วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Apple เตรียมเปิดตัว MacBook ราคาต่ำในเดือนกันยายนนี้


มีข่าวมาสักระยะแล้วที่ Apple เตรียมเปิดตัว MacBook รุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลงหลังยอดขาย MacBook ร่วงไปอย่างสวยงาม ตกเป็นอันดับที่ 6 ไปแล้วเรียบร้อย

DigiTimes รายงานว่า Apple เตรียมเปิดตัว MacBook รุ่นราคาถูก ต่ำกว่า $1,200 ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ใช้ชิปประมวลผล Intel Kaby Lake ผลิตที่สถาปัตยกรรม 14nm เนื่องจากชิปประมวลผล 10nm ของ Intel นั้นมีปัญหาจึงต้องใช้รุ่น 14nm อย่างน่าเสียดาย

คาดว่า MacBook รุ่นนี้จะสามารถดึงยอดขายแล็ปท็อปของ Apple ให้ขึ้นอีกครั้งได้ นักวิเคราะห์เผยว่า Apple อาจจะสามารถจำหน่าย MacBook รุ่นราคาต่ำนี้ได้ถึง 8 ล้านเครื่องในปี 2018

นอกจากนี้ Apple จะเริ่มแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับ AirPower หรือแท่นชาร์จไร้สายที่สามารถชาร์จอุปกรณ์พร้อมกันได้ถึง 3 ชิ้นหลังจากเลื่อนมาเป็นปีครับ

ที่มา: Beartai

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

CTO ของ MongoDB เผย ทุกวันนี้ก็ยังเขียนโค้ดอยู่ แม้เป็นผู้บริหารแล้ว

Eliot Horowitz ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี หรือ ซีทีโอ ของ MongoDB ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ที่ตอนนี้บริษัทเข้าตลาดหุ้นแล้ว เปิดเผยว่า แม้วันนี้ตำแหน่งเขาคือผู้บริหาร และบริษัทก็เติบโตจนเข้าตลาดหุ้น แต่เขาก็ยังเขียนโค้ดร่วมกับทีมนักพัฒนาทุกวัน

ตัว Horowitz เองเป็นซีทีโอตั้งแต่ก่อตั้ง MongoDB เขายอมรับว่าการที่ยังโค้ดอยู่ทุกวันนั้น เป็นเรื่องแปลกสำหรับคนเป็นซีทีโอ ปัจจุบันทีมนักพัฒนาของ MongoDB มีกว่า 400 คน ซึ่งเหตุผลที่ Horowitz บอกว่ายังต้องเขียนโค้ด เพราะมองว่าเขาจะทำงานได้ดีถ้าหากได้มือเปื้อนลงมาเขียนโค้ดบ้าง (get hands dirty) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรของที่นี่

เขายังมองว่าหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีนั้นต้องเข้าถึง ทั้งคนในทีมนักพัฒนาและผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรณีของ MongoDB นั้นพิเศษไปอีก เพราะผู้ใช้งานก็คือนักพัฒนาด้วย ทำให้งาน MongoDB มีโจทย์ให้ต้องพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอด ตามความต้องการของผู้ใช้งาน การอยู่ใกล้กับเทคโนโลยีในระดับฝ่ายนักพัฒนาจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ธนาคาร Cosmos ในอินเดียถูกแฮกทั้งข้อมูลทั้งบัตรเดบิต และโอนเงินผ่าน SWIFT สูญเงิน 445 ล้านบาท

หลังจากเว็บ KrebsOnSecurity รายงานถึงการแจ้งเตือนของ FBI ว่ากำลังมีการใช้ข้อมูลบัตรกดเงินขนานใหญ่ วันนี้ก็มีรายงานออกมาแล้วว่าธนาคารที่ตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้คือ Cosmos Bank ในอินเดีย

แฮกเกอร์สามารถติดตั้งมัลแวร์ไปในระบบปล่อยสินเชื่อของธนาคารได้สำเร็จ และคัดลอกข้อมูลบัตรเดบิตออกไปหลายพันใบ จากนั้นจึงนัดแนะผู้ร่วมขบวนการใน 28 ประเทศ ให้กดเงินออกจากบัตรแม่เหล็กที่เขียนข้อมูลบัตรที่ขโมยมาได้ลงไป รวมมีการกดเงินไปกว่า 15,000 ครั้งในช่วงระยะเวลา 7 ชั่วโมง

หลังจากนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แฮกเกอร์จึงลงมืออีกครั้งด้วยการสั่งโอนเงินก้อนใหญ่ 64 ล้านบาทผ่านเครือข่าย SWIFT ไปยังธนาคารในฮ่องกง

ทาง Cosmos Bank ยืนยันว่าระบบแกน (core banking) ไม่ได้รับผลกระทบ และเงินในบัญชีลูกค้าไม่กระทบจากการแฮกครั้งนี้ แต่เพื่อป้องกัน ตอนนี้ทางธนาคารก็ปิดบริการเอทีเอ็มทั้งหมด, บริการธนาคารออนไลน์, และธนาคารผ่านโทรศัพท์


ที่มา: Blognone

‘Man-in-the-disk’ การโจมตีรูปแบบใหม่บน Android

ทีมนักวิจัยจาก Check Point ได้สาธิตวิธีการโจมตีใหม่บน Android ที่ให้ชื่อว่า ‘Man-in-the-disk’ ซึ่งสามารถทำให้แอปพลิเคชัน Third-party สามารถเข้าไปดูและแก้ไขข้อมูลของแอปพลิเคชันอื่นที่มีการใช้พื้นที่บน External Storage ได้นำไปสู่การทำให้แอปพลิเคชันนั้นทำงานผิดพลาดหรือรันโค้ดอันตราย


Android OS รองรับการใช้งานหน่วยความจำ 2 ประเภท คือ Internal Storage (System Memory ที่ถูกใช้โดย OS, แอปพลิเคชันของระบบ หรือ ข้อมูลของแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้เป็นคนเลือกที่จะเก็บลงในนี้ตอนติดตั้งซึ่งมีการป้องกันโดยการใช้ Sandbox จึงไม่สามารถเข้าถึงได้โดยแอปพลิเคชันอื่น) ส่วนอีกประเภทคือ External Storage คือหน่วยความจำภายนอก (เช่น SD Card เป็นต้น) ที่เอาไว้แชร์ข้อมูลกันระหว่างแอปพลิเคชัน หรือแชร์ไฟล์ให้ PC อย่างไรก็ตามมีหลายสาเหตุที่นักพัฒนาเลือกใช้ External Storage กับแอปพลิเคชันของตน เช่น หน่วยความจำภายในมีจำกัด ต้องทำให้เข้ากันได้กับอุปกรณ์รุ่นเก่า (ดีกว่าไปยุ่งกับหน่วยความจำของแต่ละเครื่อง) รวมถึงไม่อยากให้แอปพลิเคชันของตนดูกินพื้นที่เครื่องมากเกินไปหรืออาจจะเป็นเพราะเลินเล่อของตัวนักพัฒนาเอง

