วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

7-Zip ออกเวอร์ชันลินุกซ์เป็นครั้งแรก เพราะ 22 ปีที่ผ่านมามีแต่บนวินโดวส์

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า 7-Zip โปรแกรม Zip ยอดนิยมบนวินโดวส์ที่ออกครั้งแรกในปี 1999 ไม่เคยออกบนแพลตฟอร์มอื่นมาก่อน (เคยมี p7zip เป็นโครงการพอร์ตลงลินุกซ์ แต่เลิกทำไปแล้ว)

ล่าสุด Igor Pavlov ผู้สร้าง 7-Zip ได้ออกเวอร์ชันลินุกซ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 22 ปีของโปรแกรมนี้ ตอนนี้ยังมีเฉพาะเวอร์ชันคอนโซล (ไม่มี GUI) โดยมีไบนารีใช้งานได้หลากหลายสถาปัตยกรรม ทั้ง x86, x86-64, ARM64

บนลินุกซ์มีโปรแกรมบีบอัดข้อมูลอยู่หลายตัว แต่การมาถึงของ 7-Zip ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่ายินดีเช่นกัน

ที่มา: Blognone

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไม่มีนาย ไม่มีทาส GitLab เตรียมเปลี่ยนชื่อ branch เริ่มต้นเป็น main

GitLab ประกาศเปลี่ยนชื่อ branch เริ่มต้นจาก master เป็น main หลังจาก GitHub เปลี่ยนชื่อเริ่มต้นไปเมื่อปีที่แล้ว

ชื่อ branch ของ Git นั้นเลียนแบบมาจาก BitKeeper ต้นกำเนิด Git ที่เคยใช้ดูแลซอร์สโค้ดลินุกซ์ (และทำให้ชุมชนทะเลาะกันเนื่องจาก BitKeeper ไม่ใช่โอเพนซอร์ส จนไลนัสรำคาญและเขียน Git มาใช้แทน) โดย BitKeeper เรียก branch หลักว่า master branch และเรียก branch อื่นๆ ว่า slave ตามแนวทางตั้งชื่อ master/slave ที่ใช้กันมานานในวงการคอมพิวเตอร์

GitLab เตรียมเปลี่ยนชื่อเป็นสองขั้น เริ่มจาก GitLab 13.11 ที่จะออกเดือนเมษายนนี้ จะมี flag สำหรับเปลี่ยนชื่อ branch เริ่มต้นเป็น main หลังจากนั้นมีเวอร์ชั่น 14.0 ที่ออกเดือนพฤษภาคมนี้จะไม่มี flag อีกต่อไป แต่เปลี่ยนชื่อเริ่มต้นในโครงการใหม่เป็น main ทั้งหมด

นอกจากการเปลี่ยนชื่อสำหรับโครงการสร้างใหม่แล้ว ตัวโครงการ GitLab เองก็จะเปลี่ยนชื่อ branch หลักไปด้วย ทำให้นักพัฒนาภายนอกที่ดึงโค้ด GitLab ไปใช้งานต้อง rebase ไปยัง main

ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

Microsoft Teams เพิ่ม Presenter mode มองเห็นตัวคนพรีเซนต์งานบนสไลด์ PowerPoint

Microsoft Teams เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานชุดใหญ่สำหรับคนจัดประชุม เริ่มจาก Presenter mode ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะมองเห็นตัวคนพรีเซนต์ได้ระหว่างที่ดูสไลด์ไปด้วย (ให้ความรู้สึกเหมือนดูแคสต์เกม) ส่วนในมุมมองของผู้พรีเซนต์ก็สามารถมองเห็นตัวเองและคำบรรยายที่จะพูดไปด้วยพร้อมๆ กัน ฟังก์ชั่นนี้จะเริ่มเปิดตัวให้แก่กลุ่มลูกค้าในระยะถัดไป

Presenter mode มี 3 แบบ คือ Standout แสดงฟีดวิดีโอของตัวผู้พูดเป็นภาพเงาด้านหน้าเนื้อหาที่แชร์ตามภาพด้านล่าง กับโหมด Reporter ที่สไลด์จะอยู่เหนือไหล่ผู้พูด เหมือนเวลาดูรายการข่าว และโหมด Side-by-side แสดงเนื้อหาคู่กับตัวคนพูด

