วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ไฟเบอร์ขาด จอดับ สายไฟเบอร์สนามบินในลอนดอนขาด หน้าจอแสดงเที่ยวบิน 1,200 จอใช้งานไม่ได้ ต้องใช้กระดานอันเดียว

สนามบิน Gatwick ในลอนดอนเปลี่ยนไปใช้หน้าจอแสดงข้อมูลการบิน (Flight Information Display System - FIDS) ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยหน้าจอแสดงข้อมูลการบินทั่วสนามบิน 1,200 หน้าจอ จะดึงข้อมูลจากคลาวด์ทั้งหมด

ระบบ FIDS เปิดให้หน้าจอกลายเป็นเพียงเว็บเบราว์เซอร์ แล้วดึงข้อมูลการบินจากเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ โดยรวมแล้วมันต้องการอินเทอร์เน็ต 3 Mbps ทั้งระบบเท่านั้น แต่ปรากฎว่าวันนี้สายไฟเบอร์ของ Vodafone ที่ทางสนามบินใช้งานกลับเสียหายโดยทาง Vodafone ไม่ได้แจ้งสาเหตุ แต่ผลกระทบกลับเป็นความโกลาหลในสนามบินเพราะทางสนามบินต้องเขียนกระดานแจ้งเที่ยวบินและช่องทางออกบนกระดานไวท์บอร์ดกระดานเดียวกลางสนามบิน

FIDS เป็นโครงการเพื่อลดภาระในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน และได้รางวัลโครงการคลาวด์แห่งปี จาก Real IT แต่บทเรียนครั้งนี้คงทำให้ทางสนามบินได้เรียนรู้ว่าการตัดต้นทุนโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่ตามมา จะสร้างความเสียหายได้มากมาย



ที่มา: Blognone

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Apple เตรียมเปิดตัว MacBook ราคาต่ำในเดือนกันยายนนี้


มีข่าวมาสักระยะแล้วที่ Apple เตรียมเปิดตัว MacBook รุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลงหลังยอดขาย MacBook ร่วงไปอย่างสวยงาม ตกเป็นอันดับที่ 6 ไปแล้วเรียบร้อย

DigiTimes รายงานว่า Apple เตรียมเปิดตัว MacBook รุ่นราคาถูก ต่ำกว่า $1,200 ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ใช้ชิปประมวลผล Intel Kaby Lake ผลิตที่สถาปัตยกรรม 14nm เนื่องจากชิปประมวลผล 10nm ของ Intel นั้นมีปัญหาจึงต้องใช้รุ่น 14nm อย่างน่าเสียดาย

คาดว่า MacBook รุ่นนี้จะสามารถดึงยอดขายแล็ปท็อปของ Apple ให้ขึ้นอีกครั้งได้ นักวิเคราะห์เผยว่า Apple อาจจะสามารถจำหน่าย MacBook รุ่นราคาต่ำนี้ได้ถึง 8 ล้านเครื่องในปี 2018

นอกจากนี้ Apple จะเริ่มแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับ AirPower หรือแท่นชาร์จไร้สายที่สามารถชาร์จอุปกรณ์พร้อมกันได้ถึง 3 ชิ้นหลังจากเลื่อนมาเป็นปีครับ

ที่มา: Beartai

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

CTO ของ MongoDB เผย ทุกวันนี้ก็ยังเขียนโค้ดอยู่ แม้เป็นผู้บริหารแล้ว

Eliot Horowitz ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี หรือ ซีทีโอ ของ MongoDB ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ที่ตอนนี้บริษัทเข้าตลาดหุ้นแล้ว เปิดเผยว่า แม้วันนี้ตำแหน่งเขาคือผู้บริหาร และบริษัทก็เติบโตจนเข้าตลาดหุ้น แต่เขาก็ยังเขียนโค้ดร่วมกับทีมนักพัฒนาทุกวัน

ตัว Horowitz เองเป็นซีทีโอตั้งแต่ก่อตั้ง MongoDB เขายอมรับว่าการที่ยังโค้ดอยู่ทุกวันนั้น เป็นเรื่องแปลกสำหรับคนเป็นซีทีโอ ปัจจุบันทีมนักพัฒนาของ MongoDB มีกว่า 400 คน ซึ่งเหตุผลที่ Horowitz บอกว่ายังต้องเขียนโค้ด เพราะมองว่าเขาจะทำงานได้ดีถ้าหากได้มือเปื้อนลงมาเขียนโค้ดบ้าง (get hands dirty) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรของที่นี่