 

สาเหตุของการโจมตีที่เกิดขึ้นได้เป็นไปได้ด้วยปัจจัยหลายประการดังนี้

  • External Storage ของ Android ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถถูกแก้ไขหรือดูได้โดยแอปพลิเคชันบนเครื่องเดียวกัน
  • Android ไม่ได้มีกลไกการป้องกันข้อมูลที่อยู่บนพื้นที่นี้ติดมาในตัวเพียงแค่แนะนำแนวทางการใช้ให้นักพัฒนาเท่านั้น
  • นักพัฒนาเองก็ไม่ได้ใส่ใจความเสี่ยงตาม Best Practice คือ ตรวจสอบ input เมื่อต้องจัดการข้อมูลจาก External Storage ไม่มีการทำการ Signing ข้อมูลและตรวจสอบการแก้ไขเปลี่ยนแปลงก่อนโหลดข้อมูลเข้ามา รวมถึงไม่ควรเก็บข้อมูลที่ต้อง Execute หรือ Class File ไว้ใน External Storage
  • ด้วยความประมาทหรือเลินเล่อของผู้ใช้งานเองก็ไม่ได้ดูเรื่องสิทธิ์ของแอปพลิเคชันที่มีการใช้งาน External Storage ให้ดี

 

ผลลัพธ์ที่นักวิจัยได้สาธิตมี 2 วิธีการคือ

  • สร้างแอปพลิเคชันอันตรายที่ใส่ข้อมูลที่ผิดๆ ไปบนพื้นที่การใช้งานของอีกแอปพลิเคชันหนึ่งบน External ทำให้แอปเป้าหมายนั้นทำงานผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องโหว่อื่นทำไปสู่การ inject โค้ดอันตรายเข้าไป ร้ายกว่านั้นคือถ้าแอปเป้าหมายนั้นมีสิทธิ์สูงกว่าแอปคนร้ายก็จะทำให้คนร้ายสามารถยกระดับสิทธิ์และเข้าถึงฟีเจอร์ของโทรศัพท์ได้ผ่านทางแอปเป้าหมายนั้น
  • สร้างแอปพลิเคชันอันตรายที่คอยติดตามการอัปเดตของแอปพลิเคชันเป้าหมาย เนื่องจากบางแอปพลิเคชันมีการเก็บไฟล์ไว้ใน External Storage ชั่วคราวก่อน Apply อัปเดตจริง ซึ่งทำให้คนร้ายสามารถเขียนแทนที่ไฟล์บนพื้นที่นั้นด้วยเวอร์ชันอันตรายของตนเองหรือจาก Third-party เข้าไป

นอกจากนี้นักวิจัยจาก Check Point ได้เผยถึงแอปพลิเคชันยอดนิยมที่เราอาจต้องแปลกใจคือ Google Translate, Google Voice Typing, Yandex Translate และ Yandex Search รวมถึง Xiaomi Browser ต่างได้รับผลกระทบจากช่องโหว่นี้ทั้งสิ้น และได้แจ้งกับ Google และ Xiaomi ไปแต่มีเพียง Google เท่านั้นที่ออกแพตช์มาแก้ปัญหานี้แล้ว ในฝั่งการป้องกัน Check Point มีความเห็นว่านักพัฒนาควรจะใส่ใจกับการพัฒนาแอปพลิเคชันตาม Best Practice และ Android เองก็ควรรับผิดชอบด้วยการทำ Hardening ที่ระดับ OS ไม่ใช่ผลักภาระให้นักพัฒนาอย่างเดียว

ที่มา: TechTalk

ทันควัน! Mozilla ประกาศ Firefox สามารถรองรับการใช้งาน TLS 1.3 แล้ว

หลังจาก IETF ออกประกาศเวอร์ชันสมบูรณ์ของ TLS 1.3 เรียบร้อยแล้วทาง Mozilla เองก็ไม่รอช้าที่จะประกาศตอบรับว่า Firefox เวอร์ชัน 61 หรือที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน สามารถรองรับการใช้งาน TLS 1.3 ได้แล้วเช่นกัน


TLS 1.3 มีการอัปเดตช่วยให้การใช้งานมีความมั่นคงปลอดภัยและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโปรโตคอลใหม่นี้ใช้เวลาในการจัดทำอยู่หลายปีและมีระยะห่างกับ TLS 1.2 ถึง 10 ปีนับตั้งแต่เปิดตัว อย่างไรก็ตามใน Firefox เวอร์ชันล่าสุดจะยังรองรับกับ TLS 1.3 ในเวอร์ชัน Draft-28 แต่ในบล็อกของ Mozilla ยืนยันว่าเพียงพอที่จะใช้งานกับเวอร์ชันสมบูรณ์ที่ IETF ประกาศออกมาได้เพราะต่างกันแค่เพียงตัวเลขเท่านั้น โดยมีการวางแผนว่า Firefox จะรองรับเวอร์ชันสุดท้ายจริงๆ ในเวอร์ชัน 63 ที่จะออกมาเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ตัวเลขสถิติการใช้งาน TLS 1.3 บน Firefox มีประมาณเกือบ 5% และเป็นตัวเลขที่ตรงกันกับรายงานจาก Cloudflare ในขณะที่มีรายงานจากฝั่ง Facebook ว่า Social Media รายใหญ่นี้มีทราฟฟิคที่เป็น TLS 1.3 มากกว่า 50% เรียบร้อยแล้ว (ผู้ที่สนใจรายละเอียดโดยสรุปของ TLS 1.3 สามารถติดตามได้จากข่าวของ TechTalkThai)

ที่มา: TechTalk

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สิ้นสุดการรอคอย Google เปิดตัว Android 9.0 กับชื่อเล่นว่า “Pie” อย่างเป็นทางการแล้ว

