วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562

5 เหตุผลที่คุณควรลองใช้ React

หลายองค์กรได้เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของตัวเองมาใช้ JavaScript​ Ecosystem มากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกใช้ React เป็น front-end library ทั้งเว็บไซต์ Dek-D ที่เปลี่ยนมาจาก PHP และ Wongnai ที่เปลี่ยนมาจาก Java ด้วยรูปแบบของการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เร็วขึ้นทุกวัน การใช้เทคโนโลยีเก่าอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

หากคุณกำลังสนใจหรือเริ่มศึกษา React เพื่อมาใช้ในงานของตัวเอง ขอเชิญพบกับ 5 เหตุผลดีๆ ที่คุณควรลองใช้ React


1. Reusability แยกส่วนประกอบชัดเจนเพื่อชีวิตที่ง่ายขึ้น

 

แนวคิดของ Component คือการแยกส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ให้เป็นส่วนย่อยๆ เช่น ปุ่มกด กล่องข้อความ ภาพโปรไฟล์ เป็นต้น ซึ่งข้อดีคือ สามารถแบ่งย่อยส่วนงานต่างๆ ให้กับ developer หลายๆ คนเพื่อแบ่งงานกันทำได้ และสามารถ reuse เพื่อใช้ซ้ำในส่วนต่างๆ ของเว็บได้

เช่น modal สำหรับยืนยันการทำรายการ ที่ประกอบไปด้วยข้อความ ปุ่มยืนยัน และปุ่มยกเลิก ซึ่ง modal นี้ต้องใช้ในหลายๆ หน้า เมื่อใช้ React จะมอง modal เป็น component พัฒนาครั้งเดียว และใช้ซ้ำได้ทุกหน้าที่ต้องการ


2. Fast to Learn เริ่มต้นได้รวดเร็ว


React เป็น library ที่จัดการในส่วนของการแสดงผลเท่านั้น กล่าวคือเฉพาะ View ที่อยู่ใน MVC (Model, View, Controller) ทำให้ developer ใช้เวลาศึกษาไม่นานก็สามารถพัฒนาเว็บไซต์ได้


3. Learn Once, Write Anywhere เรียนทีเดียว เขียนได้ทั้ง Stack


เรามักจะคุ้นเคยกับการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันแบบดั้งเดิม ที่พัฒนาเว็บไซต์ด้วยภาษา JavaScript โดยมีระบบหลังบ้านด้วยภาษาอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบัน JavaScript มี Ecosystem ครอบคลุมทั้งหมด สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว

ซึ่งถ้าเราพัฒนาบุคลากรเพื่อเรียนรู้ JavaScript ตั้งแต่วันนี้ ก็จะสามารถพัฒนาได้ทั้ง front-end (React), back-end (Node.js) ได้เลยทีเดียว ซึ่งไม่ทำให้ developer ต้องเสียเวลาและเสียพลังในการเรียนรู้หลายภาษา เพื่อจะมาทำได้ทีละอย่างอีกต่อไป


4. React Native


ด้วยความที่ React มีลักษณะการเขียน View โดยไม่ยึดติดกับภาษา HTML ทำให้สามารถใช้โค้ดโครงสร้างเดียวกันแปลงไปเป็น mobile application ด้วย React Native ได้อย่างง่ายและสะดวก ลดเวลาในการพัฒนาแยกในแต่ละ Mobile Platform


5. Redux เครื่องมือทรงพลังในการควบคุม State


หนึ่งใน library ยอดฮิตที่นิยมใช้คู่กับ React เสมอมา นั่นก็คือ Redux ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสถานะ หรือ state ของ component ต่างๆ ซึ่งทำให้ component แสดงผลข้อมูลได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และแน่นอนว่าทำให้ชีวิต developer ง่ายขึ้นด้วย

React จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาความสามารถของเหล่า developer เอง เพราะจะช่วยให้การพัฒนาซอฟท์แวร์ในองค์กรดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เวลาเรียนรู้ไม่นานแต่สามารถต่อยอดได้หลายอย่าง และช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาบุคลากรได้มาก

จึงไม่น่าแปลกใจ หาก React จะเป็น JavaScript library ที่คนนิยมใช้กันทั่วโลก ทั้ง Facebook, Airbnb, Spotify, Dropbox — หรือองค์กรในประเทศไทยอย่าง Omise, Kaidee, Dek-D, Wongnai, Lazada เป็นต้น

หากคุณสนใจศึกษา React สามารถศึกษาได้จาก tutorial ทางการของ reactjs.org ได้ เป็น tutorial ที่ทำออกมาดีมากๆ สามารถเรียนแบบ step-by-step ได้ทันที

หรือถ้าไม่อยากเสียเวลาศึกษาเอง ทาง Skooldio เปิด Workshop: Mastering Web Development with React/Redux ในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม — 1 เมษายนนี้ สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.skooldio.com/courses/react-redux-workshop

มาเขียน React กัน!

ที่มา: Skooldio

จีนเตรียมพัฒนาแอพฯ สแกนหา “ลูกหนี้” ในระยะ 500 เมตร ผ่านบริการ WeChat

China Daily เผยรัฐบาลประกาศจีน มีแผนพัฒนาแอพฯ ช่วยสแกนหาบุคคลที่เป็นหนี้ ผ่านบริการหรือแพลตฟอร์ม WeChat ในระยะใกล้ 500 เมตร โดยผู้ใช้สามารถระบุตำแหน่ง และดูข้อมูลส่วนตัวบางส่วนได้ด้วย !!


ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวดังว่า รัฐบาลจีนประกาศใช้โครงการ Social Credit หรือระบบให้คะแนนวัด “ความประพฤติ” ทางสังคมของคนจีนผ่าน Big Data ซึ่งเตรียมใช้จริงทั่วประเทศภายในปี 2020 ล่าสุดเหมือนจะมีความเคลื่อนไหวของโครงการดังกล่าวแล้ว หลังเร็วๆ นี้ทาง China Daily รายงานว่า ทางรัฐบาลจีนมีแผนพัฒนาแอพฯ ตัวหนึ่ง ช่วยสแกนค้นหาลูกหนี้ในระยะใกล้ !!


“deadbeat debtors” หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการของแอพฯ ดังกล่าว สำหรับตัวแอพฯ สามารถค้นหาลูกหนี้ได้ในระยะ 500 เมตร โดยใช้บริการหรือแพลตฟอร์ม WeChat เป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะสแกนหาตำแหน่งได้แล้ว ผู้ใช้แอพฯ ยังสามารถดูข้อมูลส่วนตัวบางส่วนของลูกหนี้ได้อีกด้วย ส่วนจะโชว์ข้อมูลอะไรบ้างนั้น ยังไม่มีการระบุ แต่ที่แน่ๆ คือ มีชื่อของลูกหนี้และตำแหน่งในระยะ 500 เมตร ปรากฎออกมาแน่นอน

ท้ายนี้ตัวแอพฯ จะมีการใช้ในมณฑลเหอเป่ย์ของประเทศจีนก่อน โดยทางด้านโฆษกของศาลมณฑลเหอเป่ยกล่าวว่า “นี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือทางสังคม” เมื่ออิงจากโครงการ Social Credit อาจเรียกได้ว่า นี้คงเป็นหนึ่งในตัววัดความประพฤติทางสังคม หากพบว่ามีหนี้แต่ไม่จ่าย คะแนนก็จะลด และเมื่อลดมากๆ ก็อาจจะอยู่ยากขึ้น (อาทิ ทำเรื่องยากขึ้น ซื้อของหรือใช้บริการนั้นๆ ไม่ได้ ฯลฯ) นั้นเองครับ