เขายังมองว่าหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีนั้นต้องเข้าถึง ทั้งคนในทีมนักพัฒนาและผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรณีของ MongoDB นั้นพิเศษไปอีก เพราะผู้ใช้งานก็คือนักพัฒนาด้วย ทำให้งาน MongoDB มีโจทย์ให้ต้องพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอด ตามความต้องการของผู้ใช้งาน การอยู่ใกล้กับเทคโนโลยีในระดับฝ่ายนักพัฒนาจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ธนาคาร Cosmos ในอินเดียถูกแฮกทั้งข้อมูลทั้งบัตรเดบิต และโอนเงินผ่าน SWIFT สูญเงิน 445 ล้านบาท

หลังจากเว็บ KrebsOnSecurity รายงานถึงการแจ้งเตือนของ FBI ว่ากำลังมีการใช้ข้อมูลบัตรกดเงินขนานใหญ่ วันนี้ก็มีรายงานออกมาแล้วว่าธนาคารที่ตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้คือ Cosmos Bank ในอินเดีย

แฮกเกอร์สามารถติดตั้งมัลแวร์ไปในระบบปล่อยสินเชื่อของธนาคารได้สำเร็จ และคัดลอกข้อมูลบัตรเดบิตออกไปหลายพันใบ จากนั้นจึงนัดแนะผู้ร่วมขบวนการใน 28 ประเทศ ให้กดเงินออกจากบัตรแม่เหล็กที่เขียนข้อมูลบัตรที่ขโมยมาได้ลงไป รวมมีการกดเงินไปกว่า 15,000 ครั้งในช่วงระยะเวลา 7 ชั่วโมง

หลังจากนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แฮกเกอร์จึงลงมืออีกครั้งด้วยการสั่งโอนเงินก้อนใหญ่ 64 ล้านบาทผ่านเครือข่าย SWIFT ไปยังธนาคารในฮ่องกง

ทาง Cosmos Bank ยืนยันว่าระบบแกน (core banking) ไม่ได้รับผลกระทบ และเงินในบัญชีลูกค้าไม่กระทบจากการแฮกครั้งนี้ แต่เพื่อป้องกัน ตอนนี้ทางธนาคารก็ปิดบริการเอทีเอ็มทั้งหมด, บริการธนาคารออนไลน์, และธนาคารผ่านโทรศัพท์


ที่มา: Blognone

‘Man-in-the-disk’ การโจมตีรูปแบบใหม่บน Android

ทีมนักวิจัยจาก Check Point ได้สาธิตวิธีการโจมตีใหม่บน Android ที่ให้ชื่อว่า ‘Man-in-the-disk’ ซึ่งสามารถทำให้แอปพลิเคชัน Third-party สามารถเข้าไปดูและแก้ไขข้อมูลของแอปพลิเคชันอื่นที่มีการใช้พื้นที่บน External Storage ได้นำไปสู่การทำให้แอปพลิเคชันนั้นทำงานผิดพลาดหรือรันโค้ดอันตราย


Android OS รองรับการใช้งานหน่วยความจำ 2 ประเภท คือ Internal Storage (System Memory ที่ถูกใช้โดย OS, แอปพลิเคชันของระบบ หรือ ข้อมูลของแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้เป็นคนเลือกที่จะเก็บลงในนี้ตอนติดตั้งซึ่งมีการป้องกันโดยการใช้ Sandbox จึงไม่สามารถเข้าถึงได้โดยแอปพลิเคชันอื่น) ส่วนอีกประเภทคือ External Storage คือหน่วยความจำภายนอก (เช่น SD Card เป็นต้น) ที่เอาไว้แชร์ข้อมูลกันระหว่างแอปพลิเคชัน หรือแชร์ไฟล์ให้ PC อย่างไรก็ตามมีหลายสาเหตุที่นักพัฒนาเลือกใช้ External Storage กับแอปพลิเคชันของตน เช่น หน่วยความจำภายในมีจำกัด ต้องทำให้เข้ากันได้กับอุปกรณ์รุ่นเก่า (ดีกว่าไปยุ่งกับหน่วยความจำของแต่ละเครื่อง) รวมถึงไม่อยากให้แอปพลิเคชันของตนดูกินพื้นที่เครื่องมากเกินไปหรืออาจจะเป็นเพราะเลินเล่อของตัวนักพัฒนาเอง

