วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

4 สิ่งที่จะเกิดกับ Wi-Fi 6 หรือ 802.11ax ในปี 2019

Wi-Fi 6 หรือที่รู้จักกันในนาม 802.11ax ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นมาตรฐาน Wi-Fi ใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี 2019 ถัดจาก Wi-Fi 5 หรือ 802.11ac ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน บทความนี้จะมาสรุปให้ได้อ่านกันครับว่า ในปี 2019 ที่จะถึงนี้ Wi-Fi 6 จะหน้าตาเป็นอย่างไร และเหล่า Vendor ผู้ให้บริการ Wi-Fi จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง


1. รองรับเทคโนโลยี MU-MIMO

 

Wi-Fi 6 ถูกออกแบบมาสำหรับสภาวะแวดล้อมที่มีการใช้คลื่นสัญญาณวิทยุอย่างหนาแน่น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน โดยรองรับเทคโนโลยี Multi-user, Multiple-input, Multiple-output (MU-MIMO) ซึ่งช่วยให้ AP สามารถรับส่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ได้สูงสุดถึง 8 คนพร้อมกันด้วยความเร็วที่เท่าๆ กัน

 

2. มาพร้อมกับเทคโนโลยี OFDMA

 

Orthogonal Frequency Division Multiple Access (OFDMA) เป็นเทคโนโลยีการซอยช่องสัญญาณออกเป็นช่องย่อยๆ จำนวนมากเพื่อนำส่งข้อมูลกับอุปกรณ์ที่แตกต่างกันพร้อมๆ กัน ดังนั้น AP จะสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้นในคราวเดียว เหมาะสำหรับยุค Internet of Things ที่ทุกอุปกรณ์มีการเชื่อมต่อถึงกัน

 

3. AP เตรียมให้บริการในปี 2019 แต่ Endpoint อาจต้องรอถึงปี 2020

 

AP ระดับใช้งานในองค์กรที่รองรับมาตรฐาน Wi-Fi 6 เริ่มมีให้บริการแล้ว เช่น AP630, AP650 และ AP650X จาก Aerohive โดยมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ $1,200 (40,000 บาท) ในขณะที่ Cisco และ HPE Aruba คาดว่าจะเริ่มให้บริการ AP มาตรฐาน Wi-Fi 6 ในปี 2019 นี้ ส่วน AP ระดับใช้งานทั่วไป ทั้ง D-Link, Asus และ TP-Link ต่างเริ่มให้บริการแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ Endpoint ไม่ว่าจะเป็น PC, โน๊ตบุ๊ก, แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะเริ่มรองรับ Wi-Fi 6 ในปี 2020

 

4. Wi-Fi 6 ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกินปี 2019 นี้

 

มาตรฐาน Wi-Fi 6 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ก่อนหน้านี้ร่างมาตรฐานทั้ง 2 ฉบับต่างถูกคณะกรรมการของ IEEE ตีตกไป แต่คาดว่ามาตรฐานจะเรียบร้อยภายในปี 2019 นี้ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ร่างมาตรฐานไม่ได้รับการอนุมัติมาจากการที่ Vendor หลายรายต่างพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองออกมาก่อนที่มาตรฐานจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติของโลก Wi-Fi อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มที่หลายๆ Vendor เริ่มให้บริการ AP มาตรฐาน Wi-Fi 6 กันแล้ว อาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่เริ่งให้ IEEE อนุมัติมาตรฐานก็เป็นได้

ที่มา: TechTalk

รวม 10+ ลิงค์สอนใช้งาน Kubernetes เบื้องต้นฟรี ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

Kubernetes นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดของปีนี้ สำหรับใช้ในการบริหารจัดการ Container Cluster และมีบทบาทเป็นอย่างมากในระบบ Application สมัยใหม่ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบใหม่ ในบทความนี้เราจะขอรวบรวมลิงค์ต่างๆ สำหรับใช้ในการศึกษาและเรียนรู้ Kubernetes ที่สามารถเข้าถึงกันได้ฟรีๆ ดังนี้ครับ

 
ภาษาอังกฤษ

ภาษาไทย
ที่มา: TechTalk

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

SCB ร่วมมือกับ apartmentery ให้ลูกค้าจ่าย QR ตรงเข้าหอพัก แต่แพลตฟอร์มได้ข้อมูลด้วย