ที่มา: ARiP

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562

อวสาน Windows Mobile ไมโครซอฟท์ประกาศวันหยุดซัพพอร์ต ธ.ค. 2019

ไมโครซอฟท์อัพเดตข้อมูลในเอกสารซัพพอร์ต ระบุวันสิ้นสุดระยะซัพพอร์ตของ Windows Phone/Mobile เวอร์ชันสุดท้ายแล้ว

ระบบปฏิบัติการตัวสุดท้ายในซีรีส์คือ Windows 10 Mobile, version 1709 (Fall Creators Update) ที่ออกในเดือนตุลาคม 2017 ส่วนวันหมดระยะซัพพอร์ตคือ 10 ธันวาคม 2019

หลังจากนั้นไป เราจะไม่ได้เห็นการอัพเดตใดๆ ของ Windows Mobile อีกแล้ว ถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบบปฏิบัติการ Windows Phone/Windows Moible อย่างเป็นทางการ

 
ที่มา: Blognone

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561

3 แนวโน้มการทำงานของ DevOps ในปี 2019

itportal ได้นำเสนอแนวโน้ม 3 ข้อที่ทีม DevOps ต้องเจอในปีหน้าซึ่งทางเราขอสรุปมาให้อ่านกันอีกทีครับ


1. Machine Learning จะเข้ามาช่วยในเรื่องการวิเคราะห์คุณภาพ

 

Machine Learning และ AI จะสามารถตัดแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วน และทำการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการทำ Pipeline Testing เพราะเราเชื่อว่า 80% ของปัญหานั้นมีรูปแบบ ดังนั้นเราสามารถจัดประเภทของปัญหาเป็นกลุ่มได้เพื่อตอบคำถาม เช่น เกิดจากโค้ดห่วย หรือ มีผลไปถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยหรือไม่ เป็นต้น อีกทั้ง AI ยังจะเข้ามาช่วยในส่วน Continuous Integration ได้ทั้หมดเช่นกันเพราะสามารถบอกภาพรวมได้ว่า Pipeline ทำงานอย่างไรเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะมีผลอย่างไร ซึ่งช่วยลดเวลาได้อย่างมาก

 

2. MicroService จะมีผลกระทบต่อ DevOps กว่าที่เคย

 

MicroService ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่จะมีบทบาทในกลุ่มของ DevOps มากขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วคอนเซปต์ของ MicroService คือการแบ่งขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (SDLC) ออกเป็นส่วนๆ ดังนั้นการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อัปเดต แต่ละส่วนจะไม่กระทบกัน จึงสามารถแบ่งหน้าที่การทำงานแต่ละส่วนไปพร้อมกันได้

 

3. Continuous Testing จะหันหน้าสู่ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส

 

เครื่องมือที่เสียเงินแบบเดิมไม่ตอบโจทย์การทำ Continuous Testing ที่ต้องสามารถสเกลได้ตาม Requirement และเรื่อง Shift-Left Testing ที่ผันจาก QA มาเป็นหน้าที่ของ Dev อย่างไรก็ตามเครื่องมือแบบโอเพ่นซอร์สสมัยใหม่ เช่น Appium, Selenium, Nightwatch.js, Angular และ Quantum สามารถตอบความต้องการข้างต้นได้ดีกว่าแถมยังมีบางแพลตฟอร์ม เช่น Expresso และ XCUITTest ที่ออกแบบมาเพื่อ Dev ใช้งานโดยเฉพาะด้วย ดังนั้นไม่แปลกใจที่ทำไมโอเพ่นซอร์สจะกลายเป็นเทรนของ DevOps ในปีหน้า

ที่มา: TechTalk

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

iPad Pro รุ่นใหม่ เปิดให้จองแล้ว สินค้าส่งมอบศุกร์ 16 พ.ย. นี้ ตอนนี้มีเฉพาะรุ่น Wi-Fi

