วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

ถอดความลับ USB แต่ละแบบ ความแตกต่าง ความเร็ว การใช้งาน และการเชื่อมต่อ


ถอดความลับ USB

USB หรือชื่อเต็ม Universal Serial Bus ถูกพัฒนา 1994 มีจุดประสงค์เพื่อให้คอมทุกเครื่องมีพอร์ตใช้เหมือนๆ กัน  เพื่อลดความวุ่นวายในการใช้งาน โดยฝั่งที่เสียบกับคอม หน้าตาจะเหลี่ยมๆ เหมือนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แต่อีกฝั่ง จะแปลงเป็น USB แบบใด ก็แล้วแต่การใช้งาน

Quote: แผงวงจรตัวตัวแรกที่รองรับการเสียบ USB คือเมนบอร์ดที่ผลิตโดย Intel ถูกสร้างขึ้นในปี 1995 


  1. เริ่มต้นกันที่ USB 1.0 เริ่มใช้งานในปี 1996 ทำความเร็วสูงสุด 12 Megabit/s รองรับการแปลงเป็นหัวแบบ USB Type A และ Type B
  2. USB 2.0 เริ่มใช้งานในปี 2001 ทำความเร็วการส่งข้อมูลสูงสุดที่ 480 Megabit/s รองรับการแปลงเป็นหัวแบบ USB Type A, Type B, Mini B (Port USB ที่ใช้ชาร์จในมือถือและ MP3 พกพายุคก่อน) และ Micro B
  3. USB 3.0 เริ่มใช้งานในปี 2011 ทำความเร็วส่งข้อมูลสูงสุดที่ 5 Gigabit/s (1 Gigabit = 1,000 Megabit) รองรับการแปลงเป็นหัวแบบ USB Type A, Type B และ Micro B (ใช้ในโทรศัพท์ Android รุ่นหลังๆ และหัวที่เสียบกับ External Harddisk
  4. USB Lightning เริ่มต้นใช้งานในปี 2012  ทำความเร็วการส่งข้อมูลสูงสุดที่ 500 Megabit/s รองรับการใช้งานแค่ Lightening สำหรับชาร์จใน iPhone และอุปกรณ์อื่นๆ ของ Apple เท่านั้น
  5. USB 3.1 เริ่มในงานในปี 2014 ทำความเร็วส่งข้อมูลสูงสุดที่ 10 Gigabit/s รองรับการแปลงเป็นหัวแบบ USB Type A, Type B, Type C
  6. USB 3.2 เริ่มใช้งานในปี 2017 ทำความเร็วส่งข้อมูลสูงสุดสที่ 20 Gigabit/s รองรับการแปลงเป็นหัวแบบ Type C เท่านั้น และรองรับการใช้เทคโนโลยี Power delivery (PD) สำหรับมือถือที่ใช้งาน Fast Charge
  7. USB 4 เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่พึ่งเริ่มใช้งานในปี 2019 ทำความเร็วส่งข้อมูลสูงสุดที่ 40 Gigabit/s รองรับการใช้งานแค่พอร์ท USB Type C เท่านั้น (ทั้งสองหัวจะเป็นแค่  USB – C เท่านั้น)

อันล่างคือ USB – C เป็นมาตรฐานพอร์ต USB รุ่นล่าสุด และคาดว่าจะใช้พอร์ตนี้ไปอีกนาน โดยล่าสุด Apple เปลี่ยนสายชาร์จจาก Lightening มาใช้ Types C ใน iPad Pro แล้ว และคาดว่าในอนาคต มือถือทุกรุ่นจะต้องใช้พอร์ต USB Types C หมด ตามกฎของยุโรป


ที่มา: techhub

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563

เปิดตัว iPad Pro รุ่นใหม่ ปะทะ PC ด้วยขุมพลังชิป A12Z พร้อมใส่ Trackpad และ USB-C ลงเมจิกคีย์บอร์ด ราคาเริ่มต้น 27,900 บาท