 

สาเหตุของการโจมตีที่เกิดขึ้นได้เป็นไปได้ด้วยปัจจัยหลายประการดังนี้

  • External Storage ของ Android ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถถูกแก้ไขหรือดูได้โดยแอปพลิเคชันบนเครื่องเดียวกัน
  • Android ไม่ได้มีกลไกการป้องกันข้อมูลที่อยู่บนพื้นที่นี้ติดมาในตัวเพียงแค่แนะนำแนวทางการใช้ให้นักพัฒนาเท่านั้น
  • นักพัฒนาเองก็ไม่ได้ใส่ใจความเสี่ยงตาม Best Practice คือ ตรวจสอบ input เมื่อต้องจัดการข้อมูลจาก External Storage ไม่มีการทำการ Signing ข้อมูลและตรวจสอบการแก้ไขเปลี่ยนแปลงก่อนโหลดข้อมูลเข้ามา รวมถึงไม่ควรเก็บข้อมูลที่ต้อง Execute หรือ Class File ไว้ใน External Storage
  • ด้วยความประมาทหรือเลินเล่อของผู้ใช้งานเองก็ไม่ได้ดูเรื่องสิทธิ์ของแอปพลิเคชันที่มีการใช้งาน External Storage ให้ดี

 

ผลลัพธ์ที่นักวิจัยได้สาธิตมี 2 วิธีการคือ

  • สร้างแอปพลิเคชันอันตรายที่ใส่ข้อมูลที่ผิดๆ ไปบนพื้นที่การใช้งานของอีกแอปพลิเคชันหนึ่งบน External ทำให้แอปเป้าหมายนั้นทำงานผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องโหว่อื่นทำไปสู่การ inject โค้ดอันตรายเข้าไป ร้ายกว่านั้นคือถ้าแอปเป้าหมายนั้นมีสิทธิ์สูงกว่าแอปคนร้ายก็จะทำให้คนร้ายสามารถยกระดับสิทธิ์และเข้าถึงฟีเจอร์ของโทรศัพท์ได้ผ่านทางแอปเป้าหมายนั้น
  • สร้างแอปพลิเคชันอันตรายที่คอยติดตามการอัปเดตของแอปพลิเคชันเป้าหมาย เนื่องจากบางแอปพลิเคชันมีการเก็บไฟล์ไว้ใน External Storage ชั่วคราวก่อน Apply อัปเดตจริง ซึ่งทำให้คนร้ายสามารถเขียนแทนที่ไฟล์บนพื้นที่นั้นด้วยเวอร์ชันอันตรายของตนเองหรือจาก Third-party เข้าไป

นอกจากนี้นักวิจัยจาก Check Point ได้เผยถึงแอปพลิเคชันยอดนิยมที่เราอาจต้องแปลกใจคือ Google Translate, Google Voice Typing, Yandex Translate และ Yandex Search รวมถึง Xiaomi Browser ต่างได้รับผลกระทบจากช่องโหว่นี้ทั้งสิ้น และได้แจ้งกับ Google และ Xiaomi ไปแต่มีเพียง Google เท่านั้นที่ออกแพตช์มาแก้ปัญหานี้แล้ว ในฝั่งการป้องกัน Check Point มีความเห็นว่านักพัฒนาควรจะใส่ใจกับการพัฒนาแอปพลิเคชันตาม Best Practice และ Android เองก็ควรรับผิดชอบด้วยการทำ Hardening ที่ระดับ OS ไม่ใช่ผลักภาระให้นักพัฒนาอย่างเดียว

ที่มา: TechTalk

ทันควัน! Mozilla ประกาศ Firefox สามารถรองรับการใช้งาน TLS 1.3 แล้ว

หลังจาก IETF ออกประกาศเวอร์ชันสมบูรณ์ของ TLS 1.3 เรียบร้อยแล้วทาง Mozilla เองก็ไม่รอช้าที่จะประกาศตอบรับว่า Firefox เวอร์ชัน 61 หรือที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน สามารถรองรับการใช้งาน TLS 1.3 ได้แล้วเช่นกัน