น่าจะเป็นสินค้าแอปเปิลที่เปิดตัวใหม่ในปีนี้ที่หลายคนรอคอย โดย iPad Pro รุ่นใหม่ปี 2018 ได้เริ่มเปิดให้สั่งจองสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ Apple Online Store แล้วในวันนี้ โดยสินค้ามีกำหนดเริ่มจัดส่งตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป หรือสามารถเลือกรับสินค้าได้ที่ Apple Store สาขา Iconsiam

iPad Pro มีให้เลือกสองขนาดหน้าจอคือ 11 นิ้ว และ 12.9 นิ้ว ความจุเริ่มต้นตั้งแต่ 64GB ไปจนถึงสูงสุด 1TB ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 28,900 สำหรับจอ 11 นิ้ว และ 35,900 บาท สำหรับจอ 12.9 นิ้ว

ทั้งนี้ในเว็บ Apple Online Store จะมีตัวเลือกให้สั่งซื้อเฉพาะ iPad Pro รุ่น Wi-Fi เท่านั้น ส่วนรุ่น Wi-Fi + Cellular ยังไม่มีจำหน่าย

สำหรับราคาอุปกรณ์เสริมนั้น Apple Pencil รุ่นที่ 2 ราคา 4,490 บาท และ Smart Keyboard Folio เริ่มต้น 6,490 บาท


ที่มา: Blognone

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

Google เผย Dark Mode ช่วยประหยัดแบตได้สูงสุดราว 60%, ขอโทษที่ผลักดันแอปสีขาว

ในงาน Android Developer Summit ที่กำลังจัดขึ้น Google ได้พูดถึงประโยชน์ของ Dark Mode หรือ Dark Theme ในแอปที่ช่วยประหยัดแบตเตอรี่ลงได้มากถึง 60% พร้อมยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมา ที่ผลักดันการดีไซน์แอปที่เน้นสีขาวเป็นหลัก

ตัวอย่างที่ Google ยกมาคือการเล่น YouTube บน Pixel (หน้าจอ AMOLED) ที่ความสว่าง 50% ในโหมดปกติ (สีขาว) จะใช้พลังงานไฟฟ้า 193mA ส่วนใน Dark Mode ใช้พลังงานที่ 185mA (ลดลง 4%) แต่เมื่อเปิดความสว่างสุด โหมดปกติจะกินพลังงานที่ 343mA ขณะที่ Dark Mode กินพลังงานแค่ 197mA (ลดลง 43%) หรือใน Google Maps ที่ความสว่างสุด โหมดปกติกินพลังงาน 250mA ส่วน Night Mode กินพลังงานแค่ 92mA น้อยลงถึง 63%


ปัจจัยสำคัญก็คือแพแนลของ OLED ที่ไม่มีการปล่อยแสงออกมาเมื่อแสดงผลสีดำ ทำให้ใน Dark Mode ตัวหน้าจอกินพลังงานลดลง รวมถึงน้อยกว่าหน้าจอ LCD ใน iPhone 7 ที่เม็ดพิกเซลยังต้องแสดงผลสีดำ และถูกยกขึ้นมาเทียบว่ากินพลังงานแทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะโหมดปกติหรือ Dark Mode

แน่นอน Google ยอมรับผิดในเรื่องนี้หลังไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ผลักดันแนวทางการออกแบบที่เน้นสีขาวเป็นหลัก นับตั้งแต่การเปิดตัว Material Design จึงเป็นไปได้ว่า Google น่าจะทยอยออก Dark Mode ให้กับแอปของตัวเองมากขึ้น รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการออกแบบแอปในอนาคตด้วย


ที่มา: Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

Google Kubernetes Engine (GKE) รองรับ Containerd แล้ว

Google Kubernetes Engine (GKE) บริการ Kubernetes ของ Google Cloud Platform ประกาศรองรับ Containerd แล้ว