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ร่วมมือกับ apartmentery เปิดบริการจ่ายเงินค่าหอพักผ่าน PromptPay QR โดยความพิเศษคือ เมื่อลูกค้าหอพักโอนเงินเข้าไปยังบัญชีเจ้าของหอพักแล้ว ทาง SCB จะยิง callback ไปยัง apartmentery เพื่อสร้างใบเสร็จรับเงินได้ทันที

กระบวนการนี้มีข้อดีสำคัญคือ กระบวนการออกใบเสร็จเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด เจ้าของหอพักไม่ต้องเสียเวลามาตรวจสอบว่าเงินก้อนใดมาจากลูกค้าคนใด แม้ยอดเงินตรงกันหรือกระทั่งบัญชีต้นทางตรงกัน (เช่นฝากกันจ่าย) ก็สามารถแยกใบเสร็จออกจากกันได้

กระบวนการสมัครบริการนี้ยังเป็นระบบแมนนวล โดยผู้สนใจต้องกรอกแบบฟอร์มแสดงความสนใจ และรอธนาคารติดต่อกลับภายหลัง

บริการ Thai QR Payment ที่มี callback กลับไปยังแพลตฟอร์มนั้นมีมาสักระยะแล้ว เช่น SCB ที่ร่วมมือกับ Gourmet ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และ 2C2P เปิดบริการให้ลูกค้ารายใหญ่ การเปิดบริการของ apartmentery ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เจ้าของกิจการรายย่อยเริ่มใช้บริการได้ด้วย ต่อจาก Wongnai POS แต่ก็ยังไม่มีธนาคารใดเปิดให้นักพัฒนาภายนอกพัฒนา webhook ไปเชื่อมต่อกันได้เองอย่างอิสระ


ที่มา: Blognone

Alibaba เปิดศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ใช้หุ่นยนต์มากที่สุด รองรับ 11.11 ที่จะมาถึง

Cainiao Network บริษัทจัดการโลจิสติกส์ที่ Alibaba เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด (ร่วมกับบริษัทขนส่งหลายแห่ง) เปิดตัวศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซู โดยบอกว่าเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใช้หุ่นยนต์ดำเนินงานขนาดใหญ่ที่สุดในจีน มีหุ่นยนต์อัตโนมัติราว 700 ตัว

Ben Wang ประธานของ Cainiao ระบุว่าในเทศกาลวันช้อปปิ้งคนโสด 11 เดือน 11 ที่จะมาถึง ประเมินว่าจำนวนคำสั่งซื้อที่ต้องจัดส่งจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เพื่อรองรับความต้องการลูกค้าที่มากและรวดเร็ว ศูนย์กระจายสินค้านี้มีประสิทธิภาพรองรับคำสั่งซื้อได้มากกว่าแบบดั้งเดิม 50%

หุ่นยนต์ในศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ จะเคลื่อนที่เพื่อรอรับสินค้าตามคำสั่งซื้อ แล้วคนมีหน้าเติมสินค้าตามที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีระบบวิดีโอดูภาพรวมเพื่อตรวจหาปัญหาการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์และแจ้งเตือนให้คนเข้าไปดูหากจำเป็น (ดูคลิปได้ท้ายข่าว)

ถึงแม้จะใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติมากขึ้น แต่ Wang ก็บอกว่าไม่มีความคิดที่จะทำศูนย์กระจายสินค้า แบบไม่ต้องใช้คนเลย เพียงแต่ใช้คนน้อยลงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ทั้งนี้ Alibaba คาดว่าเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 นี้ จะทำสถิติใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเตรียมแผนรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั่วโลกผ่าน AliExpress และ Tmall World ด้วย โดยเตรียมเที่ยวบินเช่าเหมาลำ 51 เที่ยวบิน และเรือขนส่งสินค้ากว่าพันคอนเทนเนอร์


ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Tesla ไตรมาส 3/2018 สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ - Model 3 ทำเงินมากที่สุดในอเมริกา และพลิกมามีกำไรอีกครั้ง


Tesla รายงานผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 3 ปี 2018 ซึ่ง Tesla บอกว่าถือเป็นไตรมาสประวัติศาสตร์ของบริษัท เพราะรถยนต์ Model 3 ได้กลายเป็นรถยนต์ที่ทำรายได้สูงสุดในอเมริกา และเป็นอันดับ 5 ในแง่จำนวนคันที่ขายได้ จากกำลังการผลิตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,300 คัน

