วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

Pico บริษัทเฮดเซต VR ของ ByteDance ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 แล้ว

มีรายงานส่วนแบ่งการตลาดของเฮดเซต VR ทั่วโลกจาก IDC พบว่า Meta ซึ่งเดิมมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 90% ในปี 2021 ตัวเลขล่าสุดเมื่อไตรมาสที่ 3 ปี 2022 ลดลงมาที่ 75% โดยมีอันดับ 2 ที่กำลังมาแรงคือ Pica ส่วนอันดับอื่นส่วนแบ่งต่ำกว่า 3%

Pico เป็นแบรนด์เฮดเซต VR ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทของ ByteDance เจ้าของ TikTok ที่น่าสนใจคือภาพรวมตลาดเฮดเซตนั้น ผู้ผลิตทุกรายมีจำนวนส่งมอบที่ลดลง มีเพียง Pico ที่จำนวนส่งมอบเพิ่มขึ้น

Pico ทำตลาดเฮดเซต VR ขายกับลูกค้าทั่วไป และมีขายเฉพาะในยุโรปและเอเชีย ยังไม่ได้ทำตลาดในอเมริกา

ที่มา: Blognone

กลุ่มต่อต้าน Tesla Full Self-Driving ไปไกล ซื้อโฆษณา Super Bowl บอกว่าระบบอัตโนมัติอันตราย

ในสหรัฐอเมริกามีกลุ่มรณรงค์ชื่อ The Dawn Project นำโดย Dan O’Dowd เศรษฐีเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ Green Hills Software ทำด้านระบบปฏิบัติการฝังตัว

กลุ่ม The Dawn Project รณรงค์ต่อต้านการใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ Full Self-Driving ของ Tesla ว่ายังไม่มีความปลอดภัยมากพอสำหรับการใช้บนถนนจริง และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคนเดินถนนได้ (เป้าหมายคือระบบคอมพิวเตอร์ในภาพรวมควรปลอดภัย แต่สนใจ Tesla มากเป็นพิเศษ)

แคมเปญรณรงค์ของกลุ่มมีหลายทาง มีทั้งการซื้อหน้าโฆษณาหนังสือพิมพ์ เข้าชื่อกดดันนักการเมือง แต่ล่าสุดแคมเปญกำลังไปไกลถึงการซื้อสล็อตโฆษณาในช่วงพักครึ่ง Super Bowl ซึ่งมีราคาแพงมหาศาล เพื่อเผยแพร่คลิปโฆษณาว่า Full Self-Driving เป็นภัยต่อสังคม (จะออนแอร์ในการแข่งขันวันพรุ่งนี้ 13 กุมภาพันธ์ ตอนเช้า ตามเวลาประเทศไทย)


คลิปโฆษณาของ The Dawn Project ถูกวิจารณ์มาตลอดว่าตั้งใจโจมตี Tesla และนำเคสสุดโต่งมานำเสนอ โดยไม่มี methodology การทดลองที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งไม่ได้พูดถึงระบบช่วยขับขี่ของรถยนต์แบรนด์อื่นๆ รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับของ Waymo/Cruise ด้วย ในขณะที่ฝั่งของ The Dawn Project ก็พยายามยืนยันว่าเผยแพร่ฟุตเตจวิดีโอทั้งหมดอยู่แล้ว ตรวจสอบวิธีการทดลองย้อนกลับได้

ที่มา: Blognone

พนักงาน Google ไม่พอใจที่บริษัทเร่งเปิดตัว Bard ทั้งๆ ที่รู้ว่ายังไม่พร้อม

มีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่าพนักงานของ Google เองก็ไม่พอใจที่บริษัทรีบเปิดตัวบอตลักษณะเดียวกับ ChatGPT เนื่องจากรู้ๆ อยู่ว่าไม่พร้อม แต่ก็ยังรีบเข็นออกมา

ทาง CNBC รายงานว่าพนักงานของ Google บอกว่าเป็นความผิดพลาดของ ศุนทัร ปิจไช (Sundar Pichai) หรือ CEO ของ Google ที่เร่งเปิดตัว Bard หรือแชตบอตลักษณะแบบเดียวกันกับ ChatGPT ออกมาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พร้อมดี รวมถึงวิจารณ์เรื่องการปลดพนักงานออกจากบริษัทด้วย โดยเป็นการกระทำที่ไม่ได้มองเรื่องผลระยะยาวของบริษัท