Containerd คือเดมอน/รันไทม์สำหรับรันคอนเทนเนอร์ เดิมทีมันเป็นส่วนหนึ่งของ Docker Engine แต่ภายหลัง Docker บริจาคโครงการให้กับมูลนิธิ Cloud Native Computing Foundation (CNCF) เพื่อเป็นมาตรฐานกลางของวงการ

ความสำคัญของ Containerd คือ Kubernetes สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมี Docker ตัวเต็ม (เพราะใช้ Containerd ก็พอเพียง), ลดการใช้ทรัพยากรโดยรวมลง รองรับจำนวนคอนเทนเนอร์ได้มากขึ้นบนเครื่องขนาดเดิม ส่วนในแง่การใช้งานคงไม่ต่างจากเดิมนัก เพราะ Kubernetes จัดการผ่าน API ให้หมดแล้ว เพียงแต่ในแง่การจัดการต้องใช้เครื่องมือคอมมานด์ไลน์ตัวใหม่คือ crictl ที่ GKE จะติดตั้งมาให้เป็นมาตรฐาน

ตอนนี้ GKE เริ่มรองรับ Containerd แบบเบต้า โดยต้องใช้กับ Kubernetes เวอร์ชัน 1.11 ขึ้นไป (เวอร์ชันล่าสุดในปัจจุบันคือ 1.12) แต่กูเกิลก็ประกาศว่าจะเปลี่ยนจาก Docker มาเป็น Containerd ในระยะยาว โดยยังไม่ระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนว่าเมื่อไร


ภาพจาก Docker จะเห็นว่า Containerd เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของ Container Engine ที่มีองค์ประกอบอื่นด้วย

ที่มา: Blognone

ทำได้จริงไม่ได้โม้ AMD โชว์ซีพียู 7 นาโนเมตร EPYC รหัส "Rome" วางขายจริงปี 2019

นอกจาก สถาปัตยกรรม Zen 2 แล้ว AMD ยังโชว์ซีพียูของจริงที่ใช้สถาปัตยกรรมตัวใหม่นี้ พร้อมใช้กระบวนการผลิต 7 นาโนเมตรรุ่นใหม่ล่าสุด นั่นคือซีพียู EPYC รุ่นหน้ารหัส "Rome"

ข้อมูลของ EPYC "Rome" เท่าที่เปิดเผยคือ ใช้สถาปัตยกรรม Zen 2 และมีจำนวนคอร์สูงสุด 64 คอร์, รองรับ PCIe 4.0, เพิ่มแบนด์วิดท์หน่วยความจำอีกเท่าตัว, ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากรุ่นก่อน และประสิทธิภาพด้านการประมวลผลทศนิยมเพิ่มขึ้น 4 เท่า

EPYC "Rome" ยังใช้ซ็อคเก็ตแบบเดียวกับ EPYC รุ่นปัจจุบัน (โค้ดเนม "Naples") และจะรักษาความเข้ากันได้กับ EPYC ตัวถัดไป (โค้ดเนม "Milan")

EYPC "Rome" จะวางขายในปีหน้า 2019 แต่ยังไม่ระบุช่วงเวลาชัดเจน

เส้นกราฟบาดใจคู่แข่ง


ที่มา: Blognone

ธนาคาร HSBC เกิดเหตุ Data Breach ข้อมูลบัญชีลูกค้ารั่วสู่สาธารณะ

วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคาร HSBC ได้ยื่นแจ้งต่อสำนักอัยการสูงสุด ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ระบุว่าธนาคารถูกผู้ไม่ประสงค์ดีโจมตีจนเกิดเหตุ Data Breach ส่งผลให้ข้อมูลของลูกค้าส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น หมายเลขบัญชี ยอดเงิน ที่อยู่ ประวัติการทำธุรกรรม และอื่นๆ รั่วไหลสู่ภายนอก


