วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Office Web Apps เริ่มใช้ได้บน Android

Office Web Apps เป็นบริการซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสารแบบออนไลน์ หรือทำงานผ่านเบราว์เซอร์ที่ ไมโครซอฟท์เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งมาถึงปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ได้เตรียมผลักดันให้บริการดังกล่าวสามารถใช้งานบนแท็บเล็ตที่เป็น Android ได้แล้ว
จากการเปิดเผยของไมโครซอฟท์ผ่านบล็อค Office 365 ระบุว่า Office Web Apps จะเริ่มสนับสนุนการใช้งานบนแท็บเล็ต Android แต่จำเป็นต้องใช้งานผ่าน Chrome for Android เท่านั้น ซึ่ง Office Web Apps จะเพิ่มฟีเจอร์การแก้ไฟล์เอกสารได้พร้อมกันหลายคนในแบบ real-time ทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นผู้ใช้รายอื่นๆ ที่เข้าใช้งานเอกสารได้โดยไม่ต้องรีเฟรชหน้าแต่อย่างใด โดยในเบื้องต้น ไมโครซอฟท์จะเริ่มให้ผู้ใช้สามารถใช้งาน PowerPoint Web Apps ก่อน และหลังจากนั้นก็จะทะยอยเปิดการใช้งานซอฟต์แวร์อื่นๆ ในชุด Office ต่อไป นอกจากนี้ทางไมโครซอฟท์ยังได้กล่าวถึงแผนการสำหรับ Office Web Apps ว่าจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ของผู้ใช้, การใช้ความสามารถทางโซเชี่ยล, การทำงานร่วมกัน และการสนับสนุนการใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม

ซึ่งในอนาคตข้างหน้าก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า Office Web Apps จะเป็นบริการออนไลน์ที่มีความสามารถใกล้เคียงกับชุด Office ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันบนพีซีและโน้ตบุ๊ค

ที่มา: ARiP

น่าสนใจ: ภาพเปรียบเทียบคุณภาพของกล้องไอโฟนทุกรุ่นตั้งแต่ปี 2007

Camera+ เจ้าของแอพถ่ายภาพที่ใช้ชื่อเดียวกัน ได้โพสต์รูปเปรียบเทียบคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้ ตั้งแต่ไอโฟนรุ่นแรก (ที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า iPhone Classic) มาจนถึงรุ่นล่าสุด iPhone 5


จากในภาพ จะสังเกตได้ว่าคุณภาพกล้องดีขึ้นมากอย่างก้าวกระโดด ก็คือช่วงจาก iPhone 3G มา iPhone 3GS ซึ่งตอนนั้นแอปเปิล เริ่มเอากล้องถ่ายรูปบนมือถือมาเป็นจุดขายอย่างจริงจัง และได้ใส่คุณสมบัติในการโฟกัสรูปเข้ามา และทั้งหมดนี้อาจจะต้องชมการแข่งขันในตลาด

ที่มา: Blognone

Google Earth Engine เพิ่มชุดภาพถ่ายดาวเทียมผ่านกาลเวลาเกือบ 30 ปี

Google ได้เพิ่มแผนที่ชุดใหม่เข้าสู่โครงการ Google Earth Engine แสดงภาพถ่ายดาวเทียมในบางพื้นที่เปรียบเทียบตามช่วงเวลาต่างๆ โดยใช้ภาพจากดาวเทียมของ NASA ที่เก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 1984


ภาพถ่ายดังกล่าวมาจากดาวเทียม Landsat ซึ่งจากการปฏิบัติงานมายาวนานเกือบ 30 ปี ได้มีการเก็บรวบรวมภาพถ่ายพื้นที่ทั่วทุกมุมบนโลกไว้เป็นจำนวนมาก โดยมีขนาดข้อมูลรวมกันมากถึง 900TB

Google ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดังกล่าว โดยคัดเลือกเอาเฉพาะภาพที่มีรายละเอียดชัดเจน มีความสว่างจากแสงอาทิตย์ที่เพียงพอ และไม่มีเมฆบดบังการมอง จากนั้นนำภาพเหล่านั้นมาประกอบกันในแบบเดียวกับ Google Earth โดยความพิเศษของงานนี้คือ ภาพที่ใช้แต่ละจุดบนแผนที่เกิดจากการเอาภาพที่ถ่ายในปีต่างๆ ไล่มาตั้งแต่ปี 1984 จนถึง 2012 มาแสดงผลต่อเนื่องกันแบบ time lapse เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในภาพถ่ายผ่านช่วงระยะเวลาเกือบ 30 ปี