หลังเกริ่นให้อยากเจอตั้งแต่งาน Google I/O 2018 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในที่สุดทาง Google ก็เผยโฉมระบบปฏิบัติการหุ่นเขียวตัวใหม่แล้วอย่าง Android 9.0 Pie พร้อมประกาศอัพเดตใน Pixel กับ Essential Phone ให้ใช้งานกันก่อนเรียบร้อย


ไม่รู้ว่าเดากันถูกไหม สำหรับชื่อใหม่ของ Android รุ่นล่าสุดนี้ จากที่เคยใช้ชื่อ Android P มานาน กระทั้งวันนี้เราได้ทราบกันทั่วหน้าแล้วว่า ระบบปฏิบัติการ Android รุ่นถัดไปของ Android O หรือ 8.0 Oreo จะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Android 9.0 Pie นี้เอง

สำหรับ Android 9.0 Pie ก็มาพร้อมระบบ AI ช่วยประมวลผลฟีเจอรต่างๆ เป็นหลัก และการออกแบบใหม่ที่เน้นความเรียบง่ายกับความสะดวกในการใช้งานโดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้ในงาน Google I/O 2018 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง Google ก็ได้เผยฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Android P ไว้พอสมควร แน่นอนว่าใน Android 9.0 Pie ก็มีเช่นกัน ใครอยากรู้ว่า Android รุ่นใหม่นี้มีฟีเจอร์อะไรเด็ดๆ บ้าง ลองไปดูกันได้ที่ GoogleBlog หรือ

Adaptive Battery

ฟีเจอร์ช่วยลดภาระการใช้พลังงาน ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของแอพฯ และระบบ ที่จะมีการแยกส่วนใช้พลังงานแตกต่างกันไป เช่นแอพฯ ไหนใช้บ่อย ก็จะได้สิทธิใช้พลังงานตามสมควร แอพฯ ไหนแทบไม่ได้ใช้ ก็จะโดนลดพลังงานลงไป ทั้งหมดก็ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าเดิมถึง 30% กันเลย 

Adaptive Brightness

เป็นฟีเจอร์ที่ทำงานร่วมกับ Adaptive Battery ช่วยลดการใช้พลังงานจากหน้าจอแสดงผล ด้วยการปรับความสว่างของหน้าจอ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายนอก ตรงนี้หลายคนคงคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หากแต่ Google ได้นำ AI มาช่วยเรียนรู้และควบคุมการทำงานโดยตรง ทำให้มันมีความฉลาดกว่านั้นเอง

App Action

หากแอพฯ ไหนมีการเรียกใช้งานบ่อยๆ ฟีเจอร์นี้ก็จะเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของเรา เพื่อนำไปแนะนำเป็น “ทางลัด” ใช้งานแบบอื่นได้ ฟังดูงงนิดๆ ก็ลองดูตามภาพตัวอย่างเลยครับ เช่น ถ้าเราค้นหาคำว่า “Infinity” ในแอพฯ Google มันก็จะมีตัวเลือกแนะนำเล็กๆ ใต้ล่างว่า จะให้จองตั๋วผ่านแอพฯ นี้เลยไหม หรือไปดูตัวอย่างหนังได้ทาง Youtube ซึ่งทั้งหมดก็มาจากพฤติกรรมการใช้งานที่เราทำอยู่บ่อยๆ นั้นเอง


Slices

ก็เป็นอีกฟีเจอร์ที่คล้ายๆ กับ App Action คือช่วยแสดงทางลัดอื่นๆ แต่ส่วนนี้จะเป็นการลดขึ้นตอนการใช้งานแอพฯ นั้นๆ แทน เช่นกำลังค้นหาชื่อ “hawaii” มันก็จะแสดงตัวอย่างภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องจากแอพฯ Google Photos เหมือนเตือนว่า เราเคยมีทริปนี้นะ ลองไปสำรวจหน่อยไหม (แอบน่ากลัวนิดๆ)


New System Navigation

เป็นหนึ่งในคอนเซ็ปต์ Simplicity หรือความสะดวกที่ Google ชูใน Android P คือการจัดหน้า UI แบบใหม่ สามารถเลื่อนขึ้นเพื่อเข้าถึงหน้าแอพฯ ในเครื่อง หรือเลื่อนดูประวัติการใช้งานแอพฯ ที่ค้างไว้ได้ในรวดเดียวเลย ประมาณว่า มีแค่นิ้วเดียว ก็สามารถเข้าถึงได้เกือบทุกอย่างได้ยังไงยังงั้น


อีกหนึ่ง Gimmick เล็กๆ แต่ได้ใจมาก คือเวลาตั้งสมาร์ทโฟนเป็นแนวนอน มันจะมีไอคอนแจ้งเตือนตรงหัวมุมว่า ให้ปรับเป็นแนวนอนเลยไหม? ถ้าต้องการก็กดจิ้มเข้าไปเลย ตรงนี้ก็ช่วยลดความรำคาญตอนเผลอถือสมาร์ทโฟนในแนวนอน แต่ไม่ได้อยากชมภาพแนวนอนตามนั้นเอง
  

Dashboard

แสดงหน้าข้อมูลสถิติหรือการใช้งานสมาร์ทโฟนในแต่ละวัน เช่น เราใช้เวลาไปกับแอพฯ ไหนมากสุด ปลดล็อคหน้าจอกี่ครั้งแล้ว ฟีเจอร์นี้ก็เหมือนเป็นตัวช่วยให้เรา ไปปรับพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนใหม่ คือออกแนวฟีเจอร์เพื่อสุขภาพ เพราะมันจะต่อยอดไปยังฟีเจอร์ช่วยถนอมร่างกายของผู้ใช้ตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น App Timer กำหนดเวลาการใช้แอพฯ และ Wind down ปรับสีหน้าจอให้เป็นขาวดำเมื่ออยู่ในที่มืดโดยอัตโนมัติหรือตามที่ตั้งไว้ ช่วยถนอมสายตาของเรา

  
Wind down

ต่อจาก Dashboard สำหรับหน้าตาเวลาปรับสีเป็นขาวดำ ก็ตามภาพนี้เลย ทั้งนี้เราสามารถสั่งงานผ่านเสียง ตั้งเวลาการเปลี่ยนหน้าจอเองโดยตรงก็ได้

  
Do Not Disturb

โหมดห้ามรบกวนแบบเด็ดขาด คือเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยซ่อนการแจ้งเตือนที่เราคิดว่าไม่จำเป็นลงได้ เหมาะสำหรับเล่นเกมหรือดูหนัง แต่ไม่ต้องการให้การแจ้งเตือนมาขัดจังหวะ 