หลังจากที่เป็นข่าวเลื่องลือมามากมาย เกี่ยวกับ iPad Pro ที่จะเปิดตัวใหม่ในปีนี้ ล่าสุด Apple แอบเซอร์ไพรส์แบบเงียบๆ เปิดตัว iPad Pro รุ่นปี 2020 บนเว็บไซต์ หลังจากเปิดตัวรุ่นก่อนไปเมื่อปลายปี 2018

วันนี้ Apple ได้เปิดตัว iPad Pro รุ่นใหม่ ปี 2020 พร้อมปะทะ Windows บนคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ด้วยชิป A12Z Bionic ที่รับประกันว่าเร็วและแรงกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ พร้อม Magic Keyboard ที่ออกแบบใหม่ ใส่ Track Pad และช่อง USB-C เสริมมาให้ด้วย

iPad รุ่นใหม่ มีอะไรบ้าง??


  • จอภาพ Liquid Retina เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เห็นสีได้คมชัดมากยิ่งขึ้น พร้อมเทคโนโลยี ProMotion ปรับ Refresh Rate สูงสุดถึง 120 Hz เพื่อความนุ่มนวลของภาพเคลื่อนไหว

  • กล้องหลัง 2 ตัว
    • กล้อง Wide 12 ล้านพิกเซล ถ่ายภาพและวีดีโอได้คมชัดระดับ 4K กล้อง
    • Ultra Wide 10 ล้านพิกเซล ซูมได้ถึง 2 เท่า และสามารถใช้พร้อมกันได้ถึง 2 ตัวเลย

  • ไมค์ความคมชัดระดับสตูดิโอ 5 ตัว และลำโพง 4 ตัว

  • LiDAR Scanner เสริม ARKit ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น

  • ใช้ Apple Pencil รุ่น 2 เหมือนเดิม
 
นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว Magic Keyboard ที่เป็นคีย์บอร์ดแบบ Backlit ที่มาพร้อมกับ Trackpad เปิดขายพฤษภาคมนี้

 

ราคา

  • iPad Pro 11 นิ้ว Wi-Fi
    • 128 GB – 27,900 บาท
    • 256 GB – 31,400 บาท
    • 512 GB – 38,400 บาท
    • 1 TB – 45,400 บาท
  • iPad Pro 11 นิ้ว Wi-Fi + Cellular
    • 128 GB – 32,900 บาท
    • 256 GB – 36,400 บาท
    • 512 GB – 43,400 บาท
    • 1 TB – 50,400 บาท
  • iPad Pro 12.9 นิ้ว Wi-Fi
    • 128 GB – 34,900 บาท
    • 256 GB – 38,400 บาท
    • 512 GB – 45,400 บาท
    • 1 TB – 52,400 บาท
  • iPad Pro 12.9 นิ้ว Wi-Fi + Cellular
    • 128 GB – 39,900 บาท
    • 256 GB – 43,400 บาท
    • 512 GB – 50,400 บาท
    • 1 TB – 57,400 บาท
  • Magic Keyboard – เริ่มต้นที่ 9,900 บาท (วางขายในเดือน พ.ค.)
  • AppleCare+ – 4,500 บาท
ในตอนนี้ iPad Pro ยังไม่เปิดให้จองในไทย แต่คาดว่าอีกไม่นานเกินรอ


ที่มา: Beartai

รู้จัก Zoom ผู้ให้บริการ Video Conference มาแรงท่ามกลางกระแส work from home

จากการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ทำให้กระแสการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ถูกนำมาใช้งานมากขึ้น หลายองค์กรต้องหาวิธีและเครื่องมือเพื่อมาตอบโจทย์รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป

Zoom ผู้ให้บริการ Video Conference ที่เพิ่ง IPO เมื่อปีที่แล้ว เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่แนะนำค่อนข้างมาก ทั้งสำหรับการประชุมออนไลน์สำหรับองค์กรและการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ทว่ายังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก

บทความนี้จะพาไปรู้จัก Zoom และ Eric Yuan ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกัน

 