ธนาคารระบุในรายงานที่ยื่นต่อสำนักอัยการสูงสุดว่า ตรวจพบผู้ไม่ประสงค์ดีแอบเข้าถึงข้อมูลบัญชีออนไลน์ของลูกค้าอย่างไม่มีสิทธิ์เมื่อช่วงวันที่ 4 – 14 ตุลาคม 2018 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงได้หยุดการให้บริการออนไลน์สำหรับลูกค้าบางรายเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อีก รวมไปถึงแจ้งเตือนลูกค้าเหล่านั้นผ่านทางการโทรศัพท์และอีเมลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมให้คำแนะนำในการเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่

แหล่งข่าวที่ติดตามเหตุการณ์นี้ระบุว่า Data Breach ที่เกิดขึ้นกับธนาคาร HSBC ส่งผลกระทบต่อบัญชีของผู้ใช้ในสหรัฐฯ ประมาณ 1% และคาดว่าผู้ไม่ประสงค์ดีได้ข้อมูลล็อกอินสำหรับเข้าถึงระบบของ HSBC มาจากเหตุการณ์ Data Breach อื่นที่เคยเกิดขึ้น ส่งผลให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีออนไลน์ของลูกค้าเหล่านั้นได้ ได้แก่ ชื่อนามสกุล วันเกิด ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขบัญชี ยอดเงิน ประวัติการทำธุรกรรม เป็นต้น ดังนั้นเหตุการณ์นี้จึงไม่ใช่การโจมตีช่องโหว่ของระบบธนาคารแต่อย่างใด

เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอย ธนาคาร HSBC ได้เพิ่มความมั่นคงปลอดภัยในการลงชื่อใช้งานระบบออนไลน์และกระบวนการพิสูจน์ตัวตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแนะนำให้ลูกค้าใช้รหัสผ่านที่แตกต่างกันสำหรับระบบออนไลน์ที่สำคัญแต่ละระบบ

ที่มา: TechTalk

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

รวมรีวิว iPad Pro 2018 แรงแค่ไหนแต่ iPad ก็ยังคงเป็นแค่ iPad

iPad Pro 2018 ที่หลายๆ คนน่าจะว้าว มากกว่า iPhone รุ่นใหม่ เริ่มได้รับการรีวิวจากสื่อต่างประเทศแล้วก่อนวางจำหน่ายจริงวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้

ในภาพรวมคือดีไซน์สวย หน้าจอดีแต่ไม่ได้ดีขึ้นกว่า iPad Pro ปีที่แล้วขนาดเห็นความแตกต่าง Apple Pencil ใหม่คือความดีงามโดยเฉพาะการชาร์จแบบไร้สายเวลาติด Apple Pencil ไว้กับ iPad Pro ทว่าการเพิ่มการควบคุมปากกาด้วยระบบสัมผัส The Verge ระบุให้ความรู้สึกแปลกๆ และไม่เป็นธรรมชาติเท่ากับปุ่มจริง ขณะที่ Face ID ก็ยังคงทำงานได้ดีเหมือน iPhone แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือสามารถสแกนหน้าแบบกลับหัวได้ด้วย กรณีที่ถือ iPad กลับด้าน


การเปลี่ยนไปใช้พอร์ท USB-C เป็นอีกหนึ่งข้อดีของ iPad Pro เพราะสามารถใช้งานกับ USB-C Hub ยี่ห้ออื่นๆ ได้สบายและรองรับทั้ง HDMI, VGA, Card Reader, Ethernet หรือต่อเข้าหน้าจอนอกที่ความละเอียด 5K ได้สบาย รวมถึงรองรับเอ้าพุทออดิโอทั้งดิจิทัลและแอนาล็อคด้วย อย่างไรก็ตามการนำพอร์ท 3.5 มม. ออกก็อาจสร้างปัญหาให้กับกลุ่มผู้ใช้สายงานดนตรีบ้างอยู่เหมือนกัน ไม่นับรวมอุปกรณ์อื่นๆ อาทิ ปริ๊นเตอรหรือไมโครโฟนที่เป็น USB-C กลับไม่สามารถใช้งานกับ iPad ผ่านพอร์ทได้