Shush

สำหรับฟีเจอร์ “Shush” ก็เป็นอีกชื่อของ Do Not Disturb คือเวลาเราคว่ำจอสมาร์ทโฟน มันจะปิดการแจ้งเตือนทั้งหมดเลย ไม่ดังให้เราสะดุ้งหรือรู้สึกรำคาญอีกต่อไป

 
Starred Contacts

อีกฟีเจอร์ที่ทำงานคู่กับ Do Not Disturb คือถึงแม้เราจะปิดการแจ้งเตือนไปเกือบหมดแล้ว แต่หากมีคนสำคัญของเราส่งข้อความหรือโทรมา มันก็จะช่วยแจ้งเตือนแม้อยู่ในโหมด Do Not Disturb ก็ตาม


ท้ายนี้ Google ได้เริ่มทยอยปล่อย Android 9.0 Pie แก่ Pixel กับ Essential Phone ได้ใช้งานกันก่อนเรียบร้อยแล้ว ส่วนอุปกรณ์ Android แบรนด์อื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ Android Beta อาทิ Sony, Xiami, HMD Global (Nokia), Oppo, Vivo และ OnePlus กับกลุ่มอุปกรณ์ Android One จะได้รับอัพเดตในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ครับ

ที่มา: ARiP

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Google Maps เปลี่ยนการแสดงแผนที่แบบใหม่จากแผ่นกระดาษ 2 มิติ เป็นลูกโลก 3 มิติ


Google Maps นำเสนอการอัปเดตแผนที่ใหม่ เมื่อซูมออกจนสุด ก็จะไม่แสดงเป็นผิวเรียบอีกต่อไป แต่มีลักษณะกลมเป็นลูกโลก การเปลี่ยนแปลงจากแผนที่ 2 มิติ เป็นลูกโลก 3 มิติ ทำให้แผนที่แสดงผลพื้นที่บนโลกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ทำไม Google Maps ถึงเปลี่ยนการแสดงผลจาก 2D เป็น 3D Globe Mode ?
 
การเปลี่ยนแปลงวันนี้ Google ได้อัปเดตแผนที่ให้ดูสะดวกกว่าแบบแบนราบ แสดงพื้นผิวของโลกได้ดีกว่าแบบเก่า แบบใหม่นี้เป็นทรงกลมมีขนาดเล็กทำให้เรามองโลกได้กว้างมากขึ้น เพียงแค่หมุนไปทางซ้ายหมุนหรือหมุนไปทางขวา นอกจากนี้แผนที่แบบเดิมที่เมื่อซูมออกจนสุดแผนที่ก็จะเห็นโลกของเราแบนราบไปกับจอ ยังมีปัญหาการแสดงขนาดพื้นที่บนโลกผิดเพี้ยน
ขนาดของกรีนแลนด์ไม่ได้ใหญ่กว่าทวีปแอฟริกา แต่แผนที่เดิมทำให้ดูใหญ่
แผนที่ 2 มิติแบบเดิมเรียกว่า Mercator ที่จะยืดพื้นที่บริเวณใกล้ขั้วโลกให้ใหญ่ขึ้น เพื่อปูให้เต็มสี่เหลี่ยม รูปแบบนี้จะทำให้ง่ายต่อการพิมพ์ลงบนแผนที่และได้กลายเป็นแบบมาตรฐานส่วนใหญ่ แต่ก็ทำให้ความเข้าใจเรื่องพื้นที่ของคนผิดพลาดเช่นกัน อย่างขนาดของกรีนแลนด์และแอฟริกา บนแผนที่แบบ Mercator พื้นที่ Greenland มีขนาดใหญ่กว่าแอฟริกาทั้งที่ความเป็นจริงแล้วแอฟริกามีขนาดใหญ่กว่ากรีนแลนด์ถึง 14 เท่า

ภาพเส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์

การอัปเดต 3D Globe Mode

การอัพเดทเป็น 3D Globe Mode เปิดจากโทรศัพท์อาจจะไม่เห็น ถ้าจะใช้ต้องเปิดจากเว็บเบราเซอร์บนคอมพิวเตอร์เท่านั้น และสามารถแสดงได้เกือบทุกเบราเซอร์ ไม่ว่าจะเป็น Google Chrome, Microsoft Edge และ Firefox


จากการเปลี่ยนแปลงนี้มีให้ใช้งานบนเดสก์ท็อปเท่านั้น ถ้าใช้เปิดจากโทรศัพท์มือถือก็อาจจะยังเห็นภาพ 2D แบนๆ เมื่อซูมเข้าออก แต่ในไม่ช้านี้สมาร์ทโฟนก็อาจรองรับการดูแผนที่แบบ 3D ได้

ที่มา: Beartai

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Tesla เตรียมเพิ่มโหมดปาร์ตี้และตั้งแคมป์ สั่งเปิดแอร์และเพลงได้เมื่อใช้รถเพื่อนันทนาการ

ปัจจุบันมีเจ้าของรถ Tesla จำนวนหนึ่งขับรถท่องเที่ยวและนอนในรถเลยเพราะพบว่าหากพับเบาะหลังให้ราบลงจะสามารถนำฟูกไปปูนอนได้พอดี นอกจากนี้ยังนอนแบบเปิดแอร์ได้โดยไม่มีอันตรายเพราะรถมีโหมดตั้งแคมป์ (Camper mode)

อย่างไรก็ตามโหมดตั้งแคมป์ยังใช้งานได้ไม่ดีพอ เพราะไฟในรถยังติดอยู่ Tesla จึงต่อยอดฟีเจอร์ดังกล่าวและใช้ชื่อว่า Party & Camper Mode โดย Elon Musk ระบุในทวีตว่าระบบปรับอากาศในรถจะทำงาน พร้อมสั่งเปิดเพลงและเลือกเปิด-ปิดไฟในรถได้ตามชอบ รวมทั้งชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นๆ ได้นานถึง 48 ชั่วโมงหรือมากกว่า

รถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model S, 3 และ X จะได้รับอัพเดตดังกล่าวเร็วๆ นี้


ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

IEEE เผย 10 ภาษา Programming ยอดนิยมประจำปี 2018: Python ได้อันดับ 1

IEEE Spectrum ได้ออกมาเผยถึงผลการจัดอันดับ Programming Language สำหรับปี 2018 ซึ่งได้จัดอันดับภาษาเขียนโปรแกรมด้วยกันทั้งหมด 48 ภาษา ครอบคลุมการใช้งานทั้งสำหรับ Web, Mobile, Enterprise และ Embedded โดย 10 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุดมีดังนี้