Eric Yuan จากอดีตโปรแกรมเมอร์ WebEx สู่ผู้ก่อตั้ง Zoom


Eric Yuan เกิดที่มณฑลชานตงในจีน เรียนจบ ป.ตรี และ ป.โท ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชานตง ก่อนจะย้ายมาอยู่สหรัฐ (เจ้าตัวเล่าว่ากว่าจะได้วีซ่าคือต้องขอถึง 9 ครั้ง) และทำงานกับ WebEx ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ประชุมออนไลน์ตั้งแต่ปี 1997 ก่อนถูก Cisco ซื้อในปี 2011 เขาทำงานจนเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานฝ่ายวิศวกรรม (Corporate VP of Engineering) ดูแลโซลูชัน collaboration ในองค์กร

Yuan เล่าว่า WebEx ตอนนั้นปัญหาเยอะมาก เขาพยายามแก้ปัญหาด้วยการยกเครื่อง WebEx รวมถึงเอาคลาวด์โซลูชันมาใช้งานเบื้องหลัง แต่ติดปัญหาที่ Cisco ไม่เห็นด้วย เจ้าตัวพยายามอยู่หลายปีจนยอมแพ้และลาออกในปี 2011 มาตั้งบริษัท Zoom ของตัวเอง เขาใช้เวลา 2 ปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามที่ฝันไว้ จนสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2013

Zoom ตอนนั้นไม่ได้ต่างจากสตาร์ทอัพรายอื่นที่เกิดขึ้นในวงการ คือทำโซลูชันหรือเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้ใช้งานเจอจากบริการของบริษัทอื่น ๆ (ในที่นี้ก็คือ WebEx) โดยเฉพาะความรวดเร็วและความง่ายในการใช้งาน

Zoom ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทั้งเรื่องความเสถียร ฟีเจอร์ และความสะดวก และเติบโตมาเรื่อย ๆ ก่อนเข้าขายหุ้น IPO เมื่อปีที่แล้ว ทำให้มูลค่ากิจการขึ้นไปถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

Zoom vs WebEx

 

แม้ผู้ให้บริการประชุมออนไลน์ในตลาดมีอยู่หลายเจ้า แต่ WebEx ของ Cisco มักถูกนำมาเทียบกับ Zoom โดยตรงอยู่บ่อยครั้ง

เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะบริการของ Zoom และ WebEx เป็นบริการประชุมออนไลน์แบบแยกเดี่ยว (standalone) ไม่พ่วงกับบริการอื่นแล้วขายเป็นชุดเหมือนกับ Google Hangouts หรือ Microsoft Teams/Skype

แม้จะไม่มีตัวเลขส่วนแบ่งตลาดระบบการประชุมทางไกลที่แน่ชัด แต่บริษัทวิจัยตลาดอย่าง Gartner ก็จัดให้ 2 เจ้านี้อยู่ในกลุ่มผู้นำ (Leader) บน Magic Quadrant ของ Meeting Solution (อีกรายในกลุ่มนี้คือ Microsoft)

 
ในแง่การใช้งานจริง เสียงตอบรับจากผู้ใช้งาน Zoom มักดูดีกว่าฝั่ง WebEx แม้ในแง่ฟีเจอร์จะไม่แตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่ Zoom ได้รับคำชมมากกว่าคือเรื่องของ UX/UI ที่ Zoom เข้าใจได้ง่ายกว่า เริ่มใช้งานได้รวดเร็วกว่า ใช้งานได้ลื่นกว่า ความหน่วงเวลาประชุมต่ำและเสถียรกว่า WebEx

ในแง่ราคาทั้งสองเจ้าไม่แตกต่างกันมากและมีแพ็กเกจฟรีทั้งคู่ แต่ WebEx เหนือกว่าตรงที่ไม่จำกัดระยะเวลาในการประชุมในแผนฟรีแต่ Zoom จำกัดไว้ที่ 40 นาทีต่อครั้ง ส่วนแผนสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและกลาง WebEx จะถูกกว่าเล็กน้อย ส่วนระดับองค์กร (enterprise) Zoom จะถูกกว่าค่อนข้างมาก เลยเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่องค์กรใหญ่ ๆ มักเลือก Zoom มากกว่า WebEx