TLS 1.3 มีการอัปเดตช่วยให้การใช้งานมีความมั่นคงปลอดภัยและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโปรโตคอลใหม่นี้ใช้เวลาในการจัดทำอยู่หลายปีและมีระยะห่างกับ TLS 1.2 ถึง 10 ปีนับตั้งแต่เปิดตัว อย่างไรก็ตามใน Firefox เวอร์ชันล่าสุดจะยังรองรับกับ TLS 1.3 ในเวอร์ชัน Draft-28 แต่ในบล็อกของ Mozilla ยืนยันว่าเพียงพอที่จะใช้งานกับเวอร์ชันสมบูรณ์ที่ IETF ประกาศออกมาได้เพราะต่างกันแค่เพียงตัวเลขเท่านั้น โดยมีการวางแผนว่า Firefox จะรองรับเวอร์ชันสุดท้ายจริงๆ ในเวอร์ชัน 63 ที่จะออกมาเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ตัวเลขสถิติการใช้งาน TLS 1.3 บน Firefox มีประมาณเกือบ 5% และเป็นตัวเลขที่ตรงกันกับรายงานจาก Cloudflare ในขณะที่มีรายงานจากฝั่ง Facebook ว่า Social Media รายใหญ่นี้มีทราฟฟิคที่เป็น TLS 1.3 มากกว่า 50% เรียบร้อยแล้ว (ผู้ที่สนใจรายละเอียดโดยสรุปของ TLS 1.3 สามารถติดตามได้จากข่าวของ TechTalkThai)

ที่มา: TechTalk

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สิ้นสุดการรอคอย Google เปิดตัว Android 9.0 กับชื่อเล่นว่า “Pie” อย่างเป็นทางการแล้ว

หลังเกริ่นให้อยากเจอตั้งแต่งาน Google I/O 2018 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในที่สุดทาง Google ก็เผยโฉมระบบปฏิบัติการหุ่นเขียวตัวใหม่แล้วอย่าง Android 9.0 Pie พร้อมประกาศอัพเดตใน Pixel กับ Essential Phone ให้ใช้งานกันก่อนเรียบร้อย


ไม่รู้ว่าเดากันถูกไหม สำหรับชื่อใหม่ของ Android รุ่นล่าสุดนี้ จากที่เคยใช้ชื่อ Android P มานาน กระทั้งวันนี้เราได้ทราบกันทั่วหน้าแล้วว่า ระบบปฏิบัติการ Android รุ่นถัดไปของ Android O หรือ 8.0 Oreo จะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Android 9.0 Pie นี้เอง

สำหรับ Android 9.0 Pie ก็มาพร้อมระบบ AI ช่วยประมวลผลฟีเจอรต่างๆ เป็นหลัก และการออกแบบใหม่ที่เน้นความเรียบง่ายกับความสะดวกในการใช้งานโดยเฉพาะ ก่อนหน้านี้ในงาน Google I/O 2018 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง Google ก็ได้เผยฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Android P ไว้พอสมควร แน่นอนว่าใน Android 9.0 Pie ก็มีเช่นกัน ใครอยากรู้ว่า Android รุ่นใหม่นี้มีฟีเจอร์อะไรเด็ดๆ บ้าง ลองไปดูกันได้ที่ GoogleBlog หรือ

Adaptive Battery

ฟีเจอร์ช่วยลดภาระการใช้พลังงาน ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของแอพฯ และระบบ ที่จะมีการแยกส่วนใช้พลังงานแตกต่างกันไป เช่นแอพฯ ไหนใช้บ่อย ก็จะได้สิทธิใช้พลังงานตามสมควร แอพฯ ไหนแทบไม่ได้ใช้ ก็จะโดนลดพลังงานลงไป ทั้งหมดก็ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าเดิมถึง 30% กันเลย 

Adaptive Brightness

เป็นฟีเจอร์ที่ทำงานร่วมกับ Adaptive Battery ช่วยลดการใช้พลังงานจากหน้าจอแสดงผล ด้วยการปรับความสว่างของหน้าจอ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายนอก ตรงนี้หลายคนคงคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หากแต่ Google ได้นำ AI มาช่วยเรียนรู้และควบคุมการทำงานโดยตรง ทำให้มันมีความฉลาดกว่านั้นเอง

App Action

หากแอพฯ ไหนมีการเรียกใช้งานบ่อยๆ ฟีเจอร์นี้ก็จะเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของเรา เพื่อนำไปแนะนำเป็น “ทางลัด” ใช้งานแบบอื่นได้ ฟังดูงงนิดๆ ก็ลองดูตามภาพตัวอย่างเลยครับ เช่น ถ้าเราค้นหาคำว่า “Infinity” ในแอพฯ Google มันก็จะมีตัวเลือกแนะนำเล็กๆ ใต้ล่างว่า จะให้จองตั๋วผ่านแอพฯ นี้เลยไหม หรือไปดูตัวอย่างหนังได้ทาง Youtube ซึ่งทั้งหมดก็มาจากพฤติกรรมการใช้งานที่เราทำอยู่บ่อยๆ นั้นเอง