Python นั้นได้กลายเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีจุดที่น่าสังเกตคือ Python เองก็ถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในหมวดภาษาสำหรับ Embedded Computing ด้วยแล้ว ทำให้รูปแบบการใช้งานมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และยังสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดของระบบ Hardware ที่เดิมทีเคยเป็นของ C, C++ และ Assembly เป็นหลักเท่านั้น รวมถึงศาสตร์ด้าน Data Science เองก็ยังมีการอ้างอิงถึง Python กันค่อนข้างมาก และเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงไม่น้อยทีเดียว

ทางด้านภาษาหลักๆ ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ อย่าง C++, C, Java, C#, PHP, JavaScript นั้นก็ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกทั้งหมด ถือว่าไม่น่าแปลกใจนัก แต่ Assembly เองที่มีกรณีการใช้งานเฉพาะในส่วนของ Embedded System นั้นก็ยังคงสามารถรั้งตำแหน่งอันดับ 10 เอาไว้ได้ ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย

ส่วนภาษา R นั้นความนิยมก็ลดลงจากอันดับ 5 เมื่อ 2 ปีก่อนมาสู่อันดับ 7 ในปีนี้ ก็เป็นเพราะการแข่งขันกับภาษา Python นั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ยังถือว่าเป็นภาษาที่มีอันดับสูงไม่น้อย เพราะกรณีการใช้งานของ R แทบทั้งหมดนั้นตกอยู่ในศาสตร์ทางด้าน Data Science นั่นเอง

ทางด้านภาษา Go เองนั้นก็ถือว่าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว โดยหากสำรวจจากกราฟแบบ Trending แล้วก็จะพบว่าภาษา Go นั้นได้อยู่ถึงอันดับ 5 ทีเดียว และ Scala เองก็ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 8

สำหรับผลการจัดอันดับทั้งหมด สามารถดู Interactive Visualization ฉบับเต็มได้ที่ https://spectrum.ieee.org/static/interactive-the-top-programming-languages-2018 ครับ ซึ่งในลิงค์นี้จะสามารถเลือกคัดกรองการจัดอันดับข้อมูลได้ตามต้องการ ดังนั้นก็จะทำให้เห็นแนวโน้มในหลากหลายแง่มุมมากยิ่งขึ้นครับ ส่วนวิธีการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้สามารถตรวจสอบได้ที่ https://spectrum.ieee.org/static/ieee-top-programming-languages-2018-methods ครับ ซึ่งหลักๆ ก็คือการนำรายการของภาษาต่างๆ กว่า 300 ภาษามาทำการค้นหาใน Google Search, Googl Trends, Twitter, GitHub, Stack Overflow, Reddit, Hacker News, CareerBuilder, Dice และ IEEE Xplore Digital Library แล้วนำข้อมูลมาสรุปนั่นเองครับ

ที่มา: TechTalk

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Google เปิดตัว Titan Security Key พร้อมรองรับการใช้งานกับ Google Cloud

ในงาน Google Cloud Next ’18 ทาง Google ได้ประกาศเปิดตัว Titan Security Key ซึ่งเป็น Hardware-based security keys สำหรับผู้ใช้งาน Google Cloud โดยเฉพาะ


Titan Security Key จะเข้ามาช่วยเสริมความปลอดภัยในขั้นตอนการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งานระบบ Google Cloud โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำงานในลักษณะ Two-factor authentication เมื่อผู้ใช้งานทำการ Login ด้วย Username และ Password แล้ว จำเป็นต้องเชื่อมต่อ USB Security Key เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วยฮาร์ดแวร์อีกชั้นหนึ่ง โดย Titan Security Key ทำงานตามมาตรฐาน FIDO (Fast IDentity Online) Alliance และ U2F (Universal 2nd factor) protocol ทำให้สามารถนำไปใช้งานกับระบบอื่นๆ ที่รองรับมาตรฐาน U2F Security Keys ได้ เช่น Google, Dropbox, Facebook และ Github ซึ่งปัจจุบัน Google ได้ประกาศรองรับการใช้งานบน Google Cloud แล้ว

Titan Security Key เปิดตัวออกมาด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่น USB และรุ่น Bluetooth ที่รองรับการใช้งานกับ Mobile Device อย่างไรก็ตาม Google ไม่ได้ประกาศราคาออกมาแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าราคาจะอยู่ที่ราวๆ $20 ถึง $30 โดย Google เตรียมจะวางจำหน่ายใน Google Store เร็วๆ นี้

ที่มา: TechTalk

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Apple TH เปิดให้สั่งซื้อ Macbook Pro 2018 รุ่นใหม่ล่าสุด ผ่านเว็บไซต์ได้แล้ว

หลังเปิดตัว (อย่างเงียบๆ) ไปไม่นาน ล่าสุดทาง Apple TH ก็เปิดให้ทุกคน สามารถเข้าไปสั่งซื้อ Macbook Pro 2018 ตัวใหม่ ที่มาพร้อม Touch Bar และ Touch ID ได้แล้วใน www.apple.com


Apple TH เปิดขาย MacBook Pro 2018 ผ่านเว็บ www.apple.com/th‎ ในไทยแล้ว พร้อมเผยราคาหลังอัพเกรดเป็น Intel Core i9 ที่มีใน MacBook Pro 2018 รุ่นจอ 15 นิ้วด้วย (งบทะลุไปขนาดไหนมาดูกัน..)

สำหรับ MacBook Pro รุ่นใหม่นี้ ก็ชูโรงด้วย Intel Gen 8 พร้อมสเปกให้เลือกสูงสุดถึง Intel Core i9 แรมสูงสุด 32GB การ์ดจอใหม่ Intel Iris Plus Graphics 655 กับ Radeon Pro 555X และ 560X เพิ่มชิป Apple T2 เพิ่มหน้าจอ TrueTone และคีย์บอร์ด Butterfly รุ่นที่ 3 ตัวใหม่ล่าสุด

ส่วนราคาเริ่มต้นก็อยู่ที่ 65,900 บาท โดยเป็นรุ่นจอ 13 นิ้วที่มาพร้อม Touch Bar และ Touch ID เป็นต้นไป และรุ่นจอ 15 นิ้วก็มีราคาเริ่มต้นก็อยู่ที่ 85,900 บาท ดูรายละเอียดได้ที่ www.apple.com/th