 

จากที่โตอยู่แล้วยิ่งโตแบบก้าวกระโดดจากไวรัส


เมื่อ work from home กลายเป็นนโยบายที่ถูกนำมาใช้งานเกือบทั่วโลกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ Zoom ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงระดับหนึ่งอยู่แล้ว ถูกบอกต่อและแนะนำกันอย่างมาก ทั้งการใช้ทำงานและใช้สอนหนังสือ

ถ้าถามว่า Zoom โตแบบก้าวกระโดดแค่ไหนจากการแพร่ระบาดของไวรัส Bernstein Research บริษัทวิจัยตลาดเปิดเผยว่าจำนวนผู้ใช้ Zoom แบบ MAUs เพิ่มขึ้นเฉพาะปีนี้ (2 เดือนกว่า) อยู่ที่ 2.22 ล้านราย ขณะที่ปี 2019 ทั้งปี จำนวน MAUs ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่แค่ 1.99 ล้านรายเท่านั้น (แต่หากเทียบช่วงเวลาเดียวกันหรือก็คือช่วงต้นปีที่แล้ว MAUs ที่เพิ่มขึ้นมีแค่ 6.4 แสนคนเท่านั้น) ทำให้ตอนนี้ Zoom มี MAUs เฉลี่ยอยู่ที่ 12.92 ล้านคนแล้ว

ถึงแม้จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้ฟรี แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่า Zoom สามารถเปลี่ยนผู้ใช้ฟรีเหล่านี้ให้มาเป็นผู้ใช้งานแบบเสียเงินได้ไม่น้อย ด้านราคาหุ้นของ Zoom เมื่อเดือนที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 40% จาก 76.30 ดอลลาร์เมื่อสิ้นเดือนมกราคมไปจบที่ 105 ดอลลาร์ตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนตอนนี้อยู่ที่ราว 107 ดอลลาร์

 
ที่มา: Blognone

TensorFlow ออกใบรับรองนักพัฒนา สอบออนไลน์ 5 ชั่วโมง ค่าสอบ 100 ดอลลาร์

โครงการ TensorFlow เปิดตัว TensorFlow Developer Certificate ใบรับรองความสามารถของนักพัฒนาว่าสามารถทำงานกับโมเดลแบบต่างๆ ได้ครอบคลุม

นักพัฒนาที่จะสอบผ่านใบรับรองได้ต้องผ่านการทดสอบ 5 หมวดได้แก่ การสร้างโมเดลพื้นฐาน, การสร้างโมเดลจากชุดข้อมูล, โมเดล convolutional neural network (CNN) สำหรับการวิเคราะห์ภาพ, การทำ NLP จัดหมวดหมู่ข้อความ, และการสร้างโมเดลแบบ sequence เพื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูลตัวเลข

กระบวนการสอบเป็นการสอบออนไลน์ โดยต้องติดตั้ง PyChard IDE และติดตั้งปลั๊กอินสำหรับการสอบ จากนั้นล็อกอินเข้าไปสอบโดยมีเวลาทำข้อสอบ 5 ชั่วโมง สำหรับการเตรียมสอบทาง TensorFlow แนะนำให้ลงเรียนวิชา TensorFlow in Practice 

ค่าสอบ 100 ดอลลาร์ สมัครได้แล้ววันนี้



ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563

ร้านค้าไร้แคชเชียร์ที่ใช้เทคโนโลยี Just Walk Out ของ Amazon เตรียมเปิดสาขาแรกในเดือนนี้ที่สนามบิน Newark

Just Walk Out หรือ Amazon Go ที่ Amazon แปลงเป็นเทคโนโลยีและออกขายให้ร้านค้าปลีกทั่วไปกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว โดยครั้งนี้คือ Amazon ได้ตกลงกับ OTG เพื่อนำเทคโนโลยีร้านค้าไม่มีแคชเชียร์มาให้บริการที่สนามบิน