นอกจากนี้ยังมี PowerPoint Live ที่ให้ผู้จัดประชุม สามารถหยิบไฟล์ PowerPoint ได้จากเมนู Share content เลย โดยจะมองเห็นไฟล์ PowerPoint ต่างๆ ปรากฏอยู่ในเซกชั่น PowerPoint Live นี้ ผู้จัดประชุมกดเลือกไฟล์มาพรีเซนต์ได้ทันที

PowerPoint Live ยังให้ผู้จัดประชุมสามารถมองเห็นทุกอย่างได้ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมกำลังจดจ่ออยู่กับสไลด์พรีเซนเทชั่น ผู้จัดประชุมสามารถกดดูได้ว่าสไลด์ถัดไปเกี่ยวกับเรื่องอะไร มองเห็นคำบรรยายที่จะพูดเกี่ยวกับสไลด์นั้นๆ และกดดูแชทระหว่างพรีเซนต์งานได้ เพื่อให้การพรีเซนต์ลื่นไหล

ในกรณีที่มีคนพรีเซนต์งานหลายคน ผู้จัดประชุมสามารถกดปุ่ม Take control ให้กลายเป็น Stop presenting ได้ เพื่อส่งต่อให้คนถัดไปเข้ามาเสนองานในสไลด์ที่คนๆ นั้นเตรียมมา ลดความกระอักกระอ่วนเวลาเปลี่ยนผู้นำเสนองาน

เพิ่มโหมด high-contrast ปรับสไลด์ให้ตัวอักษรเด่นชัด สำหรับผู้มีปัญหาในการมองเห็นได้ ฟังก์ชั่นนี้จะตามมาในเร็วๆ นี้


ที่มา: Blognone

ภาษา Go มาแรงในหมู่อาชญากรไซเบอร์ เหตุผลเพราะใช้เขียนมัลแวร์ง่าย ตรวจจับยาก

บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ Intezer ออกรายงานว่า Go กลายเป็นภาษายอดนิยมของอาชญากรไซเบอร์ โดยมัลแวร์ที่เขียนด้วย Go เติบโตขึ้นถึง 2,000% ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี

มัลแวร์ Go ตัวแรกถูกค้นพบในปี 2012 แต่ก็ใช้เวลาอีกนานกว่าความนิยมจะเพิ่มขึ้น จนมาพุ่งแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า Go เป็นภาษาที่เขียนง่าย เขียนทีเดียวทำงานได้ข้ามแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้สร้างมัลแวร์เริ่มย้ายภาษาจาก C/C++ มาเป็น Go แทน

อีกปัจจัยที่มีผลไม่น้อยคือ นักวิจัยความปลอดภัยและแอนตี้ไวรัสในท้องตลาด ยังไม่คุ้นเคยกับแพทเทิร์นของไบนารี Go มากนัก ทำให้มัลแวร์ Go ตรวจจับได้ยากกว่า ตัวอย่างมัลแวร์ที่เขียนด้วย Go มีทั้งกลุ่มที่เขียนโดยกลุ่มอาชญากรที่ได้รับการหนุนจากรัฐ (เช่น รัสเซีย จีน), กลุ่มอาชญากรอิสระ และ ransomware

ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

Huawei หันมาทำ AI ให้ฟาร์มหมูและเหมือง! หลังยอดขายสมาร์ตโฟนตกฮวบ

Huawei แบรนด์สมาร์ตโฟนดัง แห่งจีนแผ่นดินใหญ่ หันมาพัฒนา Artificial Intelligence (AI) สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อการเลี้ยงหมู และทำเหมืองถ่านหิน หลังโดนมาตรการคว่ำบาตรไม่หยุดจาก สหรัฐฯ และยอดขายสมาร์ตโฟนที่ตกฮวบ จนมีข่าวลือถึงขนาดจ่อจะขายแบรนด์สมาร์ตโฟนซีรีส์ P และ Mate แต่ก็ปฏิเสธไป

แน่นอนว่า หัวเว่ย เองก็ไม่นิ่งเฉยต่อสภาวะที่เกิดขึ้น โดยเริ่มขยับตัวเพื่อแหล่งรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายอุปกรณ์สมาร์ตโฟนเพียงอย่างเดียว เช่น การให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing), พาหนะอัจฉริยะ (Smart Vehicles), และอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices)

ไม่เพียงแค่นี้ เนื่องจากจีนมีอุตสาหกรรมสำหรับการเลี้ยงหมูที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหมูกว่าครึ่งหนึ่งของโลก หัวเว่ยไม่รอช้าที่จะบุกอุตสาหกรรมนี้โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด็น หลังจากการค้นคว้าอย่างหนักจนสามารถขึ้นไปเป็นบริษัทที่มียอดขายมากที่สุดในโลก