ที่มา: ARiP

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สหราชอาณาจักรเตรียมผลักดันกฎหมายบ้านสร้างใหม่ต้องมีที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกหลัง

รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดเผยร่างกฎหมายในวันนี้ รายละเอียดเป็นเรื่องการกำหนดให้บ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างใหม่จะต้องมีที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในบ้านด้วย

ร่างดังกล่าวยังครอบคลุมถึงอาคารของผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และเสาไฟฟ้าสาธารณะที่จะต้องเตรียมที่ชาร์จไฟให้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย

ร่างกฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกำจัดรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้หมดไปจากประเทศภายในปี 2040 อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดการปล่อยก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ที่สหราชอาณาจักรตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะลดลงให้ได้ 80% ภายในปี 2050 โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซในปี 1990

ประเมินกันว่าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านการเห็นชอบและประกาศใช้จริง มันจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ผลิตอุปกรณ์ชาร์จไฟให้รถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 400 ล้านปอนด์เลยทีเดียว

ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Xiaomi ไอเดียเก๋เปิดตัวเครื่องซักผ้าติดผนังทรงหยดน้ำประหยัดพื้นที่สุดๆ


Xiaomi เปิดตัว MiniJ เครื่องซักผ้าติดผนังทรงหยดน้ำเอาใจคนเมืองที่มีบ้านหรือคอนโดพื้นที่ใช้สอยจำกัด โดยออกแบบมาให้ดูดีเสมือนเป็นของแต่งบ้านชิ้นหนึ่งด้วย

สำหรับ MiniJ นั้นจะใช้เทคโนโลยีแบบ Direct Drive สามารถเลือกโหมดการซักได้ถึง 8 โหมดขึ้นอยู่กับชนิดของเสื้อผ้าที่จะซัก รวมทั้งมีฟังก์ชันที่จะเพิ่มอุณหภูมิน้ำไปถึง 95% ในการขจัดแบคทีเรียหรือคราบสกปรกต่างๆ ได้ 99% ซึ่งออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถเลือกซักได้ตามโหมดต่างๆ ได้ง่ายดาย ประหยัดพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ตัวเครื่องซักจะทำงานด้วยระดับเสียงเพียง 45 เดซิเบล

MiniJ เริ่มวางจำหน่ายแล้วเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น ในสนนราคา 2,499 หยวน หรือประมาณ 12,500 บาท


ที่มา: Beartai

Tesla เพิ่มความสามารถจอดรถได้เองโดยไร้คนขับในรถยนต์รุ่น Model 3 แล้ว


Tesla บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดัง ออกมาประกาศว่า Summon ซึ่งเป็นความสามารถในการควบคุมการจอดรถโดยอัตโนมัติของ Tesla พร้อมใช้งานได้แล้วในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 โดยโพสต์คลิปวิดีโอสาธิตสั้นๆ ลงบนทวิตเตอร์ของบริษัท


Summon จะช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla สามารถนำตัวเองเข้าไปจอดหรือขับออกโรงจอดรถได้ด้วยตัวเอง (ควบคุมประตูโรงจอดรถได้ด้วย) โดยที่ไม่ต้องมีคนขับคอยควบคุมรถ ซึ่งก่อนหน้านี้ Summon จะมีแค่ในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model S และ Model X

Tesla ยังได้บรรลุเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 มากกว่า 5,000 คันต่อสัปดาห์ โดยล่าสุดทาง Tesla ออกมาประกาศว่าสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model 3 ได้ถึง 5,331 คันต่อสัปดาห์แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มสายการผลิตใหม่ หลังจากมีปัญหาความล่าช้าในการผลิตรถรุ่นดังกล่าวหลายครั้ง

ที่มา: Beartai

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Baidu เตรียมเปิดให้ใช้รถบัสไร้คนขับในประเทศญี่ปุ่น ในปี 2019


Bloomberg รายงานว่า รถบัสไร้คนขับของ Baidu อาจเริ่มวิ่งบนท้องถนนของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นปี 2019

Baidu ได้ประกาศภายในการประชุมนักพัฒนาประจำปีว่า ได้เริ่มการผลิตรถบัสดังกล่าวแล้ว โดยร่วมกับ SB Drive บริษัทย่อยของ Softbank ที่พัฒนาด้านรถยนต์ไร้คนขับ

ทาง Engadget ได้รายงานว่าจะผลิตรถบัสจำนวน 10 คัน สำหรับเมืองที่ได้รับเลือกในประเทศญี่ปุ่น


Baidu กำลังพัฒนารถบัสไร้คนขับร่วมกับ King Long บริษัทผลิตรถบัสของประเทศจีน โดยจะมีชื่อว่า Apolong ซึ่งได้ผลิตแล้วถึง 100 คัน และทาง BBC ได้รายงานเพิ่มเติมว่าสามารถรองรับที่นั่งผู้โดยสารได้ 14 ที่นั่ง แต่ไม่มีที่นั่งคนขับและไม่มีพวงมาลัย

รถบัส Apolong จะมีประสิทธิบภาพในการขับขี่ไร้คนขับระดับ 4 ซึ่งจาก  NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration : องค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา) ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีคนขับภายในพื้นที่ภูมิศาสตร์จำเพาะเจาะจง


ไม่เพียงแค่นั้น Baidu ยังได้ประกาศเกี่ยวกับการอัปเดตแพลตฟอร์มขับขี่ไร้คนขับที่เรียกว่า Apollo ซึ่งได้มีการเพิ่มเติมการตรวจจับใบหน้าคนขับ และแผนที่จะใช้ซอฟต์แวร์การมองผ่านกล้องและคอมพิวเตอร์ของ Mobileye บริษัทย่อยของ Intel อีกด้วย

ที่มา: Beartai

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Asimo is Dead, Honda ประกาศเลิกผลิต Asimo จะนำเทคโนโลยีไปต่อยอดด้านอื่น

Asimo หุ่นยนต์สองขาตัวแรกของโลกจาก Honda กำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นประกาศหยุดการผลิตหุ่นยนต์ Asimo และระบุว่าจะนำเทคโนโลยีของ Asimo ไปต่อยอดและพัฒนาสำหรับการใช้งานจริงมากขึ้น

Asimo ย่อมาจาก Advanced Step in Innovative Mobility ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนจะเปิดตัวครั้งแรกในปี 2000 และด้วยความสามารถของหุ่นยนต์ที่ถือว่าค่อนข้างว้าวในยุคนั้น ทำให้ Asimo ได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักได้ไม่ยาก รวมถึงถูกนำไปโชว์ความสามารถ ไปทำกิจกรรมและพบปะผู้มีชื่อเสียงมากมาย