ในขั้นต้นนี้ Google เลือกเอาภาพถ่ายจาก 8 พื้นที่มาเป็นตัวอย่าง เช่น การขยายตัวของเมืองลาสเวกัส, การแผ้วถางพื้นที่ป่าอเมซอนในบราซิล, การสร้างหมู่เกาะปาล์มที่ชายฝั่งทะเลดูไบ, การหดตัวของธารน้ำแข็งในอลาสก้า, การอพยพตั้งถิ่นฐานกลางทะเลทรายในซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น ซึ่งใครสนใจดูในพื้นที่อื่น ก็สามารถเปิดดูได้ในหน้าเว็บของโครงการ

ที่มา: Blognone

ธนาคาร Barclays เปลี่ยนวิธีตรวจสอบลูกค้าทางโทรศัพท์ มาเป็นการวิเคราะห์เสียงพูด

Barclays Wealth บริการธนาคารส่วนตัวของเครือธนาคาร Barclays ของอังกฤษ เริ่มเปลี่ยนวิธีตรวจสอบตัวตนลูกค้าทางโทรศัพท์ จากเดิมที่ใช้วิธีถามรหัสผ่าน-คำถามข้อมูลส่วนตัว มาเป็นการแยกแยะเสียงพูด (voice recognition) แทน

 
การตรวจสอบเสียง (voiceprint) ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีหลังลูกค้าพูดจบ และกรณีที่ระบบตรวจสอบเสียงผิดพลาด ลูกค้ายังสามารถยืนยันตัวตนด้วยวิธีเดิมได้

ระบบแยกแยะเสียงพูดของ Barclays มาจาก Nuance FreeSpeech ของบริษัท Nuance เจ้าพ่อซอฟต์แวร์ด้านเสียงนั่นเอง

ตอนนี้มีลูกค้าของ Barclays Wealth จำนวน 84% ย้ายมาใช้ระบบใหม่แล้ว และอัตราการยืนยันตัวตนสำเร็จอยู่ที่ 95% ของการทดลองใช้ครั้งแรก ส่วนลูกค้าที่ใช้บริการแบบใหม่แล้วให้คะแนน 9/10 ในเรื่องความเร็ว และ 93% ในเรื่องความง่าย-ความปลอดภัย

Barclays บอกว่าระบบใหม่ใช้ง่ายกว่าเดิม แต่ยังมีความปลอดภัยสูง และมีแผนจะขยายไปยังบริการอื่นๆ ของ Barclays ในอนาคต

ที่มา: Blognone

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Adobe ยกเลิก Creative Suite ต่อไปนี้จะกลายเป็น Creative Cloud

Adobe ได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกการพัฒนาชุดซอฟต์แวร์ Creative Suite ทั้งหมดแล้ว และจะหันมาพัฒนาชุดซอฟต์แวร์ใหม่ Creative Cloud แทน โดยในตอนนี้ผู้ใช้ Creative Suite 6 ยังจะได้รับอัพเดตต่อไปเรื่อย ๆ แต่จะไม่มี Creative Suite 7 อีกต่อไปแล้ว

Adobe Creative Cloud จะประกอบไปด้วย Photoshop CC, InDesign CC, Illustrator CC, Dreamweaver CC และ Premiere Pro CC โดยแต่ละแอพนั้น จะได้รับการอัพเดตครั้งใหญ่ที่เพิ่มคุณสมบัติใหม่มากมาย

ค่าใช้บริการ Creative Cloud จะอยู่ที่ 49.99 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือถ้าจะใช้เพียงแอพเดียวจะอยู่ที่ 19.99 ดอลลาร์ต่อเดือน เจ้าของ Creative Suite เก่าตั้งแต่เวอร์ชัน 3 สามารถใช้บริการ Creative Cloud ได้ในราคา 29.99 ดอลลาร์ต่อเดือนเฉพาะในปีแรก ส่วนราคาชุดเต็มสำหรับนักเรียนจะอยู่ที่ 19.99 ดอลลาร์ต่อเดือน

