จัดระเบียบครั้งแรกนับจาก Windows XP

ไมโครซอฟท์อธิบายเบื้องหลังการออกแบบเมนูคลิกขวา (context menu) ของ Windows 11 ที่แตกต่างจาก Windows 10 อยู่พอสมควร การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือลดขนาดของเมนูให้สั้นลง จัดกลุ่มคำสั่งแบบเดียวกันไว้ด้วยกัน ย้ายคำสั่งที่ใช้บ่อยๆ เช่น Cut, Copy, Paste, Rename ไปไว้ด้านบนสุดของเมนู

ไมโครซอฟท์บอกว่า เมนูคลิกขวาไม่เคยถูกจัดระเบียบเลยนับตั้งแต่ Windows XP เป็นต้นมา มีหลายคำสั่งที่ไม่ค่อยมีคนใช้งาน และแอพที่ติดตั้งในระบบสามารถเพิ่มคำสั่งเข้ามาได้ไม่จำกัด

การแก้ไขของ Windows 11 จึงจัดกลุ่มคำสั่งของแอพ (app extensions) เข้าด้วยกัน และนำคำสั่งที่ไม่ค่อยมีใครใช้ไปรวมกันในกลุ่ม Show more options ที่จะโหลดเมนูเพิ่มในตอนหลัง ช่วยให้การโหลดเมนูเร็วขึ้น


เมนูของ Windows 10


เมนูของ Windows 11


นอกจากเมนูคลิปขวาแล้ว Windows 11 ยังปรับหน้าตาของ Share Dialog ใหม่ด้วยเล็กน้อย จัดกลุ่มของ Nearby Sharing ใหม่ และเปิดให้แอพต่างๆ เข้ามาเรียกใช้ Share Dialog ของ OS ได้ง่ายขึ้น เว็บแอพที่เป็น PWA ก็สามารถใช้งาน Share Dialog ได้ด้วย


ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Visual Studio 2022 for Mac เปิดทดสอบกลุ่มปิด, ใช้ UI แบบเนทีฟของ macOS แล้ว


ไมโครซอฟท์เริ่มเปิดทดสอบ Visual Studio 2022 ฝั่งพีซีมาสักพัก
ฝั่งของ Visual Studio 2022 for Mac ก็เริ่มเปิดทดสอบแบบ Private Preview กันแล้ว

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดของ Visual Studio 2022 for Mac คือการปรับมาใช้ UI แบบเนทีฟของ macOS โดยตรง ช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานดีขึ้น ลื่นขึ้น แก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพและเสถียรภาพ รวมถึงได้ฟีเจอร์ด้าน accessibility จากตัว OS โดยตรงด้วย

ไมโครซอฟท์บอกว่าขอเวลาแก้บั๊กสำคัญๆ อีกระยะหนึ่ง และจะเปิดทดสอบแบบ Public Preview ตามมาในไม่ช้า

ที่มา: Blognone

Apple ชะลอแผนให้พนักงานกลับมาที่ออฟฟิศ เหตุไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาดมากขึ้น!


เมื่อเดือนมิถุนายน ทิม คุก (Tim Cook) ประกาศว่า Apple จะเริ่มต้นสภาวะการทำงานแบบไฮบริด โดยให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ในเดือนกันยายน ซึ่งมีพนักงานบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าว ล่าสุด Apple ได้ชะลอการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศออกไป เพราะที่อเมริกามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 รายต่อวัน

Apple ประกาศว่าสภาวะการทำงานแบบไฮบริดจะถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อย 1 เดือน คือ เริ่มต้นเร็วที่สุดในเดือนตุลาคม แม้พนักงานของบริษัทจะยังคงไม่เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าวก็ตาม

แม้ Apple จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่าง iPad Pro รุ่นใหม่ โดยปล่อยโฆษณาที่ชูข้อดีของในเรื่องความยืดหยุ่นของการทำงานนอกสถานที่ แต่บริษัทกลับมีนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยบริษัทต้องการให้พนักงานมาเจอหน้าและทำงานด้วยกัน เพื่อให้สามารถสรรค์สร้างไอเดียดีๆ สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต ในขณะที่บริษัทอย่างเฟซบุ๊กมีนโยบายให้พนักงานกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทเปลี่ยนไปทำงานนอกสถานที่ถาวรภายใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า หรือ Google ที่คาดการณ์ว่า จะมีพนักงานประมาณ 20% ที่เลือกจะทำงานนอกสถานที่ต่อไป แม้บริษัทจะอนุญาตให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจชะลอการกลับมาทำงานในออฟฟิศก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพนักงาน เพราะจะสามารถลดโอกาสในการติดและแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ อีกทั้งการประกาศล่วงหน้าหลายเดือนยังทำให้พนักงานสามารถเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้