 "พนักงานของ Google มองว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่มีความเป็น Google เลย"

ก่อนหน้านี้ Google ได้โปรโมต Bard ผ่าน Twitter โดยการโชว์ทักษะการสรุปข้อมูลเกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ (หรือ JWST) ให้เด็กอายุ 9 ขวบเข้าใจง่ายๆ โดย Bard ดันให้ข้อมูลผิด โดยกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ หรือ JWST ไม่ใช่กล้องโทรทรรศน์ตัวแรกของโลกที่สามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก แต่เป็น Very Large Telescope หรือ VLT จากหอดูดาวทางตอนใต้ของยุโรป

ที่มา: Beartai

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2565

Lawson เริ่มให้บริการร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์แบบเดียวกับ Amazon Go

Lawson เครือร้านสะดวกซื้อชื่อดังของญี่ปุ่นเตรียมเปิด Lawson Go ร้านสะดวกซื้อแบบไม่มีพนักงานคิดเงิน โดยใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับ Amazon Go

ที่ว่าใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้หมายถึงการใช้ระบบ computer vision ในการตรวจสอบการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าภายในร้าน โดยในการใช้บริการลูกค้าจะต้องติดตั้งแอป Lawson Go ในสมาร์ทโฟนและผูกบัญขีบัตรเครดิตกับแอป เมื่อเดินเข้าไปภายในร้านก็เปิดแอปเพื่อสร้างรหัส QR แล้วนำไปสแกนตรงทางเข้าร้าน หลังจากนั้นก็เพียงแต่เดินเลือกซื้อสินค้าภายในร้านแล้วเดินออกจากร้านได้เลย

ร้าน Lawson Go ให้บริการแบบไม่มีแคชเชียร์

ระบบ computer vision และเซ็นเซอร์วัดน้ำหนักสินค้าบนชั้นวางจะทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบว่าลูกค้าผู้ใช้บริการแต่ละคนได้เลือกซื้อหยิบสินค้าอะไรไปบ้าง เมื่อลูกค้าคนดังกล่าวเดินออกจากร้านระบบก็จะรวมข้อมูลสินค้าทั้งหมดเพื่อคิดเงินโดยการตัดเงินผ่านบัตรเครดิตที่ผูกกับแอป Lawson Go ไว้ โดยใบเสร็จค่าสินค้าจะถูกส่งไปยังลูกค้าผ่านทางแอป

แอป Lawson Go ที่ใช้ยืนยันตัวตนโดยสร้างรหัส QR ไปสแกนที่ทางเข้าร้าน และเป็นช่องทางรับใบเสร็จดิจิทัลค่าสินค้า

Lawson Go เปิดให้บริการสาขาแรกที่อาคาร Mitsubishi Shokuhin ใน Tokyo เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ภายในร้านจะยังมีพนักงานทำงานอยู่ แต่จะทำหน้าที่หลักเพื่อเติมสินค้าและดูแลความเรียบร้อยภายในร้านเท่านั้นโดยไม่ได้ให้บริการคิดเงิน Lawson ระบุว่าในอนาคตจะขยายสาขา Lawson Go และจะเพิ่มเคาน์เตอร์คิดเงินด้วยตนเองเป็นทางเลือกการจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้มาใช้บริการอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2565