ถึงแม้จะไม่มี Asimo แต่ทาง Honda ก็ยังคงพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถด้านต่างๆ ต่อไป อย่างล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในงาน CES 2018 ที่ผ่านมาก็มีคอนเซ็ปหุ่นยนต์ใหม่ๆ อย่าง Uni-Cub เก้าอี้ไฟฟ้าที่เคลื่อนที่ได้ด้วยการโน้มตัวของคนนั่งและ Walking Assist อุปกรณ์ช่วยเหลือด้านการเดิน ที่พัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีบน Asimo

ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เปิดตัว GitLab 11.0 เพิ่ม Auto DevOps ให้ใช้งานแบบ GA

GitLab ประกาศเปิดตัวเวอร์ชัน 11.0 อย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดฟีเจอร์ Auto DevOps ให้ใช้งานแบบ GA


GitLab ได้เคยประกาศเปิดตัว Auto DevOps มาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อใช้งานกับ Production ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ล่าสุด GitLab ได้ประกาศเปิดตัว Auto DevOps แบบ GA แล้ว ใน GitLab 11.0 ซึ่ง Auto DevOps นั้นจะคอยควบคุมการทำงานลักษณะ end-to-end lifecycle เพียงแค่นักพัฒนาทำการ commit code ไปยัง GitLab หลังจากนั้น Auto DevOps จะคอยทำงานส่วนที่เหลือ เช่น Building, Testing, Code quality scanning, Security scanning, License scanning, Packaging, Performance testing, Deploying และ Monitoring ช่วยให้องค์กรสามารถเริ่มต้นใช้งาน DevOps ได้อย่างรวดเร็ว


นอกจากนี้ GitLab ยังเพิ่มฟีเจอร์อื่นๆที่สำคัญอีกในเวอร์ชันนี้ ได้แก่ License Management เพื่อคอยตรวจสอบการใช้งาน license ใน project, เพิ่ม Security Testing บน container และ dependencies, รองรับการแสดงผล Kubernetes pod logs, ปรับปรุง Web IDE, ปรับปรุง Epic and Roadmap และอื่นๆ

ที่มา: TechTalk

Apple อาจวางจำหน่าย แผ่นชาร์จไร้สาย AirPower ในเดือนกันยายน 2018


ล่าสุด Bloomberg ได้รายงวานว่าแผ่นชาร์จไร้สาย AirPower ได้รับการแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาความร้อนที่สูงเกินแล้ว ซึ่งแผ่นชาร์จดังกล่าวมีแผงวงจรที่ซับซ้อน และใช้ชิปของ Apple ในการันระบบ iOS เพื่อจัดการกระจายพลังงานแก่อุปกรณ์แต่ละชิ้น

ปล. แผ่นชาร์จไร้สาย AirPower สามารถชาร์จอุปกรณ์ Apple ได้ 3 ชิ้น พร้อมกัน ทั้ง iPhone, Apple Watch และเคส AirPod


อีกทั้งยังมีแหล่งข่าวรายงานว่า Apple อาจเริ่มวางจำหน่าย AirPower ในช่วงเดือนกันยายน 2018 นี้ ซึ่งทาง Apple ได้ดำเนินการทดสอบแผ่นชาร์จดังกล่าวเพิ่มเติม โดยการนำมาใช้ชาร์จที่ออฟฟิศของ Apple ทุกวัน


ที่มา: Beartai

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

Facebook เผยแพร่งานวิจัย แก้ไขภาพถ่ายที่คนเผลอหลับตาได้ด้วย AI

Facebook เผยแพร่งานวิจัย ของระบบในการแก้ไขภาพถ่าย ที่ผู้ถูกถ่ายภาพเผลอหลับตา โดยสามารถเติมดวงตาเข้าไปได้ด้วย AI อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากภาพถ่ายอื่นประกอบ ซึ่งแตกต่างจากงานแก้ไขภาพแบบอื่น ที่มักอาศัยองค์ประกอบโดยรอบในภาพ แต่หากคนในภาพหลับตาแล้ว ก็จำเป็นต้องใช้ข้อมูลอดีตมาช่วย

วิธีการแก้ไขภาพนี้อาศัยเครือข่ายแบบ Generative Adversarial Networks (GAN) ทำให้เรียนรู้ได้ว่าดวงตาที่ควรนำไปใส่ในภาพที่ต้องการแก้ไข เป็นของใคร และควรปรับสี และรูปทรงให้เข้าภาพนั้นอย่างไร



ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

Visa เผย Data Center ล่มเพราะ Switch ทำงานผิดปกติ และ Failover ไม่สำเร็จ

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมานี้มีเหตุการณ์ Data Center ของ Visa มีปัญหาไปประมาณ 10 ชั่วโมง จนทำให้ธุรกรรมเกือบ 5 ล้านรายการหรือประมาณ 10% ในยุโรปล้มเหลวไป ซึ่งทาง Visa ก็ออกมาแถลงว่าต้นเหตุของกรณีเกิดจากปัญหาที่อุปกรณ์ Switch ภายใน Data Center นั่นเอง


Visa ระบุว่า Data Center ของ Visa ในยุโรปนั้นมีด้วยกัน 2 แห่ง และทั้ง 2 แห่งนี้จะทำงานร่วมกันแบบ Active-Active โดยหากแห่งหนึ่งหยุดทำงานไป อีกแห่งหนึ่งก็ทำงานทดแทนได้อย่างสมบูรณ์และรองรับธุรกรรมทั้งหมดได้ด้วยตนเอง แต่ในกรณีนี้อุปกรณ์ Switch นั้นเกิดปัญหาในเคสที่เป็นไปได้ยาก หรืออุปกรณ์มีปัญหาแค่บางส่วนเท่านั้น ทำให้ Switch สำรองไม่ทำ Failover ขึ้นมาทำงานแทน และทำให้การรับส่งข้อมูลระหว่าง Data Center 2 แห่งมีปัญหาเป็นบางส่วน