ที่มา: Beartai

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Chrome เตรียมขึ้นเตือนหน้า HTTP ไม่ปลอดภัยเสมอ, เลิกแสดงกุญแจบน HTTPS

โครงการ Chromium ประกาศแนวทางทดสอบหน้าจอแสดงโปรโตคอล HTTP/HTTPS ให้การเข้ารหัสเป็นเรื่องปกติยิ่งกว่าตอนนี้ หลังจากสำรวจพบว่าเว็บมากกว่า 90% เข้ารหัสแล้ว โดยมีสองแนวทางหลักที่จะปรับให้การเข้ารหัสเป็นเรื่องปกติยิ่งขึ้น
  • เลิกแสดงไอคอนกุญแจ ทุกวันนี้เมื่อเราเข้าเว็บ HTTPS เบราว์เซอร์จะแสดงรูปกุญแจยืนยันว่าการเชื่อมต่อเข้ารหัสอยู่ แต่ภายใน Chrome 93 กูเกิลจะเริ่มทดสอบไม่แสดงรูปกุญแจอีกต่อไป แต่เป็นไอคอนลูกศรลงเพื่อให้ผู้ใช้กดดูรายละเอียดการเชื่อมต่อแทน
  • เพิ่มโหมด HTTPS-First ภายใน Chrome 94 กูเกิลจะเพิ่มตัวเลือก HTTPS-First เข้ามา ตัวเลือกนี้จะเปลี่ยนโหมดให้พยายามเชื่อมต่อกับทุกเว็บด้วย HTTPS เสมอแม้ตัวเว็บไม่ได้บังคับก็ตาม และหากเชื่อมต่อไม่สำเร็จจะแสดงหน้าจอเตือนแบบเต็มจอ หลังจากใส่ตัวเลือกมาแล้วจะพิจารณาเปิดตัวเลือกนี้เป็นค่าเริ่มต้นต่อไป

นอกจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ แล้วกูเกิลยังเตรียมเปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆ อื่นๆ เช่น เตือนผู้ใช้เมื่อเข้าเว็บที่เชื่อมต่อไม่ปลอดภัยให้ดีขึ้น, จำกัดสิทธิของเว็บที่เชื่อมต่อไม่ปลอดภัย, ลดระยะเวลาเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อไม่ปลอดภัย เช่น แคช หรือ local storage


ที่มา: Blognone

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเรียกร้องบริษัทไอทีเลิกให้พนักงานทำงานแบบ 996

หนังสือพิมพ์ CPPCC ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเผยแพร่บทความของ Ling Zhenguo รองประธานกรรมาธิการด้านประชาชน, ทรัพยากร, และสิ่งแวดล้อม วิจารณ์ถึงแนวทางของบริษัทไอทีจีนที่มักใช้งานพนักงานอย่างหนัก จนมีชื่อเรียกแนวทางการทำงานว่า 996

Ling ระบุว่าการใช้คนเยี่ยงเครื่องจักรนั้นไม่สอดคล้องกับแนวทางสังคมนิยมของจีน และบริษัทไอทีต้องหันมามองคนเป็นศูนย์กลาง เลิกคำนวณต้นทุนของพนักงานทุกคนทุกวินาที

การวิจารณ์เช่นนี้กระทบถึงทั้งการใช้งานพนักงานเต็มเวลาในบริษัทเหล่านี้ที่มักเป็นคนทำงานอายุน้อย พร้อมรับเงินเดือนสูงเพื่อแลกกับการทำงานหนัก แจ็ค หม่า เองก็เคยออกมายืนยันว่าพนักงานของ Alibaba ต้องพร้อมทำงานวันละ 12 ชั่วโมง อีกด้านหนึ่งก็กระทบกับกลุ่มบริษัท gig-economy ที่จ้างงานแบบนับชิ้น

บริษัทไอทีจีนถูกควบคุมอย่างหนักในปีที่ผ่านมา Ant Financial ของแจ็ค หม่า เองถูกบล็อคไม่ให้เข้าตลาดหุ้นในนาทีสุดท้าย หรือล่าสุดแอปเรียกรถ Didi ก็ถูกสั่งถอดออกจากแอปสโตร์ทุกแห่ง 

ภาพหน้าจอ 996.ICU ไฟล์รวมรายชื่อบริษัทที่ทำงานแบบ 996

ที่มา: Blognone

VS Code 1.58 แสดงผล Terminal ใน Editor ได้แล้ว จัดวางตำแหน่งได้อิสระ

ปลายเดือนที่แล้ว ไมโครซอฟท์ออก Visual Studio Code เวอร์ชัน 1.58 ตามรอบการออกทุกสิ้นเดือน