Slices

ก็เป็นอีกฟีเจอร์ที่คล้ายๆ กับ App Action คือช่วยแสดงทางลัดอื่นๆ แต่ส่วนนี้จะเป็นการลดขึ้นตอนการใช้งานแอพฯ นั้นๆ แทน เช่นกำลังค้นหาชื่อ “hawaii” มันก็จะแสดงตัวอย่างภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องจากแอพฯ Google Photos เหมือนเตือนว่า เราเคยมีทริปนี้นะ ลองไปสำรวจหน่อยไหม (แอบน่ากลัวนิดๆ)


New System Navigation

เป็นหนึ่งในคอนเซ็ปต์ Simplicity หรือความสะดวกที่ Google ชูใน Android P คือการจัดหน้า UI แบบใหม่ สามารถเลื่อนขึ้นเพื่อเข้าถึงหน้าแอพฯ ในเครื่อง หรือเลื่อนดูประวัติการใช้งานแอพฯ ที่ค้างไว้ได้ในรวดเดียวเลย ประมาณว่า มีแค่นิ้วเดียว ก็สามารถเข้าถึงได้เกือบทุกอย่างได้ยังไงยังงั้น


อีกหนึ่ง Gimmick เล็กๆ แต่ได้ใจมาก คือเวลาตั้งสมาร์ทโฟนเป็นแนวนอน มันจะมีไอคอนแจ้งเตือนตรงหัวมุมว่า ให้ปรับเป็นแนวนอนเลยไหม? ถ้าต้องการก็กดจิ้มเข้าไปเลย ตรงนี้ก็ช่วยลดความรำคาญตอนเผลอถือสมาร์ทโฟนในแนวนอน แต่ไม่ได้อยากชมภาพแนวนอนตามนั้นเอง
  

Dashboard

แสดงหน้าข้อมูลสถิติหรือการใช้งานสมาร์ทโฟนในแต่ละวัน เช่น เราใช้เวลาไปกับแอพฯ ไหนมากสุด ปลดล็อคหน้าจอกี่ครั้งแล้ว ฟีเจอร์นี้ก็เหมือนเป็นตัวช่วยให้เรา ไปปรับพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนใหม่ คือออกแนวฟีเจอร์เพื่อสุขภาพ เพราะมันจะต่อยอดไปยังฟีเจอร์ช่วยถนอมร่างกายของผู้ใช้ตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น App Timer กำหนดเวลาการใช้แอพฯ และ Wind down ปรับสีหน้าจอให้เป็นขาวดำเมื่ออยู่ในที่มืดโดยอัตโนมัติหรือตามที่ตั้งไว้ ช่วยถนอมสายตาของเรา

  
Wind down

ต่อจาก Dashboard สำหรับหน้าตาเวลาปรับสีเป็นขาวดำ ก็ตามภาพนี้เลย ทั้งนี้เราสามารถสั่งงานผ่านเสียง ตั้งเวลาการเปลี่ยนหน้าจอเองโดยตรงก็ได้

  
Do Not Disturb

โหมดห้ามรบกวนแบบเด็ดขาด คือเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยซ่อนการแจ้งเตือนที่เราคิดว่าไม่จำเป็นลงได้ เหมาะสำหรับเล่นเกมหรือดูหนัง แต่ไม่ต้องการให้การแจ้งเตือนมาขัดจังหวะ 


Shush

สำหรับฟีเจอร์ “Shush” ก็เป็นอีกชื่อของ Do Not Disturb คือเวลาเราคว่ำจอสมาร์ทโฟน มันจะปิดการแจ้งเตือนทั้งหมดเลย ไม่ดังให้เราสะดุ้งหรือรู้สึกรำคาญอีกต่อไป

 
Starred Contacts

อีกฟีเจอร์ที่ทำงานคู่กับ Do Not Disturb คือถึงแม้เราจะปิดการแจ้งเตือนไปเกือบหมดแล้ว แต่หากมีคนสำคัญของเราส่งข้อความหรือโทรมา มันก็จะช่วยแจ้งเตือนแม้อยู่ในโหมด Do Not Disturb ก็ตาม