หัวเว่ย ใช้ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ช่วยให้ผู้เลี้ยงหมูสามารถแบ่งแยก และจําแนกหน้าตาเพื่อติดตาม การกิน, น้ำหนัก, และการออกกำลังกาย ของหมูแต่ละตัวได้ นอกจากนี้ยังใช้ AI เพื่อไว้สำหรับการป้องกันและตรวจหาโรค

ล่าสุดโฆษกของ หัวเว่ย ยังออกมากล่าวกับ BBC News ว่า การใช้เทคโนโลยี ICT (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) สำหรับการเลี้ยงหมูเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เราไม่ลืมที่จะผลักดันอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมและเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ยั่งยืนในยุค 5G

นอกจากนี้ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันของหัวเว่ย ออกมาประกาศเปิดตัว ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมการทำเหมืองในมณฑลชานซีทางตอนเหนือของจีน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

โดยมีเป้าหมายว่าต้องการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเหมืองถ่านหิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงในการใช้แรงงานที่น้อยลง ความปลอดภัยที่มากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ถึงขนาดตั้งเป้าว่าต้องสามารถให้แรงงานเหล่านี้ใส่สูทผูกไทไปทำงานได้

"เราไม่มีวันหายไปไหน และเรายังคงอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งการขายสมาร์ตโฟนเพียงอย่างเดียว"

Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันของหัวเว่ย

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กูเกิลปล่อย TensorFlow 3D ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับวัตถุจากภาพสามมิติ

ทีม Google Research ปล่อยโครงการ TensorFlow 3D (TF 3D) โมเดลปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจจับวัตถุสามมิติโดยเฉพาะ สำหรับใช้งานจากข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์สามมิติ ไม่ว่าจะเป็นโมดูล LIDAR หรือกล้องสามมิติก็ตาม

TF 3D มีโมเดลสำหรับแยกส่วนวัตถุจากข้อมูลสามมิติ (segmentation) และตรวจจับวัตถุ (object detection) การตรวจจับวัตถุจะได้เอาต์พุตเป็นกล่องสามมิติ สามารถบอกจุดศูนย์กลางและทิศทางที่วัตถุหันอยู่ได้

ตัวโครงการพัฒนาบน TensorFlow 2 รองรับชุดข้อมูล Waymo Open (สแกนถนน), ScanNet (ในอาคาร), และ Rio สำหรับการฝึก

ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

แฮกเกอร์เจาะ TeamViewer เข้าคอมพิวเตอร์โรงกรองน้ำในฟลอริด้า แล้วเพิ่มสัดส่วนสารเคมีอันตราย, ผู้ดูแลแก้ไขทัน

แฮกเกอร์เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบกรองน้ำของโรงกรองน้ำ Oldsmar ในเมือง Pinellas County รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนพยายามเพิ่มสารโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟในน้ำ แต่โชคดีที่ผู้ดูแลระบบเห็นทัน และเปลี่ยนค่ากลับเหมือนเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อคุณภาพน้ำประปา ที่เป็นแหล่งน้ำดื่มหลักของเมือง

Bob Gualtieri นายอำเภอ Pinellas County เล่าว่าผู้ดูแลระบบเห็นเคอร์เซอร์เม้าส์ของเขาเคลื่อนไหวไปเปลี่ยนระดับโซเดียมไฮดรอกไซด์ในน้ำประปา จาก 100 ต่อล้านส่วน (100 ppm) เป็น 11,100 ต่อล้านส่วน (11,100 ppm) ก่อนออกจากระบบไป เขาจึงล็อกระบบ และแก้ไขค่ากลับคืนทัน โชคดีที่การเปลี่ยนแปลงนี้ปกติต้องใช้เวลาหนึ่งวันถึงจะส่งผล

ก่อนหน้าที่แฮกเกอร์จะเปลี่ยนค่าในระบบครั้งนี้ Gualtieri ระบุว่าเห็นหน้าจอถูกควบคุมอยู่ก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่ได้ผิดสังเกตุ เนื่องจากในสำนักงานก็ใช้ TeamViewer เพื่อซัพพอร์ตปัญหาด้านไอทีอยู่เรื่อยๆ หรือแม้แต่หัวหน้าของเขาเองก็เข้ามาดูแลระบบจากระยะไกล