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือเปิด Terminal ในพื้นที่ Editor (ตัวแก้โค้ด) ได้แล้ว จากเดิมที่ต้องเปิด Terminal ที่ครึ่งล่างของหน้าจอเท่านั้น ผลของฟีเจอร์นี้ทำให้เราสามารถแสดงผล grid layout ที่ประกอบด้วย Editor และ Terminal แบบไหนก็ได้อย่างอิสระ


ของใหม่อื่นๆ ได้แก่

ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Flask ออกรุ่น 2.0 ต้องการ Python 3.6 ขึ้นไปเท่านั้น


Flask เฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนาเว็บยอดนิยมบนภาษา Python ออกรุ่น 2.0 ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดคือการยกเลิกรองรับ Python 2 และ Python 3.5 ลงไป โดยทีมงานวางแผนว่าในอนาคตจะซัพพอร์ตเฉพาะ Python เวอร์ชั่นที่โครงการหลักยังซัพพอร์ตอยู่เท่านั้น

การอัพเกรดครั้งนี้มาพร้อมกับการเปลี่ยนเลขเวอร์ชั่นของโมดูลย่อยๆ ทั้งหมด ได้แก่

  • Flask 2.0: ซัพพอร์ตการทำงานแบบ asynchronous, รองรับ blueprint ซ้อนกันหลายชั้น, shell รองรับ tab completion
  • Werkzeug 2.0: ตัวเซิร์ฟเวอร์สำหรับ Flask ประสิทธิภาพการอ่านข้อมูลฟอร์มเร็วขึ้นมาก, ถอด jQuery ออกจากระบบดีบั๊ก
  • Jinja 3.0: ระบบ template รองรับ async เต็มตัว
  • Click 8.0: ระบบ shell ของ Flask รองรับ tab completion, ใส่สีข้อความ, ตรวจสอบออปชั่น
  • ItsDangerous 2.0: ไลบรารีเข้ารหัสข้อมูล รองรับการเปลี่ยนกุญแจตามช่วงเวลา โดยใช้กุญแจเป็นชุด

การเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน ทางทีมงานระบุว่าน่าจะไม่มีปัญหาความเข้ากันได้กับโค้ดที่เขียนบนเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ แต่หลังจากออกเวอร์ชั่นจริงแล้วก็จะตรวจสอบหาจุดที่มีปัญหาต่อไป

ที่มา: Blognone

กรณีศึกษา การย้ายโค้ด COBOL เดิมมาเป็นภาษายุคใหม่ มีทางออกอย่างไรบ้าง?

ภาษา COBOL กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในช่วง COVID-19 จากกรณีรัฐนิวเจอร์ซีย์ขอโปรแกรมเมอร์ COBOL เข้าไปช่วยแก้ระบบสวัสดิการช่วง COVID-19 ทำให้โลกกลับมาสนใจโค้ดเดิมที่เขียนไว้หลายสิบปีแล้ว และสนใจว่าจะหาทางแก้ปัญหาในระยะยาวได้อย่างไร

เว็บไซต์ InfoWorld รวบรวมข้อมูลประเด็นการย้ายระบบ COBOL ว่ามีหลายแนวทาง ตั้งแต่การเขียนใหม่ทั้งหมด (rewrite) ซึ่งมีข้อเสียว่าโค้ดเก่า 30 ปี เอกสารไม่มี อาจไม่มีใครเข้าใจมันอีกแล้ว ไปจนถึงการยกโค้ดเก่ามารันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ (lift-and-shfit) ซึ่งมีข้อเสียว่าไม่สามารถปรับซอฟต์แวร์เพื่อสนองความต้องการของคนรุ่นนี้ได้อีก

ทางเลือกที่อยู่ตรงกลางคือ code refactoring ที่ยังคง logic ทางธุรกิจเดิมเอาไว้ แต่ปรับโค้ดให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ไม่ผูกติดกับฮาร์ดแวร์มากเหมือนเดิม ซึ่งมีกรณีศึกษา 2 กรณีคือ

  • กระทรวงแรงงานและบำนาญของอังกฤษ (UK Department of Work and Pension) เคยพยายามเขียนโค้ด COBOL จำนวน 25 ล้านบรรทัดใหม่มาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายหันมาใช้ Micro Focus Visual Cobol ซึ่งเป็นภาษา COBOL เวอร์ชันใหม่ มีฟีเจอร์อย่างภาษาสมัยใหม่แทน ผลคือลดภาระการดูแล และประสิทธิภาพของระบบดีขึ้นมาก โค้ดย้ายจากเมนเฟรม VME มาเป็นลินุกซ์ RHEL และภายหลังจะย้ายมารันบน AWS ด้วย
  • หนังสือพิมพ์ The New York Times เดิมรัน COBOL บนเมนเฟรม IBM Z ใช้อีกวิธีคือแปลงโค้ดมาเป็น Java ด้วยเครื่องมือ automated refactoring ของบริษัท Modern Systems ใช้เวลาแปลงทั้งหมด 2 ปี ตอนแรกรันบนเซิร์ฟเวอร์ภายใน ภายหลังย้ายมาบน AWS เช่นกัน ลดต้นทุนค่าดูแลลงได้ 70%