ท้ายนี้ Google ได้เริ่มทยอยปล่อย Android 9.0 Pie แก่ Pixel กับ Essential Phone ได้ใช้งานกันก่อนเรียบร้อยแล้ว ส่วนอุปกรณ์ Android แบรนด์อื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ Android Beta อาทิ Sony, Xiami, HMD Global (Nokia), Oppo, Vivo และ OnePlus กับกลุ่มอุปกรณ์ Android One จะได้รับอัพเดตในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ครับ

ที่มา: ARiP

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Google Maps เปลี่ยนการแสดงแผนที่แบบใหม่จากแผ่นกระดาษ 2 มิติ เป็นลูกโลก 3 มิติ


Google Maps นำเสนอการอัปเดตแผนที่ใหม่ เมื่อซูมออกจนสุด ก็จะไม่แสดงเป็นผิวเรียบอีกต่อไป แต่มีลักษณะกลมเป็นลูกโลก การเปลี่ยนแปลงจากแผนที่ 2 มิติ เป็นลูกโลก 3 มิติ ทำให้แผนที่แสดงผลพื้นที่บนโลกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ทำไม Google Maps ถึงเปลี่ยนการแสดงผลจาก 2D เป็น 3D Globe Mode ?
 
การเปลี่ยนแปลงวันนี้ Google ได้อัปเดตแผนที่ให้ดูสะดวกกว่าแบบแบนราบ แสดงพื้นผิวของโลกได้ดีกว่าแบบเก่า แบบใหม่นี้เป็นทรงกลมมีขนาดเล็กทำให้เรามองโลกได้กว้างมากขึ้น เพียงแค่หมุนไปทางซ้ายหมุนหรือหมุนไปทางขวา นอกจากนี้แผนที่แบบเดิมที่เมื่อซูมออกจนสุดแผนที่ก็จะเห็นโลกของเราแบนราบไปกับจอ ยังมีปัญหาการแสดงขนาดพื้นที่บนโลกผิดเพี้ยน
ขนาดของกรีนแลนด์ไม่ได้ใหญ่กว่าทวีปแอฟริกา แต่แผนที่เดิมทำให้ดูใหญ่
แผนที่ 2 มิติแบบเดิมเรียกว่า Mercator ที่จะยืดพื้นที่บริเวณใกล้ขั้วโลกให้ใหญ่ขึ้น เพื่อปูให้เต็มสี่เหลี่ยม รูปแบบนี้จะทำให้ง่ายต่อการพิมพ์ลงบนแผนที่และได้กลายเป็นแบบมาตรฐานส่วนใหญ่ แต่ก็ทำให้ความเข้าใจเรื่องพื้นที่ของคนผิดพลาดเช่นกัน อย่างขนาดของกรีนแลนด์และแอฟริกา บนแผนที่แบบ Mercator พื้นที่ Greenland มีขนาดใหญ่กว่าแอฟริกาทั้งที่ความเป็นจริงแล้วแอฟริกามีขนาดใหญ่กว่ากรีนแลนด์ถึง 14 เท่า

ภาพเส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์

การอัปเดต 3D Globe Mode

การอัพเดทเป็น 3D Globe Mode เปิดจากโทรศัพท์อาจจะไม่เห็น ถ้าจะใช้ต้องเปิดจากเว็บเบราเซอร์บนคอมพิวเตอร์เท่านั้น และสามารถแสดงได้เกือบทุกเบราเซอร์ ไม่ว่าจะเป็น Google Chrome, Microsoft Edge และ Firefox


จากการเปลี่ยนแปลงนี้มีให้ใช้งานบนเดสก์ท็อปเท่านั้น ถ้าใช้เปิดจากโทรศัพท์มือถือก็อาจจะยังเห็นภาพ 2D แบนๆ เมื่อซูมเข้าออก แต่ในไม่ช้านี้สมาร์ทโฟนก็อาจรองรับการดูแผนที่แบบ 3D ได้

ที่มา: Beartai

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Tesla เตรียมเพิ่มโหมดปาร์ตี้และตั้งแคมป์ สั่งเปิดแอร์และเพลงได้เมื่อใช้รถเพื่อนันทนาการ