ทาง Visa ต้องทำการปิดอุปกรณ์ Switch ชุดที่มีปัญหาทิ้งเพื่อแก้ไขปัญหาระบบเครือข่ายก่อน จากนั้นจึงพบว่ายังมีปัญหาข้อมูลธุรกรรมคงค้างและข้อมูลไม่เท่ากันใน Data Center ทั้ง 2 ระบบ จึงต้องทำการตัดระบบเครือข่ายของ Data Center หลักทิ้ง, ปิดระบบทั้งหมดใน Data Center หลักเพื่อไม่ให้การ Synchronize ข้อมูลสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับ Data Center รอง จากนั้นจึงไปจัดการกับ Message Backlog ทั้งหมดที่ Data Center รองให้เรียบร้อย

กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงก่อนที่ธุรกรรมต่างๆ ของ Visa จะกลับมาทำงานได้เป็นปกติ โดยปัจจุบันทาง Visa ได้ให้ทาง EY เข้าไปทำการตรวจสอบเหตุการณ์นี้เพิ่มเติม และทาง Visa ก็กำลังเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่

ก็ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่ดูแลระบบ Data Center ว่าการออกแบบระบบให้ทำงานทดแทนกันได้นั้นก็อาจยังวางใจไม่ได้ และทักษะด้านการตรวจสอบแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็วนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี

ที่มา: TechTalk

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ไมโครซอฟท์ออก Office 2019 for Mac รุ่นพรีวิวให้ทดสอบ

ไมโครซอฟท์ออก Office 2019 for Mac Preview ตามหลัง Office 2019 สำหรับพีซีที่ออกพรีวิวไปก่อนหน้านี้ ในชุดประกอบด้วย Word, Excel, PowerPoint, Outlook, OneNote

ฟีเจอร์หลายอย่างของ Office 2019 อยู่ใน Office 365 เรียบร้อยแล้ว แต่ไมโครซอฟท์ยังออก Office 2019 สำหรับลูกค้าที่ยังใช้วิธีจ่ายค่าไลเซนส์แบบซื้อขาด ไม่ได้จ่ายรายเดือนแบบเดียวกับ Office 365 ให้ต่อไป ตัวอย่างฟีเจอร์ใน Office 2019 ได้แก่การรองรับปากกาที่ดีขึ้น, ฟีเจอร์ Morph ใน PowerPoint, แปลงไฟล์วิดีโอเป็น 4K, Word โหมดโฟกัสกับงานเขียน เป็นต้น

Office 2019 มีกำหนดออกตัวจริงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ทั้งบนพีซีและแมค


ที่มา: Blognone

4.0 ของจริง! คนสวีเดนเริ่มฝังไมโครชิปบนผิวหนังแทนพกบัตรประชาชน


สำนักข่าว AFP รายงานว่าปัจจุบันประชาชนชาวสวีดิช เริ่มทำการฝังไมโครชิปลงบนผิวหนังของตนเอง ซึ่งสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น อาทิ ไม่ต้องพกบัตรประชาชน, ใช้สแกนแทนคีย์การ์ดในการเข้าทำงานในออฟฟิศ, ซื้ออาหารจากตู้อัตโนมัติ, เข้ายิม, หรือแม้แต่ใช้แทนตั๋วรถไฟ โดยรายงานระบุว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีชาวสวีดิชกว่า 3,000 รายที่ติดไมโครชิปแล้ว

สำหรับการฝังชิปนั้นถูกระบุว่ามีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อยระดับมดกัดไม่ต่างจากการเจาะหู ซึ่งการฝังชิปแม้จะฝังไว้ที่ผิวหนังแต่ก็อยู่ในระดับชั้นที่ไม่ลึก ทำให้การอ่านค่าชิปรวมทั้งบันทึกข้อมูลจัดเก็บสามารถทำได้ง่ายและแม่นยำ ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้คนสวีเดนหันมาใช้ไมโครชิปมากกว่าชาติอื่นๆ ก็เนื่องจากระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของข้อมูลในประเทศนั้นมีประสิทธิภาพระดับสูงสุด ที่ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวจะเป็นความลับไม่รั่วไหลแน่นอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประชากรในสวีเดนเพียง 2% ที่ยังพกเงินสดติดตัว ขณะที่อีก 98% นั้นจ่ายผ่านบัตรเครดิตและสมาร์ทโฟนหมดแล้ว ซึ่งเทรนด์ของการใช้ร่างกายมนุษย์มาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยี (Biohackng) โดยน่าสนใจไม่น้อยกว่าในอนาคตอุปกรณ์ไอทีพื้นฐานมากมายที่อาจถูกออกแบบมาเมื่อฝังลงในร่างกายของมนุษย์

ที่มา: Beartai

Microsoft เข้าซื้อกิจการ GitHub แหล่งรวม Source Code ใหญ่ที่สุดในโลก


เว็บไซต์ Bloombeg ได้รายงานว่า Microsoft ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการของ GitHub ซึ่งทาง Bloomberg ได้ระบุว่า GitHub ได้เลือกร่วมงานกับ Microsoft เพราะ สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของ Microsoft


GitHub เป็นพื้นที่เก็บรวบรวม Code ที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มนักพัฒนาและบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เข่น Apple, Amazon, Google และ Microsoft เป็นต้น และมักใช้เป็นเจ้าของโปรเจ็คต์ซอฟต์แวร์แบบ Open Source

ไม่เพียงแค่นั้น Microsoft ยังเป็นผู้ให้การสนับสนุน GitHub อย่างชัดเจน โดยพนักงานกว่า 1,000 คน ได้นำ Code ต่างๆ มาเก็บไว้บนพื้นที่ของ GitHub
 
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา GitHub ได้มีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านเหรียญ และเมื่อเดือนเมษายน 2018 ที่ผ่านมา GitHub ได้มีผู้ใช้มากกว่า 14 ล้านคน และมากกว่า 35 ล้านพื้นที่เก็บ ซึ่งส่งผลให้ GitHub เป็นเจ้าของงาน Source Code ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่า Microsoft ได้ซื้อกิจการของ GitHub ด้วยมูลค่าเท่าไร

Chris Wanstrath ผู้ร่วมก่อตั้ง GitHub

นับตั้งแต่ สัตยา นาเดลลา ได้เข้ามาเป็นซีอีโอเมื่อปี 2014 เป็นต้นมา Microsoft ได้ลงทุนในเทคโนโนยี Open Source อย่างรวดเร็ว โดยได้เปิด PowerShell, Visual Studio Code และ Microsoft Edge JavaScript Engine อีกทั้งยังร่วมกับ Canonical ในการนำ Linux (Ubuntu) มาใช้ใน Windows 10 และซื้อกิจการ Xamarin เพื่อช่วยในการพัฒนาแอปมือถือ

ที่มา: Beartai