ข้อมูลของ The New York Times มีเป็นกรณีศึกษาบนเว็บไซต์ของ AWS 

หน้าตาของ Micro Focus Visual Cobol ที่รันอยู่ใน Visual Studio (รองรับ Eclipse ด้วย)


Tech Stack ของ The New York Times ระหว่างเก่ากับใหม่


ที่มา: Blognone

Google โชว์งานวิจัยใหม่ ปรับแสงตกกระทบคนในภาพเอง เปลี่ยนฉากหลัง คนก็ไม่ดูลอย!

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยตัดต่อรูปภาพจากบนพื้นหลังหนึ่ง ไปยังอีกพื้นหลังหนึ่งแบบง่ายๆ ด้วยโปรแกรมตัดต่อรูปภาพอย่าง Adobe Photoshop หรือ GIMP ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ว่าภาพที่ได้ออกมานั้น อาจจะดูลอยๆ ผิดกับการไปถ่ายในสถานที่จริงๆ ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบที่มีส่วนสำคัญนั่นก็คือแสงของภาพนั่นเอง ที่จะมีการเปลี่ยนไปตามแสงแวดล้อม ทำให้การตัดต่อแบบปกตินั้น จะให้ความเสมือนจริงได้ยาก

Google ได้ผุดงานวิจัยใหม่ขึ้นมาที่ชื่อว่า Total Relighting งานวิจัยสำหรับการปรับแสงในรูปภาพในการตัดต่อจากพื้นหลังหนึ่งไปยังอีกพื้นหลังหนึ่งให้มีความเสมือนจริงมากขึ้น โดยจะแบ่งเป็นหลักๆ ใน 2 ขั้นตอน การตัดภาพจากพื้นหลังเดิม และปรับแสงเพื่อนำไปวางบนภาพใหม่


การตัดภาพคนออกจากพื้นหลังจะมีการใช้โมดูลที่ชื่อว่า Human Matting ในการหารูปตัวคนด้วยอัลกอริทึมต่างๆ เพื่อตัดภาพออกมาก่อน


ต่อมาจะมีการนำไปปรับแสงให้เข้ากับพื้นหลังที่ต้องการเปลี่ยน โดยจะใช้โมดูลที่ชื่อว่า Relighting ที่มีโมเดลต่างๆ อยู่ภายใต้โมดูลนี้อยู่หลายตัว ที่จะมีส่วนสำคัญในการปรับแสงด้วยเช่นกัน ได้แก่ Geometry Net, Albedo Net, และ Shading Net


โดย Geometry Net จะทำหน้าที่วัดค่าต่างๆ เช่นความลึกเพื่อสร้างเป็นโมเดลรูปคนขึ้นมา จากนั้น Albedo Net จะทำการวัดค่าแสงที่กระทำต่อพื้นผิวต่างๆ และสุดท้ายใน Shading Net จะมีการคำนวณค่าแสงของพื้นหลังใหม่ ที่จะกระทำต่อพื้นผิวของตัวคน ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อรวมผลลัพธ์ที่ได้เป็นภาพคนบนพื้นหลังใหม่ที่ถูกปรับแสงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว


งานวิจัยนี้ระบุว่ายังมีขีดจำกัดในการใช้งานอยู่ เช่น ลายเสื้อผ้า แสงสะท้อนจากตา รวมถึงการปรับแสงในวิดีโอที่ยังไม่เสถียร เนื่องจากเป็นการปรับแสงแบบทีละเฟรม

ในการใช้งานนั้นต้องการเพียงแค่รูปภาพคนต้นฉบับ และภาพพื้นหลังใหม่เท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องตัดพื้นหลังออกก่อนด้วย โดยอัลกอริทึมนี้ก็จะทำทุกอย่างทั้งตัดพื้นหลังและปรับแสงเพื่อนำไปวางบนพื้นหลังใหม่ให้อย่างเรียบร้อย


ทั้งนี้งานวิจัยนี้ยังไม่มีการเปิดใช้งานอย่างสาธารณะ และเตรียมตัวที่จะนำเสนอในงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับด้านกราฟิก SIGGRAPH 2021 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-13 สิงหาคมนี้

สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ augmentedperception.github.io/total_relighting 

ที่มา: Beartai