ในแง่ประสิทธิภาพหรือความแรงจากชิปเซ็ต A12X Bionic ที่แอปเปิลอ้างในคีย์โน้ตเปิดตัวว่าแรงกว่าแล็บท็อปหรือกราฟิคแรงระดับ Xbox One S นั้น จากการรันเบนช์มาร์คหรือทดสอบการเรนเดอร์ผ่าน Lightroom และ Photoshop รวมถึงแปลงไฟล์วิดิโอ 4K เป็น FHD ผ่าน Premier Rush (ที่ไฟล์ออกมาแค่ FHD เพราะ Premier Rush เอ็กซ์พอร์ทได้สูงสุดแค่นั้น) ก็พบว่าแรงและเร็วกว่าแท็บเล็ตหรือแม้แต่แล็บท็อปได้จริง


อย่างไรก็ตามถึงแม้ประสิทธิภาพของ iPad Pro จะแรงแค่ไหน แต่ข้อจำกัดที่ทำให้ iPad Pro ยังคงเป็นแค่ iPad และไม่สามารถใช้งานทดแทนพีซีได้เป็นส่วนใหญ่ ก็คือ iOS และข้อจำกัดของแอปเป็นสำคัญ

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือ iOS ไม่รองรับสตอเรจนอกใดๆ เลยนอกจาก SD Card จากกล้องเท่านั้น ขณะที่การอิมพอร์ทรูปไปยัง Lightroom หรือ Photoshop ก็ไม่สามารถอิมพอร์ทเข้าแอปโดยตรง ต้องผ่าน Camera Roll ก่อนและหากคุณเป็นช่างกล้องที่ต้องอิมพอร์ทไฟล์ RAW เยอะๆ แล้วก็อาจจะเจอปัญหาความจุของ iPad เข้าไปอีกทอด อย่างไรก็ตามแอปเปิลระบุว่าแอปของ Adobe จะมี Siri Shortcut สำหรับอิมพอร์ทรูปจาก Camera Roll ไป Lightroom พร้อมลบรูปให้หลังอิมพอร์ท ทว่ายังไม่เปิดใช้งาน


ส่วนเรื่องของแอปบน iOS ที่เป็นปัญหาเพราะไม่ซัพพอร์ทบางฟีเจอร์เหมือนบนพีซี แอปบน iPad ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแอปลูกเมียน้อยที่ถูกตัดฟีเจอร์ลงจากแอปเวอร์ชันเต็ม มีเพียงแอปของแอปเปิลเองเท่านั้นที่รองรับความสามารถของ iPad เต็มๆ อาทิ Keynote ที่จะแสดงสไลด์ต่อไปบน iPad และสไลด์ปัจจุบันบนจอนอก รวมถึงว่าไม่มีเกมบน iOS ที่ดึงความแรงของ iPad ออกมาได้เต็มที่ในระดับเทียบเท่า Xbox One S

สรุปคือถ้ามอง iPad Pro ในฐานะแท็บเล็ต มันคือเบอร์ 1 ไร้คู่แข่ง ทำงานคู่กับ Apple Pencil ได้ลงตัว คนที่เน้นทำงานด้วยปากกาจะตอบโจทย์ตรงนี้ แต่ถ้าใครมีโจทย์คือใช้งานแทนพีซี อาจจะต้องดูในรายละเอียดอีกครั้งว่างานลักษณะไหนที่ทำเป็นส่วนใหญ่ และ iPad Pro ตอบโจทย์ตรงนี้หรือไม่ แน่นอนว่าราคาก็อาจต้องเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาด้วย เมื่อรวมกับค่าเคสคีย์อบร์ดเข้าไป


คะแนนรีวิว
  • The Verge 7.5/10
  • WIRED 8/10
  • TechRadar 4/5
  • LaptopMag (เครือเดียวกับ Tom's Guide) 4.5/5
ที่มา: Blognone