Creative Cloud ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนที่ไม่มีเงินพอที่จะซื้อ Creative Suite มาใช้งานระยะสั้นอย่างมาก (ข่าวเก่า: ราคาเปิดตัว Creative Suite 6 ในไทย) แต่อาจจะไม่คุ้มสำหรับคนที่ต้องการใช้งานระยะยาว

ที่มา: Blognone

อินเทลเปิดตัวสถาปัตยกรรม Silvermont: ประมวลผลเร็วขึ้น 3 เท่า แต่ใช้พลังงานลดลง 5 เท่า

เราเคยได้ยินข่าวของ Atom ที่ใช้สถาปัตยกรรม Silvermont มาแล้วครั้งหนึ่ง ในข่าว เอกสารสเปคของ Valleyview หลุดออกมา ล่าสุดอินเทลก็เปิดตัว Silvermont อย่างเป็นทางการเรียบร้อย และพร้อมลุยตลาดอุปกรณ์พกพาในเร็วๆ นี้ครับ


โดยรายละเอียดของ Silvermont คร่าวๆ ก็คือเป็นหน่วยประมวลผลที่ผลิตบนสถาปัตยกรรมขนาด 22 นาโนเมตรแบบ Tri-Gate Transistors สามารถประมวลผลงานได้เร็วกว่าเดิม 3 เท่า และใช้พลังงานลดลงถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับรุ่นที่แล้ว และนอกจากนี้ อินเทลยังระบุอีกว่าสถาปัตยกรรม Silvermont จะสามารถรองรับคอร์ได้สูงสุดถึง 8 คอร์อีกด้วย

ตลาดหลักของ Silvermont ก็ยังคงหนีไม่พ้น อัลตร้าบุ๊ค สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้ Atom เช่นเคย แต่ทั้งนี้อินเทลยังไม่ระบุว่า Silvermont จะพร้อมเป็นอุปกรณ์ให้ใช้งานได้เมื่อไหร่ครับ

ที่มา: Blognone

เอเซอร์: Windows RT มัน "ไม่มีค่า"

จากงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของเอเซอร์เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารของเอเซอร์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แท้จริงแล้ว Windows 8 นั้น เป็นการเปิดตัวที่ล้มเหลวพอสมควร เพราะความที่ไมโครซอฟท์ก้าวเข้ามาทำ Surface และแย่งชิงส่วนแบ่งฮาร์ดแวร์จากผู้ผลิตรายอื่นๆ นั่นเอง


นอกจากนี้เอเซอร์ยังได้ให้ความเห็นถึง Windows RT ในตอนนี้ว่า มันเป็นของที่ไม่มีค่าสุดๆ แต่ถึงยังไงบริษัทก็ยังคงรอคอยการเปิดตัวของ Windows Blue (Windows RT 8.1) อยู่ และแผนออกแท็บเล็ตที่รัน Windows RT ยังคงดำเนินหน้าต่อไป แต่มันจะไม่ใช่กับ Windows RT ในตอนนี้ครับ เพราะส่วนแบ่งฮาร์ดแวร์ที่รัน Windows RT อยู่ที่ 0.4% จากส่วนแบ่งทั้งหมดในไตรมาสที่ผ่านมา และมันจะไม่กระเตื้องไปมากกว่านี้

ดังนั้นหนทางรอดของบริษัท จึงเป็นแผนการออกฮาร์ดแวร์แบบไฮบริด ลูกผสมโน้ตบุ๊คและแท็บเล็ตมากกว่าการออกแท็บเล็ตแบบเพียวๆ ดังที่เห็นในงานเปิดตัวไปแล้ว และทั้งนี้ เอเซอร์ยังได้เผยว่าในยอดขายไตรมาสแรก 25% เป็นแท็บเล็ตที่รัน Windows 8 ตัวเต็มจากเอเซอร์ (Iconia W500/Iconia W700) ซึ่งมากกว่า Surface ของไมโครซอฟท์หลายเท่าตัวครับ และที่สำคัญสถานการณ์ของ Windows 8 ตัวเต็ม ดูจะไปได้สวยกว่า Windows RT อีกด้วยครับ

ที่มา: Blognone

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วัยรุ่นยุคใหม่ กับชีวิตการทำงาน

ต้องเช็ค ต้องแชต ต้องแชร์ !! พฤติกรรมบนสมาร์ทโฟนสำหรับคนยุคใหม่ ที่เราเห็นกันจนชินตาไปแล้ว กิจวัตรประจำวันเช่นนี้ จะเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตการทำงาน วันนี้ arip ขอหยิบยกงานวิจัยที่น่าสนใจมาให้ชมกันครับ