Cloudflare เลิกใช้ Elasticsearch เก็บ log หันไปใช้ ClickHouse แทน

Cloudflare รายงานถึงการเปลี่ยนฐานข้อมูลสำหรับเก็บ log จากเดิมที่ใช้ Elasticsearch หันมาใช้ฐานข้อมูลแบบคอลัมน์ ClickHouse หลังจากพบข้อจำกัดของ Elasticsearch หลายอย่าง ได้แก่
  • Mapping Explosion: เนื่องจากข้อมูล log มักมีฟิลด์เปลี่ยนไปมาเรื่อยๆ แต่ Elasticsearch พยายาม index ทุกฟิลด์แยกจากกัน ทำให้เมื่อถังข้อมูลมีฟิลด์จำนวนมากเข้าก็จะกินหน่วยความจำมาก ทางแก้ปัญหาของ Elasticsearch คือจำกัดฟิลด์ที่ใช้งานแต่ก็จะทำให้ไม่สามารถค้นหาฟิลด์ที่ไม่ได้ระบุไว้
  • Multi-tenancy: ตอนนี้ Elasticsearch ไม่สามารถจำกัดจำนวนเอกสารที่ผู้ใช้ต้องสแกนในการคิวรีแต่ละครั้ง ส่งผลให้ผู้ใช้คนใดคนหนึ่งส่งคำสั่งคิวรีหนักๆ ก็จะทำทั้งคลัสเตอร์ช้าไปได้
  • การจัดการยาก: หากคลัสเตอร์ Elasticsearch ทำงานผิดพลาดจนกลายเป็น degrade แล้วกระบวนการกู้คืนจะใช้เวลานาน การ index ฐานข้อมูลใหม่กินเวลานาน และกระบวนการย้ายข้อมูลจากฐานข้อมูล hot ไป cold กระทบประสิทธิภาพคลัสเตอร์
  • การจัดการหน่วยความจำจาวา: เนื่องจาก Elasticsearch ใช้จาวาจึงมีช่วงเวลาที่ garbage collector ทำงาน ทำให้เสียประสิทธิภาพในช่วงนั้น ทาง Cloudflare พยายามเปลี่ยนตัว garbage collector แล้วแต่ก็ไม่ดีขึ้นนัก

การเปลี่ยนไปใช้ ClickHouse ได้เปรียบหลายอย่าง เช่น การเพิ่ม index ในฟิลด์ใดๆ สามารถทำได้ทันที, ตัวฐานข้อมูลบีบอัดเป็นค่าเริ่มต้นและคอนฟิกแยกกระบวนการบีบอัดรายฟิลด์ได้, และการขยายคลัสเตอร์ได้ประสิทธิภาพตามขนาดคลัสเตอร์ที่ขยาย (linearly scalable)

ในบทความนี้ Cloudflare ยังแนะนำถึงการใช้ ClickHouse ว่าควรเลือกรูปแบบการเก็บข้อมูลว่าจากเก็บแยกฟิลด์แบบ SQL ปกติที่ต้อง ALTER TABLE ทุกครั้งเพื่อเพิ่มฟิลด์ หรือจะใช้ JSON เพื่อเก็บฟิลด์ที่ไม่แน่นอน แต่มีข้อจำกัดว่าไม่ควรมีข้อมูลเกิน 1,000 ฟิลด์ สำหรับ Cloudflare ที่มีฟิลด์จำนวนมากก็เลือกเก็บข้อมูลเป็น array ของฟิลด์อื่นๆ ทั้งหมด

ผลที่ได้จากการเปลี่ยนไช้ ClickHouse ทำให้ Cloudflare ลดการใช้ซีพียูและหน่วยความจำจากการเขียนลง 8 เท่า ขนาดข้อมูลลดลง 10 เท่า ทำให้ Cloudflare สามารถเก็บข้อมูลเต็มรูปแบบไม่ต้อง sampling บางส่วน, และการคิวรีเกือบทั้งหมดประสิทธิภาพดีขึ้นมาก

แม้จะชม ClickHouse ค่อนข้างมากแต่ทาง Cloudflare ก็ระบุว่า Elasticsearch เป็นตัวค้นหาแบบ full text ที่ดี และการใช้งานของแต่ละที่ก็อาจจะต่างกันจึงควรพิจารณาการใช้งานจริงด้วย

ที่มา: Blognone

O.MG Cable สาย USB แฮคได้ที่ทำให้ทุกคนต้องระวังการเสียบมั่วซั่ว

เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับแฮคเกอร์ในปัจจุบันนี้ มีความก้าวหน้าไปมากจนถึงขนาดที่หลายอย่างดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาที่ไม่น่าจะมีฟังก์ชันอันตรายแอบแฝง แต่สาย USB ที่ชื่อ O.MG Cable นี้อาจต้องทำให้เปลี่ยนความคิดใหม่และระวังมากขึ้นก่อนจะคว้าสาย USB ของใครมาเสียบคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ

O.MG Cable คือสาย USB ที่ผลิตด้วยมือซึ่งดูหน้าตาธรรมดาแทบไม่ต่างจากสายชาร์จหรือสายถ่ายโอนข้อมูลทั่วไป แต่ความไม่ธรรมดาของมันคือสิ่งที่แฝงอยู่ภายในซึ่งมีทั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์, การเชื่อมต่อ USB และการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่ทำได้ทั้งรับส่งข้อมูลที่มันแฮคได้ไปยังเซิร์ฟเวอร์และรับคำสั่งโจมตีจากเซิร์ฟเวอร์มาก็ได้ โดยร่นนี้เป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดจากสายที่ผลิตออกมาเมื่อปีก่อน เพิ่มความสามารถในการรับข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์เพื่อการโจมตี (จากแต่เดิมที่ทำได้เพียงดักจับข้อมูล)

หน้าตาสาย O.MG Cable กับเว็บที่ใช้งานคู่กับมัน

สิ่งที่มันทำได้ไม่เพียงแต่การดักจับอ่านข้อมูลการใช้แป้นพิมพ์ แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือมันทำการโจมตีแบบ keystroke injection ได้ด้วย ว่าง่ายๆ คือผู้โจมตีสามารถส่งข้อมูลผ่านทาง Wi-Fi ไปให้สาย O.MG Cable เพื่อหลอกให้อุปกรณ์ที่มันเสียบอยู่กับสายนั้นเข้าใจว่ามีข้อมูลถูกคีย์ส่งมาจริง และการโจมตีนี้ยังทำกับอุปกรณ์ที่อยู่ในโซน air gap ได้ด้วย (อุปกรณ์ที่โดน air gap หรืออยู่ในโซน air gap หมายถึงอุปกรณ์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นในช่องทางใดเลย ซึ่งเป็นวิธีการออกแบบระบบเครือข่ายที่ใช้กับอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมาก เพื่อยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับอุปกรณ์นั้น)

ภาพเอกซเรย์แสดงให้เห็นว่ามีอะไรอยู่ในสาย O.MG Cable

ตัวสาย O.MG Cable นั้นมีทั้งแบบหัว Lightning, micro USB และ USB-C โดยมีแบ่งขายเป็น 3 รุ่น คือ Basic, Plus และ Elite ซึ่งราคารุ่น Elite ที่แพงที่สุดนั้นตั้งไว้ที่เส้นละ 179.99 เหรียญ ทั้งนี้ MG ซึ่งเป็นผู้พัฒนาสาย O.MG Cable นี้บอกว่าอุปกรณ์แฮคที่มีอยู่ในก่อนในท้องตลาดที่ทำงานได้ระดับเดียวกันนี้ปกติขายกันอยู่ที่ราคาราวๆ 20,000 เหรียญ

ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

PyTorch รองรับ Apple Silicon เต็มตัว ฝึกปัญญาประดิษฐ์เร็วขึ้น 6-8 เท่า

PyTorch เฟรมเวิร์คปัญญาประดิษฐ์ประกาศเตรียมรองรับ API กราฟิก Metal ใน macOS ทำให้สามารถเร่งความเร็วด้วย Apple Silicon ได้เต็มรูปแบบ ทำให้การรันโมเดลปัญญาประดิษฐ์ทั้งการฝึกโมเดลและการใช้งานโมเดลประสิทธิภาพดีขึ้นมาก การฝึกโมเดลเร็วขึ้น 6-8 เท่า ขณะที่การรันโมเดลประสิทธิภาพดีขึ้นกว่า 20 เท่าตัวในบางกรณี

การเร่งความเร็วใช้ Metal Performance Shaders (MPS) มาทำงานเบื้องหลัง ความได้เปรียบสำคัญของ Apple Silicon คือ unified memory ที่ใช้หน่วยความจำรวมกันทั้งกราฟิกและซีพียู ทำให้ไม่เสียเวลาโอนข้อมูลไปมา และสามารถประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่บนวงจรกราฟิกได้

เริ่มใช้งานได้ใน PyTorch 1.12 หรือหากต้องการทดสอบเลยก็สามารถดาวน์โหลดเวอร์ชั่น nightly มาใช้งานได้เลย