ร้านค้าแห่งแรกที่ใช้เทคโนโลยี Just Walk Out นี้คือ CIBO Express Gourmet Market สาขา Newark Liberty International Airport Terminal C ในรัฐนิวเจอร์ซี กำหนดเปิดร้านในวันที่ 16 มีนาคมนี้ ซึ่งตามแผนของ OTG จะทยอยนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับร้านค้าเชน CIBO Express Gourmet Market สาขาอื่นๆ ต่อไป

ปัจจุบัน OTG ดำเนินกิจการร้านค้าภายใต้แบรนด์ CIBO Express กว่า 100 แห่งในสนามบินขนาดใหญ่กว่า 10 แห่งทั่วอเมริกาเหนือ ซึ่งมีทั้ง JFK ในนิวยอร์ก, George Bush Intercontinental ใน Houston และ Pearson International ใน Toronto

Just Walk Out จะให้ประสบการณ์เหมือนช้อปปิ้งที่ Amazon Go โดยสิ่งที่แตกต่างออกไปคือลูกค้าไม่ต้องติดตั้งแอป Amazon Go บนมือถือ เพียงแค่เสียบบัตรเครดิตตรงประตูทางเข้าและเดินเข้าไปในร้านได้เลย จากนั้นก็ไปหยิบสินค้าในร้านและเดินออกมาโดยไม่ต้องต่อแถวจ่ายเงิน ระบบจะคิดเงินลูกค้าและเรียกเก็บบิลผ่านบัตรเครดิตให้อัตโนมัติ

เนื่องจากร้านค้านี้ Amazon ไม่ได้ดำเนินกิจการเอง แต่เป็นการขายเทคโนโลยีให้บริษัทอื่น ดังนั้นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง Amazon จะมีเพียงป้ายที่ประตูทางเข้าที่เขียนว่า Just Walk Out technology by Amazon เท่านั้น


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

Xiaomi วางจำหน่ายเครื่องล้างจานอัจฉริยะ สั่งงานได้ด้วยเสียง ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย


นอกจากหม้อหุ้งข้าวลดน้ำตาลได้ 44% แล้ว Mijia, แบรนด์ลูกของ Xiaomi ก็ได้เปิดตัวที่ล้างจานอัจฉริยะรุ่นใหม่ที่สามารถสั่งงานได้ด้วยเสียง แถมยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย

เครื่องล้างจานอัจฉริยะ Mijia Internet DishWasher (VDW0401M) ออกแบบมาในทรงสี่เหลี่ยม ขนาดกระทัดรัด กว้าง 442 มิลลิเมตร ลึก 419 มิลลิเมตร และสูง 461.5 มิลลิเมตร หนัก 12.5 กิโลกรัม ซึ่งเหมาะกับการวางบนเคาน์เตอร์ในห้องครัวเป็นอย่างมาก (วางที่อื่นก็จะยังไงอยู่) ด้านบนของตัวเครื่องมีหน้าจอ LED สำหรับตรวจสอบสถานะและสั่งใช้งานเครื่องได้



ระบบ Dual Cleaning System


Xiaomi Internet DishWasher มาพร้อมกับระบบฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ถึง 99.99% ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้เจ้าเครื่องนี้ในการล้างจาน ฆ่าเชื้อ และอบแห้งได้ด้วย ตัวเครื่องสามารถใส่ภาชนะได้ทั้งหมด 32 ชิ้น


เครื่องล้างจานมีโหมดล้างทั้งหมด 6 แบบ เช่น โหมดล้างเร็วที่สุดจะใช้เวลา 28 นาที ด้วยน้ำร้อน 55 องศาเซลเซียส ส่วนโหมดล้างแบบสะอาดพิเศษจะใช้น้ำร้อนถึง 75 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถค่าเชื้อแบคทีเรียได้กว่า 99.9% โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ผ่านบนหน้าจอของเครื่อง หรือสามารถเลือกได้ผ่านแอปพลิเคชัน