จากการวิจัยของ Ericsson Consumer Lab ในหัวข้อ Young Professionals at Work เป็นการศึกษาถึงมุมมองการใช้ชีวิตเมื่อก้าวเข้าสู่การทำงานของกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็ม หรือเจนเอ็ม (Generation M) ในช่วงอายุระหว่าง 22-29 ปี ซึ่งอยู่ในซานฟรานซิสโก และซิลิคอน วัลเล่ย์ ที่ถือว่าเป็นผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และมีไฟในการทำงาน และมีมุมมองของตัวเองต่อการก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารในอนาคต

ผลการวิจัยดังกล่าว เน้นไปที่มุมมองและพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นในยุคเจนเอ็ม ระหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตในการทำงาน พบว่าคนกลุ่มนี้ มีความกระตือรือร้นและเอาใจใส่ต่องานที่ได้รับมอบหมาย พร้อมๆ ไปกับคำนึงถึงชีวิตส่วนตัว คนเหล่านี้มองว่าการใช้ Facebook ไปจนถึงการแชตในช่วงเวลาทำงานเป็นสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ


นางแอน ชาร์ลอตต์ คอร์นบาล์ด ที่ปรึกษาอาวุโส Ericsson Consumer Lab ระบุว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้มีความต้องการที่จะรักษาความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว ดังนั้นพวกเขาจึงมีความคาดหวังต่อหัวหน้าหรือเจ้านายเพื่อยอมรับกับเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้พฤติกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจของวัยรุ่นเจนเอ็ม คือ การทำงานที่สามารถได้ใกล้ชิดกับหัวหน้างาน รวมทั้งการได้รับฟีดแบคอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจะไม่ชอบการทำงานที่ดูคลุมเครือ และวัดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนไม่ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในกลุ่มวัยรุ่นเจน M  มากกว่า 45% ใช้โทรศัพท์ส่วนตัวเพื่อคุยติดต่อในเรื่องงาน ถึงแม้ 23% ของเด็กกลุ่มนี้จะมีสมาร์ทโฟนโดยที่บริษัทจะเป็นผู้ที่จ่ายทั้งหมด หรือบางส่วนก็ตาม

ขณะเดียวกัน ผอ.ฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ของอีริคสันประเทศไทย ระบุว่า พฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นเจนเอ็ม จะไม่ค่อยมีความอดทน ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตขึ้นมาในยุคที่มีการใช้ Facebook อย่างแพร่หลาย พร้อมกับความเคยชินที่จะได้รับฟีดแบคต่างๆ ที่รวดเร็ว ส่งผลให้เด็กในยุคนี้ จะไม่ชอบการติดต่อสื่อสารใดๆ ที่ได้รับการตอบกลับที่ช้า หรือการทำอะไรที่ไม่ได้รับการตอบกลับมาในทันที

สำหรับองค์กรในฝันของกลุ่มวัยรุ่นเจนเอ็ม ได้แก่
  • มีความพึงพอใจในงาน สามารถนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาในชีวิตการทำงานได้ หรือทำอะไรได้ในหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
  • ทำงานโดยมองไปที่เป้าหมายเป็นหลัก โดยไม่ต้องจำกัดว่าจะทำงานที่ไหนหรือเมื่อไร
  • มีโอกาสที่จะได้ทำงานเป็นทีม และกับคนที่อยู่ในช่วงอายุไล่เลี่ยกัน
  • ชอบองค์กรแนวราบ ไม่มีการจัดแบ่งตำแหน่งฝ่ายที่ยุ่งยากซับซ้อน
  • มีการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้งการได้รับฟีดแบ็กสม่ำเสมอ
  • มีการวัดผลที่เป็นรูปธรรม
  • เคารพต่อการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน
  • มีความได้ใกล้ชิดกับหัวหน้างาน
  • มีการอัพเดทในเรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการติดต่อสื่อสาร
อ้างอิงจาก เดลินิวส์

ที่มา: ARiP

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตำรวจดัตซ์จับแฮกเกอร์ผู้ทำการ DDoS ครั้งใหญ่ที่สุดในโลกได้แล้ว