Gualtieri ยังยืนยันว่าถึงผู้ดูแลจะไม่เข้ามาเห็น ระบบก็ยังมีการป้องกันอื่นในการตรวจสอบคุณภาพและค่าความเป็นกรดของน้ำอยู่ ปัจจุบันทางการเมือง Pinellas County, FBI และหน่วย Secret Service ของสหรัฐ กำลังร่วมกันสืบหาผู้กระทำการครั้งนี้

ที่มา: Blognone

Tesla สิงคโปร์เปิดให้สั่งซื้อ Model 3 ได้แล้ว ราคารวมภาษีกว่า 2.5 ล้านบาท ไม่รวมใบ COE

เรียกว่าเข้าใกล้ไทยเข้ามาอีกนิด กับ Tesla ที่ขณะนี้เปิดให้สั่งซื้อผ่านหน้าเว็บของประเทศสิงคโปร์แล้ว โดยรถรุ่นเดียวที่ให้สั่งซื้อตอนนี้คือ Model 3 มีให้เลือกสองรุ่นย่อยคือ Standard Range Plus และ Performance

สำหรับ Tesla Model 3 Standard Range Plus มีราคาหน้าเว็บอยู่ที่ 77,990 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1.76 ล้านบาท แต่หากรวมภาษีต่างๆ และค่าจดทะเบียนรถแล้วราคาพุ่งไปอยู่ที่ประมาณ 113,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2.54 ล้านบาท โดยวิ่งได้ไกล 448 กิโลเมตรตามมาตรฐาน WLTP ความเร็วสูงสุดที่ 225 กม./ชม. เร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 5.6 วินาที

ส่วนรุ่น Performance ตั้งราคาไว้ที่ 94,990 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2.14 ล้านบาท แต่หากรวมภาษีต่างๆ และค่าจดทะเบียนรถแล้วราคาอยู่ที่ประมาณ 155,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 3.5 ล้านบาท โดยวิ่งได้ไกล 567 กิโลเมตรตามมาตรฐาน WLTP ความเร็วสูงสุดที่ 261 กม./ชม. เร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 3.3 วินาที

ทั้งนี้ ราคาด้านบนไม่รวมค่าประมูลใบรับรองการเป็นเจ้าของรถยนต์ (Certificate of Entitlement - COE) ที่สิงคโปร์บังคับใช้เป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1990 เพื่อจำกัดปริมาณรถยนต์ในประเทศ โดยราคาใบ COE นี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามความต้องการรถในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งบางครั้งมีราคาสูงกว่าตัวรถด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาจะดูสูงสำหรับคนไทย แต่นี่คือราคาปกติของรถยนต์ในสิงคโปร์ โดยมีการคาดการณ์ว่าราคารถ Tesla Model 3 Standard Range Plus พร้อมใบ COE จะถูกกว่า Toyota Camry เสียอีก เป็นผลมาจากที่รัฐบาลสิงคโปร์มีส่วนลดทางภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

หากกดสั่งซื้อตอนนี้ ต้องรอรถนาน 12-14 สัปดาห์ทั้งสองรุ่นย่อย ส่วนฟีเจอร์ขับอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Full Self-Driving) ก็สามารถซื้อเพิ่มได้เช่นกัน ที่ราคา 11,500 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 260,000 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาในสหรัฐอเมริกา

ที่มา: Blognone

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

SCB 10X กับ Digital Health Venture ของสมิติเวช ทำ SkinX แอปพบหมอรักษาผิวหนังและสิว

SCB 10X ร่วมกับ Digital Health Venture บริษัทในเครือโรงพยาบาลสมิติเวช เปิดตัว SkinX แพลตฟอร์มพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ตั้งแต่ปัญหาสิว ผิวหนัง และหนังศรีษะ รวมแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางกว่า 50 คน จาก 17 โรงพยาบาลและคลินิกผิวหนัง เช่น รพ.สมิติเวช, เมโกะ คลินิก, ผิวดีคลินิก, Iskyคลินิก, Smith prive' aesthetique และ Thera คลินิก เป็นต้น ดาวน์โหลดได้แล้วทั้ง iOS และ Android

นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder ของ SCB 10X กล่าวว่า จากการเปิดทดลองใช้งานช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา SkinX มีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานมากกว่า 19,400 ราย ตั้งเป้ามียอด 40,000 ดาวน์โหลด ยอดผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม SkinX เพื่อปรึกษาแพทย์ออนไลน์กว่า 3,000 ครั้ง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังคอยให้คำปรึกษากว่า 150 คน ภายในไตรมาสแรกปี 2564