ในด้านตัวเลขทางการเงินก็ออกมาดีเช่นกัน มีรายได้รวม 5,878 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 312 ล้านดอลลาร์ จากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายไตรมาส ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่สามในประวัติศาสตร์บริษัทที่มีกำไร นอกจากนี้ยังมีกระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้นอีก 881 ล้านดอลลาร์

Tesla บอกว่าสายการผลิต Model 3 ตอนนี้ได้พ้นช่วงยากของ S-Curve แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้มากขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงท้ายของไตรมาสที่ผ่านมาก็สามารถผลิตได้ 5,300 คันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้จำนวนรถยนต์รอส่งมอบ (คิดจากจำนวนวันก่อนส่งมอบ - Days to sales) ก็ต่ำที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดในอเมริกา


อีลอน มัสก์ ซีอีโอ และ ดีปัค อฮูจา ซีเอฟโอของ Tesla ได้กล่าวว่า ไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2018 เป็นไตรมาสระดับประวัติศาสตร์ของ Tesla อย่างแท้จริง โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และเป็นผลิตภัณฑ์กระแสหลักของบริษัทอีกด้วย


ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา Tesla ได้จำหน่าย รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 ในอเมริกาเหนือได้ 56,065 คัน และจะเริ่มจำหน่ายในยุโรปและประเทศจีนก่อนสิ้นปี 2018 นี้


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

SCB Easy ประกาศฟีเจอร์สร้างสลิปโอนเงินใหม่หากเผลอลบ, เปิดบัญชีผ่านแอพได้เลย

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศแผนการออกฟีเจอร์ใหม่ให้แอพ SCB Easy ในอีก 6 เดือนข้างหน้าหลายอย่าง ที่เด่นๆ มีดังนี้
  • ถอนเงินสดจากตู้ ATM แม้ไม่มีเงินในบัญชี โดยใช้วงเงินจากบัตรเครดิตแทน
  • สมุดบัญชีดิจิทัล (Digital Passbook) ใช้แทนสมุดบัญชีจริงๆ ได้เวลาไปทำธุรกรรมที่สาขา
  • ขอเอกสารทางการเงินจากแอพ (Document Request) โดยเป็นไฟล์ PDF ส่งเข้าอีเมล
  • ขอสลิปการโอนเงินใหม่ (Slip Generator) สำหรับกรณีทำไฟล์สลิปหายหรือลบทิ้ง แล้วต้องการไฟล์สลิปอีกรอบ ก็สามารถเข้าไปดูประวัติการโอนเงิน และสั่งสร้างสลิปใหม่อีกรอบได้
  • ประวัติการชำระสินเชื่อ/เงินกู้ (Loan History) รวมถึงยอดเงินที่ต้องชำระในอนาคต

ฟีเจอร์อื่นๆ ที่เปิดเผย
  • เก็บเงินแบบออโต้ เช่น เงินเดือนเข้าบัญชีแล้วตั้งให้โอนไปเก็บอีกบัญชีทุกเดือน
  • เปิดบัญชีเงินฝากเพิ่มอีกบัญชี (กรณีมีบัญชีกับ SCB อยู่แล้ว) ทำผ่านแอพได้เลย
  • แลกเงินต่างประเทศจากมือถือในช่วงเวลาที่เรตดี แล้วไปรับเมื่อสะดวก
  • โอนเงินต่างประเทศผ่านแอพ
  • จ่ายบิลผ่านบัตรเครดิต โดยได้คะแนนสะสมในบัตรด้วย
  • ซื้อกองทุนจาก บลจ. ต่างๆ ในแอพ
ฟีเจอร์ทั้งหมดจะทยอยเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่สองของปี 2019/2562