ปัจจุบันมีเจ้าของรถ Tesla จำนวนหนึ่งขับรถท่องเที่ยวและนอนในรถเลยเพราะพบว่าหากพับเบาะหลังให้ราบลงจะสามารถนำฟูกไปปูนอนได้พอดี นอกจากนี้ยังนอนแบบเปิดแอร์ได้โดยไม่มีอันตรายเพราะรถมีโหมดตั้งแคมป์ (Camper mode)

อย่างไรก็ตามโหมดตั้งแคมป์ยังใช้งานได้ไม่ดีพอ เพราะไฟในรถยังติดอยู่ Tesla จึงต่อยอดฟีเจอร์ดังกล่าวและใช้ชื่อว่า Party & Camper Mode โดย Elon Musk ระบุในทวีตว่าระบบปรับอากาศในรถจะทำงาน พร้อมสั่งเปิดเพลงและเลือกเปิด-ปิดไฟในรถได้ตามชอบ รวมทั้งชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นๆ ได้นานถึง 48 ชั่วโมงหรือมากกว่า

รถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model S, 3 และ X จะได้รับอัพเดตดังกล่าวเร็วๆ นี้


ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

IEEE เผย 10 ภาษา Programming ยอดนิยมประจำปี 2018: Python ได้อันดับ 1

IEEE Spectrum ได้ออกมาเผยถึงผลการจัดอันดับ Programming Language สำหรับปี 2018 ซึ่งได้จัดอันดับภาษาเขียนโปรแกรมด้วยกันทั้งหมด 48 ภาษา ครอบคลุมการใช้งานทั้งสำหรับ Web, Mobile, Enterprise และ Embedded โดย 10 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุดมีดังนี้


Python นั้นได้กลายเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีจุดที่น่าสังเกตคือ Python เองก็ถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในหมวดภาษาสำหรับ Embedded Computing ด้วยแล้ว ทำให้รูปแบบการใช้งานมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และยังสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดของระบบ Hardware ที่เดิมทีเคยเป็นของ C, C++ และ Assembly เป็นหลักเท่านั้น รวมถึงศาสตร์ด้าน Data Science เองก็ยังมีการอ้างอิงถึง Python กันค่อนข้างมาก และเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงไม่น้อยทีเดียว

ทางด้านภาษาหลักๆ ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ อย่าง C++, C, Java, C#, PHP, JavaScript นั้นก็ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกทั้งหมด ถือว่าไม่น่าแปลกใจนัก แต่ Assembly เองที่มีกรณีการใช้งานเฉพาะในส่วนของ Embedded System นั้นก็ยังคงสามารถรั้งตำแหน่งอันดับ 10 เอาไว้ได้ ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย

ส่วนภาษา R นั้นความนิยมก็ลดลงจากอันดับ 5 เมื่อ 2 ปีก่อนมาสู่อันดับ 7 ในปีนี้ ก็เป็นเพราะการแข่งขันกับภาษา Python นั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ยังถือว่าเป็นภาษาที่มีอันดับสูงไม่น้อย เพราะกรณีการใช้งานของ R แทบทั้งหมดนั้นตกอยู่ในศาสตร์ทางด้าน Data Science นั่นเอง

ทางด้านภาษา Go เองนั้นก็ถือว่าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว โดยหากสำรวจจากกราฟแบบ Trending แล้วก็จะพบว่าภาษา Go นั้นได้อยู่ถึงอันดับ 5 ทีเดียว และ Scala เองก็ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 8

สำหรับผลการจัดอันดับทั้งหมด สามารถดู Interactive Visualization ฉบับเต็มได้ที่ https://spectrum.ieee.org/static/interactive-the-top-programming-languages-2018 ครับ ซึ่งในลิงค์นี้จะสามารถเลือกคัดกรองการจัดอันดับข้อมูลได้ตามต้องการ ดังนั้นก็จะทำให้เห็นแนวโน้มในหลากหลายแง่มุมมากยิ่งขึ้นครับ ส่วนวิธีการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้สามารถตรวจสอบได้ที่ https://spectrum.ieee.org/static/ieee-top-programming-languages-2018-methods ครับ ซึ่งหลักๆ ก็คือการนำรายการของภาษาต่างๆ กว่า 300 ภาษามาทำการค้นหาใน Google Search, Googl Trends, Twitter, GitHub, Stack Overflow, Reddit, Hacker News, CareerBuilder, Dice และ IEEE Xplore Digital Library แล้วนำข้อมูลมาสรุปนั่นเองครับ

ที่มา: TechTalk