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม SkinX กล่าวว่า “เทรนด์ในช่วงโควิด-19 ระบาด พบว่า 35% ของคนไทย มองว่าการดูแลความสวยความงามในบ้าน คือ ไลฟ์สไตล์ใหม่ของพวกเขา และเกือบ 50% ของผู้ป่วยมีความต้องการในการใช้ digital health tool ในการพบหมอ

ผู้ใช้งานสามารถใช้ SkinX เพื่อพบแพทย์ผ่านวิดิโอคอล สั่งยา และติดตามผลได้ นอกจากนี้ยังมีบริการจัดส่งยาตามใบสั่งแพทย์โดยเภสัชกรถึงบ้านฟรีจนถึง 31 มีนาคมนี้ เมื่อสั่งยา150 บาท ขึ้นไป

ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ย้อนประวัติความสำเร็จ VS Code เกิดจากโครงการ Editor บนเว็บที่ล้มเหลวมาก่อน

Erich Gamma หนึ่งในผู้นำทีมพัฒนา Visual Studio Code เล่าความหลัง 10 ปีว่าความสำเร็จของ VS Code ที่เราเห็นในปัจจุบัน เกิดจากความล้มเหลวของโครงการก่อนหน้านี้คือ Visual Studio Online ที่เป็น code editor บนเบราว์เซอร์

ตัวของ Gamma เองเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Design Patterns เคยเป็นพนักงานของ IBM ที่ดูแลโครงการ Eclipse ก่อนย้ายมาอยู่ไมโครซอฟท์ในปี 2011 เขาเล่าว่าเป้าหมายตอนแรกคือสร้าง code editor บนเว็บเบราว์เซอร์ในชื่อโค้ดเนม "Monaco" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือชื่อ Visual Studio Online ที่เปิดตัวในปี 2013 (ปัจจุบันถูกรีแบรนด์เป็น Azure DevOps)

ภาพการเปิดตัว VS Code ต่อสาธารณะครั้งแรกในปี 2015

ไอเดียที่น่าสนใจและกลายมาเป็นจุดเด่นของ VS Code ในภายหลังคือ Monaco เลือกไม่ใช้ UI Framework ใดๆ เลย เขียนเองทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าเน้นประสิทธิภาพมาตั้งแต่ต้น จึงต้องการกำหนดชีวิตเอง ไม่พึ่งพา UI Framework เพราะควบคุมประสิทธิภาพโดยตรงไม่ได้

Visual Studio Online ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีผู้ใช้ต่อเดือนจำนวนหลายพันคน แต่ตัวเลขแค่นี้ถือว่าน้อยมากสำหรับบริษัทขนาดไมโครซอฟท์ ที่ต้องการยอดผู้ใช้เยอะกว่านี้ระดับ 10 เท่าตัว

ในปี 2014 ทางทีมของ Gamma จึงปรับทิศทางโครงการใหม่ (pivot) มาเป็น Project Ticino (โค้ดเนมในตอนนั้น) เป็นเครื่องมือพัฒนาแบบข้ามแพลตฟอร์ม ทำงานบน OSX และ Linux ได้ เน้นการแก้โค้ด Node.js และ .NET เป็นสำคัญ

VS Code ถูกวางตัวอยู่ตรงกลางระหว่าง editor แบบดั้งเดิม และ IDE เต็มรูปแบบ ช่วงนั้นมีกระแส Electron เกิดขึ้นพอดี การที่ Monaco เขียนขึ้นเป็นเว็บอยู่แล้ว นำมารันบน Electron ได้ไม่ยาก

ทีมของ Gamma ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี พัฒนา Monaco มาเป็น Ticino และเปิดตัวในงาน Build 2015 โดยโชว์เดโมการเขียน .NET บนลินุกซ์ เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากในตอนนั้น

ก้าวถัดมาของ VS Code เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2015 มีตั้งแต่การโอเพนซอร์สบน GitHub และการรองรับส่วนขยาย (extension)

Gamma เล่าว่าเขามีประสบการณ์จาก Eclipse ที่มีส่วนขยายจำนวนมาก แต่แนวคิดของ VS Code คือ "ต้องเซฟงานได้เสมอ" ถ้าส่วนขยายมีผลต่อโปรแกรมหลักจนแครช เสียงานที่ยังไม่ได้เซฟไป ก็ถือว่าไม่ดี ดังนั้น VS Code จึงออกแบบส่วนขยายให้รันคนละโพรเซสกับโปรแกรมหลัก และคุยกันผ่าน RPC แทน