Mijia Internet DishWasher (VDW0401M) อยู่ในช่วงระดมทุน สนนราคาอยู่ที่ 999 หยวน หรือประมาณ 4,500 บาท แต่หากพ้นช่วงระดมทุนไปแล้ว ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น $389.99 แทน


ที่มา: Beartai

วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563

Raspberry Pi ประกาศลดราคา Pi 4 รุ่นแรม 2GB เหลือ 35 ดอลลาร์เท่า 1GB

Raspberry Pi ประกาศลดราคา Raspberry Pi 4 รุ่นแรม 2GB จาก 45 ดอลลาร์เหลือ 35 ดอลลาร์ ทำให้ราคาเท่ากับรุ่นล่างสุดแรม 1GB

นโยบายราคาของ Raspberry Pi คือการคงราคาเริ่มต้น 35 ดอลลาร์เอาไว้ สำหรับ Model B ที่เป็นรุ่นยอดนิยม และเริ่มต้น 25 ดอลลาร์สำหรับ Model A โดยราคานี้ไม่เปลี่ยนแปลงนับแต่โครงการเปิดตัวในปี 2012 ซึ่งหากคิดเงินเฟ้อ 35 ดอลลาร์ในตอนเริ่มโครงการจะเท่ากับ 40 ดอลลาร์ในวันนี้แล้ว

สำหรับรุ่น 1GB จะยังมีขายต่อไปสำหรับงานด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องการเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ แต่สำหรับคนใช้ทั่วไปไม่มีประโยชน์ที่จะสั่งรุ่นนี้มาใช้งานแล้ว ส่วนรุ่นแรม 4GB ยังคงราคา 55 ดอลลาร์เท่าเดิมไม่ลดราคาเช่นกัน


ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

Google เริ่มส่งแจ้งเตือน ง้อผู้ใช้ Edge Chromium ให้กลับมาใช้ Google Chrome

Google ส่งการแจ้งเตือนไปยังหน้าเว็บไซต์บริการต่างๆ ของ Google เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ใช้กลับมาใช้ Google Chrome


หลังจากที่ Edge Chromium ของ Microsoft เปิดตัวไปได้ไม่นาน ก็ได้รับคำชมจากผู้ใช้งานมากมาย ในด้านของแรมที่กินน้อยกว่า Google Chrome จนทำให้ผู้ใช้หลายคน ผันตัวไปใช้ Edge กันมากขึ้น

ล่าสุด Google ส่งการแจ้งเตือนไปยังหน้าเว็บไซต์บริการต่างๆ ของ Google เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ใช้กลับมาใช้ Google Chrome ตรงข้ามกับเมื่อก่อนที่ผู้ใช้อาจจะใช้ Google Chrome เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีแจ้งเตือนในตอนเปลี่ยนบราวเซอร์เริ่มต้นของ Windows ให้กลับไปลองใช้ Edge ก่อน


บริการที่ Google ได้ส่งแจ้งเตือนไปนั้น เช่น Google Search, Google Docs, Google Translate และ Google News เป็นต้น โดยจะขึ้นเป็นพอปอัปเล็กๆ ด้านขวาบนของเว็บไซต์ แสดงข้อความโน้มน้าว ข้อดีของ Google Chrome เช่น การใช้ Docs แบบ offline และส่วนขยาย Google Translate ที่มีมาให้แล้ว

ที่มา: Beartai

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รายงานเผยอายุงานเฉลี่ยของ CISO อยู่ที่ 26 เดือน เหตุจากเครียดและภาวะ Burnout

Nominet ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยของ Internet และ DNS ได้จัดทำรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับภาวะความเครียดของ CISO จากหลายภาคธุรกิจในอเมริกาและสหราชอาณาจักรฯ กว่า 800 คน พบว่าค่าเฉลี่ยอายุงานก่อนหางานใหม่อยู่ที่ 26 เดือนเท่านั้น