ตำรวจเนเธอแลนด์ยืนยันข่าวการเข้าจับกุมชายวัย 35 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการ DDoS เว็บไซต์ Spamhaus ซึ่งเป็นโปรเจคการติดตามเว็บไซต์สแปมและเก็บข้อมูลของสแปมในเดือนมีนาคม โดยการโจมตีในครั้งนี้นับว่าเป็นการ DDoS ที่ใช้ปริมาณแบนด์วิดท์‎เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 300Gbps

ในเบื้องต้นเชื่อกันว่าชายคนนี้คือ Sven Kamphuis เจ้าของและผู้ดูแลบริการเว็บโฮสติ้งที่มีบังเกอร์ป้องกันนิวเคลียร์ CyberBunker โดยน่าจะมีเหตุจูงใจจากการที่ Spamhaus ได้เพิ่มเว็บไซต์ของ CyberBunker เข้าสู่แบล็คลิสต์ว่าเป็นสแปม โดยชายคนนี้จะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

CyberBunker มีชื่อเสียงในด้านการให้บริการแบบนิรนาม ซึ่งมักถูกนำไปใช้โดยผู้ก่อการร้าย หรือใช้เพื่อละเมิดกฎหมายต่างๆ

Note:
Distributed Denial of Service (DDoS) คือลักษณะหรือวิธีการหนึ่งของการโจมตีเครื่องคอมพิวเตอร์เป้าหมาย หรือระบบเป้าหมายบนอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้ระบบเป้าหมายปฏิเสธหรือหยุดการให้บริการ (Denial-of-Service) การโจมตีจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และมีเป้าหมายเดียวกัน โดยเครื่องที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหมด (เครื่องที่ติดเชื้อจากการแพร่กระจายตัวของโค้ดร้ายซึ่งเป็นเครื่องมือของแฮกเกอร์สำหรับการควบคุมระบบ) จะสร้างข้อมูลขยะขึ้นมาแล้วส่งไปที่ระบบเป้าหมาย กระแสข้อมูลที่ไหลเข้ามาในปริมาณมหาศาลทำให้ระบบเป้าหมายต้องทำงานหนักขึ้น และช้าลงเรื่อยๆ เมื่อเกินกว่าระดับที่รับได้ก็จะหยุดการทำงานลงในที่สุด อันเป็นเหตุให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้บริการระบบเป้าหมายได้ตามปกติ

ที่มา: Blognone

ยอดข้อความที่ส่งผ่านโปรแกรมแชทสูงกว่าข้อความ SMS แล้ว

บริษัทวิจัย Informa รายงานว่า ข้อความที่ส่งผ่านโปรแกรมแชทอย่าง WhatsApp, iMessage, Line และอื่นๆ รวมกันสูงกว่าจำนวนข้อความ SMS แบบดั้งเดิมแล้ว โดยในปีพ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา มีข้อความเกือบ 19 พันล้านข้อความถูกส่งผ่านโปรแกรมแชทเหล่านี้ เทียบกับยอดข้อความ SMS ที่มีจำนวน 17.6 พันล้านข้อความ

Pamela Clark-Dickson แห่งบริษัทวิจัย Informa ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ให้บริการในบางประเทศอย่างสเปน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ เริ่มเห็นถึงรายได้จากการส่ง SMS ที่ตกลงแล้ว และคาดเพิ่มเติมว่าการส่งข้อความผ่านโปรแกรมแชทเหล่านี้ จะเติบโตจนถึงระดับ 50 พันล้านข้อความภายในปี 2557 อย่างไรก็ตาม SMS จะยังอยู่ต่อไป เนื่องจากโปรแกรมแชทเหล่านี้ทำงานบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซึ่งยังมีผู้ใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ที่ยังคงใช้โทรศัพท์ธรรมดาที่ยังพึ่งพิงข้อความ SMS เป็นหลัก ในขณะเดียวกัน บริษัทห้างร้านต่างๆ เริ่มสนใจในการส่ง SMS มากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงโทรศัพท์ได้ทุกชนิด ไม่จำกัดอยู่เฉพาะสมาร์ทโฟน

Ovum บริษัทวิจัยอีกแห่งรายงานเพิ่มเติมว่า การเข้ามาของโปรแกรมแชท ทำให้ผู้ให้บริการสูญเสียรายได้ไปมากกว่า 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

ที่มา: Blognone