ที่มา: Blognone

Firefox 63 ออกแล้ว เพิ่มประสิทธิภาพบนแมค, ปรับธีมสี Dark/Light ตามธีมวินโดวส์


Firefox ออกเวอร์ชัน 63 มีของใหม่ดังนี้
  • ปรับธีมสี Dark/Light ตามสีธีมของ Windows 10 ให้อัตโนมัติ
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพบน macOS ให้เร็วขึ้นหลายจุด ทั้งการสลับแท็บ การตอบสนองการคลิก และ WebGL
  • เวอร์ชันลินุกซ์ รันส่วนขยาย WebExtensions แบบแยกโพรเซสของตัวเองแล้ว
  • เพิ่มหน้าจอถามยืนยันก่อน หากจะปิดโปรแกรมเมื่อเปิดหลายหน้าต่างค้างไว้
  • เพิ่มฟีเจอร์ป้องกันการตามรอย สามารถสั่งบล็อคคุกกี้จากผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์นั้น (third-party cookies) ได้
  • Search Shortcuts ปักหมุดเว็บค้นหาที่คนใช้บ่อยๆ ไว้ในหน้า New Tab ตอนนี้ยังมีเฉพาะ Google, Amazon และใช้ได้เฉพาะในสหรัฐ (คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเรื่องรายได้ของ Mozilla) ผู้ใช้สามารถเอาออกเองได้ถ้าไม่ต้องการ
  • Firefox for iOS รองรับ Siri Shortcuts แล้ว

ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Atlassian ยกเครื่อง Jira ครั้งใหญ่ ปรับตัวให้เข้ายุคสมัย เปลี่ยนหน้าตาใหม่ ใช้ง่ายขึ้น

Atlassian ประกาศอัพเกรดซอฟต์แวร์ติดตามบั๊ก Jira ครั้งใหญ่ โดยระบุว่าเป็นการยกเครื่องฟีเจอร์ให้เข้ากับยุคสมัย นับจากการเปิดตัว Jira ครั้งแรกเมื่อปี 2002 มาถึงปัจจุบัน รูปแบบการทำงานเป็นทีมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก Jira จึงต้องปรับตัวเองให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าด้วย

ฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญของ Jira มี 5 อย่างดังนี้
  • ผู้ใช้แต่ละคนสามารถปรับแต่งบอร์ดของตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอแอดมินทำให้
  • ปรับหน้าจอ issue ใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น
  • เลือกเปิดปิดฟีเจอร์ของทีมได้ตามความต้องการของแต่ละทีม เช่น Backlog, Sprint, Estimations พร้อมผนวกฟีเจอร์ Roadmaps เข้ามาเป็นส่วนหลักของ Jira แล้ว
  • เพิ่มฟีเจอร์ฟิลเตอร์สำหรับกรองข้อมูล โดยไม่ต้องเขียนภาษา JQL เองอีกแล้ว
  • Jira Cloud รองรับการใช้งานผ่านมือถือ เปิดดูข้อมูลบั๊กและตอบคอมเมนต์ได้ตลอดเวลา

Atlassian ยังบอกว่าเปลี่ยน tech stack ของ Jira ใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างของซอฟต์แวร์เป็นไมโครเซอร์วิส ปรับระบบสิทธิ (permission) ใหม่ และคิดเรื่อง UX ใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังเพิ่มการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ อีกชุดใหญ่ด้วย
ที่มา: Blognone

รู้จัก Container มันคืออะไร แตกต่างจาก Virtualization อย่างไร?

ช่วงหลังเราได้ยินชื่ออย่าง Docker, Container, Kubernetes, Orchestration กันบ่อยขึ้นมาก โดย Blognone เองก็เคยนำเสนอข่าวในหัวข้อเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องนี้อยู่มาก เพราะเป็นแนวคิดที่ยังค่อนข้างใหม่และมีความแตกต่างจากระบบเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ สูง

บทความชุดนี้จึงมีเป้าหมายเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจกับแนวคิดเหล่านี้ ใครที่รู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้วสามารถข้ามไปได้เลยครับ


Virtualization มีข้อจำกัด


คำว่า "คอนเทนเนอร์" (container) เป็นเทคนิคการจัดการแพ็กเกจซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์กับเทคนิค virtualization ที่อยู่ในโลกองค์กรมานาน ดังนั้นการอธิบายว่าคอนเทนเนอร์คืออะไร จึงมักถูกเปรียบเทียบว่าแตกต่างกับ virtualization อย่างไร

เทคนิค virtualization คือการสร้างคอมพิวเตอร์เสมือน (virtual machine หรือ VM) ที่มีทั้งซีพียู แรม สตอเรจ ระบบปฏิบัติการ ฯลฯ ขึ้นมารันบนคอมพิวเตอร์จริงๆ อีกทีหนึ่ง โดยตัวระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์เสมือน (Guest OS) จะไม่รู้ว่าตัวเองรันอยู่บน VM แต่เข้าใจว่ารันอยู่บนฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์จริงๆ