รายงานเผยผลลัพธ์ของ CISO ที่น่าสนใจดังนี้
  • 88% มีความเครียดระดับปานกลางถึงสูงมาก
  • 48% พบว่าความเครียดได้ส่งผลต่อสุขภาพ
  • 40% พบว่าความเครียดได้ส่งผลต่อสถานะความสัมพันธ์ต่อคู่ครองหรือลูก
  • 32% พบว่าความเครียดได้ส่งผลด้านลบกับสถานะสมรส หรือความสัมพันธ์ต่อคู่รัก รวมถึงความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง
  • 23% หันไปพึ่งพาการรักษาทางการแพทย์หรือใช้แอลกอฮอล์
โดย Nominet ชี้ในรายงานว่า แม้ปัญหาอาจไม่ได้ดูหนักถึงขีดสุดแต่ CISO หลายคนก็ต้องทำงานหนัก พลาดการไปเที่ยววันหยุด หรือเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ แม้กระทั่งการลาพักร้อน หรือการไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ความเครียดของ CISO หลายท่านเกิดจากโดนบอร์ดบริหารกดดัน ที่ไม่เข้าใจว่า Breach นั้นอาจเกิดขึ้นได้ และพวกเขาถูกจ้างมาเพื่อการนี้ นอกจากนี้กว่า 29% เผยว่าพวกเขาคงโดนไล่ออกหากเกิด Breach ดังนั้นไม่น่าแปลกใจหากรายงานพบว่าผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยการรับตำแหน่งที่ 26 เดือน และกว่า 90% ยินดีถูกตัดเงินเดือนหากจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้าง Work-life-balance ได้บ้าง

ที่มา: TechTalk

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นักพัฒนาสาย Java ย้ายไปใช้ OpenJDK มากขึ้น, Kotlin เริ่มนิยม, IntelliJ คือ IDE ยอดฮิต

Snyk บริษัทด้านค้นหาช่องโหว่ของซอร์สโค้ด ออกรายงานสำรวจข้อมูลของนักพัฒนาซอฟต์แวร์สาย Java จำนวนประมาณ 2,000 คน ประจำปี 2020 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ภาษา Kotlin ได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก ถึงแม้นักพัฒนา 86.9% ยังเขียนภาษา Java เป็นหลัก แต่ Kotlin ก็เติบโตจาก 2.4% เมื่อปีก่อนมาเป็น 5.5% และกลายเป็นภาษายอดนิยมอันดับสอง เหนือกว่า Clojure หรือ Scala แล้ว - อ้างอิง 
นักพัฒนาจำนวนมากเริ่มย้ายหนีจาก Oracle JDK ที่เก็บเงิน ไปใช้ OpenJDK แทน โดยปีก่อนมีคนใช้ Oracle JDK 70% แต่ปีนี้ลดเหลือเพียง 34% - อ้างอิง
Java เวอร์ชันที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังเป็น Java 8 ที่ส่วนแบ่ง 64% ตามด้วย Java 11 ที่ 25% ส่วนเหตุผลหลักที่ยังไม่ย้ายคือยังโอเคกับ Java 8 อยู่ (51%) ตามด้วยต้นทุนในการย้ายเวอร์ชันเยอะเกินไป (32%)

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (55%) บอกว่าจะเลือกใช้ Java ที่เป็นรุ่นซัพพอร์ตระยะยาว (LTS) เท่านั้น มีเพียง 11% ที่บอกว่าจะใช้ Java เวอร์ชันล่าสุดเสมอ - อ้างอิง
IDE ที่นักพัฒนาสาย Java ใช้กันเยอะที่สุด IntelliJ IDEA นำแบบทิ้งห่างที่ 62% (นับทั้งตัวฟรีและเสียเงิน) ตามด้วย Eclipse IDE (20%), NetBeans (10%) ถ้าดูจากกราฟแสดงความนิยม จะเห็นว่า Eclipse ร่วงลงอย่างมาก ในขณะที่ IntelliJ เติบโตพุ่งขึ้นแบบสวนทาง - อ้างอิง
ที่มา: Blognone