ที่มา: Blognone

แย่งตัวกันหนัก ไมโครซอฟท์ขึ้นเงินเดือนพนักงานทั่วโลก เพิ่มงบประมาณเงินเดือนให้ 2 เท่า

Satya Nadella ส่งอีเมลภายในถึงพนักงานไมโครซอฟท์ ระบุว่าเพิ่มงบประมาณสำหรับขึ้นเงินเดือนพนักงานเป็นเกือบ 2 เท่าตัว หลังเจอสถานการณ์ว่าบริษัทไอทีแย่งตัวพนักงานกันเพิ่มขึ้น

Nadella ให้ข้อมูลว่าการเพิ่มเงินเดือนจะอิงตามฝีมือและผลงาน (merit-based) ซึ่งแตกต่างกันตามแต่ละประเทศ โดยไมโครซอฟท์จะเน้นการขึ้นเงินเดือนให้ประเทศที่มีความต้องการพนักงานสูง และเน้นเพิ่มให้พนักงานระดับล่าง-กลาง (early to mid-career) เป็นหลัก

ส่วนพนักงานระดับอาวุโส จะเพิ่มโควต้าการแจกหุ้นพนักงานในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย

เมื่อต้นปีนี้เราเห็นข่าว Amazon ปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานใหม่ และ Apple เองก็ต้องแจกหุ้นพนักงานเพิ่ม เพื่อดึงตัวพนักงาน แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานไอทียังมีการแข่งขันที่สูงมาก


ที่มา: Blognone

แก้ปัญหาอ่านแชทไม่ทัน กูเกิลใช้ AI ช่วยสรุปประเด็นให้ใน Google Chat/Spaces

หลายคนอาจเคยประสบปัญหาข้อความแชทเยอะเกินไปจนอ่านไม่ไหว แต่จะไม่อ่านก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องงาน

กูเกิลแก้ปัญหานี้ด้วยการให้ machine learning อ่านแชททั้งหมดให้เรา และสรุปเป็น summary สั้นๆ ประมาณ 2-3 บรรทัด ที่ด้านบนของข้อความแชท เพื่อให้เราอ่านก่อนเป็นไอเดียว่าคนอื่นคุยเรื่องอะไรกัน

ฟีเจอร์นี้ใช้เอนจินสรุปข้อความตัวเดียวกับ Google Docs ใช้มาก่อนหน้านี้ และจะใช้ได้กับบริการแชทองค์กร Google Chat กับ Google Spaces


 

ที่มา: Blognone

Flutter 3 มาแล้ว รองรับ macOS, Linux เต็มรูปแบบ

กูเกิลปล่อย Flutter 3 ในงาน Google I/O โดยมีฟีเจอร์สำคัญคือการรองรับ macOS และลินุกซ์เต็มรูปแบบ ปรับปรุงการทำงานร่วมกับ Firebase และประสิทธิภาพบน Apple Silicon

ก่อนหน้านี้ Flutter รองรับ iOS, Android, Web, และ Windows มาก่อนแล้ว การรองรับ macOS และลินุกซ์ ทำให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปข้ามแพลตฟอร์มได้เต็มรูปแบบ โดยรองรับทั้งอินพุตของระบบ, กระบวนการพัฒนาแอป, ฟีเจอร์ accessibility ของแพลตฟอร์ม, และการรองรับภาษานานาชาติ สำหรับบน macOS นั้นรองรับ Universal Binary ให้รันได้เต็มประสิทธิภาพทั้งเครื่องที่ใช้ซีพียูอินเทลและ Apple Silicon ขณะที่บนลินุกซ์เป็นการร่วมมือกับ Canonical

อินเทอร์เฟซแบบ Material Design 3 แทบจะสมบูรณ์แล้วในเวอร์ชั่นนี้ รองรับการปรับเปลี่ยนสีตามระบบ และปรับปรุง component ต่างๆ ส่วนบริการ Firebase ของกูเกิลเองนั้นจะรองรับ Flutter เต็มรูปแบบ โค้ดสำหรับเชื่อม Flutter และ Firebase จะอยู่ใน repository หลักของ Firebase

ที่มา: Blognone