วิธีการนี้ทำให้เกิดการแยกส่วน (isolation) ระหว่าง VM แต่ละตัวอย่างสมบูรณ์ สามารถรันระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันระหว่าง Guest OS กับ Host OS ได้ แต่ข้อเสียคือใช้ทรัพยากรซ้ำซ้อน ทำงานช้า เปลืองพื้นที่เก็บ OS และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่มักจะใช้เหมือนกันใน VM ทุกตัว


Container สร้างมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของ Virtualization


คอนเทนเนอร์จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น โดยมีฮาร์ดแวร์และ OS เพียงชุดเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของการใช้ทรัพยากรลง ส่วนตัวแอพพลิเคชันและซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างกันไปก็จะมี "container" (เทียบได้กับ VM) มาครอบเพื่อแบ่งส่วนทรัพยากรไว้ไม่ให้ยุ่งกัน

จุดเด่นของคอนเทนเนอร์จึงเป็นเรื่องการใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่า virtualization มาก อิมเมจของคอนเทนเนอร์อาจมีขนาดเพียงกี่ไม่กี่สิบ MB ในขณะที่อิมเมจของ VM ต้องใช้พื้นที่ระดับหลาย GB นอกจากนี้ ระยะเวลาที่ใช้บูต, พลังซีพียูและปริมาณแรมที่ต้องใช้ ก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เซิร์ฟเวอร์หนึ่งเครื่องสามารถยัดคอนเทนเนอร์จำนวนมากกว่าการรัน VM ที่ให้ผลแบบเดียวกันถึง 2-3 เท่าตัว

บางครั้ง คอนเทนเนอร์ถูกเรียกชื่อในทางเทคนิคว่า Operating-system-level virtualization หรือการสร้าง VM ที่ระดับ OS โดยเราไม่ต้องสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือนขึ้นมาทั้งตัว

ข้อเสียของคอนเทนเนอร์ก็ย่อมเป็นความยืดหยุ่นที่น้อยกว่า virtualization แบบดั้งเดิม โดยเฉพาะไม่สามารถใช้ OS ที่แตกต่างกันระหว่าง Guest และ Host ได้ (เพราะจุดเด่นของคอนเทนเนอร์คือการแชร์ OS ก็อปปี้เดียวกัน)


ประวัติย่อของ Container


แนวคิดของคอนเทนเนอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกของยูนิกซ์เกิดแนวคิดนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2000 จากแนวคิด jails ของ FreeBSD จากนั้นในปี 2004 ระบบปฏิบัติการ Solaris ของบริษัท Sun Microsystems ก็มีฟีเจอร์แบบเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า Zones (หรือ Solaris Containers) ฝั่งลินุกซ์เองก็นำไอเดียนี้มาสืบสานต่อในโครงการอย่าง OpenVZ หรือ LXC (Linux Containers)

แต่คอนเทนเนอร์กลายมาเป็นเรื่องแพร่หลายในวงกว้างจาก Docker ที่เริ่มต้นในปี 2013 ซึ่งช่วงแรกยังอิงอยู่บนโครงการยุคก่อนหน้าอย่าง LXC หรือ libvirt แต่ภายหลัง Docker ก็พัฒนาส่วนต่างๆ ขึ้นมาเอง (libcontainer) จนสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ทำให้แนวคิดคอนเทนเนอร์ "จุดติด" และได้รับการยอมรับในวงการอย่างรวดเร็ว มีตัวอย่างการใช้งานจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างกูเกิลที่พัฒนาฟีเจอร์ของ Google Compute Engine ให้รองรับอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ Docker จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลินุกซ์ แต่ความนิยมของมันทำให้ระบบปฏิบัติการฝั่งวินโดวส์ ทำให้ไมโครซอฟท์เข้ามาร่วมวงตั้งแต่ปี 2014 และสำเร็จลุล่วงใน Windows Server 2016

ความสำเร็จของ Docker ทำให้เกิดคู่แข่งขึ้นบ้าง เช่น Rocket หรือ rkt ของบริษัท CoreOS (ปัจจุบันถูก Red Hat ซื้อไปแล้ว) ทำให้โลกคอนเทนเนอร์แยกออกเป็นสองส่วน แต่ภายหลังก็หาทางออกได้ ด้วยการออกมาตรฐานกลางภายใต้การดูแลของ Open Container Initiative (OCI) (ภายหลังยังพัฒนาต่อมาเป็นโครงการ containerd และ runc ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้)