อีกปัจจัยที่ทำให้ VS Code ประสบความสำเร็จคือโครงการ TypeScript ที่ไมโครซอฟท์เริ่มพัฒนาในช่วงไล่เลี่ยกัน (เริ่มปี 2010) ทำให้การพัฒนา VS Code ง่ายขึ้นมาก ช่วงแรก VS Code ยังสร้างด้วย JavaScript เป็นหลัก แต่พอถึงปี 2013 โค้ดทั้งหมดกลายเป็น TypeScript เรียบร้อยแล้ว

ปี 2016 เป็นจุดเริ่มต้นของฟีเจอร์สำคัญอีกอย่างคือ Language Server Protocol (LSP) ที่ช่วยให้ VS Code รองรับภาษาโปรแกรมได้เป็นจำนวนมาก ผ่านการสร้าง Language Server โดยชุมชน ไมโครซอฟท์ไม่ต้องทำเองทั้งหมด แค่ดีไซน์ตัวโพรโทคอล LSP ขึ้นมาให้เป็นมาตรฐานเท่านั้น

ทีมของ Gamma ที่เริ่มพัฒนา VS Code อยู่ที่เมืองซูริกในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เมื่อกระแส VS Code เริ่มจุดติดในปี 2016 ไมโครซอฟท์ก็เพิ่มอีกทีมที่สำนักงานใหญ่ใน Redmond โดยผลงานแรกของทีมนี้คือการสร้าง terminal ขึ้นมาภายในตัว VS Code เอง (xterm.js)

ช่วงปี 2017-2019 เป็นความพยายามผลักดัน VS Code ให้ทำงานได้ทุกที่ เริ่มมีแนวคิดของการทำงานรีโมทเข้ามา (เขียนบนเครื่อง รันบนอีกเครื่อง) แนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมเมื่อเกิดกระแส container และไมโครซอฟท์เองมีลินุกซ์ WSL รันอยู่ในวินโดวส์

ปี 2020 เป็นการนำ VS Code กลับมาสู่รากเหง้าคือเว็บอีกครั้ง เป้าหมายคือการใช้งานกับ GitHub Codespaces ที่สามารถกดแก้โค้ดได้จากหน้าเว็บ GitHub แล้วสั่งคอมไพล์ได้เลย

Gamma เล่าว่าการที่ VS Code รันบน Electron อยู่ก่อน ต่างจากเบราว์เซอร์อยู่บ้าง จึงต้องปรับโค้ดข้างใต้ใหม่ให้เป็นเวอร์ชันเดียวที่รันได้ทั้งบน Electron และเบราว์เซอร์

ปัจจุบัน VS Code มีผู้ใช้ 14 ล้านคนต่อเดือน ส่วนขยาย 28,000 ตัว, รองรับ LSP 138 ตัว และมี Debug Adaptor Protocol (DAP) สำหรับเชื่อมต่อ debugger ลักษณะเดียวกับการเปิด LSP ให้เชื่อมต่อภาษาด้วย

แนวทางการพัฒนา VS Code คือออกรุ่นใหม่ทุกเดือน ประกาศแผนต่อสาธารณะบน GitHub การออกรุ่นใหม่ทุกเดือนทำให้ทีมงานต้องขยันปรับแก้โค้ดให้ดี ช่วยลดหนี้ทางเทคนิค (technical debt) ลงได้ตลอดเวลา ฟังเสียงของผู้ใช้ และยังคงแนวคิดดั้งเดิม "โฟกัสที่ประสิทธิภาพ"

แผนการในอนาคตของ VS Code จะทำ 3 เรื่องคือ

  • testing หลังจากรองรับ debugging แล้ว ขั้นต่อไปคือรองรับการรันเทสต์ในตัว (หน้าจอตามภาพ)
  • รองรับ Jupyter Notebooks ในตัว editor ของ VS Code
  • ปรับปรุงการทำงานบน Codespaces ต่อไป

แผนการทั้งหมดสามารถดูได้จาก Roadmap บน GitHub

Gamme สรุปบทเรียนความสำเร็จของ VS Code ว่าต้องอดทน สม่ำเสมอ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน

ใครเป็นผู้ใช้ VS Code แนะนำให้ชมคลิปเต็ม ความยาวประมาณ 30 นาที (แต่ Gamma พูดเร็ว เข้าประเด็น ไม่ยืดเยื้อ)

ที่มา: Blognone