ตัวอย่างการใช้งาน Container


รูปแบบการนำคอนเทนเนอร์ไปใช้งานมีหลากหลาย แต่ที่พบบ่อยคือการนำแอพพลิเคชันองค์กรในแบบเดิมๆ (ซึ่งมักเป็นแอพที่เขียนด้วยเทคโนโลยียุคก่อนอย่าง Java, .NET หรือ PHP) มาใส่ไว้ในคอนเทนเนอร์ เพื่อมารันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ที่เป็นคลาวด์ แทนที่การใช้เซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิมที่เริ่มล้าสมัย ช่วยให้การย้ายขึ้นคลาวด์ราบรื่นกว่าเดิม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่อง system dependency ระหว่างแอพแต่ละเวอร์ชัน แต่ละสถานะ (เช่น dev/test/production) เพราะทุกอย่างที่จำเป็นถูกรวมมาในอิมเมจให้หมดแล้ว มันจึงมีประโยชน์ในแง่กระบวนการเปลี่ยนโค้ดที่เขียน ไปสู่การดีพลอยใช้งานจริงบนเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง หรือที่เราเรียกกันว่า CI/CD อีกด้วย

การใช้งานคอนเทนเนอร์อีกแบบหนึ่งที่พบบ่อยในช่วงหลัง คือการแยกแอพพลิเคชันยุคเดิมที่เขียนมาเป็นก้อนใหญ่ๆ (monolithic) ให้กลายเป็นไมโครเซอร์วิส (microservice) ที่มีขนาดเล็กลง จัดการได้สะดวกขึ้น สามารถสเกลเซอร์วิสบางตัวหากต้องการรับโหลดมากขึ้น

การนำคอนเทนเนอร์ของแอพพลิเคชันที่แยกเป็นไมโครเซอร์วิส ไปรันบนโครงสร้างพื้นฐานยุคคลาวด์ที่สเกลตัวเองได้ง่ายขึ้น จึงมีความซับซ้อนสูงตามไปด้วย และกลายเป็นหน้าที่ของซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า orchestration (เหมือนวาทยากรนำวงออเคสตร้า) อย่าง Kubernetes หรือ Apache Mesos ที่จะกล่าวถึงในบทความตอนต่อไป

ที่มา: Blognone

ทนไม่ทน? Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองของ Model 3 หลังผ่านการทดสอบวิ่งครบ 1 ล้านไมล์

โดยธรรมชาติของรถยนต์ไฟฟ้านั้น มีชื่อเสียงว่าทนทานกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปภายใน เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่ขยับไปมาน้อยกว่า รวมถึงระบบเกียร์ก็ซับซ้อนน้อยกว่า เพราะมีเพียงเกียร์เดียวจึงลดความสึกหรอไปได้มากเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่มีหลายเกียร์

ล่าสุด Tesla ปล่อยภาพชิ้นส่วนเฟืองในระบบส่งกำลังของ Tesla Model 3 ออกมาสองภาพ โดยระบุว่าเป็นชิ้นส่วนที่ผ่านการทดสอบวิ่งมาแล้ว 1 ล้านไมล์ หรือ 1.6 ล้านกิโลเมตร และ Elon Musk ก็ออกมาเสริมว่าชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ทนทานมากเป็นพิเศษ

เมื่อปี 2015 Elon Musk เคยบอกสื่อว่า Tesla ต้องการสร้างระบบขับเคลื่อนที่จะไม่สึกหรอเลย และเคยตั้งเป้าว่าจะทำให้ระบบขับเคลื่อนใช้งานได้ 200,000 ไมล์ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป้านั้นเป็น 1 ล้านไมล์ นอกจากนี้ Tesla Semi รถบรรทุกพลังไฟฟ้าที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 ก็เคลมว่าสามารถวิ่งได้ 1 ล้านไมล์โดยไม่เสียเลย

สำหรับสภาพของเฟืองที่ผ่านการใช้งานมา 1 ล้านไมล์เป็นอย่างไร ดูได้จากภาพด้านล่างครับ


ที่มา: Blognone